jos55 instaslot88 Pusat Togel Online ซะอ์ดี กวีเอกของโลกชาวเปอร์เซีย ตอนที่ 1 - INEWHORIZON

INEWHORIZON

ขอบฟ้าใหม่

ซะอ์ดี กวีเอกของโลกชาวเปอร์เซีย ตอนที่ 1

ซะอ์ดี กวีเอกของโลกชาวเปอร์เซีย ตอนที่ 1

จรัญ มะลูลีม

ซะอ์ดี (Sa’di) หรือในนามที่แวดวงวรรณกรรมรู้จักกันในชื่อชัยค์ ซะอ์ดี ชีราซี (Sheik Sa’di Shirazi) ถือเป็นนักกวีคนสำคัญของโลก  ฟรานซิส แกลดวิน (Francis Gladwin) ที่แปลงานของซะอ์ดีกล่าวถึงซะอ์ดีเอาไว้ว่า ชัยค์ ซะอ์ดี ชีราซี ผู้มีชื่อเสียงเป็นหนึ่งในนักวรรณกรรมเปอร์เซียที่สูงส่งอยู่ตลอดกาล  เป็นผู้ที่สามารถแสดงความหมายแห่งเนื้อหาของมนุษย์ได้อย่างกว้างขวางด้วยคำพูดที่ง่ายดายที่สุดแต่อยู่ในรูปแบบที่สมบูรณ์ที่สุด  ใช้ถ้อยคำที่คล่องแคล่วและด้วยรูปแบบที่ตกแต่งหวานล้ำ  ดึงดูดและสูงส่ง ด้วยเหตุนี้บทกวีและบทร้อยแก้วของเขา จึงมีความละเอียดอ่อนและความงามอันสูงสุด ประกอบด้วยส่วนประกอบและโครงสร้างหลักแห่งอารยธรรมและความคิดของมุสลิมชาวเปอร์เซียหรืออิหร่านในปัจจุบัน

ความมีชื่อเสียงเป็นอมตะของซะอ์ดีได้ขจรขจายจากเมืองคาฉือ (Kashghar) ในประเทศจีนไปจนถึงเอเชียกลาง (Central Asia) และอีกทางหนึ่งจากแอฟริกาเหนือไปจนถึงชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และเสียงสะท้อนจากความไพเราะของเขาชนะใจผู้คนของโลกที่มาจากทุกประเทศ  เชื้อชาติและอายุ ซะอ์ดีสามารถเอาชนะดวงวิญญาณัอันหิวกระหายของผู้คนซึ่งมีความกระตือรือร้นและความปรารถนาได้

“ความรักของซะอ์ดีมิใช่คำพูดที่ยังคงเป็นเพียงความลับ แต่มันเป็นเรื่องเล่าซึ่งได้บอกกล่าวกันในถิ่นตลาดทุกแห่งหน”

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าการขยายตัวอย่างกว้างขวางของภาษาและวรรณกรรมเปอร์เซียอาจถือได้ว่าเป็นอาณาจักรทางจิตวิญญาณของซะอ์ดี

ความสนใจต่องานของซะอ์ดีในหมู่ชาวยุโรปเกิดจากเหตุผลที่ว่างงานของซะอ์ดีมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงอยู่ในหมู่ผู้คนหลากหลายที่อยู่พ้นเขตแดนของอิหร่าน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตแดนจักรวรรดิออตโตมาน และในอนุทวีปเอเชีย  ดังนั้นเพื่อจะได้ประจักษ์ถึงจุดมุ่งหมายของพวกเขา  ชาวฝรั่งเศส เยอรมันและอังกฤษจึงเริ่มต้นแปลงานของซะอ์ดี

งานของซะอ์ดีเรื่องกุลิสตาน (สวนกุหลาบ) และบูสตาน (สวนผลไม้) ได้ถูกแปลเป็นภาษาถิ่นของอินเดียเกือบทุกภาษา เช่น อุรดู กุจราดี ปัญจาบี ซินดี พุชโต เบงกาลี สันสกฤต และซารัยกี ฯลฯ และในแต่ละภาษาเหล่านี้ก็มีการแปลหลายครั้ง

งานวิจัยและงานศึกษาเกี่ยวกับซะอ์ดีในอนุทวีปอินเดียเป็นไปอย่างกว้างขวางและงานเหล่านั้นในตัวมันเองก็สามารถตีพิมพ์และทำเป็นรูปเล่มของต้นฉบับของกุลิสตานหรือบูสตานที่ถูกต้องได้

งานพิมพ์ของซะอ์ดีได้เริ่มต้นขึ้นในอนุทวีปอินเดียก่อนอิหร่านและมีขึ้นในเมืองต่างๆ เช่น เดลี กัลกัตตา (โกลกัตตาในปัจจุบัน) บอมเบย์ (มุมใบในปัจจุบัน) ลัคเนาว์ กานปูร ละโฮร์ เปชะวอร์ และการาจี ฯลฯ และที่สำคัญมากอยู่ในเรื่องที่ว่าต้นฉบับแรกของกุลิสตาน ซึ่งใช้กฎเกณฑ์ต่างๆ ของการเว้นวรรคตอนและเครื่องหมายวรรคตอนได้กระทำขึ้นในปี 1801 ในเมืองกัลกัตตา และกุลิสตานได้รับการตีพิมพ์ด้วยรูปแบบสมับใหม่

ดูเหมือนว่าหนังสือเล่มนี้เป็นต้นฉบับเก่าแก่ที่สุด ซึ่งมีกฎเกณฑ์แห่งวรรคตอนและการเรียบเรียงต้นฉบับภาษาเปอร์เซียในรูปแบบสมัยใหม่ซึ่งต่อมาได้รับการต้อนรับจากทุกคน  และด้วยเหตุนี้เองการใช้กฎเกณฑ์การเรียบเรียงต้นฉบับเก่าอันเป็นแนววิชาการที่ได้รับการยอมรับนั้นก็เนื่องจากชื่อเสียงของซะอ์ดีนั่นเอง

งานพิมพ์กุลิสตานในอนุทวีปรุ่งเรืองอย่างมากมาตั้งแต่ปี 1809 เป็นต้นไปจนถึงขั้นที่ว่าในเวลาต่อมาเราจะพบการพิมพ์กุลิสตานมากกว่า 90 ครั้งซึ่งได้ถูกจัดเป็นรายชื่อส่วนใหญ่และจะมีวันที่ของการพิมพ์ระบุอยู่ด้วย

ต้นฉบับการแปลกุลิสตานของแกลดวิน

ปี 1806 ตีพิมพ์ครั้งแรก

ปี 1808 ตีพิมพ์ครั้งที่สอง

ปี 1833 ตีพิมพ์ครั้งที่สาม

ปี 1834 ตีพิมพ์ครั้งที่สี่

ปี 1909 ตีพิมพ์ครั้งที่ห้าในอัลลาฮาบาด อินเดีย

ปี 1928 ตีพิมพ์ใหม่ในลอนดอนพร้อมกับเรื่องบูสตานโดยความพยายามของเรวิน เลวี (Rewin Levi)

ปี 1980 ตีพิมพ์ตัวพิมพ์แบบใหม่ในปากีสถาน

ปี 1988 ตีพิมพ์ใหม่ในปากีสถาน

ประวัติซะอ์ดี โดยสังเขป

ชื่อและวงศ์ตระกูล มุสลิฮุดดีน อะบู มุฮัมมัด อับดุลลอฮฺ บินมุสลิห์ บิน มุชัรร็อฟ ซีราซี

นามปากกา ซะอ์ดี

สถานที่เกิด เมืองชีราซ

กำเนิด ท่านถือกำเนิดระหว่างปี 600 และ 615 หรืออาจเป็นไปได้ที่สุดคือในศักราชอิสลาม (ฮ.ศ. 605 หรือ ฮ.ศ. 606)

ผลงาน งานร้อยแก้วนอกจากเรื่องกุลิสตาน แล้วก็มี Majliss-i-Panjganeh Nasihat-Mulook   Risala-I’Agl-o-‘Ishq และ Taqrirat-i-Salatha ซึ่งอาจนำมากล่าวถึงได้ และในผลงานที่เป็นบทกวีของเขานอกเหนือไปจากบูสตาน แล้วก็มีงานคัดสรรบทกวีไว้อาลัย บทฆาซัลคือบทกวีบรรยายความรู้สึก  มูก็อตตะอัต (Muqatta’at) บทกวีสั้น มะราสิ (Marasi เพลงสวดในพิธีฝังศพ) และตัรญิอัต (Tarji’at) พหูพจน์ของ Tarji เป็นร้อยแก้วชนิดหนึ่งที่ในบรรทัดเดียวกันมีคำซ้ำๆ เป็นระยะๆ) ฯลฯ งานคัดสรรภายใต้ชื่อ “Kulliyat-i-Sadi” ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง

อสัญกรรม อสัญกรรมของชัยค์ ซะอ์ดี เกิดขึ้นระหว่างปี 690-694 หรืออาจเป็นไปได้ว่าเขาถึงแก่อสัญกรรม ในวันที่ 22 ซุลฮิจญะ ฮ.ศ. 961

สาเหตุของการเขียนเรื่องกุลิสตานหรือสวนกุหลาบนั้น  ซะอ์ดีได้กล่าวเอาไว้ว่า

คืนหนึ่งฉันระลึกถึงเวลาที่ได้ผ่านพ้นไปและคร่ำครวญว่าฉันได้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปแล้ว  ฉันมองทะลุคฤหาสน์ที่ทำด้วยหินแห่งหัวใจของฉันด้วยน้ำตาที่แข็งเหมือนเพ็ชร และได้กล่าวซ้ำถ้อยคำต่อไปนี้ดังที่เหมาะสมกับสภาพของฉัน  ในทุกๆ ชั่วขณะแห่งชีวิตของเจ้า  ลมหายใจได้ถูกทำให้สิ้นเปลืองไป จนทำให้สิ่งที่เหลืออยู่เป็นแต่เพียงเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ

อนิจจาเอ๋ย เจ้าได้ใช้ชีวิตไปกับการนอนเป็นเวลาถึงห้าสิบปี  นอกจากห้าวันเท่านั้นที่เจ้าตื่นขึ้นมาใคร่ครวญ  ความอายย่อมมีแก่ผู้ที่จากไปโดยที่งานของเขายังไม่เสร็จ  ผู้ซึ่งเมื่อเสียงกลองแห่งการจากพรากถูกตีขึ้นก็ยังมิได้สะสางภาระของเขาให้เสร็จสิ้น

การนอนอย่างหวานชื่นในวันแห่งการเดินทางย่อมยับยั้งนักเดินทางไว้จากหนทางของเขา  ทุกๆ คนซึ่งมาถึงต่างก็ได้สร้างแบบแผนขึ้นมาใหม่   เขาจากไปเพื่อให้ที่พักอาศัยว่างสำหรับคนอื่นเข้ามาอยู่   ในทำนองเดียวกันผู้มาใหม่ได้สร้างแผนการขึ้นมาใหม่แต่ไม่เคยมีใครสร้างอาคารได้สำเร็จ

จงอย่าได้ไว้วางใจเพื่อนที่ขาดความมั่นคง  คนมดเท็จไม่สมควรได้รับความเชื่อถือ  ในเมื่อทั้งคนดีและคนชั่วล้วนจะต้องตายไป  ผู้ที่นำเอากลุ่มก้อนแห่งคุณธรรมความดีออกมานั่นแหละคือผู้มีความสุข

จงจัดส่งเสบียงสำหรับการเดินทางไปยังหลุมศพของท่านเอง  ไม่มีใครจะนำมันไปส่งให้ท่านได้  เพราะฉะนั้นจงส่งมันไปก่อนที่ท่านจะจากไป

ชีวิตเปรียบดังหิมะและดวงอาทิตย์แห่งฤดูร้อนลอยใกล้เข้ามาแล้ว  มีเพียงส่วนเล็กๆ เท่านั้นที่ไม่ละลายไป แล้วท่านยังจะเกียจคร้านอยู่อีกหรือ

ท่านผู้ไปยังตลาดด้วยมือเปล่า  ฉันเกรงว่าท่านจะมิได้กลับมาพร้อมกับข้าวของและผืนผ้า ผู้ใดก็ตามที่กินข้าวสาลีของเขาเสียก่อนทีมันจะสุกนั้นเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวจะต้องเที่ยวเก็บฝักข้าวโพดกิน

จงฟังอย่างตั้งใจในคำเตือนของซะอ์ดี  หนทางก็เหมือนดังที่ฉันได้พรรณนามาแล้ว จงมีความร่าเริงสดใสและเดินทางของท่านต่อไปเถิด

หลังจากพูดถึงเรื่องนี้อย่างชัดถ้อยชัดคำแล้ว  ฉันก็คิดได้ว่าฉันควรเลือกที่จะอยู่อย่างสันโดษและถอนตัวออกไปจากสังคม  ลบทิ้งถ้อยที่ไร้สาระทั้งปวงออกไปจากสมุดบันทึกแห่งความทรงจำของฉันและละเว้นจากการสนทนา

Facebook Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *