jos55 instaslot88 Pusat Togel Online กิติมา อมรทัต  ไร่นาน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (19) - INEWHORIZON

INEWHORIZON

ขอบฟ้าใหม่

กิติมา อมรทัต  ไร่นาน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (19)

กิติมา อมรทัต  ไร่นาน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (19)

จรัญ มะลูลีม

ปัญญาซะอฺดี

เป็นหนังสือเล่มเดียวที่ผมได้ร่วมแปลกับไรร่าน อรุณรังษี  แต่กับกิติมา อมรทัต นั้นผมได้มีโอกาสแปลและเขียนร่วมกันอยู่บ้าง  เล่มนี้จึงเป็นกวีนิพนธ์เปอร์เซียที่กิติมา อมรทัต ไรน่าน อรุณรังษีและผมแปลร่วมกันโดยในบางเรื่องราวผมได้คัดเลือกมาตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ไปก่อนหน้านี้แล้ว   ปัญญาซะอฺดี จัดพิมพ์โดยศูนย์วัฒนธรรมสถานเอกอัครราชทูต สาธารณะอิสลามแห่งอิหร่าน แปลจากต้นฉบับของฟรานซิส แกลดวิน (Francis Glodwin) และ ศ.มุฮัมมัด กาซิม คัมราน (Muhammad Khazim Khamran) พิมพ์ครั้งแรก 2,000 เล่ม ในปี 2545 ในที่นี้ขอยกเอาคำนิยมของพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ศ.ดร. นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในเวลานั้นและ รศ.ดร.นริศ ชัยสูตร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่กล่าวถึงกวีนิพนธ์เล่มนี้มานำเสนอด้วย  โดยนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรได้กล่าวถึงหนังสือปัญญาซะอฺดีเอาไว้ว่า

กวีนิพนธ์เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อถือ ความคิด ความรู้สึกของสังคมมนุษย์แต่ละยุคสมัย  การได้อ่านบทกวี “กุลิสตานและบสตาน. ของเชคซะอฺดีแห่งเมืองชีราช  ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติให้เป็นกวีของโลก  เมื่อปี ค.ศ. 1984 จึงมีคุณค่าในแง่ที่เราได้เห็นถึงการพัฒนาในด้านต่างๆ ของมนุษย์  รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคม

เชคซะอฺดีแห่งเมืองชีราช เป็นทั้งกวี นักเขียนและนักคิดที่มีชื่อเสียงในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ถือว่าเป็นนักปราชญ์ของอิหร่านซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในวงการวรรณคดี  ท่านได้รังสรรค์หนังสือเล่มนี้ขึ้นด้วยถ้อยคำที่เรียบง่าย  โดยเน้นหลักการศาสนาสากล  ให้มนุษย์มีความรักความเมตตาสงสารผู้ที่อ่านแอกว่า  ให้ตระหนักถึงสัจธรรมในการดำรงชีวิตที่ถูกต้องดีงามและมีแนวทางการประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ อาทิ มนุษย์จะต้องยุติธรรมกอปรด้วยสติปัญญาสามารถจำแนกความผิดชอบชั่วดี  มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ มีแรงกระตุ้นที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างสม่ำเสมอ   ทั้งนี้ท่านได้เน้นย้ำว่าแม้มวลมนุษยชาติจะมีความแตกต่างในเผ่าพันธุ์และวิถีทางการดำเนินชีวิต   แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

ผมมีความยินดีและขอชื่นชม ดร.จรัญ มะลูลีม  ดร.กิติมา อมรทัต และอาจารย์ไรน่าน อรุณรังษี ที่ได้ร่วมกันแปลบทกวีจาก “กุลิสตานและบุสตาน” เป็นภาษาไทย  อันจะเป็นโอกาสอันดีของคนไทย  โดยเฉพาะผู้นับถือศาสนาอิสลามจะได้ศึกษาผลงานของเชคชะอฺดีแห่งเมืองชีราซ  และได้อ่านวรรณคดีที่มีความไพเราะและงดงาม  รวมทั้งการสั่งสอนหลักศีลธรรมที่มีเนื้อหาเป็นสากล

พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

ในขณะที่ ศ.ดร.นายแพทย์ กระแสชนะวงศ์ กล่าวถึงหนังสือปัญญาซะอฺดีเอาไว้ในคำนิยมว่า

ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ได้รับเกียรติให้เขียนคำนิยมในหนังสือแปลบทกวีของนักปราชญ์ชาวอิหร่าน  โดยอาจารย์ไรน่าน อรุณรังษี ซึ่งผมให้ความชื่นชมนับถือมาช้านานในฐานะที่เป็นทั้งนักคิด นักเขียนและนักสังคมศาสตร์  ผู้มีบทบาทดีเด่นมาโดยตลอด  อีกทั้ง ดร.กิติมา อมรทัตและดร.จรัญ มะลูลีม ผู้ร่วมแปล

อนึ่ง เพื่อเป็นการย้ำรำลึกถึงมติที่ได้รับการยอมรับในการประชุมครั้งที่ 22 ของยูเนสโกแห่งองค์การสหประชาชาติ เมื่อปี ค.ศ. 1984 ให้ยูเนสโกร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรม  และการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประเทศอิหร่าน   ร่วมกันจัดงานรำลึกและสร้างความสัมพันธ์เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างประเทศซึ่งเป็นเป้าหมายของยูเนสโก  หนังสือแปลเล่มนี้จึงมีความหมายและความสำคัญยิ่ง

นักอ่านจำนวนไม่น้อยทราบว่าท่านเชคซะอฺดี  ซึ่งเป็นกวีเอกชาวชีราซ  เกิดประมาณปี ค.ศ. 1207-1209 แห่งอิหร่าน  ได้รับการเชิดชูจากองค์การสหประชาชาติให้อยู่ในฐานะกวีแห่งโลกถึงกับเจ้าหน้าที่ขององค์การดังกล่าวได้นำคำประพันธ์บทหนึ่งจากบทกวีของท่านผู้นี้ไปจารึกไว้บนทางเข้าประตูของห้องประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ  ซึ่งกวีบทนั้นมีเนื้อหาความว่า “มวลมนุษย์เป็นเสมือนส่วนต่างๆ ของเรือนร่างหนึ่งเป็นอวัยวะของกันและกันในเมื่อมนุษย์ถูกสร้างมาจากธาตุเดียวกัน  เมื่อโลกนี้ทำให้เกิดความเจ็บปวดแก่ส่วนหนึ่งส่วนใดแล้ว   ส่วนอื่นๆ ก็ไม่เอาจที่จะดำรงอยู่อย่างสุขสบายเช่นเดียวกัน  ท่านผู้ซึ่งไม่แยแสต่อความทุกข์ยากเดือนร้อนของผู้อื่นก็ไม่สมควรที่จะเรียกว่าเป็นมนุษย์

ผมเห็นว่าอาจารย์ไรน่าน อรุณรังษี  ดร.กิติมา อมรทัต และ ดร.จรัญ มะลูลีม ได้แปลบทกวีของท่านผู้นี้อย่างประณีต   พิถีพิถันมากเป็นการเน้นหลักการศาสนาสากลให้มนุษย์มีความรักความเมตตาสงสารต่อเพื่อนมนุษย์ผู้อ่อนแอกว่าให้ตระหนักถึงสัจธรรมแห่งชีวิตโดยท่านได้ให้เกียรติแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยการเน้นหลักเสรีภาพ  ความเป็นพี่น้องกัน  และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  และการเสียสละไม่เห็นแก่ตัว

สุดท้ายนี้ ผมเชื่อมั่นว่าบทกวีของท่านเชคซะอฺดี  จะเป็นวรรณคดีที่สูงส่งอยู่คู่บรรณพิภพตลอดไป

ศาสตราจารย์นายแพทย์ กระแส ชนะวงศ์

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ในขณะที่ รศ.ดร. นริศ ชัยสูตร อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเวลานั้นได้กล่าวถึงหนังสือปัญญาซะอฺดีเอาไว้ว่า

ในนามของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีโอกาสเขียนคำนำสำหรับบทแปลกวีนิพนธ์ของเชคซะอฺดี  แห่งชีราซ ซึ่งศูนย์วัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านประจำประเทศไทยเป็นผู้จัดทำขึ้น

งานของกวีผู้นี้ให้คติสอนใจ  เป็นหลักในการดำรงชีวิตสำหรับคนทั่วไปได้เป็นอย่างดี  ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด  หรือพูดภาษาใดก็ตามเพราะเป็นหลักแหล่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ  และมุ่งในการทำความดีซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในทุกสังคมและวัฒนธรรม   การที่คนไทยสามารถอ่านบทประพันธ์ของนักปราชญ์ชาวเปอร์เซียผู้นี้เป็นภาษาไทยนั้น   ย่อมจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับวัฒนธรรมอิหร่าน  ตลอดจนนำไปสู่ความสัมพันธ์อันดีระหว่างสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านและประเทศไทย

ข้าพเจ้าหวังว่า  สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านประจำประเทศไทยจะจัดโครงการที่ให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไปเช่นนี้ต่อไปในอนาคต

ศาสตราจารย์ ดร.นริศ ชัยสูตร

อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทั้งนี้  ผมขอนำคำนำของหนังสือปัญญาซะอฺดีที่ไรน่าน อรุษรังษีเป็นผู้เขียนในนามคณะผู้แปลทั้งสามคนมานำเสนอดังนี้

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ผู้ทรงกรุณาปรานี ผู้ทรงเมตตาเสมอ

นักปราชญ์ทางวรรณคดีเปอร์เซียได้ร่วมกันพิจารณาและยอมรับว่าฐานะของซะอฺดีนั้นเป็นเสมือนเชกสเปียร์แห่งเปอร์เซียเหมือนดังที่รูมีได้รับการเรียกขานว่าเป็นดังเต้แห่งอิสลาม และฟิรเดาซีนั้นเปรียบประดุจโฮเมอร์แห่งอิหร่าน

อีเมอร์สัน ได้ยกย่องซะอฺดีในฐานะเป็นกวี “ผู้พูดแก่ทุกประชาชาติและเหมือนกับเชกสเปียร์คล้ายโฮเมอร์ , เซอแวนเตสและมองเตนซึ่งทันสมัยตลอดกาล  ยิ่งกว่านั้นเขายังเรียกกุลิสตาน (สวนกุหลาบ) ของซะอฺดีว่าเป็นหนึ่งในบรรดาสาส์นของโลกซึ่งได้ประทานหลักแห่งกฎศีลธรรมอันเป็นสากล

 

ผลงานของท่านครอบคลุมรูปแบบวรรณคดีที่หลากหลายทั้งร้อยแก้วที่บรรเจิดและร้อยกรองอันเพราะพริ้ง   สำแดงสัจธรรมของบรรดาศาสดาซึ่งอยู่โพ้นประวัติศาสตร์และนอกเทศสถานกาลเวลา   ท่านได้พิชิตอาณาจักรทั้งมวลแห่งธรรมชาติของมนุษย์  รวบรวมประสบการณ์หลากหลาย  พร้อมทั้งสุภาษิต คำคม อุปมาอุปมัย มุขแห่งแง่คิดจากทุกท้องถิ่นทุกประชาชาติเข้ามาเรียงร้อยเข้าด้วยกันอย่างอุตสาหะในช่วงเวลา 35 ปี เป็นการสะสมประสบการณ์ชีวิตรอบด้าน   เข้ามาไว้ในบทกวีนิพนธ์อย่างสมบูรณ์ด้วยอัจฉริยภาพด้านภาษากวี   ดุจผึ้งที่ดูดน้ำหวานเกสรมวลบุปผาพรรณทั่วภูมิภาคมากลั่นเป็นน้ำผึ้งที่ชื่นฉ่ำใจและเป็นยารักษาบำรุงหัวใจของมนุษย์กระนั้น

งานที่มีชื่อเสียงที่สุดของซะอฺดีทั้งในอิหร่านและต่างประเทศ คือ กุลิสตาน (สวนกุหลาบ) และบูสตาน (สวนแห่งความหอมหวนหรือสวนแห่งผลไม้)  เอ็ดวิน อาร์โนลด์ เรียกบทกวีเหล่านี้ว่าเป็นอาหารทางปัญญาและเกสรดอกไม้แห่งอัจฉริยภาพของปราชญ์ผู้รอบรู้   เป็นการอ่านแรงกระตุ้นของชีวิตจิตใจของมนุษย์อย่างถ้วนถี่และทะลุปรุโปร่งรอบด้านนับตั้งแต่ความโลภของบุคคลผู้ต่ำทรามไปจนถึงความไร้ตัวตนที่บรรเจิดจ้าที่สุดในจิตใจมนุษย์

ในบรรดากวีเปอร์เซียผู้มีวิสัยทัศน์และรหัสยนัยนั้น ซะอฺดี นับว่าเป็นกวีฝ่ายสัจนิยมที่พิจารณาชีวิตที่คลาคล่ำของมนุษย์ทั่วไป   ทั้งในท้องถนนและในย่านตลาดจนถึงพระราชวังตามความเป็นจริง  กวีนิพนธ์ของท่านเต็มไปด้วยปัญญา   เด็กๆ ใช้อ่านเพื่อเรียนการเขียนอ่านได้   ในขณะเดียวกันผู้ใหญ่อ่านเพื่อได้เรียนรู้ชีวิตมนุษย์อย่างรอบด้าน   อีกทั้งมีคำแนะนำซึ่งเป็นคติเตือนใจที่นำไปสู่การปฏิบัติได้ตามความเป็นจริง

Facebook Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *