กุฎีช่อฟ้า ตอนจบ
กุฎีช่อฟ้า ตอนจบ
จรัญ มะลูลีม
จากอดีตจนถึงปัจจุบันจะพบว่ามัสญิดกุฎีช่อฟ้าเป็นศูนย์รวมทางด้านจิตวิญญาณของชุมชนคลองตะเคียน โดยเฉพาะเมื่อวันสำคัญทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นวันอีดิ้ลฟิฏร์ (การเฉลิมฉลองหลังเสร็จสิ้นการถือศีลอดในเดือนเราะมะฏอน)หรืออีดิ้ลอัฏฮา (การเฉลิมฉลองก่อนการเสร็จสิ้นพิธีฮัจญ์) เดินทางมาถึง
ชาวคลองตะเคียนที่ไปตั้งรกรากอยู่ในดินแดนต่างๆ ไม่ว่าจะไกลโพ้นสักแค่ไหนหรืออยู่ในดินแดนคลองตะเคียนเองก็จะมารวมตัวกัน เพื่อมาร่วมกันละหมาดฟังคุฏบะฮ์ (ธรรมเทศนา) และสัมผัสมือสวมกอดเพื่อให้อภัยต่อกันและกัน หากมีสิ่งใดล่วงเกินทั้งกายวาจาใจ
พลังของการสวมกอดญาติผู้ใหญ่ และผองเพื่อนเป็นพลังของความรัก ความศรัทธา ซึ่งบ่งบอกถึงความเป็นคนร่วมสมัยเดียวกัน ถือกำเนิดมาบนผืนแผ่นดินเดียวกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติที่เกิดขึ้นในสมัยเดียวกันอย่างเช่นน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เป็นต้น
มัสญิดกุฎีช่อฟ้าได้ฝากรอยอดีตเอาไว้ให้เป็นที่ระลึกมายาวนาน อิหม่าม ญาติผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพและอยู่ในความทรงจำรุ่นแล้วรุ่นเล่า ได้ทยอยอำลาจากมัสญิดแห่งนี้ไป โดยฝากความทรงจำและความงดงามแห่งสายสัมพันธ์และความเป็นพี่น้องที่มีความเอื้ออาทรต่อกันเอาไว้
ภาพเก่าๆ ของคลองตะเคียนยังได้ทำให้หลายคนระลึกถึงวันแห่งการทำงานร่วมกัน เช่น การร่วมกันขุดคลองมิให้เกิดความตื้นเขิน การ่วมกันทำนุบำรุงมัสญิดและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง การแข่งขันกีฬาเพื่อความสามัคคี ฯลฯ
นอกจากจะเป็นศูนย์รวมทางด้านจิตใจแล้ว มัสญิดกุฏีช่อฟ้ายังทำหน้าที่เป็นแหล่งศึกษาดูงานของหน่วยงาน องค์กรและนักศึกษามหาวิทยาลัย เป็นเวลาหลายปีติดต่อกันที่ผมจะพานักศึกษาต่างชาติที่มาจากหลายประเทศมาทัศนศึกษาที่มัสญิดแห่งนี้ นักศึกษาเหล่านี้จะมาจากลิธัวเนีย เม็กซิโก สหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ฝรั่งเศส ฯลฯ โดยส่วนใหญ่จะมาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และซานตาบาบารา สหรับอเมริกาและมหาวิทยาลัยอาโอยามะ (Aoyama) ของญี่ปุ่น ซึ่งมาเรียนวิชาอิสลามในประเทศไทย (Islam in Thailand) โดยวิชานี้ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรไทยศึกษา (Thai Studies) วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มาตั้งแต่เริ่มต้น
นอกจากนี้มัสญิดแห่งนี้ยังได้ให้การต้อนรับพี่น้องร่วมชาติที่มาจากหลายหน่วยงานที่มีความสำคัญ รวมทั้งพี่น้องจากสามจังหวัดภาคใต้อีกด้วย
การเขียนเรื่องราวของมัสญิด ผู้คนและความทรงจำ ช่วยกระตุ้นให้ผมคิดถึงบรรยากาศของตำบลคลองตะเคียนที่แวดล้อมไปด้วย ก๋วยเตี๋ยวเรือ เรือพ่วง เรือด่วน เรืออีซูซุที่ค่อยๆ เลือนหายไปจากแม่น้ำเจ้าพระยา เรือส่งนมสดที่ไปส่งนมสดที่วัดสุวรรณดารารามในตัวเมืองอยุธยา นมสดเหล่านี้มาจากผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงโคนมจากตำบลคลองตะเคียนและที่อื่นๆ
อย่างไรก็ตาม อาชีพเลี้ยงโคนมมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลาแต่ก็เป็นหนึ่งในอาชีพที่หล่อเลี้ยงหลายครอบครัวเอาไว้แม้จะมีความลุ่มๆ ดอนๆ อยู่มาก การปลูกหญ้าเกี่ยวหญ้า การผสมเทียมได้เข้ามาสู่หมู่บ้านพร้อมๆ ไปกับการหายไปของเรือจ้างหรือเรือแจว
คนในตำบลคลองตะเคียนมีอาชีพหลากหลาย และวันหนึ่งอาชีพเหล่านั้นก็กลายเป็นชื่อของทีมฟุตบอลภายในตำบลของเรา อย่างเช่น ทีมโคนม และทีมใบจากเป็นต้น
ใบจากคือใบไม้ที่คนคลองตะเคียนนำมาขายให้กับผู้ที่สูบใบจาก แม้ว่าปัจจุบันจะไม่มีอาชีพนี้ให้เห็นก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการต่อต้านการสูบบุหรี่และยาเสพติดอื่นๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพอยู่ทุกหย่อมหญ้า
ไม่ว่าผู้คนของตำบลคองตะเคียนจะอยู่ในตำแหน่งการงานใดก็ตาม เมื่อพวกเขามีโอกาส พวกเขาก็จะกลับมาสู่ภูมิลำเนาเดิม มามัสญิดกุฎีช่อฟ้าเพื่อปฏิบัติศาสนกิจและพบปะญาติผู้ใหญ่และเพื่อนฝูง
ผมเองมีบ้านอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา แต่เป็นสับบุรุษของมัสญิดกุฎีช่อฟ้า ความสัมพันธ์กับกัลยามิตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิก ชมรมมุสลิมมัสญิดกุฎีช่อฟ้า หรือ ช.ม.ช ที่อยู่ละแวดเดียวกันกับมัสญิดเป็นไปด้วยความอบอุ่นเสมอมา
ผมเห็นว่าสมาชิก ชมช. ทุกคนทำงานมาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอตั้งแต่ ชมช. ถือกำเนิดสขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน (45 ปีเต็ม) การอบรมเยาวชนภาคฤดูร้อน การสอนศาสนาภาคพื้นฐาน การช่วยกันออกร้านเวลาจัดงานประจำปีของชมรม การเดินทางไปร่วมงานกับมัสญิดต่างๆ ทั้งในจังหวัดอยุธยาและจังหวัดอื่นๆ อันเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ของความเป็นมุสลิมจะมีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา
ชมรมมีสมาชิกทั้งที่มีความเป็นอาวุโสทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิไปจนถึงคนหนุ่มสาวที่มีอนาคตอันสดใสรออยู่ข้างหน้าเป็นสมาชิกของชมรม
นอกจากนี้ ชมรมยังให้ความสำคัญกับการอบรมทางศาสนา การอภิปรายในหัวข้อต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อประชาคมมุสลิมและต่อประชาคมโลก
ชมช. เป็นที่รวมของปัญญาชนจากหลายสาขาอาชีพผูกพันกันด้วยความเป็นคนพื้นที่เดียวกัน เติบโตมาท่ามกลางความอบอุ่นและความรักของบรรพบุรุษผู้ได้ถ่ายทอดการอยู่ร่วมกันภายใต้คำสอนของศาสนาอิสลามเอาไว้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
มัสญิดกุฎีช่อฟ้าซึ่งสมาชิก ชมช. มีส่วนสำคัญในการดูแลอยู่มีความทันสมัย เข้าใจคุณค่าของความรู้ ประวัติศาสตร์การอยู่ร่วมกันกับผู้คนต่างศาสนิกแลความสัมพันธ์ทางสังคมจึงเป็นมัสญิดตัวอย่างที่คนจากหน่วยงานและองค์การต่างๆ มีความปรารถนาจะมาเยี่ยมเยือน ทั้งในระดับภายในประเทศและต่างประเทศ
ในฐานะสับบุรุษคนหนึ่งของมัสญิดกุฎีช่อฟ้าและเป็นลูกหลานชาวคลองตะเคียนที่ได้ผ่านขวบปีของชีวิตมาระยะหนึ่งแล้ว พร้อมกับได้เห็น ได้สัมผัสกับไออุ่นแห่งความคุ้นเคย และความปรารถนาดีต่อกันระหว่างญาติมิตร ผองเพื่อนและประสบการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นไปผืนแผ่นดินเดียวกันนี้ ผมมีความสุขเสมอที่ได้คิดถึงบ้านเกิด ผู้คนวิถีชีวิตและความอบอุ่น
หากว่ามัสญิดกุฎีช่อฟ้าและชมช. เป็นดังก้อนเมฆของตำบลคลองตะเคียนและจังหวัดอยุธยา เวลานี้หลายภาคส่วนของผู้คนก็ได้รับสายฝนอันโปรยปรายและชุ่มช่ำ ซึ่งก่อตัวมาจากก้อนเมฆดังกล่าวแล้วโดยทั่วถึงและอบอุ่นไปด้วยแสงแห่งความหวังและความศรัทธาตลอดไปตราบนานเท่านาน
ปัจจุบัน มัสญิดกุฎีช่อฟ้ามีผู้ร่วมบริหารงานที่สำคัญได้แก่
อาจารย์ฮาซัน ฮานาฟี อิหม่าม
อาจารย์อารีฟีน บุญรอด ค่อเต็บ (ผู้ให้การเทศนา)
นายตอเล็บ แก่นตะเคียน บิล้าล (ผู้เชิญชวนผู้คนให้มาละหมาด)
ฮัจยีอิมรอน กระจ่างพัฒน์ เลขานุการ
อาจารย์ไฟซ้อล บุญรอด ฝ่ายวิชาการ
อาจารย์ฟาริก สมภักดี ฝ่ายประชาสัมพันธ์
ฮัจยีกุลชาติ เลาะวิถี ฝ่ายประสานงาน
ฮัจยีณรงค์ กระจ่างพัฒน์ เหรัญญิก
อาจารย์กมล สมภักดี นายทะเบียน
ฮัจยีมูฮำหมัด กะโห้ทอง ฝ่ายแสงเสียง
อาจารย์ณัฐพล เลาะวิถี ฝ่ายสารสนเทศ
ฮัจยีฟัด ดอกเทียน ฝ่ายสัมพันธ์ชุมชน
ผู้ใหญ่เสรี ถาวรลักษณ์ ฝ่ายอาคารสถานที่
ฮัจยีมานิต ศรีสมาน นิติกร
ฮัจยีสุกรี บุญรอด ฝ่ายกิจกรรม