รัฐบาลที่ประชาชนต้องการ
ทหารประชาธิปไตย
ทุกวันนี้ประชาชนไทย ต่างก็แบ่งค่าย แบ่งขั้วกันไปหลากหลาย แต่ถ้าจะจัดกลุ่มในทางการเมืองก็อาจแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย และกลุ่มที่สนับสนุนเผด็จการ และ 2 กลุ่มใหญ่นี้ต่างก็พยายามยกเอาเหตุผลมาอ้างเพื่อสนับสนุนแนวคิดของตน
กลุ่มที่สนับสนุนเผด็จการก็เชื่อว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยผ่านการเลือกตั้งเข้ามาก็มีแต่มาโกงกิน และเล่นพรรคเล่นพวก
ส่วนกลุ่มที่สนับสนุนประชาธิปไตยก็เชื่อว่าเผด็จการนั่นแหละตัวคอร์รัปชั่น เล่นพรรคเล่นพวก และไม่อาจตรวจสอบได้
เอาเข้าจริงต่างก็เอากระพี้ของการปกครองทั้ง 2 ระบอบมาโต้เถียงกัน ประเด็นแรกการเลือกตั้งมิได้หมายความว่าจะนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยเสมอไป และก็มิได้เป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการคอร์รัปชั่น ส่วนเผด็จการนั้นถ้าเราได้ผู้ปกครองที่มีอุดมการณ์มีคุณธรรม บ้านเมืองก็จะเจริญรุ่งเรือง แต่มันก็มีเงื่อนไขอยู่ที่คำว่า “ถ้า” เพราะคนมีอำนาจเบ็ดเสร็จตรวจสอบไม่ได้ก็มักจะเป็นบ่อเกิดให้มีการคอร์รัปชั่น และเล่นพรรคเล่นพวกกันอย่างมโหฬาร
ถ้างั้นอะไรเล่าที่ประชาชนต้องการจริงๆ ถ้าพูดแบบฟันธงก็ต้องบอกว่าประชาชนต้องการรัฐบาลที่จะมาทำงาน “เพื่อประชาชน” คำๆนี้ฟังคุ้นๆ อ้อก็มาจากคำกล่าวของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ อับราฮัม ลินคอล์น ที่ได้เคยกล่าวว่าระบอบที่ดีคือ การมีรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ซึ่งก็คือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริง แต่การที่จะให้ประเทศพัฒนาน้อยที่เคยชินกับการปกครองแบบเจ้าขุนมูลนาย กระโดดมาเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงนั้นก็คงเป็นไปได้ยาก มันก็คล้ายๆกับเมื่อครั้งที่มีการเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5 คือ มีทาสจำนวนมากเมื่อเป็นไทแล้วก้ไม่รู้จะทำอะไรจะอยู่อย่างไร เพราะเคยชินกับการเป็นทาส จึงขออยู่กับเจ้านายต่อไป ยอมเป็นบ่าวเป็นขี้ข้า จนมีคำพูดเชิงประชดว่า “ทาสที่ปล่อยไม่ไป”
ดังนั้นหากจะพัฒนาการเมืองของประเทศไทยไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ควรจะเริ่มตรงไหน จึงจะไม่วนเวียนเป็นวงจรอุบาทว์อย่างทุกวันนี้
แต่ก่อนจะถึงจุดนั้นมาลองพิจารณาดูว่าวิวัฒนาการของระบอบนี้มันเกิดจากอะไร ประชาชนจริงๆแล้วต้องการอะไร
ผู้เขียนขอยกเอาแนวความคิดของวอลแตร์ หรือฟรองซัว มารี อารูเอ ท่านผู้นี้โจมตีการจัดตั้งศาสนจักรคาธอลิคในยุคนั้น ที่กดขี่ขูดรีดประชาชนโดยใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ และปิดกั้นความคิด และเสรีภาพในการพูด การคิด การขีดการเขียน นอกจากนั้นศาสนจักรยังสมคบกับขุนนางและกษัตริย์แสวงประโยชน์แบบขูดรีดเอาจากประชาชนภายใต้ระบบศักดินา
พิจารณาจากจุดนี้ว่าแล้วอะไรที่ทำให้ประชาชนลุกฮือมา ทำการปฏิวัติประชาธิปไตย สิทธิหรือเสรีภาพ อาจจะเป็นสิ่งที่ต้องการของประชาชน ซึ่งมันค่อนข้างเป็นนามธรรม แต่สิ่งที่ประชาชนเรียกร้องต้องการก็คือชีวิตความเป็นอยู่ที่พอมีพอกิน แต่ระบบศักดินา กดขี่ขูดรีดจนประชาชนระดับล่างแทบไม่มีอะไรจะกิน ชนชั้นกลางในยุคนั้น คือพวกพ่อค้าก็ต้องคอยส่งส่วยให้พวกศักตินา เพื่อจะได้มีช่องทางค้าขายได้แบบพออยู่พอกิน
เมื่อถูกกดขี่จากพวกศักดินามากขึ้น จนอดอยากนั่นก็เป็นชนวนหนึ่งที่ผลักดันให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมาปฏิวัติประชาธิปไตย หรือที่เรียกว่ามหาปฏิวัติในฝรั่งเศส อันเป็นแบบอย่างของการปฏิวัติประชาธิปไตยในยุคต่อๆมา ซึ่งแน่นอนการปฏิวัติประชาธิปไตยในฝรั่งเศสมิได้จบเป็นหนังม้วนเดียว แต่ต้องใช้เวลาปรับตัวแก้ไข ล้มลุกคลุกคลานเป็นเวลากว่า 100 ปี
อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่สร้างความโกรธแค้นให้กับประชาชนอย่างบ้าคลั่งก็คือ การไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม ซึ่งผู้ปกครองใช้อำนาจอย่างไร้ความเป็นธรรม แถมอ้างกฎหมายที่ตนเองเป็นคนเขียนขึ้นเอามาเป็นเครื่องมือในการกดขี่ขูดรีด จนนักปราชญ์อีกท่านที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดในการปฏิวัติประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้กล่าวว่า “ไม่มีความเลวร้ายใดที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายหรือในนามของกระบวนการยุติธรรม” ก็ในเมื่อกฎหมายออกมาโดยชนชั้นปกครองก็ต้องปกป้อง และเอื้อประโยชน์ให้ชนชั้นปกครอง หากพวกชนชั้นล่างแข็งขืนก็จะโดนกฎหมายที่ชนชั้นปกครองเป็นผู้กำหนดมาจัดการกับผู้ที่แข็งขืน
ดังนั้นเรื่องของความยุติธรรมจึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งนอกเหนือจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เป็นชนวนปลุกเร้าให้เกิดการปฏิวัติประชาชนในฝรั่งเศสในยุคนั้น
สำหรับประเทศไทยนั้นคงยากที่จะเกิดการปฏิวัติของประชาชน เพราะคนไทยมีหลักคิดบางอย่าง เช่น เชื่อว่าเราเกิดมาเพื่อใช้กรรมเก่า จึงต้องอดทนรับกรรมไป รอเสวยสุขชาติหน้า บ้างก็เชื่อว่ารู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี บ้างก็ใช้หลักคิดแบบศรีธนชัย บางกลุ่มก็เรียนรู้จากความพยายามของนักศึกษาที่จะปฏิวัติประชาธิปไตย แต่สุดท้ายกลายเป็นเตะหมูเข้าปากหมา เพราะเผด็จการได้หวนคืนมาทดแทนขั้วเผด็จการเก่า จึงไม่มีใครอยากจะเสี่ยงออกมานำการปฏิวัติของประชาชนไม่ว่าจะได้รับการกดขี่มากน้อยเพียงใด และว่ากันตามจริง การกดขี่เอาชัดเอาเปรียบก็ยังไม่ถึงที่สุด เพราะฝ่ายผู้ปกครองเรียนรู้ที่จะมีการปรับตัวยืดหยุ่น หรือสร้างมายาคติหลอกลวงประชาชน โดยใช้แนวคิดของมาคิอาเวลลี ที่อุปมาว่าผู้ปกครองต้องเป็นหมาจิ้งจอกในหนังราชสีห์นั่นคือ แสดงอำนาจข่มขู่แต่แฝงกลอุบายไว้ภายในเพื่อฉ้อฉล
โดยธรรมชาติของมนุษย์นั้นมีความโลภที่ไม่รู้จักเพียงพอ แม้จะค่อยๆทำค่อยๆขูดรีดสุดท้ายย่อมนำมาสู่ความขัดแย้ง ที่ประชาชนทนรับไม่ได้ นั่นคือ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่กว้างออกไปทุกที ส่วนความยุติธรรมก็เลวร้ายลงไปทุกวัน จนกล่าวกันติดปากว่า “คุกมีไว้ขังคนจนเท่านั้น”
แต่ก็ใช่ว่าเมืองไทยจะสิ้นหวังจนต้องรอชดใช้กรรมเก่าไปถึงชาติหน้า หรือเกิดแรงประทุจนกลายเป็นจลาจล ซึ่งจุดนี้ก็แบ่งเป็นสองขั้วของแนวคิด ส่วนหลังมักจะเป็นพวกสูงวัยที่กลัวการเปลี่ยนแปลง และส่วนหลักก็มักจะเป็นคนรุ่นใหม่ แต่ก็มิได้มีเส้นแบ่งชัดเจนที่อายุ แท้จริงมันขึ้นอยู่กับความคิด วิธีคิดและชุดความคิดของแต่ละคน แต่ละกลุ่ม ที่แบ่งแยกผู้คน แม้มีปรากฎการณ์ที่เลวร้ายพอกัน
แนวทางที่อาจเกิดขึ้น และเป็นไปได้ก็คงต้องเกิดจากการริเริ่มขององค์พระประมุขแห่งรัฐ เหมือนเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริในการเลิกทาส ซึ่งสามารถกระทำได้โดยมิได้เกิดการเสียเลือดเนื้อ เพราะทรงมีพระบารมีและทรงมีทศพิธราชธรรม
ดังนั้นหากจะหลีกเลี่ยงการจลาจลในอนาคตอันใกล้ การพระราชทานรัฐบาลขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ หลัก คือ เป็นรัฐบาล “เพื่อประชาชน” อันเป็นก้าวแรกไปสู่ประชาธิปไตย ที่จะมีรัฐบาลโดยประชาชนและของประชาชน ในที่สุดที่สำคัญจะเป็นฐานรองรับสถาบันให้วัฒนาถาวรตลอดไป
แล้วเราจะมีหลักประกันอะไรที่จะมีรัฐบาลเพื่อประชาชน สำหรับยุคนี้ก็ไม่มีอะไรที่จะชัดเจนเท่ากับการนำเอาเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้นั่นคือ ระบบ BLOCK CHAIN ซึ่งระบบนี้จะก่อให้เกิด “ธรรมาภิบาล” ขึ้นจริงในทางปฏิบัติ เกิดความซื่อสัตย์ในการบริหารกิจการบ้านเมือง โดยประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ มีส่วนร่วมในการปกครองประเทศเกิดประสิทธิภาพและตรงต่อความต้องการของประชาชน ในขณะที่สามารถประกันความเป็นส่วนตัวและสิทธิส่วนบุคคล เกิดความปลอดภัยและความมั่นคงของสาธารณะ ประการสุดท้ายคือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
อาจจะมองดูเพ้อฝัน แต่ก็มีบางประเทศดำเนินการไปแล้ว แม้ยังไม่มาก เช่น ลิธัวเนีย ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก
ถ้าเราไม่เริ่มก็อย่าหวังว่าเราจะไปถึงแดนศิวิไลซ์โดยไม่ผ่านแดนโลกันต์เสียก่อน