jos55 instaslot88 Pusat Togel Online ลัทธิซูฟี (1) - INEWHORIZON

INEWHORIZON

ขอบฟ้าใหม่

ลัทธิซูฟี (1)

ลัทธิซูฟี

จรัญ มะลูลีม

 

ความรู้สึกถึงสิ่งลี้ลับและความคิดไตร่ตรองนั้นมีอยู่ในทุกศาสนาและในคนทุกชาติทุกภาษา   แต่ก็แตกต่างกันไปตามบุคคลและเชื้อชาติเผ่าพันธุ์และแนวโน้มของเขาที่จะเอาสิ่งที่เป็นนามธรรมไปคละเคล้ากับสิ่งมีตัวตนจริงๆ

ผู้ถือศาสนาฮินดู (Hinduism) ถือว่าการที่สิ่งที่มีตัวตนจำกัด (คือมนุษย์) ถูกดูดซึมเข้าไปในสิ่งที่ไม่มีขอบเขตจำกัด (คือพระเจ้า) นั้นก็คือความสุขอันสูงสุด  และเพื่อไปให้ถึงจุดหมายนี้เขาจะหยุดนิ่งอยู่ที่จุดๆ หนึ่ง  และถอนอัตตาออกจนกระทั่งกลายเป็นความว่างเปล่าเต็มที่

กระบวนการแพ่งพิจารณา (เข้าฌาน) นี้จะค่อยๆ นำไปสู่ข้อสรุปดังที่ปรากฎในพระคัมภีร์ภควัทคีตาว่าพระผู้สร้างกับการสร้างนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน  ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าลัทธิที่ถือว่าพระเจ้าสิงสถิตอยู่ทุกหนทุกแห่ง (Pantheism) ในขั้นสุดโต่งนั้นเกือบจะกลายเป็นลัทธิเชื่อเครื่องรางไสยศาสตร์   หรือนับถือบูชาสิ่งใดๆ โดยปราศจากเหตุผล (Fetishism) ซึ่งมีอยู่ก่อนความคิดอย่างอื่นทุกอย่างที่เกี่ยวกับพระเจ้าไปเสียแล้ว

ในขั้นตอนที่จิตใจของมนุษย์ยังเป็นทารกไม่รู้จักความรู้สึกด้านจิตวิญญาณใดๆ นอกจากความหวาดกลัวแต่อย่างเดียว    ป่าดงดิบซึ่งมนุษย์ยังไม่เคยเห็น  ภูเขาสูงตระหง่านที่อยู่ไกลๆ    ความมืดของยามค่ำคืนอันเต็มไปด้วยรูปร่างแปลกประหลาดน่ากลัวที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ไปมา

เสียงหวิดหวิวของลมที่พัดผ่านยอดไม้ในป่าทึบ     ทั้งหมดเหล่านี้ก่อให้เกิดความหวาดหวั่นพรั่นพรึงขึ้นมาในจิตใจขั้นทารกของมนุษย์   เขาจะบูชาวัตถุทุกอย่างที่เขาคิดว่ามีอำนาจหรือน่ากลัวมากกว่าตัวเขาเองหรือน่ากลัวกว่าสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวเขา   แล้วเขาก็จะค่อยๆ เติมอุดมคติเข้าไปในวัตถุธรรมชาติเหล่านั้น  และคิดว่าลักษณะอุดมคติเหล่านั้นมีค่าควรแก่การนับถือบูชา

เมื่อกาลเวลาผ่านไป  ลักษณะอุดมคติที่อยู่แยกกันแต่ละอย่างเหล่านี้ก็ค่อยๆ เข้ามารวมกันกลายเป็นลักษณะอุดมคติสากลที่โอบล้อมทุกสิ่งทุกอย่างไว้   ดังนั้นต่อจากขั้นการนับถือบูชาวัตถุ (Fetishism)  จึงกลายเป็นขั้นที่คิดว่าพระเจ้าสิ่งสถิตอยู่ในวัตถุต่างๆ (Materialistic Pantheism) นี่คือความนิยมสิ่งลี้ลับที่แฝงอยู่ในจิตใจของมนุษย์

ปรัชญาที่นิยมความลี้ลับ  ถือกำเนิดมาจากความสำคัญด้านความลี้ลับ (Esoteric) ที่มุสลิมส่วนหนึ่งถือว่ามีอยู่ในพระวัจนะของพระเจ้าในคัมภีร์อัล-กุรอาน ลัทธินิยมความลี้ลับซึ่งมีความใฝ่ฝันอย่างสูงที่จะบรรลุถึงพระเจ้าถูกนำมาโดยคำสอนของอิสลามในเรื่อง “แสงสว่างภายในตน”   มุสลิมที่เป็นนักคิดหลายคนมีความคิดว่าในข้อความของคัมภีร์อัล-กุรอานนั้นมีความหมายที่ลึกซึ้งอยู่ข้างในเกินกว่าที่จะเข้าใจกันเพียงเผินๆ ได้

ที่พวกเขาคิดดังนี้มิใช่เพื่อจะหลีกหนีไปจากความเข้มงวดเคร่งครัดของ “คัมภีร์และกฎเกณฑ์คำสอน” แต่เกิดจากความมั่นใจอันลึกซึ้งว่าถ้อยคำของพระเจ้าเหล่านั้นมีความหมายลึกซึ้งมากกว่าที่ได้รับการอภิปรายโดยนักอรรถาธิบาย

ความมั่นใจนี้รวมกับความรู้สึกลึกๆ ในใจในเรื่องความแผ่ซ่านอยู่ทั่วไปของพระเจ้า   อันเป็นความรู้สึกที่เกิดจากคำสอนของอัล-กุรอานและสอดคล้องอย่างเต็มที่กับคำสอนของพระคัมภีร์นั้นและของท่านศาสดา   ดังนั้นจึงได้เกิดเป็นปรัชญานิยมความลี้ลับที่เราเรียกว่าลัทธิซูฟี (Sufism) ขึ้นในหมู่มุสลิม

ตามความคิดของคนทั่วไป  ลัทธินี้หมายถึงการละทิ้งเรื่องทางโลกโดยสิ้นเชิง   ต้องสละพันธะหน้าที่ที่มีต่อครอบครัวและมุ่งสำรวมจิตคำนึงแต่สิ่งเดียวโดยเด็ดขาดจากสิ่งอื่นๆ ทั้งปวง   แต่อันที่จริงแล้วผู้เป็นซูฟีที่แท้จริงในอิสลามก็คือผู้ที่ต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งสองด้าน   คือส่วนประกอบซึ่งกันและกัน   ไม่ใช่ศัตรูของกันและกัน

 

หลักการของซูฟี

ปรัชญาซูฟีเป็นเรื่องที่กว้างขวางและหลากหลายมาก  ไม่อาจถือว่าสำนักคิดที่ถูกตั้งขึ้นมาเป็นหนึ่งเดียวอย่างตรงไปตรงมาได้    มันได้เผยตัวออกมาในรูปลักษณ์ต่างๆ กัน  ในสถานที่และกาลเวลาต่างๆ กัน    ยิ่งกว่านั้นในคำสอนของซูฟีผู้คนต่างๆ ซึ่งตั้งระบบต่างๆ กันก็มีแนวโน้มไปต่างๆ กันด้วย   สำนักคิดซูฟีมีสาขาหรือระบบต่างๆ ถึง 200 สาขา  จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะกล่าวถึงหลักการของสำนักคิดนี้ให้ถูกต้องแน่นอนลงไป   แต่ก็ได้

  • หลักการเรื่องพระเจ้า

แนวความคิดของซูฟีเรื่องพระเจ้ามักจะแตกต่างจากฝ่ายจารีตนิยม    ซูฟีให้ความหมายส่วนแรกของคำปฏิญาณ (กะลิมะฮ์) ที่ว่า “ลาอิลาฮะ อิล ลัลลอฮ์” มิใช่ว่า “ไม่มีสิ่งใดควรแก่การสักการะบูชานอกจากอัลลอฮ์”    แต่เป็น “ไม่มีสิ่งใดอยู่นอกจากอัลลอฮ์”   ดังนั้นซูฟีจึงถือว่าพระเจ้าคือ สิ่งเป็นจริง (Reality) สิ่งเดียวเท่านั้น    สิ่งอื่นๆ นอกจากนั้นล้วนแต่เป็นมายา  แต่ในเรื่องธรรมชาติของสิ่งเป็นจริงนี้   ซูฟีกลุ่มต่างๆ ก็มีความคิดเห็นไม่เหมือนกันอีก    บางคนก็ถือว่าคือเจตนารมณ์สากล     บางคนก็ถือว่าคือความรู้แท้จริง  บ้างก็คิดว่าเป็นแสงสว่างนิรันดร์บางคนก็เห็นว่าเป็นความงามสูงสุด

  • หลักการเรื่องดวงวิญญาณของมนุษย์

พวกซูฟีถือว่าดวงวิญญาณของมนุษย์คือส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของพระเจ้า      อัล-กุรอานกล่าวว่า “ข้าได้เป่าดวงวิญญาณของข้า (พระเจ้า) เข้าไปสู่เขา (มนุษย์)”    ยิ่งกว่านั้นท่านศาสดายังได้กล่าวว่าพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ในรูปของพระองค์เอง     ดังนั้นธรรมชาติภายในหรือจิตวิญญาณของมนุษย์จึงคล้ายคลึงกับดวงจิตของพระเจ้า    และคุณลักษณะบางประการของพระเจ้าก็สะท้อนอยู่ในมนุษย์    ดังนั้นซูฟีจึงถือว่ามนุษย์เป็นเหมือนโลกเล็กๆ ซึ่งมีดวงจิตของพระเจ้าอยู่ในระดับสูงสุด   เพราะฉะนั้นซูฟีจึงกล่าวว่า  “บุคคลผู้รู้จักตัวเองย่อมรู้จักพระผู้อภิบาลของเขา”

  • หลักการเรื่องโลกภายนอก

สำหรับซูฟีส่วนมากนั้นโลกภายนอกไม่ใช่ของจริงเป็นสิ่งลวง  ของจริงอย่างเดียวคือพระเจ้า  ไม่มีสิ่งใดนอกจากพระองค์    พระองค์คือแก่นแท้อย่างเดียวที่แฝงอยู่ในปรากฎการณ์ทุกอย่าง

โลกนี้ไม่มีความเป็นอยู่ที่แท้จริง   มันเป็นเพียงสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงๆ ทุกสิ่งในโลกอยู่กับพระองค์ สิ่งภายนอกทั้งหลายล้วนแต่เป็นสิ่งที่ออกมาจากพระเจ้าหรือมิฉะนั้นก็เป็นกระจกเงาซึ่งสะท้อนคุณลักษณะของพระองค์

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นทรรศนะกว้างๆ เกี่ยวกับโลกภายนอกเท่านั้น  แต่ทว่าแต่ละกลุ่มหรือสาขาก็ยังมีทรรศนะแตกต่างออกไปอีกในการตีความเรื่องกระบวนการของจักรวาลและความสัมพันธ์ของจักรวาลที่มีต่อพระเจ้า

ในเรื่องนี้เราอาจแบ่งซูฟีออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มอิญาลียะฮ์ กลุ่มชุฮุดดียะฮ์ และกลุ่มวาญุดดียะฮ์   กลุ่มที่หนึ่งนั้นถือว่าแก่นแท้ของโลกนั้นอยู่ข้างนอกแก่นแท้ของพระเจ้า   แต่โลกมาจากพระองค์   ถึงแม้ว่าในตอนต้นจะมีแก่นแท้อยู่สองชนิดก็ตาม   แต่ในที่สุดเนื้อแท้ของโลกภายนอกก็จะละลายเข้าไปในเนื้อแท้ของพระองค์

ส่วนกลุ่มที่สองก็คิดว่าโลกภายนอกเป็นภาพสะท้อนของพระเจ้า   โลกนี้ไม่มีความเป็นอยู่จริงๆ เลย  พระเจ้าผู้ทรงเป็นสิ่งจริงแท้สูงสุดสิ่งเดียวนั่นเองที่ทรงสะท้อนภาพของพระองค์ผ่านสิ่งต่างๆ ในโลกนี้  ส่วนกลุ่มที่สามนั้นถือว่าแก่นแท้มีอยู่หนึ่งเดียวเท่านั้น  นั่นคือพระเจ้า   พระองค์ผู้เป็นสิ่งแท้จริงสูงสุดถูกมองดูจากมุมสองมุมที่ต่างกัน

 

  • ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์

ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์คือสายสัมพันธ์แห่งความรัก  พระเจ้าทรงสร้างสากลจักรวาลขึ้นเพราะความรัก  และมนุษย์ก็คือภาพของพระองค์เอง   ดังนั้นในดวงวิญญาณของมนุษย์จึงมีคุณลักษณะแห่งความรักของพระเจ้าอยู่   ทำให้มนุษย์ใฝ่ฝันที่จะไปรวมกับพระองค์  ดวงวิญญาณของมนุษย์ก็คล้ายกับเป็นผู้แปลกหน้าที่ถูกเนรเทศมา  ใฝ่ฝันคะนึงหาที่จะได้กลับไปยังบ้านเดิมของตน

  • จุดหมายของชีวิต

เนื่องจากว่าความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อพระเจ้านั้นเป็นแบบคู่รักที่มีต่อผู้เป็นที่รัก   ดังนั้นซูฟีจึงถือว่าจุดหมายของชีวิตคือการกลับไปรวมกับพระเจ้า    คือการที่ดวงวิญญาณของมนุษย์แต่ละดวงละลายหายเข้าไปในดวงวิญญาณสากล   ความมุ่งหมายของชีวิตมนุษย์จึงมิใช่การหลีกเลี่ยงจากนรกและการบรรลุถึงสวรรค์ดังที่มุสลิมจารีตนิยมเข้าใจกันโดยทั่วไป    แต่มันคือการบรรลุถึงพระเจ้า  การเข้ารวมกับพระองค์  การเข้ารวมนี้คือหลักพื้นฐานของจริยธรรมของซูฟีเป็นอุดมคติสูงสุด

  • แหล่งความรู้

แม้ว่าเราสามารถบรรลุถึงความรู้ของพระเจ้าได้โดยอาศัยญาณวิสัย (กัชฟ์) เท่านั้น   ตามความคิดเห็นของซูฟีนั้น  เหตุผลไม่สามารถช่วยให้ได้รับความรู้ของพระเจ้าได้   ญาณวิสัยนั้นเป็นผลจากความดื่มด่ำ (ฮัล) ซึ่งจะมีได้หลังจากการฝึกฝนทางจิตมาเป็นเวลานาน

  • ความดื่มด่ำ

ซูฟีชอบความดื่มด่ำซาบซึ้ง (ฮัล) หรือประสบการณ์ทางจิตใจทำนองนั้นมากกว่าปฏิบัติกิจทางศาสนาซึ่งเป็นพิธีการ  ตามปกติแล้วฝ่ายจารีตนิยมมักจะถือว่าการปฏิบัติกิจทางศาสนาที่เป็นพิธีการ (เช่นการละหมาด ถือศีลอด ฯลฯ) มีผลอยู่ในตัวเอง   แต่ตามคำสอนที่แท้จริงของอิสลามแล้ว  การปฏิบัติที่เป็นพิธีการก็คือวิถีทางที่จะนำไปสู่การบรรลุถึงศีลธรรมในระดับที่สูง    การปฏิบัติเหล่านี้ไม่อาจถูกละเลยได้

ซูฟีส่วนมากก็ยึดมั่นในทรรศนะนี้   แต่เน้นความสำคัญของแง่มุมทางด้านศีลธรรมหรือด้านจิตวิญญาณของการปฏิบัติเช่นนั้นมากกว่า    ความดื่มด่ำหมายถึงภาวะของจิตที่นำไปสู่ภาวะและขั้นตอนที่สูงส่งกว่านั้น   ซึ่งหมายถึงฟะนาและบะกอ

  • การระลึกถึง (ซิกร์)

เพื่อที่จะให้บรรลุถึงภาวะแห่งความดื่มด่ำ  ซูฟีต้องอาศัยการระลึกถึง  ในอัล-กุรอานมีกล่าวไว้ว่า “…จงระลึกถึงพระเจ้าอยู่เสมอ”    ซูฟีจึงระลึกถึงพระเจ้าอยู่เสมอโดยการเอ่ยพระนามของพระองค์ซ้ำๆ กัน  (อัสมาอุล-ฮุสนา)  หรือมิฉะนั้นก็ท่องโองการหนึ่งในคัมภีร์อัล-กุรอานอยู่ตลอดเวลา   ซูฟีกลุ่มหนึ่งๆ ก็มีวิธีระลึกแตกต่างกันไป   บางพวกก็ท่องเบาๆ   บางพวกก็ตะโกนเสียงลั่นเอะอะจนถึงกับแสดงท่าทางบ้าคลั่งอย่างเช่น เอามีดแทงตัวเอง กินไฟ กลืนงู เป็นต้น

  • ความชั่วร้าย

ตามความคิดเห็นของซูฟีนั้น  ความชั่วร้ายที่เราเห็นอยู่ในโลกนี้ไม่ใช่ของจริง    เนื่องจากว่าโลกภายนอกไม่มีความเป็นอยู่จริงๆ ฉะนั้นความชั่วร้ายในโลกภายนอกจึงไม่มีความเป็นอยู่จริงๆ ด้วย  พวกเขาถือว่าความชั่วคือสิ่งที่ไม่มีอยู่  แต่เป็นการขาดไปหรือการไม่มีอยู่ของสิ่งที่มีอยู่

ซูฟีบางคน (อย่างช่น ญะลาลุดดีน (รูมี))  คิดว่าถึงแม้ว่าความชั่วร้ายเป็นสิ่งที่ไม่เป็นจริง    ในเรื่องความสัมพันธ์กับพระเจ้า    แต่มันก็เป็นจริงในเรื่องความสัมพันธ์กับโลกนี้  มันเป็นผลอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ของการผสมกันระหว่างความมีอยู่ (ความเป็นจริง) กับความไม่มีอยู่

ถึงแม้ว่าจะมีคำจำกัดความของ “ลัทธิซูฟี” อยู่ในหนังสือภาษาอาหรับและเปอร์เซียมากมายก็ตาม    แต่ความสำคัญของคำจำกัดความเหล่านี้อยู่ที่ว่ามันได้แสดงให้เห็นว่าไม่อาจให้คำจำกัดความที่เหมาะสมแก่มันได้    ผู้ที่ให้คำจำกัดความเหล่านั้นได้แต่พยายามที่จะแสดงออกมาซึ่งสิ่งที่ตัวเขาเองรู้สึกอยู่เท่านั้น    แต่ก็ไม่อาจครอบคลุมเนื้อหาและความรู้สึกทั้งหมดได้    เปรียบเทียบคนตาบอดคลำช้างแล้วกล่าวว่าช้างนั้นเหมือนโน้นเหมือนนี่ซึ่งก็ถูกต้องเพียงส่วนเดียวเท่านั้น  แต่อย่างไรก็ตามขอยกคำจำกัดความบางประโยคมาให้ดูเป็นตัวอย่างดังนี้

“ลัทธิซูฟีเป็นอย่างนี้ คือการกระทำที่พระเจ้าเท่านั้นจะทรงทราบจะผ่านไปบนเขา (คือกระทำแก่เขา)   และเขาจะอยู่กับพระองค์ในวิธีที่พระองค์เท่านั้นทรงทราบ”

“ลัทธิซูฟีเป็นอย่างนี้  คือการมีวินัยควบคุมตนเองอย่างเต็มที่”

“ลัทธิซูฟี คือการไม่เป็นเจ้าของสิ่งใดและไม่ให้สิ่งใดมาเป็นเจ้าของ”

“ลัทธิซูฟี คืออิสรภาพและความเอื้ออารีและไม่มีการเหนี่ยวรั้งตนเอง”

“ลัทธิซูฟี คือการมองดูความบกพร่องของโลกแห่งปรากฏการณ์   การปิดตาต่อทุกๆ สิ่งที่ไม่สมบูรณ์เพื่อไตร่ตรองถึงพระองค์ผู้ทรงอยู่ห่างไกลจากความไม่สมบูรณ์ทั้งปวง   นี่แหละคือลัทธิซูฟี”

“ลัทธิซูฟี คือ การควบคุมอวัยวะต่างๆ และสังเกตดูลมหายใจ” ฯลฯ

ลัทธิซูฟีไม่ใช่นิกายเพราะมันไม่มีระบบคำสอนหรือลักเกณฑ์อะไร  ส่วนวิถีทางหรือที่เรียกว่าเฏาะรีก็อตที่จะบรรลุถึงพระเจ้าก็มีอยู่มากมายหลายทางทีเดียว

คำนิยามที่เก่าแก่ที่สุดของคำว่า “ลัทธิซูฟี” คือ “การเกรงกลัวความเป็นจริงของพระเจ้า”  ซูฟีมักจะเรียกตัวเองว่า “ผู้ติดตามสิ่งจริงแท้ (อะห์ลุลฮักก์)”   คำว่า อัล-ฮักก์ นั้นเป็นคำที่ซูฟีมักใช้กันทั่วไปเพื่อเรียกพระเจ้า    ซูฟีส่วนใหญ่ถือว่าคว่า อัล-ฮักก์ มาจากรากศัพท์ภาษาอาหรับหมายถึง “ความบริสุทธิ์”   ฉะนั้นซูฟีจึงมี ความหมายว่า “ผู้มีความบริสุทธิ์ในดวงใจ”หรือ “ผู้ที่ได้รับเลือก”

คำว่าซูฟี (Sufi) นั้นมาจากต้นตอต่างๆ นักวิชาการมุสลิมสมัยแรกๆ ถือว่า มันมาจากคำว่า “อะห์ลุส ซัฟฟาห์” (Ahl-us Saffah) คือผู้ที่ใช้ชีวิตแบบสันโดษที่อยู่ในมัสญิดของท่านศาสดามุฮัมมัดบางคนก็กล่าวว่ามาจากคำว่า “ซอฟ” ซึ่งหมายถึงแถวหรือลำดับ เพราะซูฟีอยู่ในระดับหนึ่ง

อัล-ญามิอ์ (Al-Jami) และผู้อื่นบางคนเชื่อว่ามาจากคำว่า “เซาะฟา” (ความบริสุทธิ์)   ส่วนนักวิชาการตะวันตกชอบเอาคำนี้ไปเกี่ยวกับคำว่า “Sophist”  (ผู้รักความรู้หรือครูอาจารย์กรีกสมัยโบราณ ซึ่งสอนวิชาปรัชญาและวาทศิลป์)

อย่างไรก็ตาม  ทรรศนะที่ใหม่ที่สุดก็คือคำว่า “Sufi” มาจากคำว่า “Suf” (ผ้าขนสัตว์) เพราะเครื่องแต่งกายที่ทำด้วยผ้าขนสัตว์เป็นสัญลักษณ์ของการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและสละความฟุ่มเฟือยทิ้งไป

ท่านศาสดาแห่งอิสลามและมุสลิมในสมัยแรกๆ เป็นจำนวนมากชอบสวมเสื้อผ้าเรียบๆ มากกว่าเสื้อผ้าสีฉูดฉาดแม้กระทั่งในโอกาสที่มีงานฉลองคำว่า “อัสวาฟ” (พหูพจน์ของสุฟ)      มีใช้ในคัมภีร์อัล-กุรอานด้วย

ที่นี้ของให้เรามาดูคำว่า “วะลี” (Wali) บ้างเพราะสองคำนี้ (ซูฟีกับวะลี) นั้นใช้แทนกันอยู่เสมอๆ “วะลี” หมายถึง “ใกล้” และ “วิลาอิต” (Wilait)  หมายถึง “ความใกล้” หรือ ความใกล้ชิดกับพระเจ้า”   วิลาอิตมีอยู่สองระดับ  ระดับหนึ่งหมายถึงผู้ศรัทธาโดยทั่วไป  ดังที่คัมภีร์อัล-กุรอานกล่าวว่า “พระเจ้าทรงอยู่ใกล้  (หรือเป็นมิตรกับบรรดาผู้มีศรัทธา (และ) ทรงนำพวกเขาออกมาจากความมืดมาสู่แสงสว่าง”   ส่วนอีกระดับหนึ่งสงวนไว้สำหรับผู้ที่ทำลายตัวเองลงในพระเจ้า

เพราะฉะนั้น “วะลี” ที่แท้จริงก็คือผู้ที่ศรัทธาในพระองค์และตายไปในพระองค์  ดังที่ครั้งหนึ่ง อิบรอฮีม บิน อาดัม (Ibrahim bin Adam) เคยกล่าวแก่ผู้หนึ่งที่อยากเป็นวะลีว่า “จงอย่าเอนเอียงเข้าหาอะไรในโลกนี้หรือโลกหน้า   และจงรักษาตัวเองให้จำกัดอยู่แต่ในพระผู้อภิบาลผู้สูงส่งของท่านและในที่สุดก็จงซึมซาบเข้าไปในพระองค์เถิด”

อะบุล กอซิม อัล-กุชัยรี (Abul Qasim al-Qushairy) ได้เขียนไว้ในหนังสือของเขาชื่อริซาละอีกุชัยรียะฮ์ (Risala-i-Qushairiyah) ซึ่งเป็นหนังสือเก่าแก่ที่สุดที่มีอยู่เกี่ยวกับลัทธิซูฟี เขียนเมื่อ ค.ศ. 1040 ว่า คำว่า “วะลี”  นั้นอาจถือว่าเป็น ก) กรรมวาจก (Passive Voice)  หมายถึง “ผู้ซึ่งถูกรักโดยพระเจ้า”  ดังที่คัมภีร์อัล-กุรอานกล่าวว่า  “แน่แท้ผู้คุ้มครองฉันนั้นคือพระเจ้าผู้ทรงเปิดเผยพระคัมภีร์”  หรือ ข) วาจก (Active Voince) หมายถึง “เขาผู้ที่รักการบูชาและอุทิศตนแด่พระเจ้า”  และอะบู อับดุลลอฮ์ คอฟิฟ (Abu Abdullah Khafif) กล่าวว่า “ซูฟีคือผู้ที่พระเจ้าทรงทำให้บริสุทธิ์เพื่อพระองค์เองเนื่องด้วยความรัก”

นักอรรถาธิบายมุสลิมมักจะแบ่งมนุษย์ออกเป็น  ระดับดังนี้

ผู้มีความสำเร็จซึ่งบรรลุจุดหมายปลายทางเป็นอย่างดีแล้ว

ผู้มีคุณสมบัติกลางๆ ซึ่งกำลังเดินทางอยู่ตามหนทางที่นำไปสู่จุดหมายปลายทาง

ผู้ไร่ค่าซึ่งหยุดนิ่งอยู่

บุคคลระดับที่ 1 นอกจากท่านศาสดามุฮัมมัดและศาสดาอื่นๆ ถูกแบ่งออกไปอีกเป็น (ก) ซูฟีผู้ซึ่งบรรลุถึงจุดหมายปลายทางโดยการเดินตามรอยเท้าศาสดาทั้งหลายและได้กระทำหน้าที่อันสูงส่งคือนำมวลชนไปสู่ทางที่เที่ยงธรรมด้วย

(ข) ฟากิร (Faqir) ผู้ซึ่งหลังจากบรรลุถึงความสมบูรณ์แล้วก็ได้ทำตัวเองให้หายไปในความลืมเลือน    ซูฟีย่อมเหนือกว่าฟากิร  เนื่องจากฟากิรมุ่งที่จะไปให้ถึงจุดหมายโดยอาศัยความยากจนและการสละโลก    ในขณะที่ซูฟีมิได้ใช้หนทางหรือวิธีการใดๆ และมั่นใจว่าจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทางอย่างแน่นอนไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม

ซูฟีซึมซาบอยู่ในจุดหมายปลายทางของเขาเสียจนแยกไม่ออกระหว่างวิถีทางกับจุดปลายทาง   ยิ่งกว่านั้นนอกจากจะหาความสมบูรณ์ให้แก่ตนเองแล้ว   ซูฟียังพยายามที่จะทำให้ผู้อื่นสมบูรณ์ด้วยโดยนำพวกเขาไปยังการกระทำที่ถูกต้อง    ในเมื่อฟากิรมุ่งอยู่แต่ตัวเองเท่านั้น

ทฤษฏีพัฒนาจิตวิญญาณของซูฟีตั้งอยู่บนการสละตัวตนโดยสิ้นเชิงและดูดซึมอยู่ในการคำนึงถึงพระเจ้าอย่างสมบูรณ์    ซูฟีเชื่อว่าด้วยการดูดซึมและการมุ่งสำรวจจิตนี้เขาอาจได้ติดต่อกับพระเจ้าอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น  และได้รู้ถึงสัจจะอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น    ความเชื่อนี้  ในขณะที่มันทำให้ผู้เคร่งในศาสนาอุทิศชีวิตของเขาเพื่อศาสนา   แต่ในขณะเดียวกันก็อาจก่อให้เกิดความเพ้อเจ้อขึ้นได้

การรู้จักพระเจ้าโดยญาณวิสัยหรือตะอัรรุฟ (Taamuf)  นั้นมีแฝงอยู่ในความศรัทธาแล้ว  ความตั้งใจ (นิยาต) ที่จะ “เข้าถึง” กุรบัต (Kurbat) และมีการติดต่อกับพระเจ้าเป็นหลักเบื้องต้นอันสำคัญของการอุทิศตนอย่างแท้จริง

ไม่เพียงแต่ว่าพระเจ้าตรัสกับหัวใจของมนุษย์ผู้แสวงหาความช่วยเหลือและการนำทางของพระองค์อย่างจริงใจและกระตือรือร้นเท่านั้น  แต่ความรู้ทุกอย่างยังมาจากปรีชาฌานอันสูงส่งของพระองค์อีกด้วย    มันถูกส่งมาถึงท่านศาสดาโดยการเปิดเผย (Revelation-วะฮีย์)  โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านสื่อกลาง    การติดต่อโดยตรงเช่นนี้ในอิสลามเรียกว่า “อิลมิ ลาตุนนี” (IImi-Laduni)   คำสัญญาของพระเจ้าได้พบการสนองตอบในหัวใจของมนุษย์เมื่อ (หัวใจ) ถูกยกขึ้นสูงในการวิงวอนถึงพระองค์

ผู้นิยมความลี้ลับของทุกเชื้อชาติศาสนาเปรียบความก้าวหน้าของชีวิตด้านจิตวิญญาณว่าเป็นการเดินทางหรือการไปแสวงบุญ    มีการใช้สัญลักษณ์อย่างอื่นๆ เหมือนกัน    แต่ที่ใช้กันมากคืออย่างนี้

ซูฟีผู้เริ่มต้นแสวงหาพระเจ้ามักจะเรียกตัวเองว่า “ผู้สัญจร” หรือซาลิก (Salik) ไปตามทาง (เฏาะรีเกาะฮ์) เพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางคือการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความจริงแท้ (ฟะนาฟิลฮักก์)

“หนทาง” นั้นประกอบด้วยขั้นตอน 7 ขึ้นตอนด้วยกัน     แต่ละขั้นตอน (นอกจากขั้นตอนแรก)  ต่างก็เป็นผลของขั้นตอนที่อยู่หน้าถัดมันไป    ขั้นตอนทั้งเจ็ดมีดังนี้ (1) ความสำนึกผิด (2) การงดเว้น (3) การสละโลก (4) ความยากจน (5) ความอดทน (6) ความไว้วางใจในพระเจ้า (7) ความพอใจ

“ขั้นตอน”  เหล่านี้ก่อให้เกิดวินัยแบบฤาษีและด้านจริยธรรมของซูฟีหนทางของซูฟีจะไม่หมดลงจนกว่าเขาจะผ่านขั้นตอนทั้งหมดไปเสียก่อน     เขาต้องการทำตัวให้สมบูรณ์ในแต่ละขั้นตอนก่อนที่จะก้าวไปสู่ขั้นตอนใหม่    เขาจะได้รับความสำเร็จในขั้นตอนไหนก็ได้ถ้าพระเจ้าทรงพอใจและมอบความสำเร็จให้แก่เขา    ตรงนั้นแหละที่เขาจะถูกยกขึ้นไปสู่ความสำนึกในระดับสูงอย่างถาวรซึ่งซูฟีเรียกว่า “มะอ์ริฟาต” (Marifat) และ “ความจริงแท้” (ฮะกีกัต)  ตรงจุดนี้ผู้แสวงหา (ฏอลิบ) ก็จะกลายเป็น “ผู้รู้”  หรือสิ่งที่ผู้นั้นรู้ (อะรีฟ)   ไปและประจักษ์แจ้งว่าความรู้  ผู้รู้และสิ่งที่ผู้นั้นรู้ก็คือสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวกัน

พระเจ้าในอัล-กุรอานได้ถูกบรรยายว่าเป็น “แสงสว่างแห่งฟากฟ้าทั้งหลายและของผืนแผ่นดิน”  นั้นไม่อาจแลเห็นได้ด้วยตากาย    การให้ความหมายแบบลี้ลับของข้อความที่มีชื่อเสียงข้อความหนึ่งในอัล-กุรอาน  ซึ่งเปรียบแสงสว่างของพระเจ้าเป็นเหมือนเทียนไขที่ลุกอยู่ในดวงโคมที่ทำด้วยแก้วใสซึ่งวางอยู่ในช่องในผนัง    ช่องผนังนั้นก็คือหัวใจของผู้มีศรัทธาที่แท้จริง    เพราะฉะนั้นพระวัจนะของพระองค์ก็คือแสงสว่าง   การงานของพระองค์ก็คือแสงสว่าง   และพระองค์ทรงเคลื่อนไหวอยู่ในแสงสว่าง   แสงสว่างที่ส่องสว่างอยู่ในหัวใจของซูฟีผู้มีแสงสว่างแล้วจะทำให้เขามีพลังอำนาจเหมือนมนุษย์ในการมองเห็น (ฟุรูซัต) พระเจ้าได้

จากแสงสว่างที่รุ่งโรจน์เพิ่มขี้นๆ ซูฟีก็จะขึ้นไปสู่การใคร่ครวญถึงคุณลักษณะของพระเจ้าและในที่สุดเมื่อความสำนึกในตัวตนของเขาละลายหายไปหมด   เขาก็เปลี่ยนรูปไป (ตะเญาฮัร) อยู่ในรังสีแห่งตัวตนอันแท้จริงของพระเจ้า   นี่คือ “จุดหมาย” ของการทำดี เพราะว่า “พระเจ้าทรงอยู่กับผู้กระทำดี

ซูฟีเชื่อว่าเมื่อตัวตนส่วนบุคคลสูญไป  เขาก็จะได้พบตัวตนสากล   หรืออาจกล่าวได้ว่าความปิติซาบซึ้งเป็นทางเดียวที่ดวงวิญญาณจะสื่อความหมายกับพระเจ้าได้โดยตรงและสามารถเข้ารวมกับพระองค์ได้    ทฤษฏีเรื่องการบำเพ็ญตนแบบฤาษีก็ดี  การชำระจิตใจบริสุทธิ์ก็ดี  ความรัก  ความรู้อันเป็นพิเศษ  หรือความเป็นวะลีก็ดีซึ่งเป็นความคิดสำคัญๆ ของลัทธิซูฟีทั้งหมดนี้ต่างก็มาจากหลักการอันสำคัญนี้ทั้งสิ้น

 

Facebook Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *