jos55 instaslot88 Pusat Togel Online สตรีในอิสลามและลัทธิสตรีนิยม - INEWHORIZON

INEWHORIZON

ขอบฟ้าใหม่

สตรีในอิสลามและลัทธิสตรีนิยม

สตรีในอิสลามและลัทธิสตรีนิยม

ความเหมือนและความต่างที่ต้องทบทวน (ตอนที่๑)

 

ประเสริฐ  สุขศาสน์กวิน

 

 

เรามักจะได้ยินหรือกลายเป็นประเพณีที่ได้แสดงออกว่าสตรีอยู่ใต้อำนาจของบุรุษ หรือที่ร้ายแรงกว่านั้นคือสตรีมักเป็นฝ่ายที่ตกอยู่ภายใต้การกดขี่ของเพศชาย หรือกล่าวกันว่าสตรีถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคมไร้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพอะไรทำนองนี้ ทำให้สตรีต้องลุกขึ้นมาต่อสู่และเรียกร้องความเท่าเทียมในสังคม ในปี ค.ศ. 1789 ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส เหล่าบรรดาสตรีชาวปารีสได้ออกมาเรียกร้องความเสมอภาคและความคุ้มครองสตรีเป็นครั้งแรก ปี ค.ศ. 1857 ในกรุงนิวยอร์ก กลุ่มผู้ใช้แรงงานสตรีจากโรงงานทอผ้าและตัดเย็บเครื่องนุ่งห่มได้พากันเดินขบวนเรียกร้องสิทธิในการทำงาน การเพิ่มค่าจ้าง วันที่ 8 มีนาคม ในปีเดียวกันนี้เองเกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมอันโหดร้ายทำให้ผู้ใช้แรงงานสตรีเสียชีวิต 119 ศพ จากการเผาโรงงานขณะที่ทำงานอยู่ ปี ค.ศ. 1866 มีการออกมติเกี่ยวกับอาชีพของสตรี ในการประชุมสมัชชาสมาคมผู้ใช้แรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 1 ปี ค.ศ. 1889 นางคลาร่า เซทกิ้น เรียกร้องให้สตรีมีสิทธิในการทำงาน และให้มีการคุ้มครองสตรีและเด็ก ผ่านการกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมสภาคองเกรสสากล ในปี ค.ศ. 1907 นางคลาร่า เซทกิ้น เรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาทำงานของกรรมกรสตรี จากวันละ 12 – 15 ชั่วโมงต่อวัน ให้เหลือ 8 ชั่วโมงต่อวัน และมีการเรียกร้องให้สตรีมีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง จากการเรียกร้องดังกล่าวทำให้ได้รับเสียงตอบรับและการสนับสนุนของสตรีทั่วโลก ปี ค.ศ. 1910 นางคลาร่า เซทกิ้น ในฐานะเลขาธิการสตรีสากล ได้เสนอให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นคนสตรีสากล โดยเสนอต่อที่ประชุมของสมัชชานักสังคมนิยมนานาชาติ (International Conference of Socialist Women) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เรียกร้องของกรรมกรหญิงที่ถูกฆาตกรรมหมู่ในโรงงานทอผ้า 119 ศพ ที่กรุงเฮ็ก สหรัสอเมริกา ที่ประชุมจากองค์กรต่างๆ 17 ประเทศ เห็นชอบในขอเสนอดังกล่าว ทำให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็นวันสตรีสากล ประเทศต่างๆทั้งในยุโรป เอเชีย และละตินอเมริกา ต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ในปี ค.ศ. 1957 องค์การสหประชาชาติได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วม โดยการเชิญชวนให้ทุกประเทศทั่วโลกกำหนดวันที่ว่าด้วยสิทธิสตรีและสันติภาพสากล ซึ่งหลายประเทศกำหนดวันที่ 8 มีนาคม ให้เป็นวันสตรีสากล (International Women’s Day) จากการที่องค์การสหประชาชาติเข้ามามีส่วนร่วมนั้นถือเป็นการยกระดับสภาพเงื่อนไขของสตรี ก่อให้เกิดการจัดตั้งแผ่นงาน องค์กรในทั้งในและระหว่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเท่าเทียมสิทธิเสรีภาพให้แก่สตรีทั่วโลก(อ้างอิงจาก  บทความ บทบาทสตรีจากอดีตสู่ปัจจุบัน  คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธุรกิจบัณฑิตย์)

อิสลามคือศาสนาแห่งศานติ ได้เน้นถึงความเสมอภาคเท่าเทียมกันของมนุษย์ทั้งหมด โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ สีผิว เพศ หรือสถานะทางสังคม อิสลามได้เรียกร้องให้มนุษย์หันมาสนใจสิทธิของสตรีและยกย่องฐานะภาพของสตรีอย่างสมภาคภูมิ อีกทั้งยังได้กำหนดบทบาทและภาระหน้าที่ที่แตกต่างกันให้แก่ผู้ชายและผู้หญิง โดยอิสลามถือว่าทั้งสองเพศจะเป็นส่วนประกอบเพื่อความสมบูรณ์ของกันและกันและอิสลามยังได้ยกย่องสตรีเพศมาในยุคที่ศาสดามุฮัมมัดได้ประกาศศาสนาในคาบสมุทรอาหรับ ที่พวกเขาถือว่าการมีลูกสาวนั้นถือเป็นสิ่งที่น่าอับอายและน่ารังเกียจในสังคม ถึงกับมีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์อาหรับว่า ถ้าบ้านใดมีลูกผู้หญิง นั่นคือความอัปยศ หรือบางคนเชื่อว่า ลูกสาวคือปีศาจร้าย จนทำให้ชาวอาหรับนำลูกสาวนั้นไปฝังทั้งเป็นเลยทีเดียว

หลายศตวรรษก่อนที่โลกยุคใหม่จะรู้จักสิทธิของผู้หญิง อิสลามได้ให้การรับรองถึงความเท่าเทียมกันของทั้งสองเพศ และเลิกล้มพิธีกรรมป่าเถื่อนของการฝังทารกเพศหญิงที่เป็นลูกสาวของตัวเองทั้งเป็น ซึ่งเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่ชาวอาหรับปฏิบัติกันก่อนยุคสมัยของศาสดามุฮัมมัด(ศ.)

อิสลามได้ทำให้ผู้หญิงรับรู้ถึงสิทธิของพวกเธอ และให้พวกเธอมีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัว เป็นบุคลิกภาพ เสรีภาพและอิสรภาพ ในบรรดาสิทธิทั้งหลายนั้นรวมถึงสิทธิในการรับมรดก สิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน สิทธิในการหย่าร้าง สิทธิในการเรียกสินเดิม และสิทธิในการดูแลบุตร อัล-กุรอานได้กล่าวถึงเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิงไว้ดังนี้

“แท้จริง บรรดาผู้นอบน้อมชายและผู้นอบน้อมหญิง บรรดาผู้ศรัทธาชายและผู้ศรัทธาหญิง บรรดาผู้ภักดีชายและผู้ภักดีหญิง บรรดาผู้สัตย์จริงชายและผู้สัตย์จริงหญิง บรรดาผู้อดทนชายและผู้อดทนหญิง บรรดาผู้ถ่อมตนชายและผู้ถ่อมตนหญิง บรรดาผู้บริจาคทานชายและผู้บริจาคทานหญิง บรรดาผู้ถือศีลอดชายและผู้ถือศีลอดหญิง บรรดาผู้รักษาอวัยวะเพศของพวกเขาที่เป็นชายและหญิง บรรดาผู้รำลึกถึงอัลลอฮฺอย่างมากที่เป็นชายและหญิงนั้น อัลลอฮฺได้เตรียมการอภัยโทษและรางวัลอันยิ่งใหญ่ให้แก่พวกเขา” (อัล-กุรอาน 33/35)

สำหรับฐานะภาพและคุณค่าของสตรีในมุมมองอิสลามนั้น เริ่มแรกเราดูซิว่า แท้จริงอัลกุรอานได้ถือว่า การมีสามัญสำนึกและการมีจิตใต้สำนึกในคุณธรรมความดีระหว่างชายกับหญิงไม่มีความแตกต่างกัน  และระหว่างเพศชายและเพศหญิงมีตัวชี้วัดของความเป็นคนคือจิตวิญญาณ และจิตวิญญาณไม่มีเพศเพราะว่าอัลกุรอานได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนในเรื่องนี้ ดังโองการที่ว่า

มนุษยชาติทั้งหลาย ! จงยำเกรงพระเจ้าของพวกเจ้าที่ได้บังเกิดพวกเจ้ามาจากชีวิตหนึ่ง และได้ทรงบังเกิดจากชีวิตนั้นซึ่งคู่ครองของเขา และได้ทรงให้แพร่สะพัดไปจากทั้งสองนั้น ซึ่งบรรดาชายและบรรดาหญิงอันมากมาย และจงยำเกรงอัลลอฮ์ที่พวกเจ้าต่างขอกัน ด้วยพระองค์และพึงรักษาเครือญาติ แท้จริงอัลลอฮ์ทรงสอดส่องดูพวกเจ้าอยู่เสมอ (บทที่ ๔  โองการที่ ๑)

และได้กล่าวถึงมนุษย์ทั้งหมดว่า

    และหนึ่งจากสัญญาณทั้งหลายของพระองค์คือ ทรงสร้างคู่ครองให้แก่พวกเจ้าจากตัวของพวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจะได้มีความสุขอยู่กับนาง และ ทรงมีความรักใคร่และความเมตตาระหว่างพวกเจ้า แท้จริงในการนี้ แน่นอน ย่อมเป็นสัญญาณแก่หมู่ชนผู้ใคร่ครวญ (บทที่๓๐ โองการที่ ๒๑)

จากโองการข้างต้นเข้าใจได้อย่างง่ายๆ ว่า ชายและหญิง มีฟิตเราะฮ์(สัญชาตญาณบริสุทธิ์)เดียวกัน และเป็นประเภทเดียวกัน(ประเภทมนุษย์) และจากหลักการที่อิสลามได้กล่าวเน้นถึงความมีเกียรติของมนุษย์ นั่นหมายถึงทั้งสองเพศ  คือทั้งเพศชายและเพศหญิงอยู่ในระดับเดียวกันไม่มีความแตกต่างกัน   กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ คุณค่าและฐานะภาพของสตรีและบุรุษอยู่ที่ความเป็นคนดีและความสมบูรณ์ความเป็นมนุษย์  และอัลกุรอานได้กล่าวถึงทั้งสองเพศไว้ว่า แท้จริงการมีความสูงส่งทางฟิตเราะฮ์ไม่ได้ถูกจำกัดแค่เพศใดเพศหนึ่ง  ดังคำสอนของอัลกุรอานและวจนะของศาสดา(ศ)    ได้กล่าวถึงความเท่าเทียมระหว่างสตรีเพศเหมือนกับบุรุษเพศในด้านสิทธิขั้นพื้นฐานที่เกี่ยวพันกับโครงสร้างและความเป็นมนุษย์  เช่น สิทธิการใช้ชีวิต  สิทธิการเป็นกรรมสิทธิ์  ความมีเกียรติ  เกียรติยศและศักดิ์ศรี  เสรีภาพ  สิทธิในการเลือกคู่ครองและอื่นๆ

แต่ทว่าด้วยเรื่องกฎหมายของอิสลามเกี่ยวกับสิทธิสตรีที่ได้กล่าวไว้นั้น  มีบางหมวดและบางเรื่องบางประเด็นที่บทบัญญัติได้กำหนดและได้พิจารณาในด้านสรีระและด้านจิตใจ จึงป็นที่มาของบทบาทและหน้าที่อาจจะแตกต่างกันออกไป แต่มิได้หมายความว่ามีความเหลื่อมล้ำหรือลำเอียงเพศใดเพศหนึ่ง  เช่น ความมีเสรีภาพทางด้านบุคคล และทางสังคม  จะอยู่ภายใต้ร่มของเสรีภาพทางด้านภายในและทางด้านจิตวิญญาณ   ด้วยเหตุนี้ปัญหาในเรื่องการคลุมผ้าฮิญาบและความปลอดภัยของสตรี  มาจากคำสอนที่บัญญัติของพระเจ้าที่จะต้องดูแลพวกเธอและพวกเธอมีสิทธิและเสรีภาพตามกรอบของฟิตเราะฮ์  และความมีเสรีภาพของสตรีและความปลอดภัยทางสังคมแก่สตรีจะต้องรักษาไว้ และมีบางประเทศที่ห้ามการใส่ชุดฮิญาบ  ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของพวกเธอและที่ร้ายไปกว่านั้นคือการการนำเสนอประเด็นสิทธิมนุษยชน เกี่ยวกับการคลุมฮิญาบ  โดยอ้างว่าอิสลามได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนของสตรีเพศในเรื่องการแต่งกาย ทั้งๆที่การคลุมผ้าฮิญาบ คือบทบัญญัติหนึ่งของศาสนาที่ได้สะท้อนถึงความมีเกียรติของสตรีในสภาพที่สตรีถูกลดเกียรติ

อิสลามได้เน้นหนักในเรื่องของฮิญาบและเรื่องทางเพศแก่สตรี โดยให้คำถึงความสัมพันธ์ระหว่างญาติกับคนไม่ใช่ญาติ หรือความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ  โดยถือว่าการกำหนดบทบาทและหลักปฏิบัติที่เฉพาะแก่สตรีเป็นโครงสร้างในการทำให้สถาบันครอบครัวและสถาบันสังคมมีความเข้มแข็งและสร้างสรรค์ที่ดีได้มากทีเดียว  ดังจะเห็นในเรื่องกำหนดให้มีเรื่องการสวมใส่เสื้อผ้าของสตรีในอิสลามขึ้น  ซึ่งมิได้หมายความว่า ห้ามมิให้บรรดาสตรีออกจากบ้านหรือห้ามสตริทำงาน หรือห้ามการเรียนหนังสือ  หรือการจองจำ และกักขังพวกเธอไว้ในบ้านเพียงอย่างเดียว  ซึ่งอาจจะเห็นของประเพณีเช่นนี้ในบางสังคม แต่สำหรับในอิสลามไม่มีคำสอนให้กักขังพวกเธอไว้ในบ้านเพียงอย่างเดียว

อิสลามถือว่าการปกปิดเรือนร่างสตรี คือ ชีวิตของเธอและเป็นบทบัญญัติหนึ่งทางศาสนาที่ได้วางอยูบนหลักธรรมชาติของสตรีเพศ ดังนั้นจึงไม่อนุญาตให้ชายแปลกหน้าที่ไม่ใช่ญาติใกล้ชิดเห็นเรือนร่างอวัยวะภายนอกของเธอ  และไม่อนุญาตให้เธอแสดงตัวตน เปิดเผยเรือนร่างต่อชายอื่นที่มิใช่ญาติ  ดังนั้นปัญหาในเรื่องฮิญาบ  โดยผิวเผินแล้วก็คือ สตรีสามารถจะเปิดเผยเรือนร่างของเธอได้หรือไม่หรือจำเป็นจะต้องปกปิด?  และบางครั้งได้เกิดการเรียกร้องแสดงการเห็นอกเห็นใจต่อสตรีว่า  ดีที่สุดสตรีนั้นจะต้องมีอิสระและเสรีภาพ ?และใช่หรือไม่ที่สตรีเพศมีสิทธิ์เลือก หรือมีเสรีภาพเต็มร้อย?  แท้จริงแล้วการคิดเช่นนี้ เป็นผลประโยชน์สำหรับบุรุษต่างหาก ไม่ใช่สำหรับสตรี  หรือไม่ก็อย่างน้อยสุด บุรุษก็จะมีโอกาสและประโยชน์มากกว่า  ซึ่งในเรื่องปัญหาทางเพศ  และเป็นการสนองความต้องการทางเพศแก่บุรุษ  ดังนั้นการมีเสรีภาพในเรื่องทางเพศ จะเป็นเหตุให้เกิดไฟแห่งกามอารมณ์ และความอยากทางตัณหา ราคะเพิ่มมากขึ้นในสังคม  ในขณะที่มนุษย์ถูกสร้างมาภายใต้ฟิตเราะฮ์ให้มุ่งทะยานสู่ความใกล้ชิดต่อพระผู้สร้าง(ไม่ใช่จมอยู่กับกิเลส ตัณหา ราคะ)  และเมื่อไหร่ที่มนุษย์ตกเป็นทาสของอารมณ์ใฝ่ต่ำ  มนุษย์จะไม่มีวันจะประสบกับชัยชนะและทยานสู่ความเป็นมนุษย์สมบูรณ์ได้เลย

อิสลามได้วางพื้นฐานสำคัญหนึ่งคือการปกป้องและรักษาความมีศักดิ์ศรีของสตรีและบุรุษ และรักษาเกียรติทั้งสองเพศนั้นไว้ ซึ่งในความเป็นจริงคือการควบคุมความปรารถนาทางเพศ  เพื่อไปถึงความสงบมั่นทางจิตใจ  และเราจะขอนำเสนอ ๒ หนทางเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้ คือ

หนึ่ง สร้างความพอใจต่อความต้องการทางเพศในทางสายกลาง  โดยการยึดมั่นคำสอนของอิสลาม ในเรื่องการมีคู่ครองและการแต่งงาน

สอง สกัดกั้นและหักห้ามการสร้างแรงกระตุ้นอย่างสุดโต่งในเรื่องทางเพศ  ซึ่งอิสลามได้นำเรื่องฮิญาบ มาเป็นบทบัญญัติต่อสตรีเพศ

ดังนั้นคุณค่าของสตรีในอิสลาม ได้กล่าวถึงไว้อย่างมากมาย โดยที่ว่าไม่ให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขใดๆ ที่จะสร้างความเข้าใจผิดและการใช้ประโยชน์ในทางที่ผิดเกี่ยวกับเรื่องความต้องการทางเพศ  และไม่ให้ถือว่าสตรีคือเครื่องมือทางเพศสำหรับบุรุษ  และให้การสนับสนุน หรือให้จุดสนใจในบทบาทของพวกเธอในด้านครอบครัวและสังคมโดยถือว่าพวกเธอมีสิทธิและหน้าที่หนึ่งทางครอบครัวและสังคมไม่น้อยกว่าบุรุษ

 

สิทธิของสตรีในอิสลาม

ศาสดาแห่งอิสลามได้กล่าวว่า บุคคลที่อยู่ใกล้ที่สุดต่อตำแหน่งของฉันในวันกิยามะฮ์(ปรโลก)  คือผู้ที่มีคุณธรรมที่สุดของพวกท่าน และมีจริยธรรมมากที่สุด  และยังเป็นผู้ที่สร้างคุณประโยชน์ที่สุดต่อครอบครัวของเขา”(อุยูนุ อักบาร ริฎอ  เล่ม ๒ หน้า ๓๘)

หนึ่งจากความพิเศษและความน่าสนใจของศาสนาอิสลาม คือการมีคำสอน และกำชับอย่างมากในเรื่องด้านจริยธรรมและการคำนึงถึงสิทธิทางจริยะไม่ว่าด้านปัจเจกหรือด้านสังคม  หนึ่งจากจุดเด่นของคำสอนนั้นๆ   คือเรื่องเกี่ยวกับฐานะภาพของมารดา   ภรรยา และ บุตร  ซึ่งอยู่ในเนื้อหาเกี่ยวกับสตรีในอิสลาม  และในความเป็นจริงแล้วสมาชิกทุกคนในครอบครัว จะมีสิทธิต่างๆมากมาย พึงปฏิบัติของแต่ละคนอยู่แล้ว  ไม่ว่าด้วยเรื่องของบทบาทหน้าที่ของบิดมารดาต่อบุตร  สิทธิสามีภรรยาและอื่นนๆ    จะเห็นได้จากโองการอัลกุรอาน หลังจากที่ให้เชื่อฟังต่ออัลลอฮ์  ดังนั้นพระองค์ได้กล่าวต่อว่า ให้ทำดีกับบิดามารดา  และนี่คือความสำคัญที่สุดของกการทำดีต่อบิดามารดา และการเทิดเกียรติและฐานะภาพของบุคคลทั้งสอง  และมีสิทธิต่างๆ มากมายที่ถือว่าเป็นหน้าทีเหนือบ่าของมนุษย์  และที่น่าสนใจที่สุด ตามโครงสร้างคำสอนของอิสลาม คือ การทำดีต่อมารดาขึ้นหน้าก่อนบิดา เหตุผลเนื่องจากสิทธิอันยิ่งใหญ่ของมารดาที่มีต่อลูกๆ

ในความเป็นจริงนั้น คำสอนอิสลามได้เน้นหนักในเรื่องสิทธิต่างๆ ในครอบครัว คือเรื่องสิทธิทางจริยะ มากกว่าสิทธิทางกฎหมายเสียอีก  เพราะว่าความมีจริยธรรม จะเป็นตัวค้ำจุนการดำเนินชีวิต และเป็นเหตุความหอมหวานทางการใช้ชีวิตให้เกิดสุขแท้  และจะทำให้สถาบันครอบครัวเข้มแข็ง ส่วนสิทธิทางกฎหมาย เป็นการปกป้องจากการขัดแย้งระหว่างกัน   ดังนั้นสำหรับครอบครัวในอิสลาม สามารถจะยึดคำสอนต่างๆ ด้านจริยธรรมที่มีอยู่ในศาสนา  ซึ่งนั่นจะทำให้การดำเนินชีวิตพบแต่สิ่งที่งามและมีความผาสุก  และจะทำให้มีการพัฒนาในทุกๆ คนจากสมาชิกของครอบครัว ไม่ว่าในด้านวัตถุหรือด้านจิตวิญญาณ  เช่นตัวอย่างหนึ่ง คือ ในอิสลามได้กำหนดเมื่อไหร่ที่ผู้หญิงจะทำการแต่งงาน หรือให้เธอมีครอบครัวและไม่อนุญาติให้คลุมถุงชนเป็นอันขาด และเธอมีสิทธิ์แม้ในเรื่องการเรียกสินสอด  และผู้ชายจะต้องเตรียมสินสอดนั้นให้กับเธอ  และจำนวนและปริมาณเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับสิทธิของเธอที่เธอจะเรียกจากฝ่ายผู้ชาย  และนี่คือสิทธิทางกฎหมายของสตรี  แต่ในด้านจริยธรรม  อิสลามเรียกร้องให้สตรี ให้เรียกค่าสินสอด(มะฮัร)ในจำนวนที่น้อย หรือให้ยกให้กับสามี  เพราะว่า บทบาทพื้นฐานของการสร้างครอบครัว คือความรักและความเข้าใจระหว่างกันและกัน มิใช่เรื่องของทรัพย์สิน( ต่อตอนที่ ๒)

Facebook Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *