นโยบายเศรษฐกิจสำคัญอย่างไร(21)
นโยบายเศรษฐกิจสำคัญอย่างไร(21)
โดย รศ.ดร สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย
ภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
เศรษฐกิจไทย เป็นเศรษฐกิจเปิด ที่การค้าและการลงทุนต่างประเทศ มีความสำคัญ นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มีผลต่อการพัฒนาและการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มีอยู่หลายด้าน เช่น การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ การกู้เงินจากต่างประเทศ และการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น
แม้การเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจโลกจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย แต่นโยบายเศรษฐกิจที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น ก็มีความสำคัญ จากการทบทวนนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยในอดีตที่ผ่านมา พบว่า นโยบายการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ และการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ มีผลกระทบต่อการขยายตัวและการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายการทดแทนการนำเข้าในช่วงทศวรรษ 1960 และนโยบายส่งเสริมการส่งออกในสินค้าอุตสาหกรรม ที่เริ่มขึ้นในต้นทศวรรษ 1970 ล้วนมีผลทำให้โครงสร้างของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ก็มีความสำคัญเช่นกัน ในทศวรรษที่ 1970 ค่าเงินบาทผูกติดกับค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐ ในช่วงเวลาที่เงินดอลล่าร์อ่อนค่า ได้ส่งผลดีต่อการส่งออกของสินค้าไทย แต่ในช่วงครื่งแรกของทศวรรษที่ 1980 เงินดอลล่าร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นมาก มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย แต่นโบายการลดค่าเงินบาทในขณะนั้น ทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบน้อยลง ในครึ่งหลังทศวรรษ 1980 เงินดอลล่าร์สหรัฐอ่อนค่าลงมาก ในขณะที่ค่าเงินเยนญี่ปุ่น ค่าเงินของเกาหลี และไต้หวันที่แข็งค่าขึ้น ก็ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย จากการเข้ามาลงทุนของญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆในอุตสาหกรรมส่งออก
สถานการณ์เศรษฐกิจโลก มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในเวลาสองทศวรรษที่ผ่านมา สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและนโยบายเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ แตกต่างจากเดิมมาก นโยบายการค้าและการลงทุนต่างประเทศของประเทศในส่วนต่างๆของโลกเปลี่ยนแปลงไป บทบาทขององค์การ การค้าโลกในการส่งเสริมการค้าเสรีระดับโลกลดน้อยลง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และการทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกันมีมากขึ้น ความร่วมมือทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ มีทั้งกลุ่มพหุภาคี ที่มีสมาชิกหลายประเทศ และการทำข้อตกลงการค้าเสรีระดับทวิภาคี
ประเทศไทยนอกจากเป็นสมาชิกของประเทศกลุ่มอาเซียน(ASEAN) แล้ว ยังเป็นสมาชิกกลุ่มเอเปก (APEC: Asia-Pacific Economic Cooperation) และอาเซ็ป (RCEP: Regional Comprehensive Economic Partnership) และมีการทำข้อตกลงการค้าเสรีในระดับทวิภาคีกับหลายประเทศ
ในช่วงเวลาสี่ห้าปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์หลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เช่น การระบาดของโรคโควิด การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ: ภาวะโลกร้อน น้ำท่วม ภัยแล้ง และภัยธรรมชาติอื่น สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อ ซึ่งนอกจากทำให้มีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากแล้ว ยังมีผลที่เกิดจากมาตรการควํ่าบาตร(sanction)เพื่อลงโทษรัสเซียของประเทศฝ่ายตะวันตก ซึ่งกระทบความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ทำให้เกิดเงินเฟ้อในหลายประเทศ สงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซา และการโจมตีเรือสินค้าที่ผ่านคลองสุเอซในทะเลแดง ที่เกิดขึ้นในไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ที่ทำให้ค่าระวางเรือระหว่างยุโรปกับเอเซียเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลต่อราคาสินค้า
นอกจากเหตุการณ์เหล่านี้แล้ว มาตรการการกีดกันทางการค้า การปกป้องคุ้มครองผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีระหว่างกันของมหาอำนาจ และกระแสทวนโลกาภิวัต (deglobalization) ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ก็มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยด้วย
ในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย ต้องพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และดำเนินนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศอย่างเหมาะสม
ประเทศไทยมีนโยบายการค้าต่างประเทศที่ค่อนข้างเสรี มีการจำกัดการนำเข้าและส่งออกน้อย สินค้าที่ห้ามนำเข้าหรือนำเข้าได้ในปริมาณจำกัดมีอยู่ไม่มาก การส่งออกไม่มีการควบคุม นอกจากกรณีที่มีความจำเป็นต้องจำกัดปริมาณส่งออก เพื่อป้องกันการขาดแคลน หรือมีไม่เพียงพอแก่การบริโภคภายในประเทศ
แม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว อัตราการขยายตัวของการส่งออกของไทยลดลงมาก นโยบายส่งเสริมการส่งออกยังควรจะมีอยู่ต่อไป แต่ต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป
นโยบายการค้าต่างประเทศของไทย ส่วนใหญ่มีความเหมาะสมอยู่แล้ว แต่ในด้านการปฏิบัติ ยังสามารถปรับปรุงได้อีก
การดำเนินนโยบายการค้าต่างประเทศ ต้องนำนโยบายสู่การปฏิบัติ อย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยเป็นสมาชิกของกลุ่มความร่วมมือในภูมิภาค เช่น อาเซียน เอเปก และอาเซป การส่งสินค้าและบริการ ไปยังประเทศสมาชิกอื่นๆในกลุ่มความร่วมมือเหล่านี้ ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเผยแพร่ข่าวสารข้อมูล และแนะนำขั้นตอนการปฏิบัติ ในการใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีนี้ แก่ผู้ส่งออก โดยเฉพาะผู้ส่งออกขนาดย่อมและผู้ส่งออกใหม่ ที่ยังไม่รู้ หรือไม่สันทัดในกฎระเบียบและขั้นตอนต่างๆในการใช้สิทธิ์การยกเว้นภาษีนี้
การส่งออกไปประเทศที่มีข้อตกลงการค้าเสรี ที่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษี ก็มีกฎระเบียบ แต่กฎระเบียบและขั้นตอนการยกเว้นภาษีนี้ มักทำได้ง่าย แต่อาจมีผู้ส่งออกรายเล็ก หรือรายใหม่บางรายที่ยังไม่รู้ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ควรใส่ใจช่วยเหลือ แนะนำ และอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิ์การยกเว้นภาษีนี้
การค้าต่างประเทศในปัจจุบัน มีกฎเกณฑ์และกฎระเบียบจำนวนมาก ทั้งกฎเกณฑ์ที่กำหนดโดยองค์การการค้าโลก และโดยประเทศผู้นำเข้า เช่น กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า ข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย และที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ควรมีการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ให้แก่ผู้ส่งออก โดยเฉพาะผู้ส่งออกรายย่อยและผู้ส่งออกใหม่ที่ไม่มีความรู้หรือไม่สันทัดกับการปฎิบัติตามกฎเกณฑ์เหล่านี้
ในการส่งเสริมการส่งออก ข้อมูลข่าวสารทางด้านการตลาดมีความสำคัญ ประเทศต่างๆมีธรรมเนียมประเพณีแตกต่างกัน มีความต้องการสินค้าไม่เหมือนกัน สำนักงานทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในต่างประเทศ จะต้องรวบรวมสถิติข้อมูลการค้าของประเทศนั้น ทั้งมูลค่าการค้า ประเภทของสินค้าบริการที่ส่งออกและนำเข้า สินค้าบริการที่มีความต้องการ รวมทั้งความเคลื่อนไหวของประเทศคู่แข่ง ส่งมาให้กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเผยแพร่ให้แก่ผู้ส่งออกในประเทศไทยอย่างทั่วถีงและทันท่วงที
ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ ควรมีการรวบรวมและเผยแพร่เป็นประจำ การมีข้อมูลข่าวสารของประเทศคู่ค้าที่ครบถ้วนและสมบูรณ์นี้ เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดและการดำเนินนโยบายการค้าต่างประเทศ
การท่องเที่ยว การส่งคนงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ การมีชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการรักษาพยาบาลในประเทศไทย การมีคนไทยออกไปทำธุรกิจร้านอาหารในต่างประเทศ แล้วส่งเงินตราต่างประเทศเข้ามา ในบัญชีดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ ถือว่าเป็นรายรับจากบริการการส่งออก
การโฆษณาสินค้าและบริการไทย เผยแพร่สู่ประเทศต่างๆทั่วโลก มีผลต่อการส่งเสริมการส่งออก ในด้านบริการ การโฆษณาทัศนียภาพและ ขนบธรรมเนียมประเพณีที่งดงามของไทย รวมทั้งคุณภาพการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลไทย มีส่วนช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว หน่วยงานในภาครัฐและภาคเอกชน ควรใช้เครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ให้เป็นประโยชน์ ต่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์นี้
ในสมัยหนึ่ง ประเทศไทยมีการขาดดุลการค้า คือ มูลค่าของสินค้านำเข้ามากกว่ามูลค่าของสินค้าส่งออก แม้ดุลบริการจะเกินดุล แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดที่รวมดุลการค้าและบริการยังขาดดุลอยู่ แต่มีดุลการชำระเงินที่เกินดุล จากการมีเงินทุนไหลเข้าประเทศ ทั้งการลงทุโดยตรง การซื้อสินทรัพย์หลักทรัพย์ และการกู้ยืมจากต่างประเทศ แต่การมีเงินกู้เข้ามามาก ประเทศไทยก็มีหนี้ต่างประเทศมาก จนอาจนำสู่การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้
ในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ตั้งแต่รัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมการและสำนักงานส่งเสริมการลงทุนในปี 1960 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลแต่ละสมัยให้ความสำคัญต่อการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมาก มีการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งก็สามารถดึงดูดนักลงทุนโดยตรงจากต่างชาติเข้ามาได้มากพอควร แต่ปัจจุบัน ประเทศไทยดึงดูดการลงทุนต่างประเทศได้ไม่มากเมื่อเทียบกับ ประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศที่แข่งขันกันชักชวนการลงทุนจากต่างประเทศ และบางประเทศประสบผลสำเร็จได้ดี ทั้งที่ให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนต่างชาติไม่มากเท่าประเทศไทย
ดังที่เคยกล่าวมาแล้ว ปัจจัยสำคัญของการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ คือ บรรยากาศการลงทุนที่ดี คือ มีเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่มีเสถียรภาพ มีสิ่งสาธารณูปโภคที่พร้อมมูล มีแรงงานที่มีคุณภาพ สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติสนใจ คือ เมื่อมาลงทุนแล้ว มีโอกาสขยายกิจการและสามารถทำกำไร แต่ถ้าบ้านเมืองไม่สงบ มีความไม่ปลอดภัย เขาก็จะไม่เข้ามาลงทุน
นอกจากการดึงดูดการลงทุนต่างจากประเทศแล้ว การใช้ประโยชน์จากการลงทุนต่างประเทศ อาจมีความสำคัญมากกว่า เรื่องนี้มีการกล่าวมาบ้างแล้ว ในที่นี้ จะสรุปเพียงบางหัวข้อ คือ
ก. มีการใช้ เทคโนโลยีของบริษัทต่างชาติให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจภาคต่างๆ
ข. อาศัยเทคโนโลยีที่นำเข้าจากต่างประเทศมาพัฒนากิจกรรมที่ต้อง ใช้เทคโนโลยีระดับสูงในประเทศ
ค. สามารถรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
ง. ตรวจสอบไม่ให้ผู้ลงทุนต่างชาติ มีพฤติกรรมที่ทำความเสียหาย แก่เศรษฐกิจและสังคมไทย เช่น มีการผูกขาด ทำกำไรเกินควร ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการผลิตสินค้าบริการที่ส่งผลเสียต่อผู้บริโภค
จ.มีมาตรการตรวจสอบและลงโทษ ผู้ลงทุนต่างชาติที่สมคบกับนักการเมืองและข้าราชการไทย สร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในประเทศ
นโยบายการลงทุนต่างประเทศของไทยประสบความสำเร็จทางด้านการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในระดับหนึ่ง แต่ทางด้านการใช้ประโยชน์จากการลงทุนจากต่างประเทศ ยังมีข้อต้องปรับปรุง ผู้มีหน้าที่ส่งเสริมการลงทุน ควรศึกษาประสบการณ์ของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการใช้ประโยชน์จากการลงทุนต่างประเทศ ปรับปรุงแนวทางการใช้ประโยชน์จากการลงทุนต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น (นโยบายการใช้ประโยชน์จากการลงทุนต่างชาติเคยเขียนมาบ้างแล้ว ในที่นี้จะไม่พูดอีก)
นโยบายการลงทุนต่างประเทศอีกด้านหนึ่งคือ การกำกับดูแลธุรกิจไทยที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีนักลงทุนไทยที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศไม่น้อย ที่นิยมทำกันคือออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าจ้างแรงงานตำ่กว่าไทย และมีทรัพยากรบางอย่างอุดมสมบูรณ์ การออกไปลงทุนในต่างประเทศมีประโยชน์ต่อผู้ลงทุน ธุรกิจไทยที่มีต้นทุนสูงและธุรกิจที่ต้องการขยายตลาด การออกไปลงทุนในต่างประเทศ ช่วยให้ธุรกิจไทยที่ต้องเผชิญกับต้นทุนสูง อยู่รอด และขยายตัวต่อไปได้ ในบางกรณี ยังอาจแสวงหาวัตถุดิบและเทคโนโลยีที่เรายังขาดแคลนอยู่ รัฐบาลไม่ต้องส่งเสริมธุรกิจไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศมากๆ แต่ควรมีมาตรการที่อำนวยความสะดวกแก่การออกไปลงทุนในต่างประเทศนี้
นอกจากการลงทุนโดยตรงแล้ว เงินจากต่างประเทศในไทย อาจเข้ามาในรูปแบบอึ่น เช่น ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์หรือซื้อสินทรัพย์ การในกรณีนี้ สิ่งที่ผู้ลงทุนต่างประเทศพิจารณาคือ ผลตอบแทนและความเสี่ยง การลงทุนซื้อหลักทรัพย์และสินทรัพย์ของชาวต่างชาตินี้ รัฐบาลไทยไม่จำเป็นต้องส่งเสริม เพราะการลงทุนในลักษณะนี้ให้ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยไม่มาก มักไม่ได้สร้างรายได้และการจ้างงาน แม้จะมีเงินทุนเข้ามาในประเทศ แต่อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในทางบวกหรือทางลบก็ได้
นอกจากการลงทุนในสินทรัพย์และการซื้อหลักทรัพย์แล้ว เงินทุนจากต่างประเทศ ยังเข้ามาในประเทศ จากการกู้ยืมเงินตราต่างประเทศของธุรกิจและธนาคารไทย การเข้าออกของเงินตราต่างประเทศด้านเงินกู้ เกิดจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในประเทศกับต่างประเทศ และข้อพิจารณาของผู้กู้ในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
การเปิดเสรีทางการเงิน ควบคู่กับการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในค.ศ.1997 ในช่วงเวลาก่อนเกิดวิกฤติ เศรษฐกิจไทยเติบโตอัตราสูง ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยในประเทศสูงกว่าในต่างประเทศมาก ธุรกิจไทยมีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศมาก จนประเทศไทยมีหนี้ต่างประเทศมากกว่าเงินทุนสำรอง ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในเวลาต่อมา (อ่านรายละเอียดได้ใน “ นโยบายเศรษฐกิจสำคัญอย่างไร (2”) )
ดังนั้น นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การควบคุมการไหลเข้าออกของเงินทุน และมีอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่เหมาะสม
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือค่าภายนอกของเงินบาท คือ ราคาของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินตราต่างประเทศสกุลต่างๆ เช่น เงินดอลล่าร์สหรัฐ การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลายด้าน ทั้งระดับราคาสินค้า การส่งออกและการนำเข้าสินค้า ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด การไหลเข้าออกของเงินทุน และการพัฒนาเศรษฐกิจในลักษณะอื่น
ในปัจจุบัน ประเทศต่างๆในโลก ส่วนมากใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ค่าเงินเคลื่อนไหวขึ้นลงตามอุปสงค์และอุปทาน แต่มีการควบคุมให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม ที่เรียกกันว่า “ลอยตัวแบบมีการจัดการ(managed float)” ประเทศไทยก็ใช้ระบบนี้ ในแต่ละวัน ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวขึ้นลงตามสภาพตลาด ธุรกิจและประชาชนไทย มักให้ความสนใจในอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินดอลล่าร์สหรัฐ เมื่อเงินดอลลาร์แลกเงินบาทได้มากขึ้น ก็เห็นว่าเงินบาทอ่อนค่า ถ้าเป็นไปในทางตรงข้าม ก็เห็นว่าเงินบาทมีค่าแข็งขึ้น ทั้งๆที่เงินบาทอาจมีค่าสูงขึ้น เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ แต่มีค่าลดลงเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐ
ในเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ค่าเงินของหลายประเทศมีการเคลื่อนไหวขึ้นลงสูงมาก จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในระดับโลก เงินบาหก็มีค่าเปลี่ยนแปลงแทบทุกวัน เมื่อเงินบาทมีค่าแข็งขึ้น ธุรกิจ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงิน มักเรียกร้องให้รัฐบาลควบคุม ไม่ให้เงินบาทมีค่าแข็งเกินไป ในทางกลับกันเมื่อเงินบาทอ่อนค่าลง ก็มีผู้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลควบคุมไม่ให้ค่าเงินอ่อนเกินไป ทั้งนี้เพราะ เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลง ผู้ส่งออกจะได้รับประโยชน์ คือ แม้ส่งออกในราคาตลาดโลกเท่าเดิม แต่มีรายรับเป็นเงินบาทมากขึ้น สำหรับผู้นำเข้า ถ้าเงินบาทอ่อนค่าลง ก็ต้องซื้อสินค้าจากต่างประเทศในราคาสูงขึ้นเมื่อคิดเป็นเงินบาท
ในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รัฐบาลไทยทำอะไรได้ไม่มาก สาเหตุส่วนใหญ่ของการอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐ มาจากเงินดอลล่าร์ที่มีค่าแข็งขึ้น ในสองปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐอเมริกาขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้งเพื่อบรรเทาภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศ เมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้น ก็มีเงินไหลเข้าประเทศมากขึ้น ส่งผลให้เงินดอลล่าร์แข็งค่าขึ้น เงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์จึงอ่อนค่าลง แม้เราจะใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวจัดการ แต่“จัดการ“ได้ไม่มาก สิ่งที่รัฐบาลทำได้ คือ แทรกแซงค่าเงินบาทบ้างเพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวขึ้นลงมากและเร็วเกินไป จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และแนะนำให้ผู้รับผลกระทบ ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน ด้วยการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า
สรุป การกำหนดและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เช่น การควบคุมการนำเข้าและส่งเสริมการส่งออกในสินค้าและบริการ การกำหนดอัตราภาษีศุลกากร การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และการใช้ประโยชน์จากการลงทุน การควบคุมการไหลเข้าออกของเงินทุน และการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ มีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
ในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ควรมีการพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ในทางปฏิบัติ ต้องสนใจการรวบรวมข้อมูลข่าวสาร และการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์