ทรัมป์รางวัลสันติภาพ และอาวุธนิวเคลียร์
คอลัมน์ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ
ทหารประชาธิปไตย
ทรัมป์รางวัลสันติภาพ และอาวุธนิวเคลียร์
หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประสบความสำเร็จในการเป็นผู้ประสานงานในการปรับสัมพันธ์ทางการทูตให้เป็นปกติระหว่างสหรัฐอรับเอมิเรตกับอิสราเอล และมีแนวโน้มว่าบาเรลกับโอมานก็กำลังอยู่ในกระบวนการที่จะทำสัญญาในทำนองเดียวกัน ส่วนซาอุดิอารเบียนั้น แม้จะยังไม่เปิดสัมพันธ์ทางการทูตในระดับปกติ แต่ก็มีการติดต่อกันในระดับที่ก้าวหน้าขึ้นมามาก
ด้วยเหตุนี้จึงมีการเสนอชื่อนายโดนัล ทรัมป์ เข้าประกวดเพื่อรับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพได้หรือไม่ ยังไม่ทราบผล คงต้องรอถึงปลายปี
แต่สิ่งที่น่าจะพิจารณาว่าการทำสัญญาเพื่อยกระดับทางการทูตระหว่างรัฐอาหรับ และอิสราเอลนั้น มันจะนำมาสู่สันติภาพได้จริงหรือ
เพราะสิ่งที่กระทำอยู่นั้นมันเข้าลักษณะเป็นการ “เกี๊ยเซี้ย” ซึ่งเป็นภาษาจีน โดยความหมายเบื้องต้นหมายถึงการเจรจาประนอมหนี้กันระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ แต่ต่อมาคำๆนี้ถูกขยายความให้ครอบคลุมไปกว้างขวางขึ้น
ในทางการเมือง หมายถึง การแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองด้วยการไกล่เกลี่ย ประนีประนอม เจรจาต่อรอง ประสานหรือจัดสรรผลประโยชน์ให้ลงตัวในหมู่ชนชั้นนำของสังคม เพื่อรักษาอภิสิทธิ์หรือสถานะดั้งเดิมของพวกตนไว้ ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ก่อประโยชน์อันใดแก่ประชาชนส่วนใหญ่แล้ว ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ)
ในกรณีการลงนามเพื่อปรับระดับการทูตให้เป็นปกติของประเทศอาหรับก็เข้าทำนองนี้ นั่นคือ ผู้ปกครองได้ประโยชน์จากการร่วมมือทั้งเศรษฐกิจและการทหาร เพื่อร่วมมือกันต่อต้านอิหร่าน ในขณะที่ทางด้านอิสราเอลก็ได้ประโยชน์ในการขยายตัวเข้าไปแย่งยึดเอาดินแดนและเข่นฆ่าชาวปาเลสไตน์ โดยรัฐอาหรับเหล่านั้นจะไม่ขัดขวางหรือท้วงติง
ในขณะที่ประชาชนในประเทศก็มิได้รับประโยชน์อะไรจากเจ้าผู้ปกครองรัฐนอกเหนือจากที่ได้อยู่เดิม และอาจจะน้อยลงด้วยซ้ำหากภัยคุกคามภายนอกน้อยลง
ส่วนทรัมป์นั้นนอกจากได้หน้า แล้วยังอาจได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพอีกด้วย
จึงมีข้อพิจารณาว่าทรัมป์มีคุณสมบัติเพียงพอหรือไม่ที่จะได้รับรางวัลดังกล่าว
ประการแรกการดำเนินนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” และ “อเมริกาต้องกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง” ทำให้ทรัมป์ดำเนินการกีดกันผู้อพยพเข้าเมือง โดยเฉพาะจากตะวันออกกลาง ทั้งๆที่ต้นเหตุของสงครามเกิดจากนโยบายของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่สมัยจอร์จ บุช ผู้พ่อและลูก ส่งผ่านโอบามา จนมาถึงทรัมป์ที่ยืนหยัดว่าอเมริกาต้องกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
การประกาศสงครามการค้ากับจีน และการส่งกองกำลังทางเรือมาคุกคามจีนในทะเลใต้ ก็นับว่าเป็นการใช้กำลังทหารเข้ามาเผชิญหน้าอันเป้นการสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดสงครามโลกได้ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรืออุบัติเหตุ
ในตะวันออกกลางก็พยายามรวมกลุ่มประเทศอาหรับให้จับมือกับอิสราเอลเพื่อกดดันอิหร่าน นอกเหนือจากการกีดกันทางการค้าที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้
ส่วนภายในประเทศก็ปล่อยให้กลุ่ม BLM และ ANTIFA ก่อการจลาจลเพื่อทำลายคะแนนเสียงของพรรคเดโมแครต และจะทำให้คนผิวขาวหรือที่เป็นกลางหันมาลงคะแนนให้ตน เพราะการจราจลนั้นเกิดในรัฐที่มีคนของเดโมแครตเป็นผู้ว่าการรัฐ
ในเรื่องปัญหานิวเคลียร์นั้น สหรัฐฯเป็นผู้นำร่องในการใช้อาวุธนิวเคลียร์กับมนุษยชาติ นั่นคือการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ ฮิโรชิมา และนางาซากิ ทำให้มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายหลายแสนคน อันแสดงถึงความไร้มนุษยธรรมด้วยแนวคิดว่า อเมริกาต้องมาก่อน ด้วยความคิดที่เห็นแก่ตนหวังเอาชนะสงครามให้ได้ แต่ทำให้ชาวญี่ปุ่นที่เป็นพลเรือนต้องสูญเสียชีวิตอย่างมากมาย
ครั้นมาถึงยุคของทรัมป์แนวคิดเรื่องอเมริกาต้องมาก่อน และอเมริกาต้องเป็นใหญ่อีกครั้ง ทำให้ทรัมป์ปรับเปลี่ยนนโยบายในสมัยโอบามาด้วยการยกเลิกการทำสัญญาจำกัดนิวเคลียร์กับอิหร่านในปี ค.ศ.2015 และต่อมาก็ยกเลิกข้อตกลงเรื่องอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางกับรัสเซีย ยกเลิกข้อตกลงการบินสังเกตการณ์การเคลื่อนไหวอาวุธนิวเคลียร์กับรัสเซีย นอกจากนี้นายมาร์ค เอสเปอร์ ยังนำเสนอแนวคิดที่จะติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเซียอีกด้วย
นั่นคือการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์โดยสหรัฐฯ จากยุโรปมายังเอเชีย ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดสงครามนิวเคลียร์มากขึ้น
ทั้งนี้นักการเมืองอเมริกันบางคนก็ยังปรารภว่าสหรัฐฯอาจเป็นประเทศแรกที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์เหมือนที่ใช้กับญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 และจะนำหายนะมาสู่โลกด้วยสงครามนิวเคลียร์ ที่ในปัจจุบันมีการแพร่กระจายไปหลายประเทศแล้ว
แล้วอย่างนี้ก็ยังมีการเสนอชื่อทรัมป์ให้เป็นตัวเลือกในการรับรางวัลสันติภาพ ซึ่งหากจะมองว่าการมอบรางวัลนี้จะทำให้ทรัมป์เปลี่ยนใจเปลี่ยนท่าทีมาเป็นนักสันติภาพก็อาจจะเป็นไปได้ แต่สันดอนนั้นขุดได้แต่สันดานขุดยาก ก็ลองดูกันไป
อย่างไรก็ตามทุกวันนี้ผู้ปกครองในหลายๆประเทศรวมทั้งทรัมป์มักจะยึดแนวทางของมาคิอาเวลลี นั่นคือทำตนเป็นสุนัจจิ้งจอกในหนังราชสีห์ และตัดต้นไผ่อย่าให้เหลือหน่อไผ่ การใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการทำลายล้างก็ยังคงมีความเป็นไปได้
แม้ว่าในระหว่างประเทศมหาอำนาจและประเทศใหญ่ๆ จะมีสนธิสัญญาห้ามการใช้อาวุธนิวเคลียร์ เมื่อปี 2017 และมีการลงนามในการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ในที่สุดก็ตาม
หากแต่ว่าเมื่อมองย้อนไปในอดีตในสมัยประธานาธิบดีทรูแมน ซึ่งก้ได้รับการท้วงติงจากนักวิทยาศาสตร์ในเรื่องการใช้อาวุธนิวเคลียร์ยุติสงคราม และมีการพูดถึงการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการถล่มนาซีเพื่อยุติสงคราม
ในที่สุดก็กลับกลายเป็นว่าได้ใช้อาวุธนิวเคลียร์มาถล่มญี่ปุ่น ซึ่งอาจมองได้ว่ามันเกิดเพราะลัทธิเหยียดผิวก็ได้
ดังนั้นก็อาจจะเป็นแนวคิดแบบเดียวกันที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์กับจีนในสมัยทรัมป์ โดยเฉพาะหากเขาได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าผู้ปกครองในประเทศต่างๆนี้ก็ยังคงยึดหลักการของมาคิอาเวลลี อยู่เสมอมา
สำหรับประเทศไทยหากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคต้นของกรุงศรีอยุธยาหรือต่อมาในยุคกลางคือพระเจ้าปราสาททองจวบจนถึงยุคพระเพทราชาต้นวงศ์บ้านพลูหลวง ก็มีคนสันนิษฐานว่ามีแนวคิดแบบมาคิอาเวลลี ทั้งๆที่ตามความเป็นจริงผู้นำในยุคนั้นๆอาจจะไม่เคยรู้จักมาคิอาเวลลีเลย แต่มันเกิดขึ้นเองโดยสัญชาตญาณของชนชั้นปกครอง ที่ตัดก่อไผ่ไม่ให้เหลือหน่อไม้ ที่น่ากลัวกว่านั้น คือ ประเทศไทยในยุคประวัติศาสตร์จวบจนปัจจุบันยังมีแนวคิดแบบศรีธนญชัยที่เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมในการทำลายล้าง แบบเดียวกับแนวคิดของมาคิอาเวลลี นั่นคือ สุนัจจิ้งจองในหลังราชสีห์
ก็หวังว่าเราคงจะไม่ต้องเผชิญกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จากนิวเคลียร์หรือแม้แต่อาวุธสงครามอื่นๆในอนาคต