jos55 instaslot88 Pusat Togel Online วงจรชั่วร้าย(vicious circle)และวงจรความดี(virtuous circle) - INEWHORIZON

INEWHORIZON

ขอบฟ้าใหม่

วงจรชั่วร้าย(vicious circle)และวงจรความดี(virtuous circle)

วงจรชั่วร้าย(vicious circle)และวงจรความดี(virtuous circle)

วงจรชั่วร้ายและวงจรความดี

สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกมักมีเหตุและผล บางเรื่องอาจเกิดขึ้นในลักษณะที่ต่อเนื่องกันเป็นวงจร คือการกระทำหรือสภาพการณ์อย่างหนึ่งนำไปสู่อีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาอาจมีผลดีหรือผลร้ายและอาจขยายวงกว้างออกไป และนำไปสู่สถานการณ์หรือสภาพที่ดีขึ้นหรือเร็วลงในลักษณะที่เป็นลูกโซ่ซึ่งเสริมกันเองและยากที่จะหลุดพ้นออกจากสภาพการณ์นี้ได้
ในทางเศรษฐศาสตร์ มีการพูดถึงวงจรชั่วร้ายของความยากจน(vicious circle of poverty) โดยกล่าวถึงสภาพของประเทศที่มีรายได้ต่ำที่ไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรแห่งความยากจนได้  แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีการกล่าวถึงวงจรความดี กล่าวคือ ประเทศที่มียุทธศาสตร์และนโยบายที่ดีจะมีผลการพัฒนาเศรษฐกิจที่ดี ทำให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง มีรายได้ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน
วงจรชั่วร้ายหรือวงจรอุบาทว์ และวงจรความดีหรือวงจรประเสริฐนี้เกิดขึ้นได้ทั้งกับปัจเจกบุคคล องค์กร สถานประกอบการ และประเทศชาติ
สำหรับปัจเจกบุคคล คนที่ได้รับการศึกษาตำ่ มีความเกียจคร้าน และมีความประพฤติที่ไม่ดี มักจะตกอยู่ในสภาพที่ลำบาก และมีชีวิตตกต่ำ  เพราะเมื่อไม่มีความรู้ ก็ต้องทำงานที่มีรายได้ตำ่  เมื่อมีโอกาสทำงาน ก็ไม่ขยันและไม่สามารถปฏิบัติการงานตามที่ได้รับมอบหมาย  ทั้งยังมีการทุจริตคอรัปชั่น จึงถูกเจ้านายหรือหัวหน้างานตำหนิติเตียน จนในที่สุดต้องถูกไล่ออกจากงาน  เมื่อตกงาน ไม่มีรายได้ ก็ต้องหาเงินจากกิจกรรมที่ผิดกฎหมายและไร้จริยธรรม เช่น การลักขโมยและการประกอบอาชญากรรม  ทั้งยังเป็นคนที่มีอารมณ์ร้าย ชอบดื่มเหล้าและติดยาเสพติด ฯลฯ  หากยังไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็จะจมปรักอยู่ในสภาพที่เลวร้ายเป็นเวลานาน
ในทางตรงกันข้าม คนที่มีความรู้ดี มีความประพฤติที่ดี มีความพยายามในการทำมาหาเลี้ยงชีพ ก็จะมีอนาคตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสถานประกอบการ ถ้าไม่สามารถผลิตสินค้าหรือบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า ก็จะมีผลประกอบการที่ไม่ดี มีกำไรน้อยหรือต้องประสบกับการขาดทุน  แต่แทนที่จะปรับปรุงคุณภาพของสินค้า กลับไปหากำไรด้วยการลดต้นทุน ลดคุณภาพของสินค้าลงเพื่อหวังที่จะประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ผลก็คือ ยิ่งมีผลการประกอบการที่เลวร้ายลง จนในที่สุดอาจถึงกับต้องล้มละลาย
ในทางตรงกันข้าม สถานประกอบการที่มีการเอาใจใส่ในลูกค้า มีการปรับปรุงคุณภาพของสินค้า และมีการบริการลูกค้าที่สามารถสร้างความพอใจให้กับลูกค้า ย่อมมีผลการประกอบการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับประเทศชาติ ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและการดำเนินนโยบายมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ประเทศที่มีการดำเนินนโยบายผิดพลาด ก็จะมีสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่แย่ลงไปเรื่อยๆ จนยากที่จะแก้ไขได้
ในประวัติศาสตร์โลก พบว่า หลายประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีทำเลที่ตั้งที่ดี แต่กลับมีสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่ย่ำแย่  ในทางตรงกันข้าม บางประเทศที่มีทรัพยากรน้อย แต่มียุทธศาสตร์ และนโยบายการพัฒนาประเทศที่ดี ก็สามารถสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จนกลายเป็นประเทศที่มีความมั่นคงและมั่งคั่งได้
ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีประเทศเกิดใหม่ที่ได้รับเอกราชจำนวนมาก ประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมมาก่อนนี้ ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีความยากจนและมีอยู่หลายประเทศที่ไม่สามารถจะหลุดพ้นจากความยากจน ต้องวนเวียนอยู่ในสภาพที่ยากแค้นอยู่เป็นเวลานาน  ในทางเศรษฐศาสตร์จึงมีทฤษฎี ที่เรียกว่า”วงจรชั่วร้ายของความยากจน”(vicious circle of poverty) ซึ่งมีสาระ สำคัญสรุปได้ดังนี้คือ ประเทศไม่สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้ เพราะตกอยู่ในวงจรชั่วร้าย กล่าวคือ ประเทศที่มีประชาชนมีรายได้ต่ำมักมีการออมระดับต่ำ จึงไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะลงทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อมีการลงทุนน้อย จึงมีอัตราเจริญเติบโตต่ำ  ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศเหล่านี้กลับมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  เมื่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีน้อย แต่อัตราเพิ่มของประชากรมีมาก รายได้เฉลี่ยของประชาชนอยู่ในระดับต่ำและลดลงจึงยิ่งมีเงินออมและการลงทุนน้อย ซึ่งก็ยิ่งทำให้อัตราการเจริญเติบโตตำ่ และประชาชนมีรายได้น้อยลงกว่าเดิม  ดังนั้น รายได้น้อย ออมน้อย ลงทุนน้อย อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจตำ่ จึงวนเวียนอยู่เป็นวงจร ทำให้ประเทศไม่สามารถหลุดพ้นออกไปจากสภาพความยากจนได้
นอกจากปัจจัยทางด้านอุปทานแล้ว ประเทศเหล่านี้ยังถูกซ้ำเติมโดยข้อจำกัดทางด้านอุปสงค์คือ เมื่อประชาชนมีรายได้ต่ำ ก็มีอำนาจซื้อน้อย สินค้าที่ผลิตได้หลายอย่างขายไม่ออก สินค้าและบริการใหม่ๆก็เกิดขึ้นได้ยาก ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจก็ไม่มีแรงจูงใจในการลงทุน
ปัจจัยทั้งทางด้านอุปทานและอุปสงค์ล้วนเป็นอุปสรรคขัดขวางทำให้ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถหลุดพ้นออกไปจากสภาพที่ยากจนได้
ในอีกด้านหนึ่ง ในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ก็มีการกล่าวถึงวงจรความดีหรือวงจรประเสริฐ  วงจรความดีในลักษณะหนึ่งคือผลดีของการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมการส่งออก ซึ่งนำมาสู่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยมีความเชื่อมโยงต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่
ในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 มีประเทศและเขตเศรษฐกิจในทวีปเอเชียที่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจจนมีความเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน และก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจที่มีรายได้สูง ที่เรียกกันว่าเป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่(newly industrialized economies) โดยมี เกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ และฮ่องกง เป็นเสือหรือมังกรสี่ตัวแรกที่ประสบความสำเร็จจากการใช้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสากรรมออก
ความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและเขตเศรษฐกิจเหล่านี้เกิดขึ้นจากสาเหตุหลายประการ แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมโดยอาศัยยุทธศาสตร์การส่งเสริมการส่งออก ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ  ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีการกล่าวถึงวงจรความเจริญทางเศรษฐกิจที่เกิดจากยุทธศาสตร์การส่งเสริมการส่งออก(virtuous circle of export promotion) ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้คือ ประเทศหรือเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาส่วนใหญ่มีขนาดตลาดภายในประเทศที่จำกัด ไม่สามารถผลิตสินค้าหลายชนิดเพื่อจำหน่ายภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพได้  ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการผลิตเพื่อการส่งออกจึงเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่นำไปสู่ความเจริญเติบโตในทางเศรษฐกิจ  การส่งเสริมการส่งออกก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้หลายประการคือ ทำให้ได้มาซึ่งเงินตราต่างประเทศซึ่งสามารถนำมาใช้ในการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจได้  การส่งสินค้าออกไปขายในตลาดโลกซึ่งมีความกว้างใหญ่เอื้อต่อการผลิตสินค้าในปริมาณมาก ซึ่งมีผลต่อการประหยัดต้นทุนการผลิตจากการผลิตสินค้าทีละมากๆ   ประเทศผู้ส่งออกที่มีทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานราคาถูก ก็สามารถได้รับประโยชน์จากข้อได้เปรียบโดยเปรียบเทียบทางด้านทรัพยากร   เมื่อมีการส่งออกมากขึ้น ก็มีรายรับเงินตราต่างประเทศมากขึ้น  ประชาชนในประเทศ ทั้งผู้ลงทุน คนงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร ก็มีรายได้มากขึ้น  มีอำนาจซื้อที่สูงขึ้น สินค้าอุตสาหกรรมนอกจากจะสามารถส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศแล้ว ยังสามารถจำหน่ายในประเทศได้มากขึ้น  ทั้งยังส่งผลเชื่อมโยงต่อเนื่องไปถึงภาคการเกษตร การคมนาคมขนส่ง และกิจกรรมบริการต่างๆด้วย
เมื่อมีการส่งออกมากขึ้น ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น เศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตมากขึ้น ก็สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้ในปริมาณมากขึ้น ซึ่งมีผลต่อการได้มาซึ่งเทคโนโลยีในการผลิต การตลาดและการจัดการ  การส่งสินค้าออกไปจำหน่ายในตลาดโลกต้องเผชิญกับการแข่งขันจากสินค้าออกที่ผลิตในประเทศอื่นๆ  ผู้ประกอบการทั้งผู้ลงทุนในประเทศและผู้เข้ามาลงทุนจากต่างประเทศ ต้องพยายามปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิตเพื่อเผชิญกับการแข่งขันที่แหลมคม จึงต้องทำการวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรม เพื่อทำให้สินค้ของตนสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดและขยายปริมาณการส่งออกได้มากขึ้น
การส่งออก การมีรายรับเงินตราต่างประเทศที่สูงขึ้น รายได้ประชาชาติที่ขยายตัว การบริโภคทั้งในประเทศและในต่างประเทศที่สูงขึ้น การวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมที่มีมากขึ้น สินค้าที่ผลิตมีคุณภาพที่ดีขึ้น จำหน่ายได้มากขึ้น มีเงินตราเข้าประเทศมากขึ้น ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น ฯลฯ จึงมีลักษณะที่มีผลต่อเนื่องกันเป็นวงจร
ตัวอย่างของวงจรความดี หรือวงจรประเสริฐและวงจรชั่วร้ายหรือวงจรอุบาทว์ ทั้งในระดับประเทศ สถานประกอบการ และระดับบุคคลมีอยู่ไปจำนวนมาก ในระดับประเทศ การปฏิรูปเศรษฐกิจ การสร้างสิ่งสาธารณูปโภค การวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม ฯลฯ สามารถเกิดผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง  ส่วนวงจรชั่วร้ายหรือวงจรอุบาทว์ เช่น การแก้ปัญหาเงินเฟ้อด้วยการควบคุมราคา ซึ่งทำให้สินค้าขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้นไปอีก หรือการแก้ปัญหารายรับไม่พอกับรายจ่ายโดยการพิมพ์ธนบัตร  ความหายนะทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการใช้ได้โยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาด เช่นการกำหนดอัตราค่าจ้างที่สูงกว่าประสิทธิภาพการผลิต การเร่งรัดในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ประเทศตนไม่มีความถนัด และผลของการทุจริตคอรัปชั่น ฯลฯ ก็มีตัวอย่างให้เห็นอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย
ประเทศต่างๆย่อมมีความปรารถนาที่จะมีความเจริญก้าวหน้า สามารถหลุดพ้นจากวงจรชั่วร้าย และเข้าไปสู่วงจรการพัฒนาเศรษฐกิจที่ดี  แต่จากอดีดถึงปัจจุบัน ประเทศที่ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจมีอยู่ไม่มาก จนถึงเวลานี้ ก็ยังมีประเทศจำนวนมากที่ประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจและยังอยู่ในภาวะยากจน  บางประเทศแม้สามารถพัฒนาจากสภาพที่มีรายได้ต่ำขึ้นสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง แต่ก็ต้องติดกับดักรายได้ปานกลาง ไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้แม้เวลาจะผ่านพ้นไปนานปี
ประเทศที่จมปลักอยู่ในภาวะที่มีรายได้ต่ำ และประเทศรายได้ปานกลางนี่ยังติดหล่มอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง ก็ถือได้ว่าเป็นประเทศที่ไม่สามารถพัฒนาให้หลุดพ้นจากวงจรชั่วร้ายได้
แล้วเราควรทำอย่างไรจึงสามารถรถหลุดออกจากวงจรชั่วร้าย และก้าวเข้าสู่วงจรความดีได้?
