รัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซีย
คอลัมน์ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ
ทหารประชาธิปไตย
รัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซีย
ภายใต้การนำของอันวาร์ อิบรอฮีม
พลันที่ อันวาร์ อิบรอฮีม ได้รับการโปรดเกล้าฯ และสาบานตนต่อหน้าพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย และดำรงฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 แห่งมาเลเซีย ก็มีข่าวทั้งในสื่อปกติและสื่อออนไลน์หลายฉบับ หลายแหล่งข่าว และมีมุมมองที่หลากหลาย เพราะมาเลเซียกับไทยเป็นเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกันทางใต้
แต่จะพูดถึงมุมมองที่มีทัศนคติไปในทางลบ ซึ่งกล่าวหาว่า อันวาร์ อิบรอฮีม เป็นนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิดของสหรัฐฯ โดยอ้างแหล่งข่าวว่าอันวาร์ได้รับการสนับสนุนในการหาเสียงจาก NGO ที่ถูกมองว่ามีสหรัฐฯและ CIA อยู่เบื้องหลังคือ NED จึงคาดการณ์ว่าการเป็นนายกฯของอันวาร์ จะนำมาซึ่งความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะสหรัฐฯต้องการใช้สถานการณ์ภาคใต้บีบรัฐบาลไทยหรือแม้แต่ว่าอาจนำมาซึ่งการแบ่งแยกดินแดน เพื่อที่สหรัฐฯจะได้แสวงประโยชน์จากทรัพยากรใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ
มุมมองทางลบอีกอันที่ก็ไม่ค่อยมีเหตุผล หรือหลักฐานยืนยันก็คือ การกล่าวหาว่า อันวาร์เป็นมุสลิมที่เคร่งครัดศาสนามาก อาจถึงขั้นเป็นกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงทีเดียว ฉะนั้นจึงจะนำเอาหลักการศาสนาที่ตนมีมาเป็นแรงดันในการให้การสนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้
อย่างไรก็ตามการด่วนสรุปด้วยข้อมูลที่บางเบาและผิวเผินอย่างนี้ อาจนำมาซึ่งการก่อให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงและความขัดแย้งขึ้น อันจะไม่เป็นผลดีต่อทั้ง 2 ฝ่าย
ดังนั้นเราจึงควรมาทำความเข้าใจและพิจารณาข้อมูลในบางมุมที่ผู้เขียนพอมีประสบการณ์มาบ้าง ในฐานะที่เคยรู้จักกับอันวาร์ ตั้งแต่ยังเป็นผู้นำเยาวชนของมาเลเซีย ในองค์กรเยาวชนที่มีชื่อว่า ABIM
ในยุคนั้นเมื่อประมาณ 50 กว่าปีมาแล้ว ผู้เขียนได้ทำกิจกรรมเยาวชน และนิสิต นักศึกษา และมีเพื่อนคนหนึ่งที่รักใคร่ เคารพนับถือกันเป็นผู้นำองค์กรเยาวชนไทย ที่เรียกว่าสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย(ยมท.)
ในครั้งนั้นได้มีการจัดประชุมเยาวชนมุสลิมทั่วโลกที่มาเลเซีย เพื่อนผู้เขียนในฐานะนายกสมาคม ได้รับเชิญให้เข้าไปร่วมประชุมด้วย และผู้เขียนก็ได้ติดตามไปในฐานผู้สังเกตการณ์
อันวาร์ที่ได้รับข้อมูลเก่าตั้งแต่ยุคจอมพลป.พิบูลย์สงครามเกี่ยวกับการกดขี่ชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ด้วยนโยบายไทยนิยมที่รวมไปถึงการแต่งกายตามวัฒนธรรมชองชาวภาคใต้ ที่เป็นไปในทำนองเดียวกับชาวมลายูในมาเลเซีย และห้ามข้าราชการให้บริการหากไม่แต่งกายตามรัฐนิยม คือนุ่งกางเกงสวมหมวกปีก และถือไม้เท้าเป็นต้น นอกจากนี้ยังบังคับให้พูดและเขียนแต่ภาษาไทยเท่านั้น โดยห้ามมิให้มีการพูดภาษาถิ่น คือยาวี อะไรทำนองนี้
ด้วยข้อมูลดังกล่าวทำให้อันวาร์มีข้อมูลลบกับรัฐบาลไทย แต่ด้วยความสัมพันธ์ในระยะต่อมา ด้วยความสัมพันธ์ส่วนบุคคลและองค์กรเยาชนทำให้อันวาร์ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องมากขึ้น และมีโอกาสเดินทางมาประเทศไทย โดยเฉพาะที่กทม.ในระยะต่อมา โดยมีนายกฯ ยมท. ในระยะต่อมาเป็นผู้ดำเนินการเชื่อมต่อและมีการเยี่ยมเยียนกันบ่อยครั้งมาก จนสนิทสนมกัน ทัศนคติของอันวาร์จึงเติมเต็มด้วยความเข้าใจที่มากขึ้น
ส่วนกรณีที่กล่าวหากันว่า อันวาร์เป็นเด็กปั้นของสหรัฐฯนั้น ก็ยังไม่มีหลักฐานอะไร แต่ฐานคิดอาจจะมาจากการที่อันวาร์มีแนวคิดในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจยุคต้มยำกุ้ง ในแนวที่โปรตะวันตก คือให้เข้าโปรแกรมของ IMF ในฐานะที่ตนเองเป็นรัฐมนตรีคลัง ทว่ามหาธีร์ นายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วย แต่หันไปขอความช่วยเหลือทางการเงินจากซาอุดิอารเบีย และดำเนินนโยบายการคลังในทางกระตุ้นเศรษฐกิจ และไม่ยอมลอยค่าเงินริงกิต แต่จัดกระบวนการค่อยๆลดค่าเงินลงมาเป็นแบบขั้นบันได จึงทำให้ภาคธุรกิจของมาเลเซียมี เวลาปรับตัวเองพอควร จึงเห็นได้ว่าแนวทางของมหาธีร์นั้น ทำให้ความเสียหายทางเศรษฐกิจของมาเลเซีย ไม่มากเท่าที่ควร เมื่อเปรียบเทียบกับแผนของ IMF ที่ไทยดำเนินการตัดลดงบประมาณและปล่อยลอยตัวค่าเงิน
และความขัดแย้งในเชิงนโยบายในครั้งนั้นระหว่างมหาเธร์ ที่เปรียบเหมือนพ่อกับอันวาร์ ซึ่งเป็นคนที่มหาเธร์ชักชวนเข้ามาสู่การเมือง และวางตัวให้เป็นทายาททางการเมือง
ทว่าอันวาร์ รอแล้วรออีก แต่มหาธีร์ก็ยังไม่มีท่าทีจะยอมถอยทางการเมือง แถมทำท่าจะโปรโมทลูกชายขึ้นมาอีก
สุดท้ายอันวาร์รอไม่ไหว จึงร่วมมือกับกลุ่มยังเติร์กทางการเมือง อย่างราซาเลและ มูซา ฮีตัมเพื่อจะล้มมหาเธร์ใน.พรรคอัมโนแต่อย่างว่าขิงแก่ที่เผ็ดร้อนย่อมเหนือกว่ากลุ่มสิงห์หนุ่มอย่างอันวาร์ ทำให้อันวาร์ต้องเจอหายะทางการเมือง จนนำไปสู่การต้องติดคุก ด้วยข้อหาสำคัญคื อเรื่องรักร่วมเพศ ซึ่งเป็นข้อหาที่ร้ายแรงทั้งทางกฎหมายและหลักศาสนาอิสลาม
ประเด็นเหล่านี้หากมันเป็นจริงก็ย่อมแสดงว่าอันวาร์มิใช่ผู้ที่เคร่งครัดในศาสนาอิสลามอย่างแท้จริง แต่เรื่องนี้มิได้มีหลักฐานอะไรยืนยัน นอกจากคำกล่าวหา และเท่าที่ผู้เขียนเคยรู้จักกับอันวาร์ตั้งแต่ในยุคเยาวชน และในระยะต่อมาก็มิได้เห็นว่าอันวาร์มีพฤติกรรมที่ผิดปกติแต่อย่างใด
นอกจากนี้ในด้านการปฏิบัติตนตามหลักศาสนา อันวาร์ก็มิได้มีแนวปฏิบัติอะไรที่ส่อว่าจะเป็นกลุ่มที่เคร่งครัดขนาดเป็นกลุ่ม FUNDAMENTALIST ที่ถูกมองว่าหัวรุนแรงแต่อย่างใด นอกจากการปฏิบัติศาสนกิจตามแบบปกติของมสุลิมโดยทั่วไป อันนี้เป็นมุมมองของบรรดาผู้ที่เคยทำงานด้านเยาวชนร่วมกับอันวาร์ และจากผู้ที่ยังคงมีสายสัมพันธ์กับอันวาร์มาจนปัจจุบัน
อนึ่งสถานภาพของอันวาร์ในฐานะนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ก็มิใช่จะมั่นคงนัก เพราะการร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ ประกอบด้วย 3 กลุ่มใหญ่ คือฝ่ายอันวาร์มี 83 เสียง ฝ่ายมุไฮยิดดีนมี 70 เสียง และฝ่ายอัมโนมี 30 เสียง โดยเสียงกึ่งหนึ่งคือ 112 เสียงเท่านั้น
ทว่าความขัดแย้งทางการเมืองภายในอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และหากกลุ่มมุไฮยิดดินถอนตัวไปรวมกับอัมโน และพรรคpasก็อาจจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้ โดยเฉพาะการที่ลูกสาวคนโตของอันวาร์ คือนูรี อาซีซะ ได้เตือนพ่อให้ทวงคืนความยุติธรรม นั้นย่อมหมายถึงการกลับไปคิดบัญชีกับมหาธีร์ ซึ่งแม้จะพ่ายทางการเมืองไปแล้ว แต่ก็ยังคงมีอิทธิพลเหลืออยู่บ้างทางการเมือง จึงอาจก่อให้เกิดคลื่นใต้น้ำจนทำให้รัฐนาวาของอันวาร์ล่มลงก็ได้
ประการสุดท้ายไม่ว่าอันวาร์จะอยู่ในอำนาจหรือมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็ตาม รัฐบาลมาเลเซียย่อมระมัดระวังอย่างมากที่จะไม่ต้องการเผชิญหน้ากับรัฐบาลไทย เหมือนที่รัฐบาลไทยก็ไม่ต้องการเผชิญหน้ากับรัฐบาลเมียนมาร์
การไปเชื่อมโยงอันวาร์กับเหตุรุนแรงที่จังหวัดนราธิวาส จึงเป็นเรื่องที่ผิดฝาผิดตัวเป็นอย่างยิ่ง เพราะตอนเกิดเหตุการณ์แม้ผลเลือกตั้งออกมาแล้ว แต่อันวาร์ยังไม่ได้เป็นนายกฯ การแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ นั้นเป็นการแก้ปัญหาภายในของรัฐบาลไทยโดยแท้ แม้จะมีผลกระทบระหว่างประเทศบ้างก็ตาม
ในความเป็นจริงเราอาจใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวของบางคนในการช่วยประสานความร่วมมือกับนายกฯอันวาร์ เพื่อช่วยให้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ของไทยได้บรรลุไปสู่จุดหมาย คือการสร้างสันติสุขก็น่าจะเป็นความคิดในเชิงบวกก็น่าจะดีกว่ามองแต่ด้านลบ แต่ก็ต้องระมัดระวังรอบคอบเพื่อผลประโยชน์ของไทยเป็นสำคัญ