อนาคตที่มืดมัวจริงหรือ
คอลัมน์ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ
ทหารประชาธิปไตย
อนาคตที่มืดมัวจริงหรือ
แม้ว่าจะมีบางสำนักวิเคราะห์ของธนาคารบางแห่ง ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวและติดบวกในไตรมาสที่ 3-4 ของปี 64 และจะขยายตัวในระดับ 3% ในปี 65 (ขยายจากติดลบ 6%)
แต่เราก็คงต้องมาวิเคราะห์ทบทวนอีกครั้งโดยพิจารณาจากเครื่องยนต์ขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจหลักที่มีอยู่ 4 ตัวด้วยกัน ปัจจัยตัวแรกคือการบริโภคของประชาชน (C) กระเตื้องขึ้นเล็กน้อยในไตรมาสที่ 3 ของปี 63 คือปรับตัวดีขึ้น 0.9% หลังจากปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การบริโภคที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยนี้เกิดจากมาตรการ การกระตุ้นการบริโภคของรัฐบาลด้วยโครงการต่างๆ
อย่างไรก็ตามการบริโภคของครัวเรือนนี้ก็ยังมีขีดจำกัดอยู่มาก เพราะปัจจัยต่างๆ เช่น หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นเกือบแตะระดับ 90% ของรายได้ นอกจากนี้การแพร่ระบาดของโควิดก็ทำให้เกิดความขัดข้องในการใช้จ่ายต่างๆ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว จึงทำให้อนุมานได้ว่าการบริโภคของครัวเรือนในปี 64 นี้ จะยังไม่กระเตื้องขึ้น และอาจลดหากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลยังคงแผ่วอยู่
ปัจจัยตัวที่สอง การลงทุนภาคเอกชน (I) แม้จะยังไม่อาจรวบรวมตัวเลขการลงทุนในปี 2563 ได้ชัดเจน แต่ก็ประเมินได้ว่าการลงทุนของภาคเอกชนโดยรวมคงจะลดลง เพราะการคาดคะเนเศรษฐกิจของนักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจไทยจะซึมยาวจึงชะลอการลงทุนในช่วงนี้
ดังนั้นจึงต้องพิจารณาการลงทุนของต่างชาติ FDI พบว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 63 มีมูลค่าลดลง 29% เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และประเทศไทยขาดปัจจัยที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ FDI เช่น ค่าแรงที่สูงขึ้น โดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค
ในขณะที่การพัฒนาฝีมือแรงงานให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า
นอกจากนี้ต่างชาติ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ยุโรป ยังมองว่าเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลไทยไม่สู้มั่นคงนัก โดยเฉพาะการไม่เป็นประชาธิปไตย ภาวการณ์กระจายรายได้ไม่กระเตื้องขึ้น มีแต่แย่ลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และประเทศไทยยังติดอันดับประเทศที่มีการคอร์รัปชันสูง โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ประเมินจากจำนวน 180 ประเทศ ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 104 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 5 ของกลุ่มอาเซียน
ปัจจัยตัวที่สามคือการใช้จ่ายของรัฐบาล (G) แม้ว่ารัฐบาลไทยจะมีหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่สูงกว่ารัฐบาลที่แล้วมา แต่ถ้าคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP แล้วก็ยังคงอยู่ในระดับ 50% และยังไม่ถึง 60% ตามที่เรากำหนดเพดานหนี้ไว้ ซึ่งในอนาคตก็อาจมีการขยับเพดานขึ้นไป
กระนั้นในเรื่องหนี้สาธารณะจึงยังไม่ใช่ปัญหาในการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากจะทำให้มีข้อจำกัดที่จะทำให้ต้องบริหารงบประมาณขาดดุลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และควรจะตัดทอนงบรายจ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นเศรษฐกิจออกไปก่อน
แต่ปัญหาใหญ่ของการใช้จ่ายของภาครัฐก็คือความสามารถในการกระจายงบประมาณออกไปยังหน่วยงานต่างๆเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2563 รัฐบาลได้ออกพ.ร.ก.กู้เงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท แต่เมื่อถึงเดือนกันยายน 63 ได้กู้เงินโดยออกพันธบัติเงินกู้เพียง 373,761 ล้านบาท
นอกจากนี้ระบบราชการในการบริหารจัดการงบประมาณยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า ไม่ว่าจะเป็นงบที่เกี่ยวกับการดูแลป้องกันและรักษาการระบาดของโควิด หรืองบเยียวยาที่เต็มไปด้วยเงื่อนไข ขั้นตอนที่ซับซ้อนยุ่งยากจนทำให้การเยียวยาเกิดผลกระทบต่อผู้เดือดร้อนเป็นจำนวนมาก โดยงบประมาณทั้งหมดจากเงินกู้เบิกจ่ายไปเพียง 29.8% เท่านั้น
ที่น่าวิตกกังวลก็คือ แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจมีการใช้จ่ายไปเพียง 46,558.2382 ล้านบาท เกือบทั้งหมดเป็นการแจกจ่ายกับครัวเรือน
ส่วนแผนงานพลิกฟื้นเศรษฐกิจและแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนเบิกจ่ายไปไม่เกิน 3% เท่านั้น
แม้รัฐบาลจะอ้างว่าที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงและก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภค เช่น รถไฟความเร็วสูง (ซึ่งยังไม่คืบหน้าเท่าไร) กับระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพ (ซึ่งยิ่งทำให้ช่องว่างทางรายได้ระหว่างกรุงเทพกับชนบทยิ่งห่างออกไปอีก) เม็ดเงินเหล่านั้นก็ไปกระจุกตัวอยู่กับนายทุนขนาดใหญ่เป็นส่วนมากและนายทุนต่างชาติ
ปัจจัยที่สี่ คือ รายรับสุทธิจากการค้าระหว่างประเทศ พบว่าดุลการค้าของไทยเกินดุลมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 57-59 จะมีช่วงขาดดุลเพียง 2 ปี คือ 60-61 แต่ก็ไม่มากนัก ครั้นมาปี 62 เรากลับเกินดุลถึง 358.1% นับว่าสูงสุดในอาเซียน
ดูตัวเลขนี้แล้วอย่าเพิ่งดีใจ เพราะในรายละเอียดการส่งออกที่เป็นรายได้หลักของเราลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ที่มันเกินดุลการค้า เพราะการนำเข้าของเรามีอัตราที่ลดลงมากกว่า
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะอุตสาหกรรมการส่งออกของไทยส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมประกอบสินค้าขาย นั่นคือซื้อชิ้นส่วนและวัตถุดิบจากต่างประเทศเข้ามาประกอบขายส่งออก เมื่อส่งออกลดการนำเข้า ชิ้นส่วนก็จะลดลงอย่างมากเพราะไม่มีใครอยากเก็บสต๊อกไว้
นอกจากนี้การนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยราคาสูงยังมีอัตราส่วนที่ลดลงอย่างมาก เพราะมันมีปฏิกริยาต่อรายได้ที่ลดลง
ประเด็นนี้คือการที่เราเกินดุลการค้ามาตลอดทำให้ทุนสำรองของเราเพิ่มขึ้น อนึ่งไทยเกินดุลการค้าในปี 63 เป็นจำนวนเงินถึง 676,087 ล้านบาท
เมื่อมาพิจารณาถึงฐานะการเงินสุทธินั่นคือ ปริมาณเงินไหลเข้า-ออก จากการค้าบริการและการลงทุน เรามีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศถึง 274,492.51 ล้านดอลลาร์หรือเท่ากับ 8.569 ล้านล้านบาท เกือบเท่า GDP ของประเทศ
ปัจจัยเหล่านี้ดูเผินๆก็คิดว่าเศรษฐกิจของไทยมั่นคง แต่ความเป็นจริงมันทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้น จนทำให้โอกาสส่งออกของเราลดลง เพราะสินค้าราคาแพงขึ้น รวมทั้งสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ทำให้การส่งออกข้าวของไทยที่เคยส่งออกถึง 10 ล้านตัน ลดลงเหลือเพียง 6 ล้านตันในปี 2563
หากพ่อค้าต้องการส่งออกข้าวหรือผลิตภัณฑ์เกษตรให้มากขึ้นก็มีเพียงไปกดราคาเกษตรกรเพื่อลดราคาสู้ในตลาดโลก
นี่ก็จะไปเพิ่มภาระให้เกษตรกรที่ยากจนมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการบริโภคโดยรวม และการกระจายรายได้ เพราะการบริโภคของครัวเรือนนั้นโดยหลักมันขึ้นกับรายได้เป็นสำคัญ
ส่วนคำอธิบายเพิ่มเติมที่เรามีเงินทุนไหลเข้าทั้งที่การลงทุนโดยตรงลดลงนั้น มันเกิดจากการเก็งกำไรค่าเงินบาทที่นักลงทุนต่างชาติมองว่าจะแข็งค่าขึ้น จึงโยกเงินเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์และตราสารหนี้ ซึ่งเป็นเพียงชั่วคราว ซึ่งถ้าดูระยะยาวแล้ว ย้อนหลังไป 10 ปี ต่างชาติลดการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มาโดยตลอด เพราะผลตอบแทนต่ำ
อนึ่งการที่ดอกเบี้ยของไทยยังเป็นบวกคือ 0.25% ในขณะที่หลายประเทศเป็น 0%หรือติดลบ ก็เป็นแรงจูงใจให้ต่างชาติเอาเงินมาพักไว้ชั่วคราวเช่นกัน หากมีโอกาสทำกำไรในประเทศอื่นก็พร้อมจะโยกเงินออกไปทันที
ประเด็นทั้งหลายที่กล่าวมาแล้วจึงตอบโจทย์ได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเป็นไปในทิศทางใด
วิธีการแก้ไขมีทางเดียวคือต้องมีการผลักดันครั้งใหญ่ที่เรียกว่า Big Push ให้พ้นจากจุดที่เรียกว่าจุดวิกฤติขั้นต่ำ (Minimum Critical Effort)โดยการอาศัยภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อน รวมทั้ง SME ที่เคยตั้งงบไว้ช่วยเหลือ 250,000 ล้าน แต่เอาเข้าจริงใช้ไปแค่ 100,000 ล้าน
ถ้าไม่รีบเร่งดำเนินการเครื่องยนต์ 4 เครื่องดับหมด ก็มีแต่ตกกระแทกพื้นแน่นอน