ไม่ว่าจะเป็นปัจเจกบุคคล สถานประกอบการ หรือประเทศชาติ การจะหลุดพ้น วงจรชั่วร้ายและก้าวเข้าสู่วงจรความดีนั้น จำเป็นต้องมีการตระหนักถึงสภาพและปัญหาที่ไม่พึงปรารถนาที่ตนเองกำลังประสบอยู่  แม้บางครั้ง การแก้ไขปัญหาอาจต้องอาศัยความช่วยเหลือจากประเทศอื่นหรือผู้อื่น แต่การจะให้หลุดพ้นจากวงจรชั่วร้ายหรือวงจรอุบาทว์ ได้นั้น ข้อสำคัญอยู่ที่ความคิดและการกระทำของตนเอง
ในบทความที่เขียนมาก่อนหน้านี้ มีการกล่าวถึง ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ตัวอย่างของประเทศที่ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ  และผลร้ายของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาด ซึ่งน่าจะเป็นบทเรียนต่อการหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ และการก้าวเข้าสู่วงจรประเสริฐอยู่บ้าง  ในที่นี้จะสรุปเพียงหัวข้อสำคัญบางประการ ที่จะทำให้ปัจเจกบุคคล สถานประกอบการ และประเทศชาติหลีกเลี่ยงการถลำเข้าสู่วงจรอุบาทว์ และนำพาตนเองไปสู่วงจรประเสริฐดังนี้คือ
1. รู้จักสำรวจตนเอง มีความตระหนักว่าตัวเองกำลังอยู่ในสภาพที่ไม่พึงปรารถนาและถลำตัวเข้าไปสู่วงจรชั่วร้าย โดยมีการศึกษาปัญหาและอุปสรรคที่ขัดขวางความเจริญของตนเองอย่างรอบด้าน
2. เปลี่ยนวิถีความคิดหรือทัศนคติ(mindset) เมื่อรู้ว่า ตัวเอง สถานประกอบการหรือประเทศชาติ กำลังมุ่งไปสู่สิ่งชั่วร้ายและความหายนะ ก็ต้องรีบปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ นโยบาย และแนวทางการปฏิบัติ
3. มีความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลง ไม่เกรงกลัวต่อปัญหาและอุปสรรค แต่ก็ไม่ ทำอย่างผลีผลาม บางเรื่องอาจต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้สอดคล้องต่อสถานการณ์
4. หาข่าวสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ นโยบาย และการปฏิบัติ ศึกษาตัวอย่างของประเทศ สถานประกอบการ หรือบุคคลทั้งที่ประสบความสำเร็จ และความล้มเหลว นำตัวอย่างความสำเร็จมาปรับใช้กับตนเอง และพยายามหลีกเลี่ยงการกระทำในลักษณะเดียวกันกับผู้ที่ประสบความล้มเหลว
5. เมื่อมีการกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายแล้ว ต้องนำสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
6. รู้จักใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของวิทยาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลที่เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีของโลก
7. ไม่ว่าครอบครัว สถานประกอบการ หรือประเทศชาติ คุณภาพของคน มีความสำคัญ การพัฒนาคน การใช้คนที่มีความรู้ความสามารถและมีจริยธรรมสูงมาช่วยงานเป็นสิ่งสำคัญเบื้องต้นของการพัฒนา
 8. ต้องมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์และนโยบายที่เหมาะสมเมื่อสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลง
หัวข้อต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นเพียงแนวคิดหรือหลักการกว้างๆเท่านั้น ว่าไปแล้ว การนำตนเองให้หลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ และเข้าสู่วงจรประเสริฐนั้นไม่มีสูตรสำเร็จรูป แต่สิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงความคิดของตนเอง ไม่ว่าปัจเจกบุคคล สถานประกอบการหรือประเทศชาติ แนวความคิดที่นำพาไปสู่ทิศทาง และวิธีการดำเนินงานที่ถูกต้อง การมีความมุ่งมั่นและความพยายามในการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ น่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะนำพาตนเองไปสู่ความสำเร็จ
Facebook Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *