แอบไปเที่ยวสันเขื่อนและริมธาร
สบาย สบาย สไตล์เกษม
เกษม อัชฌาสัย
แอบไปเที่ยวสันเขื่อนและริมธาร
เสร็จจากฉลองการสิ้นสุดลง ของเดือน”รอมะฎอน”ที่บ้าน ครอบครัว ผมไม่ได้ไปมัสยิด ด้วยยึดนโยบายป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด
รุ่งขึ้นหยุดชดเชย”วันแรงงาน”(๒ พค.)ลูกสาวและหลานๆ ก็พาผมไปเที่ยวชม”เขื่อนขุนด่านปราการชล” หลังจากไม่เจอสีเขียวของไร่นาและป่าเขามาเนิ่นนาน
เขื่อนที่ว่านี้ อยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ขับรถจากกทม.ไปไม่กี่ชั่วโมง หมายผ่อนคลาย หลังเจอคลื่นความร้อนโหดในเมือง จวนเจียนเกิด”ฮีท สโตรก”ขึ้นกับตัวเองหลายหน
ขณะฟ้าในกรุงเทพฯ คลุมไปด้วยหมอกควันอันเป็นฝุ่นละเอียด ที่ต้องหายใจเข้าไปทุกวันคืน ทำลายสุขภาพผู้คนโดยถ้วนหน้า
ก็ไม่รู้ว่าเด็กเล็กรุ่นต่อจากนี้ไป จะป่วยเจ็บด้วยโรคต่างๆ กันอีกมากเท่าไร หากสิ่งแวดล้อมอย่างนี้ เกือบจะทั่วประเทศ ยังดำรงอยู่ไม่สิ้นสุด
ดีที่ช่วงนี้ มีพายุฝนฟ้าคนองมาช่วย แม้ในช่วงสั้นๆ ก็คลายความอึดอัด ร้อนทุรนลงได้บ้าง
ผมไม่คุ้นและไม่เคยไปเที่ยวเขื่อนกั้นแม่น้ำนครนายกแห่งนี้ ที่ไหลไปบรรจบกับแม่น้ำปราจีนบุรี กลายเป็นแม่น้ำบางปะกง มาก่อน
เป็นเขื่อนซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน ก็ได้แต่ตื่นตาตื่นใจ เมื่อนั่งรถกอล์ฟเช่า เคลื่อนตัวไปช้าๆ บนสันเขื่อนราวสองกิโล
ลมโชยกระโชกมาเป็นระยะทำให้รู้สึกสบายมาก เหมือนช่วงฤดูหนาวเพิ่งจะเริ่มกระนั้น
เข้าใจว่า ความเย็นนี้เป็นอิทธิพลของความกดอากาศสูงที่เคลื่อนลงมา ชนิดผิดเวล่ำเวลาจากเมืองจีน
พื้นที่หน้าเขื่อนถัดจากแอ่งน้ำขนาดยักษ์ เป็นภูเขาใหญ่น้อยลดหลั่นเป็นทิวยาวในพื้นที่ไกลตา คลุมด้วยความเขียวตะคุ่มของต้นไม้ที่ปกคลุม อีกด้านหนึ่งของท้ายเขื่อน เรียงรายไปด้วยตัวอาคารบ้านเรือนของเมืองนครนายก มีถนนตัดกัน ผ่านเป็นระยะ
ช่วงนี้ ระดับน้ำเหนือเขื่อนลดลงจากฝั่งที่ลาดชันมาก คนเรือเล่าว่าต้องถึงเดือนพฤศจิกายน ระดับน้ำจะขึ้นสูง ไม่ต้องไต่กระได ๓๐๐ ขั้น ไปลงเรือ เพื่อชมความงามของทิวทัศน์ลึกเข้าไปยังต้นน้ำ
พระสงฆ์วัยกลางคนเดินชมเขื่อนมารูปหนึ่งอย่างโดดเดี่ยว
“ท่านคงอยู่วัดจำเจ เลยอยากมาเปลี่ยนบรรยากาศ เหมือนเราเช่นกันนะ” ผมคิดอย่างนั้น
ใจพลันแว่บไปถึง “ริมสันเขื่อน”กรณีอดีตพระ”กาโตะ”โดยอัตโนมัติ
พอได้สติ ก็รีบเตือนตนเองว่า “เฮ้ย…มึงนี่ทะลึ่งจริงๆ”…..ก็ไม่รู้ว่าบาปไหม
นักท่องเที่ยวส่วนมากเป็นคนไทย ไปกันหนาตา ส่วนหนึ่งเป็นมุสลิมที่บอกได้ เพราะพวกสตรีคลุม”หิญาบ” ต่างพาลูกหลานไปเที่ยว หลัง”ออกบวช”(สิ้นสุดเดือน”รอมะฎอน”)
ขากลับ แวะน้ำตก”วังตะไคร้” ซึ่งไปครั้งสุดท้ายก่อนหน้าที่จะเกิดน้ำป่าหลากรุนแรง ทำให้นักท่องเที่ยวในลำธารเสียชีวิตไปกว่า ๒๐ ราย
ไปแวะเที่ยวนี้ มีป้ายขนาดใหญ่เตือนให้ระวัง หากไปเที่ยวหน้าฝน เมื่อไร ถ้าเห็นน้ำที่ไหลลงมา ออกสีขุ่นแดงอย่างฉับพลัน ให้รีบหนีขึ้นที่สูงทันที
ต้นไม้ใบหญ้าที่อุทยานวังตะไคร้เวลานี้ เขียวไสวไปหมดด้วยต้นไม้ใหญ่เล็ก ใบไม้หนาสดชื่นจากน้ำฝนที่เทลงมาระยะนี้อย่างต่อเนื่อง จากภาวะโลกร้อน
แต่เที่ยวนี้พลาด ไม่ได้ไปเห็นพื้นที่ ส่วนที่ปลูกไม้ดอก
เพราะฉะนั้น ใครไปเที่ยวในช่วงนี้ หากเกิดมีฝนตกหนักติดต่อกันหลายๆวัน ให้พึงระวังตัวกันเอาไว้ เวลาลงเล่นน้ำ
วันที่ผมไป มีนักท่องเที่ยวไม่มาก พากันมาปิกนิก ปูเสื่อเอาอาหารมานั่งกินกันเป็นกลุ่มริมลำธาร ซึ่งมีถนนเลียบสายน้ำ สามารถขับรถขึ้นไปจนสุดและขับลงได้อีกทางหนึ่ง
มีเรือนรับรองราคาย่อมเยา ให้พักแรมเป็นระยะๆ ไม่แออัด เหมาะที่จะไปกันเป็นครอบครัว มีร้านค้าเล็กๆ อยู่สองแห่ง ขายของจิปาถะ มีอาหารประเภทส้มตำขายด้วย เข้าใจว่าจะเป็นกิจการของอุทยาน
สภาพแวดล้อมทั่วไป”สะอาด”ถึง”สะอาดมาก” มีที่รองรับขยะวางไว้เป็นที่เป็นทาง
เส้นทางนี้ถ้าจำไม่ผิด สมัยผมยังหนุ่ม ต้องปีนป่ายไต่ขึ้นไป ด้วยความยากลำบาก หกคะมำ ตำคะเมน มาบัดนี้สะดวกดาย ไม่ยากเย็นอีกต่อไปแล้ว
เราจอดรถข้างทาง ใต้ต้นยางนาสูงสัก ๔๐-๕๐ เมตรเห็นจะได้เพื่อ ให้หลานๆ ได้ลงเล่นน้ำ ในลำธารใสไหลเย็น
มีลูกยาง(เมล็ดยางนา)ทยอยปลิวว่อนลงมาเหมือน”เฮลิคอปเตอร์”
ลูกยางที่ว่ามีปีกสองปีก ลักษณะคล้ายโรเตอร์(ใบพัด)ของเครื่องบินแมงปอ เห็นชาวบ้านเดินท่อมๆ เก็บลูกยางนา ถามว่าเอาไปทำอะไร เขาตอบว่าเอาไปเพาะชำ แยกเป็นต้นกร้าอ่อนขาย เพื่อเอาไปปลูกอีกต่อหนึ่ง
“ยางนานี่แหละครับ ที่เราเจาะเอาน้ำมัน เอามาทำขี้ไต้” เขาอรรถาอธิบาย
ผมจึงได้ถึงบางอ้อ
สักพักหนึ่ง ขณะนั่งฟังเสียงนกป่าและต้นไม้ร้องเพลงมาตามสายลมจวนๆ จะเคลิ้ม หลานๆ ก็ขึ้นจากน้ำ ส่งเสียงดัง
ลูกสาวบอกว่าต้องเดินทางกลับแล้ว เดี๋ยวจะมืด
กลับถึงบ้านราวสองทุ่มเห็นจะได้
ช่างน่าเสียดาย ไม่ได้แวะเยี่ยม น้ำตก”สาริกา” เลยไม่รู้ว่า หน้าตาเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน
บอกกับลูกสาวว่า อยากจะมาอีก คราวหน้ามาค้างคืน แล้วพาแม่มาด้วย
ผมจะหายใจรอ วันนั้นครับ