ซัยยิด อิบรอฮีม รออีซี่ ประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่ กับฉากทัศน์การเมืองโลกและการเมืองภูมิภาค ตอนที่2
ซัยยิด อิบรอฮีม รออีซี่ ประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่ กับฉากทัศน์การเมืองโลกและการเมืองภูมิภาค ตอนที่2
ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน
ศูนย์อิสลามและอิหร่านศึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
ประธานาธิบดี รออีซี่ กับปีกการเมืองสายอนุรักษ์นิยม
มายาคติหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยชาติมหาอำนาจต่อการเมืองอิหร่านตั้งแต่ปฎิวัติอิสลาม1979 นั่นคือภาพลักษณ์ของรัฐที่เป็นรัฐแบบศาสนานิยม อิสลามนิยมแบบขวาจัด โดยให้ภาพลักษณ์ของความแข็งกร้าว หรือการเมืองแบบอนุรักษนิยมผ่านกรอบความคิดมาจากอิมามโคมัยนีที่เป็นรัฐเผด็จการ กรอปกับสื่อกระแสหลักของโลกตะวันตกต่างก็นำไปขยายในทางลบโดยใช้เป็นเครื่องมือของการทำสงครามจิตวิทยากับอิหร่านต่อนานาประเทศเพื่อให้เห็นว่าอิหร่านยึดติดอยู่กับการเมืองปีกอนุรักษ์นิยมที่น่ากลัว เพราะนั่นคือความเป็นรัฐเผด็จการมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสข่าวของการขึ้นมาของประธานาธิบดี รออีซี่ ที่สื่อพยายามจะสร้างตัวตนและอัตลักษณ์ของความน่ากลัวและน่ารังเกียจของกลุ่มการเมืองอิหร่านจากฝ่ายอนุรักษนิยม
สงครามจิตวิทยาของตะวันตกกับอิหร่านในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่๑๓ที่ผ่านมาถือว่าชาติมหาอำนาจและสื่อตะวันตกได้ใช้วาทกรรมทางการเมืองเดิมที่เคยใช้มาตลอดในการสร้างโฆษณาชวนเชื่อให้นานาประเทศรังเกียจสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน นั่นคือ”รออีซี่ ประธานาธิบดีปีกอนุรักษ์นิยม”(Conservatives) เป็นการเมืองแบบศาสนานิยมขวาจัด มีความน่ากลัวและเป็นเผด็จการมากกว่าสายปฎิรูป มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบสุดโต่งเป็นศัตรูกับความสมัยใหม่ ไม่คำนึงต่อหลักสิทธิมนุษยชน เป็นประธานาธิบดีเปื้อนเลือด ได้มีส่วนร่วมในการสั่งประหารชีวิตผู้คิดเห็นต่างทางการเมือง ปี1988 และเป็นประธานาธิบดีที่ถูกสหรัฐฯคว้ำบาตร และอื่นๆตามกระแสสื่อ แต่ทว่า เรามาดูซิว่ากลุ่มการเมืองปีกอนุรักษนิยมที่ว่านั้น มีความเป็นเผด็จการจริงหรือไม่?และน่ากลัวดั่งที่สื่อต่างๆพยายามจะโหนกระแส?
การเมืองปีกอนุรักษนิยมคือใคร?
หลังจากการปฎิวัติ1979 ในอิหร่าน อิหร่านได้เปลี่ยนการปกครองมาเป็น”สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน”(Islamic Republic of Iran) และหลังจากที่ ดร.รอญาอี ได้ขึ้นมาประธานาธิบดีระยะสั้นๆ ไม่กี่เดือนนั้น ก็ถูกลอบวางระเบิดเสียชีวิตจากฝ่ายต่อต้านการปฎิวัติกลุ่มMKO(กระบวนการประชาชนมุญาฮีดีนอิหร่าน) และต่ออายาตุลเลาะฮ์ คามาเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่านคนปัจจุบันขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนต่อมาอีก๘ปี ดังนั้นการเมืองอิหร่านได้ถูกขับเคลื่อนด้วยคณะบุคคลกลุ่มก้อนที่เรียกว่า”สายปฎิวัติ” ซึ่งเป็นกลุ่มนักการเมืองที่ได้ก่อตัวของสานุศิษย์ของอิมามโคมัยนีก่อนการปฎิวัติ ในนาม” جامعه روحانیت مبارز “(ยอมีเอะ รูฮอนียัต มุบาริซ) “กลุ่มนักต่อสู้แห่งสถาบันนักการศาสนา”โดยมีคณะผู้ก่อตั้ง อย่าง อายาตุลเลาะฮ์ มุเฎาะฮารี อายาตุลเลาะฮ์ เบเอชตี้ ฮาชีมี รัฟซาน ยานี(อดีตประธานาธิบดี) นาติก นูรี(อดีตประธานรัฐสภา) อายาตุลเลาะฮ์ มะดะวี กานี และ อายาตุลเลาะฮ์ คามาเนอี (ผู้นำสูงสุดปัจจุบัน)และอีกหลายคนที่เป็นบุคคลสำคัญทางเมืองอิหร่าน โดยกลุ่มการเมืองสายปฎิวัตินี้ได้เริ่มทำงานด้านการเมืองก่อนการปฎิวัติเพื่อเรียกร้องให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้าน ชาฮ์ ปาลาวีที่ได้กดขี่ประชาชนและยังเป็นกลุ่มก้อนที่ได้สานต่อการทำงานด้านการเมืองหลังปฎิวัติ และต่อมากลุ่มก้อนการเมืองกลุ่มนี้ได้ถูกรู้จัก”การเมืองฝ่ายขวา”
หลังจากอิมามโคมัยนีได้เสียชีวิต สภาผู้ชำนัญการได้เลือก อายาตุลเลาะฮ์ คามาเนอีเป็นผู้นำสูงสุด และอิหร่านจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี 1989 และปี1993 ฮาชีมี รัฟซานยานี ได้รับการไว้วางใจให้เป็นประธานาธิบดี ถึง๒ สมัย และการเมือง”สายปฎิวัติ”ได้สร้างการพัฒนาประเทศอย่างกว้างขวาง โดยถูกเรียกช่วงนั้นว่า”การต่อสู้เพื่อพัฒนาประเทศ” โดยนโยบายของรัฟซาน ญานี ในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆให้มีความก้าวหน้าและได้ซ่อมแซมประเทศหลังจากเกิดสงครามแปดปีอิรัก-อิหร่าน ต่อมากลุ่มการเมืองกลุ่มนี้เริ่มขยายความร่วมมือกับกลุ่มการเมืองอื่นมากขึ้น ประชาชนชาวอิหร่านไว้วางใจมาก กรอปกับสายการเมืองกลุ่มนี้ได้ยึดมั่นต่อาการปฎิวัติอิสลามและสืบสานการปฎิวัติอย่างหนักแน่นและต่อต้านการรุกรานของสหรัฐฯและชาติตะวันตกในทุกๆด้าน ในขณะที่สื่อกระแสหลักตะวันตกเริ่มให้ฉายาการเมืองกลุ่มนี้ว่า”กลุ่มการเมืองสายปฎิวัติ”
เมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี1994 กระแสสื่อตะวันตกเริ่มเรียกกลุ่มการเมืองกลุ่มนี้ว่า”การเมืองฝ่ายอนุรักษนิยม แบบขวาจัด” (Conservative) เป็นคู่แข่งทางการเมืองกับอีกฝั่งที่เกิดขึ้นคือ”ฝ่ายปฏิรูปนิยม”( Reformism) และกระแสการตอบรับต่อฝ่ายปฎิรูปมีมากเกินขาด ในที่สุดฝ่ายอนุรักษนิยมได้พ่ายแพ้การเลือกตั้ง ในปี1996 ให้กับฝ่ายปฎิรูป โดยซัยยิด มุฮัมมดั คอตามี เป็นประธานาธิบดีคนแรกของฝ่ายปฎิรูป และซัยยิด คอตามี ได้เป็นประธานาธิบดีถึง๒สมัย เพราะประชาชนได้ไว้วางใจต่อการเมืองฝ่ายปฎิรูปมากกว่าฝ่ายอนุรักษ์
ในปี 2005 อิหร่านได้มีการเลือกประธานาธิบดีครั้งที่เก้าและครั้งที่สิบปี2009 ฝั่งอนุรักษ์ได้ปรับทัพต่อสู้กับฝั่งปฏิรูป โดยส่ง ดร.มะหมูด อะมาดี เนจ๊าดลงเลือกตั้ง ในที่สุดฝ่ายอนุรักษ์ได้รับความไว้วางใจ และอะมาดี เนจ๊าดได้เป็นประธานาธิบดี โดยการสนับสนุนจากกลุ่มการเมืองสายอนุรักษ์ และได้เป็นประธานาธิบดีถึงสองสมัย และยุคของอะมาดีเนจ๊าด สื่อกระแสหลักตะวันตกได้กระพรือข่าวและสงความจิตวิทยาอย่างหนักต่อกลุ่มก้อนการเมืองปีกอนุรักษ์ โดยให้ฉายาว่าเป็นการเมืองของกลุ่มสุดโต่ง เผด็จการ ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ได้ร่างกฎหมายที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนและอีกมากมาย ซึ่งเป็นภาพลบต่อปีกการเมืองฝ่ายอนุรักษ์เป็นอย่างมากในสายตาชาวโลก และด้วยความแข็งกร้าวของ อะมาดี เนจ๊าด ทำให้อิหร่านถูกคว้ำบาตรจากสหรัฐฯและยุโรปเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนเริ่มเบื่อหน่ายต่อการเมืองแบบแข็งกร้าวจนเกินไป ทำให้กระแสการตอบรับต่อฝ่ายอนุรักษ์เริ่มแผ่วบางอีกครั้ง กรอปกับฝ่ายปฎิรูปได้ปรับทัพต่อสู้การเลือกตั้งครั้งใหม่ในปี 2013 โดยลงการลงเลือกตั้งของ ประธานาธิบดี ดร. ฮัสซัน รูฮานี ทั้งสองสมัย เอาชนะฝ่ายอนุรักษนิมไปอยางถล่มทลาย และถือว่าเป็นช่วงอ่อนแอที่สุดของฝ่ายอนุรักษ์ก็ว่าได้
หลังจากที่อายาตุลเลาะฮ์ มะดะวี กานี เลขาธิการพรรค جامعه روحانیت مبارز
(ยอมีเอะ รูฮอนียัต มุบาริซ) =กลุ่มนักต่อสู้แห่งสถาบันนักการศาสนา)ถือว่าเป็นพรรคใหญ่สุดของปีกอนุรักษนิยมได้เสียชีวิตลงทำให้การเมืองฝ่ายอนุรักษ์ต้องปรับทัพครั้งใหญ่ภายใต้ชื่อ”การปรับทัพรวมตัวครั้งใหญ่สายหลักการนิยม(อนุรักษนิยม)” ให้ ดร.ฮัดดาด อาดิล อดีตประธานรัฐสภมและอายาตุลลอฮ์มุวะฮีดี กีรมอนี มาเป็นเลขาธิการคนต่อไป และปรับกลยุทธ์ได้รวมพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์มากถึง๒๑พรรค นำทัพสู้เลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งที่11 ทำให้ยึดเก้าอี้ในรัฐสภามากที่สุด โดยมาจากฝ่ายอนุรักษ์มากถึง ๒๒๑ ที่นั่ง จากจำนวน ๒๙๐ ที่นั่ง ส่วนฝ่ายปฎิรูปเหลือแค่ ๒๐ ที่นั่งเท่านั้นและถือว่าฝ่ายปฎิรูปได้อ่อนตัวลงอย่างเห็นได้ชัด จนกระทั้งฝ่ายอนุรักษนิยมได้ชัยชนะครั้งใหญ่อีกครั้งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่๑๓ที่ผ่านมา โดย ซัยยิด อิบรอฮีม รออีซี่ ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนมากกว่า 18 ล้านเสียง หรือคิดเป็น 61.9 % เลยทีเดียว นับว่าเป็นการผงาดของปีกสายการเมืองหลัการนิยม(อนุรักษ์นิยม)ที่ครองพื้นที่มากที่สุดยุคหนึ่งของอิหร่าน คือทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ อยู่ภายใต้สายการเมืองแบบอนุรักษนิยม
การเมืองปีกอนุรักษนิยมที่เป็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ขณะนี้และเป็นปีกการเมืองของว่าที่ประธานาธิบดี รออีซี่นั้น แท้จริงแล้วการเมืองกลุ่มนี้ชาวอิหร่านจะเรียกว่า” اصولگرا (อุซูลกะรอ หรือ อีกคำ”بنیادگرایان (บุนยอดกระรอยอน) แปลว่า “นักการเมืองแบบหลักการนิยม” (Principlist) เป็นสถาบันทางการเมืองแบบ”อิสลามการเมือง”(Political Islam) ยึดมั่นโครงสร้างอิสลามการเมืองผ่านการสังเคราะห์จากอิมามโคมัยนี ต่อต้านจักรวรรดินิยม ต่อต้านสหรัฐอเมริกา ถือว่าสหรัฐฯคือ”ซาตานตัวใหญ่” ไม่สัมพันธ์ใดๆกับอิสราเอล ยึดมั่นต่อหลัก”วิลายะตุลฟากี”(หลักปกครองระบอบปราชญาธิปไตย) ยอมรับการเป็นผู้นำสูงสุดของ อายาตุลเลาะฮ์ อาลี คามาเนอีเหมือนกับตัวของอิมามโคมัยนี จะอัตลักษณ์ความแข็งกร้าวต่อสหรัฐฯและชาติตะวันตกแต่จะเป็นมิตรกับนานาประเทศ เน้นความเป็นศาสนาสูงแต่ก็ไม่ได้ปฎิเสธความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและสมัยใหม่ และอีกคุณลักษณะหนึ่งสำคัญของสายการเมืองปีกอนุรักษ์นี้ คือ ยึดหลักการเมืองการต่างประเทศใช้หลักการ”ผลประโยชน์แห่งชาติ” โดยคำนึงหลักศาสนาและศิลธรรม มากกว่าความก้าวหน้าทางวัตถุและความต้องการของประชาชน และสายอนุรักษ์นี้ จะยึดหลักการปกป้องคุณค่าของ”การปฏิวัติอิสลาม”เหนือสิ่งอื่นใด เพราะถือว่าคือพรจากพระเจ้า