ดิลิป กุมาร พระเอกที่อยู่ในความทรงจำของชาวอินเดีย ตอนที่ 1
ดิลิป กุมาร พระเอกที่อยู่ในความทรงจำของชาวอินเดีย ตอนที่ 1
จรัญ มะลูลีม
ดิลิป กุมาร (Dilip Kumar -1922-2021) ได้ชื่อว่าเป็นยอดพระเอกภาพยนตร์โศกนาฏกรรมของอินเดีย รวมทั้งเป็นพระเอกโรแมนติกและเป็นพระเอกที่ทักษะการแสดงของเขาก่อให้เกิดศักราชใหม่ของภาพยนตร์อินเดีย (Hindi cinema) ภายใต้การนำแสดงของเขาอย่างแท้จริง
แต่ที่น่าสนใจที่สุดสำหรับดิลิป กุมารก็คือเขาเป็นดาราร่วมสมัยที่แวดวงสังคมนิยมแห่งอินเดียเรียกเขาว่าอินเดียใหม่ (emerging India)
ก่อนหน้าการเสียชีวิตของดิลิป กุมาร ชัม ลาล (Sham Lal) นักเขียน-บรรณาธิการ หนังสือ A Hundred Encounters ผู้มีชื่อเสียงเคยให้ข้อสังเกตไว้ว่า
ความตายไม่ได้เป็นสิ่งที่แปลกหน้าสำหรับซามูเอล เบกเกต (Samuel Beckelt) ผู้มีชื่อเสียงทั้งนี้ชีวิตที่เติบใหญ่ของเขา เป็นชีวิตที่ใกล้ชิดคุ้นเคยกับความตายอยู่แล้ว ดังนั้นความตายของเขาก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการเผชิญหน้าครั้งสุดท้ายกับเพื่อนเก่านั่นเอง
ชัม ลาล จากไปในปี 2007 หากเขายังมีชีวิตอยู่ เขาก็คงจะพูดในแบบเดียวกันถึงดาราที่มีใจกว้างอย่างดิลิป กุมาร ซึ่งจากไปในเมืองมุมใบ (Mumbai) เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2021 ที่ผ่านมาหลังจากต้องเจ็บป่วยอยู่เป็นเวลานาน
สำหรับดิลิป กุมาร เป็นเวลากว่าทศวรรษแล้ว ที่เขาคุ้นเคยใกล้ชิดกับความตาย เขาต้องไปเยือนโรงพยาบาลและเข้าห้อง ICU อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเขาเองก็มิได้คาดหวังว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกยาวนานแต่อย่างใด
แต่ทุกครั้งที่ดิลิป กุมาร เอาชนะความตายมาได้เพื่อกลับบ้านและเข้ามาอยู่ในอ้อมแขนของภรรยาของเขา ซึ่งเป็นดาราผู้โด่งดังของอินเดีย ซัยรา บานู (Saira Banu) ภรรยาของเขาก็จะใช้ความพยายามอย่างไม่ย่อท้อที่จะค้นหาวิธีการรักษาทางการแพทย์เพื่อให้เขากลับมามีสุขภาพที่ดีดังเดิม
การจากไปของดิลิป กุมาร เป็นความเศร้าโศรกของชาวอินเดียนับล้านๆ คนที่แลเห็นการจากไปของดาราผู้เป็นที่รักของเขา
ชีวิตของดิลิป กุมาร กลายเป็นการเดินทางสู่ความสิ้นสุดของค่ำคืน เขาหายใจครั้งสุดท้ายยามเช้าตรู่ด้วยความอาลัย ความโศกเศร้าเสียใจของชาวอินเดียนับล้านที่เป็นแฟนภาพยนตร์ของเขา ทั้งๆ ที่ความตายของเขาแขวนอยู่กับเขามาระยะหนึ่งแล้วจากความป่วยไข้และอายุขัยที่มากขึ้น
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบและติดตามการแสดงของเขาจะระลึกถึงความมีชีวิตชีวาของเขาอยู่เสมอ
อย่างเช่นในภาพยนตร์ของพิมาล รอย (Bimal Roy) เรื่องเทพทาส (Devdas) หรือคู่รักของปี 1955 ที่ยังอยู่ในความทรงจำของชาวอินเดียโดยภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวของความรักอันเศร้าหมอง ซึ่งตราบจนทุกวันนี้ยังไม่มีนักแสดงคนใดทำได้อย่างเขาในจอเงิน
ยังไม่มีดารา บอลลีวู้ดหรือดาราในแวดวงภาพยนตร์อินเดียคนใดหรือแม้แต่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในภูมิภาคของอินเดียที่จะไม่พยายามเล่นบทบาทของดิลิป กุมาร ขึ้นมาเป็นอีกเวอร์ชั่นหนึ่งของภาพยนตร์อินเดีย
ทราเมนดรา (Dharmendra) พระเอกภาพยนตร์อินเดียคนสำคัญได้แสดงในอีกเวอร์ชั่นหนึ่งของดิลิป กุมารในช่วงทศวรรษ 1980 แต่หนังที่ทราเมนดราแสดงกลับถูกวางเอาไว้บนหิ้ง
ต่อมาชาห์รูก ข่าน (Shah Rukh Khan) เป็นพระเอกที่แสดงเทพทาสในภาพยนตร์ของสัญชัย ลีลา บันสาลี (Sanjay Leela Bhansali) ในช่วงที่พระเอกอย่างชาห์รูก ข่านกำลังโด่งดังสุดขีดในปี 2002 แต่ก็ยังไม่มีใครเข้าถึงบทที่เต็มไปด้วยอารมณ์อย่างดิลิป กุมารได้
ผลงานที่กล่าวมาข้างต้นเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ของยูสุฟ ข่าน (Yusuf Khan) ซึ่งเดินทางมาจากปิชาวอร์ (Peshawar) ซึ่งในเวลานี้อยู่ที่ปากีสถาน และกลายมาเป็นดารา ผู้มีชื่อเสียงในชื่อดิลิป กุมาร ทั้งนี้เทวิกา รานี (Devika Rani) ซึ่งในเวลานั้นเป็นผู้มีชื่อเสียงอยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เป็นคนที่ทำให้เขาเปลี่ยนชื่อเพราะเธอรู้สึกว่าการเปลี่ยนชื่อจะทำให้อาณาจักรแห่งความมีชื่อเสียงของดิลิป กุมารจะพุ่งกระฉูดขึ้น เนื่องจากชื่อนี้มาจากชุมชนส่วนใหญ่ของประเทศ อันเป็นการคาดคำนวณที่หวังถึงคนดูส่วนใหญ่ของประเทศ
ด้วยความหล่อเหลาอย่างที่เขาเป็น ดิลิป กุมาร มีบทบาทโดดเด่นเหนือความมีหน้าตาดีของตัวเอง ทำให้ผู้ดูลืมใบหน้าของชายที่ดูเอาใจใส่มามุ่งสู่บทที่แสดงถึงความรักและความเคลิ้มฝันของเทพทาส รวมทั้งบทของตัวเอกที่เต็มไปด้วยอารมณ์โกรธเคืองในภาพยนตร์ของนิติบ บอสี เรื่องดีดาร์ด (Deedar) หรือการปรากฏตัว ในปี 1951 บทบาทของชายหนุ่มผู้มีความรักและเอาแต่ใจตัวเองในจุกนู (Jugnu) หรือหิ่งห้อย ในปี 1947 รวมทั้งบทบาทของนักการตลาดผู้เป็นนักหนังสือพิมพ์ในเรื่องฟุตบาธ (Footbath) ในปี 1953
มากกว่าหนึ่งทศวรรษหลังจากภาพยนตร์ ดีดาร์ด ออกฉาย ดาราที่ได้รับความนิยมอย่างมาโนช กุมาร (Monoj Kumar) ซึ่งต่อมาได้ร่วมงานกับดิลิป กุมารในภาพยนตร์ กรานตี (Kranti) หรือปฏิวัติ ในปี 1981 ได้นำเอาผู้กำกับอย่างราช โกสลา (Raj Khosla) มาผูกพันกับอินเดียที่เป็นที่นิยมอีกครั้งในช่วงปี 1960-1970
ดาราทั้งสองคนจบลงด้วยภาพยนตร์แนวดีดาร์ด ในรูปแบบของโด บาดัน (Do Badan) หรือสองร่าง ของปี 1966 เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด อย่างไรก็ตามภาพยนตร์อย่างดีดาร์ด ยังคงอยู่ในใจของคนรักภาพยนตร์ตลอดไป
จากโศกนาฏกรรมสู่โรแมนติก
ความเศร้า ความทุกข์ทรมาน ความสูญเสียและความโดดเดี่ยวเป็นบทที่ดิลิป กุมาร นำเสนออยู่ในภาพยนตร์หลายเรื่องในจำนวนนี้ก็มีจุกนู (Juqnu) ในปี 1952 ดาก (daag) หรือจุด แห่งปี 1952 และอมัร (Amar) หรือความทรงจำ ในปี 1954 และมุซาฟิร (Musafir) หรือคนเดินทาง ในปี 1957
ในภาพยนตร์เรื่องอมัร ดิลิป กุมารในฐานะนักกฎหมายได้แสดงเส้นทางสีเทาหรือความไม่โปร่งใสในสังคมอินเดียนับล้านๆ เส้นให้เห็น เขาเปลี่ยนภาพยนตร์อินเดียที่ขึ้นอยู่กับบทสนทนาด้วยเสียงดังและการใช้พลังปอดอย่างจงใจ รวมทั้งบทที่ต้องล้มลุกคลุกคลานที่ได้มาจากโรงหนังของพวกอิหร่านเสียใหม่
เขานำเสนอการแสดงที่ลึกซึ้งในภาพยนตร์เรื่องดาก และฟุตบาธ ซึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้จะได้เห็นงานของตาลัต มะห์มูด (Talat Mahmood) ผู้เป็นเอกในการประพันธ์เพลงที่ร้องในภาพยนตร์ ซึ่งเต็มไปด้วยกลิ่นอายของความสูญเสียและความอ้างว้าง ซึ่งเข้ากันได้เป็นอย่างดีกับอารมณ์ในภาพยนตร์ที่ดิลิป กุมาร แสดงในงานของ มะห์มูดในเรื่องเอเมเรดิล กะฮี ออร จัล (ameri dil kahin aur chal) หรือหัวใจอยู่ที่ใครบางคน และชัมเมกัม กีกะซัม (Sham-e-gham ki qasam) หรือคำสัญญาแห่งความเศร้า ไม่อาจนำมาใช้มากขึ้นได้อย่างเหมาะสมได้มากเท่านี้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ดิลิป กุมาร ก็ไม่เคยหยุดที่จะพาตัวเองเข้าสู่บทบาทที่เต็มไปด้วยความผูกพันทางจิตวิญญาณ จนกระทั่งตกอยู่ภายใต้ความกดดันและต้องเดินทางไปพบหมอถึงอังกฤษ
โดยหมอได้แนะนำให้เขาหยุดเล่นบทโศกนาฏกรรมเพื่อสุขภาพของเขาเอง ซึ่งดิลิป กุมารก็ปฏิบัติตาม
ต่อมาเมื่อบทโศกนาฏกรรมของภาพยนตร์อินเดียถูกบดบังด้วยภาพยนตร์รักโรแมนติก ซึ่งเป็นที่นิยมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานของบี.อาร์ โชปรา เรื่อง นายา ดาอุร (Naya Daur) หรือเวลาใหม่ของปี 1957 ซึ่งทำให้งานของโชปราเป็นที่หลงไหลของผู้ดูอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม อย่างไม่มีใครคาดคิด ดิลิป กุมาร ปฏิเสธที่จะเล่นเป็นนักแสดงนำในภาพยนตร์โรแมนติกไร้กาลเวลาของ กูรู ดัตด์ (Guru Dutt) เรื่อง ปยาซา (Pyaasa) หรือความกระหายของปี 1957
นายา ดาอุร โดยตัวของมันเองแล้วเป็นภาพยนตร์ที่มีความล้ำหน้าในยุคสมัยใหม่ของอาชีพนักแสดง เขาเล่นบทตัวแทนของความโรแมนติก โดยบทที่เขาแสดงเหล่านี้เข้ากันได้กับความมีเสน่ห์อย่างเอกอุของนางเอกอย่างวิชัยยันติมาลา (Viayantimala)
โดยบังเอิญ วิชัยยันติมาลา เป็นผู้ที่มาในช่วงหลังๆ ของภาพยนตร์แนวนี้ทำให้ภาพยนตร์แนวนี้รวมอยู่ในการแสดงของนางเอกอย่างมธุบาลาที่ผู้กำกับมักจะเลือกเธอมาแสดงก่อนเสมอ
จากนั้นก็มีการพูดกันว่ามธุบาลา มีความสัมพันธ์กับดิลิป กุมาร อันเป็นความสัมพันธ์ที่ญาติพี่น้องของมธุบาลาให้การปฏิเสธ ส่วนดิลิป กุมารก็ไม่ยอมให้เรื่องเหล่านี้มาบทบังงานแสดงของเขา
สองเพลงในภาพยนตร์เรื่องนายา ดาอุรที่เขียนขึ้นโดย ซอฮิร ลูเดียนวี (Sahir Ludhianvi) บอกเล่าถึงการเดินทางที่เขานำมาจากภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมอย่างญวัร บาทา (Jwar Bhata) หรือภูเขาไฟในปี 1944 จนถึงเรื่องเมลา (Mela) หรือการแสดงสินค้า ในปี 1948 อันดาซ (Andaz) หรือท่าที ในปี 1949 อาน (Aan) หรือความทระนง ในปี 1952 และ เทพทาส ก่อนที่เรื่อง นายา ดาอุร จะตามมาในภายหลัง
หนึ่งในนั้นเป็นภาพยนตร์ที่สดใสอย่างที่สุดในเรื่อง อุเด แจบ แจบ ซุลเฟ็น เตรี (Udein Jab Jab zulfen teri) หรือปอยผมที่พลิ้วไหวซึ่งมุฮัมมัด ราฟี (Muhammad Rafi) และอาชา บอสเลย์ (Asha Bosle) ขับร้องเพลงในภาพยนตร์ที่เข้ากันได้อย่างสมบูรณ์และเฉือดเฉือนกันอย่างที่สุด
ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็ได้แก่ ซาติ ฮาร์ต บันดานา ชาติเร (Saathi haath badhana saathire) หรือเพื่อนร่วมทาง ภาพยนตร์ของนัยยาร์ (OP Nayyar) ซึ่งนำเสนอดนตรีที่เต็มไปด้วยท่าเต้นนั้นยังไม่ได้รับการยอมรับมากนัก จนกระทั่งเพลงเหล่านี้ถูกขับร้องในภาพยนตร์โดยดิลิป กุมาร จึงเป็นที่นิยมในที่สุด
เมื่อภาพยนตร์ถูกนำมาฉายที่โรงภาพยนตร์ Novelty ในเดลี มีคนหนุ่มสาวมาเข้าแถวยืนรอซื้อตั๋วกันยาวเหยียด โดยทำทรงผมเหมือนพระเอกของพวกเขาในภาพยนตร์ยอดฮิต โดยแต่ละคนต่างก็จินตนาการให้ตัวเองดูสง่างามเหมือนดิลิป กุมาร ซึ่งหวีผมได้อย่างเรียบแปล้ที่เป็นเสน่ห์ของพระเอกในเวลานั้น