jos55 instaslot88 Pusat Togel Online ความคิดของนักปราชญ์จีนในสมัยโบราณ(3) - INEWHORIZON

INEWHORIZON

ขอบฟ้าใหม่

ความคิดของนักปราชญ์จีนในสมัยโบราณ(3)

ความคิดของนักปราชญ์จีนในสมัยโบราณ(3)

รศ.ดร.สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย

ปรัชญาความคิดสำนักขงจื๊อมีการอธิบายตีความโดยนักวิชาการหลายคนในสมัยต่อมา แต่ที่จะกล่าวในที่นี้ก็คือ การขยายความในความคิดของสำนักขงจื๊อในสมัยราชวงศ์ซ่ง(宋)และหมิง(明)ที่เรียกกันว่าสำนักหลักการหรือศาสตร์แห่งหลักการ(理学)และสำนักจิตหรือจิตศาสตร์(心学)ซึ่งแต่ละสำนักมีการพัฒนาและวิวัฒนาการ เป็นเวลาหลายสิบปี และมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมจีนและความคิดของคนจีนในสมัยต่อมา

สำนักหลักการเกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่ง สำนักนี้สืบทอดความคิดของสำนักขงจื๊อในสมัยโบราณและอธิบายให้มีความละเอียดมากขึ้น การเกิดขึ้นของสำนักนี้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจสังคมและการเมืองในสมัยนั้น เช่นการพัฒนาทางการค้า อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และความไม่พอใจของคนที่มีรายได้ต่ำต่อความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้และทรัพย์สิน ซึ่งทำให้เกิดนโยบายการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง แม้ผู้ปกครองประเทศและขุนนางข้าราชการส่วนหนึ่งเห็นว่า ระบบเศรษฐกิจสังคมและการเมืองไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลง และการดำรงระเบียบสังคมและประเพณีตามความคิดของสำนักขงจื๊อเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา

ในบทความนี้ จะไม่กล่าวถึงทฤษฎีกำเนิดจักรวาลของนักวิชาการสำนักหลักการ แต่จะกล่าวถึงความคิดเรื่องหลักการที่สอดคล้องกับธรรมชาติและสอดคล้องกับความคิดของสำนักขงจื๊อ ซึ่งถือกันว่าเป็นหลักสวรรค์(天理)และการระงับความปรารถนาหรือความกำหนัดของมนุษย์(人欲)โดยเห็นว่า พฤติกรรมและอุปนิสัยที่ดีควรสอดคล้องกับหลักธรรมหรือหลักธรรมชาติ และควรละเว้นจากความปรารถนาและความอยาก ดังนั้น การเรียกร้องให้สังคมมีความเป็นธรรมของคนยากจน และข้อเสนอการปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมการเมือง ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ควรมี

สำนักหลักการนี้มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่สมัยต้นราชวงศ์ซ่งเหนือ(北宋)ซึ่งมีนักปราชญ์หลายคนที่เป็นนักวิชาการในสำนักนี้ แต่จนถึงสมัยราชวงศ์ซ่งใต้(南宋)ในศตวรรษที่ 12 ความคิดของสำนักหลักการนี้ จึงได้มีการสรุปรวมโดยจูซี(朱熹)ซึ่งเป็นขุนนางและนักวิชาการที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น

จูซีสรุปความคิดของสำนักหลักการ โดยวลี”ธำรงหลักธรรมสวรรค์ ขจัดละทิ้งตัณหาหรือความทะยานอยาก(存天理 灭人欲)” นักวิชาการสำนักหลักการเห็นว่า มนุษย์ควรปฏิบัติตนตามทำนองคลองธรรม และยึดถือกฎระเบียบสังคมตามคำสอนของสำนักขงจื๊อ เช่น กฎสามหลักและห้าคุณธรรม(三䋄五常) คือ กษัตริย์เป็นหลักของขุนนาง(君为臣纲)บิดาเป็นหลักของบุตร(父为子纲)สามีเป็นหลักภรรยา(夫为妻纲)และยึดหลักธรรมห้าประการ คือ เมตตากรุณา ยุติธรรม มารยาท มีสติปัญญา และความซื่อสัตย์ (仁 义 礼 智 信)

จูซีเห็นว่าการศึกษาวิเคราะห์สิ่งต่างๆตามธรรมชาติทำให้เกิดความรู้(格物致知)เขายังเป็นผู้เรียบเรียงความคิดและคำสอนของสำนักขงจื๊อ และกำหนดให้หนังสือสี่เล่ม(四书)คือ หลุนอวี่(论语)ที่รวบรวมคำพูดของขงจื๊อ ต้าเสวีย(大学)หรือคัมภีร์มหาบุรุษ ซึ่งเป็นความคิดในเรื่องการปฏิบัติตนที่เหมาะสม เมิ่งจื่อ(孟子)ที่สาธยายความคิดของเม่งจื๊อ และจงยง(中庸)ที่อธิบายความคิดทางสายกลางเป็นตำราหลักที่ต้องศึกษาในการสอบเข้ารับราชการในสมัยต่อมา

ความคิดของสำนักหลักการ ได้รับการยอมรับจากทางราชการ และมีอิทธิพลต่อความคิดของคนจีนมาเป็นเวลาหลายร้อยปี แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ยึดมั่นในหลักการมากเกินไป และมีข้อกำหนดในทางปฏิบัติที่เคร่งครัด ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จนมีนักวิชาการจำนวนมากที่อวดอ้างว่าเป็นผู้ยึดมั่นในหลักคุณธรรมอย่างเคร่งครัด และเรียกร้องให้ผู้อื่นต้องปฏิบัติตามหลักการเหล่านี้ แต่ตนเองกลับไม่สามารถปฏิบัติตามได้ นอกจากนี้ ความคิดที่สอนให้คนละทิ้งความอยากหรือความทะเยอทะยานทุกอย่างก็ไม่สมเหตุผลและไม่สามารถปฏิบัติได้ เช่น คนที่มีฐานะต่ำต้อย มีความอัตคัดขัดสน ก็ไม่ควรเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ สุภาพสตรีก็ต้องยอมรับในฐานะที่ตำ่กว่าในสังคม คำสอนที่กล่าวว่า ขุนนางข้าราชการต้องจงรักภักดีต่อกษัตริย์ ลูกต้องเชื่อฟังบิดา ภรรยาต้องเชื่อฟังสามี แต่ไม่ได้พิจารณาหรือคำนึงถึงความถูกต้องนั้นก็ไม่สอดคล้องกับคำสอนของเม่งจื๊อซึ่งเป็นศาสดาที่สำคัญในสำนักขงจื๊อ คำสอนและความเชื่อของสำนักหลักการเหล่านี้ ทำให้คนจีนและประเทศจีน ไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในสมัยต่อมา โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศจีนถูกรุกรานโดยชาติตะวันตก

ความคิดอีกสำนักหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมจีนคือความคิดของสำนักจิตหรือจิตศาสตร์(心学)ซึ่งก็มีวัฒนาการมาเป็นเวลาหลายสิบปี แต่มาตกผลึกที่หวางโส่วเหริน(王守仁)มาราชวงศ์หมิง(明)ที่รู้จักกันในนามหวางหยางหมิง(王阳明)ซึ่งเป็นสมญานามของเขา หวางหยางหมิงเดิมได้ศึกษาความคิดสำนักหลักการ แต่ไม่เห็นด้วยหลายประการ และได้พัฒนาความคิดของเขาเป็นสำนักจิตศาสตร์ หวางหยางหมิงเห็นว่า จิตใจหรือความคิดของคนเป็นสิ่งสำคัญที่กำหนดวิถีชีวิต เขาเห็นด้วยกับความคิดของเม่วจื๊อที่กล่าวว่า มนุษย์มีจิตใจบริสุทธิ์แต่กำเนิด แต่สภาพแวดล้อมทางสังคมที่เลวร้ายและความคิดที่ไม่ถูกต้องที่ได้รับมาเมื่อเขาเติบโตขึ้น อาจทำให้เขากลายเป็นคนไม่ดี หวางหยางหมิงเห็นว่า มนุษย์มีอุปนิสัยที่ดีมาแต่กำเนิด เช่น มีความเมตตากรุณา รู้ดีชั่ว ถูกผิด เขาจึงเห็นว่า การเข้าถึงและการรู้แจ้งจิตภพที่ดี(致良知)เป็นสิ่งสำคัญในการขัดเกลาจิตใจให้ทำความดีและละเว้นความชั่ว นอกจากนี้ เขายังเห็นว่า การรับรู้และการกระทสามารถหลอมรวมเป็นหนึ่ง คือเป็นสิ่งเดียวกัน(知行合一)เมื่อรู้แล้วควรนำไปใช้ในการปฏิบัติ กล่าวอีกในนัยหนึ่งคือ อุปนิสัยและพฤติกรรมของคนล้วนเกิดจากความคิดในจิตใจของตนเอง คิดดีทำดี คิดชั่วทำชั่ว ดังนั้น การไต่ตรองครุ่นคิดเพื่อเข้าถึงจิตที่บริสุทธิ์ จึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำสำหรับมนุษย์ทุกคน

ความคิดของหวางหยางหมิง มีอิทธิพลไม่เพียงแต่ในประเทศจีน แต่ยังเผยแพร่ไปยังประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่นและประเทศอื่นในทวีปเอเชีย อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับความคิดทางปรัชญาอื่นๆ เมื่อกาลเวลาผ่านพ้นไป ก็จะมีผู้นำไปตีความและอาจถูกบิดเบือนไป ความคิดของสำนักจิตก็มีผู้อธิบายและตีความที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม เช่น เห็นว่า ขอให้เข้าถึงจิตใจที่บริสุทธิ์ ก็ไม่ต้องไปสนใจสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา จึงมีผู้วิจารณ์ว่า ความคิดและหลักการของสนนักจิต มีส่วนทำให้ขุนนางผู้มีอำนาจการปกครองในสมัยต่อมาไม่สนใจสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมและประเทศชาติ โดยมุ่งเน้นเพียงการเข้าถึงสภาพจิตที่บริสุทธิ์ และมีส่วนทำให้จีนไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม หากเราศึกษาชีวิตและงานของหวางหยางหมิงโดยละเอียด จะพบว่า เขาได้ปฎิบัติงานที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ต่างๆได้เป็นอย่างดี เพียงแต่ความคิดของเขาถูกบิดเบือนโดยคนที่อ้างว่าเป็นสาวกของเขาในสมัยต่อมา เช่นเดียวกับสาวกหรือสานุศิษย์ของศาสนาต่างๆ ที่ทำความชั่วโดยอ้างคำสอนทางศาสนา แท้ที่จริงแล้ว ศาสนาต่างๆสอนให้คนทำความดี ละเว้นความชั่ว แต่ก็มีผู้ที่อ้างว่าตนเป็นผู้มีความศรัทธาต่อศาสนา แต่ก็ประกอบกรรมชั่วที่ขัดแย้งกับคำสอนของศาสนา ทุกวันนี้ เราได้เห็นคน โดยเฉพาะผู้มีอำนาจในประเทศต่างๆ ที่อ้างว่า นับถือและศรัทธาในศาสนา แต่กลับทำในสิ่งเลวร้ายที่ขัดแย้งกับคำสอนของศาสนา ประธานาธิบดีของสหรัฐเมริกา ตอนสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง จะวางมือข้างหนึ่งไว้บนคัมภีร์ไบเบิ้ล นัยว่าจะปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาคริสต์ แต่หลังจากรับตำแหน่งกลับไปสร้างความวุ่นวายในประเทศต่างๆ อย่างทารุณโหดร้าย ทำให้มีคนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งคนที่นับถือศาสนาคริสต์ที่แท้จริงที่มีความเมตตากรุณาจะไม่กระทำในสิ่งชั่วร้ายเหล่านี้ ผู้นำในประเทศอื่นๆที่อ้างว่านับถือศาสนาอิสลามหรือพุทธ ก็มีการประพฤติปฏิบัติที่ขัดกับหลักคำสอนของศาสนาอยู่เนืองๆ ดังนั้น ความดีหรือความชั่ว ขึ้นอยู่กับความประพฤติหรือการกระทำ แต่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำพูดหรือคำอวดอ้างใดๆ ความเชื่อในลัทธิ ศาสนา หรือปรัชญาความคิด หากไม่ได้นำมาใช้ในทางปฏิบัติแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ เช่นเดียวกัน การศึกษาความคิดของสำนักหลักการและสำนักจิต ก็ควรมีการพิจารณาถ่องแท้ และเลือกสิ่งที่ถูกที่ควรมาใช้ปฏิบัติ แต่ไม่ใช่หลงเชื่อในความคิดหรือคำสอนอย่างงมงาย หรือดีแต่พูดโดยไม่ทำ

Facebook Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *