jos55 instaslot88 Pusat Togel Online พหุนิยมทางศาสนากับโลกาภิวัตน์ - INEWHORIZON

INEWHORIZON

ขอบฟ้าใหม่

พหุนิยมทางศาสนากับโลกาภิวัตน์

 

โดย ดร.ประเสริฐ  สุขศาสน์กวิน

ศูนย์อิสลามศึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม

 

พหุนิยมในศาสนา ได้ถูกนำมาตีความในหลายๆความหมาย ซึ่งในแต่ละความหมายต้องอาศัยการวิเคราะห์และการสังเคราะห์อย่างละเอียดถึงจะเข้าใจเนื้อหานั้นได้อย่างถูกต้องและรอบด้าน และในแต่ละความหมายมีความน่าสนใจอยู่มากทีเดียว เราคงจะได้นำมาพูดคุยกัน ส่วนประเด็นโลกาภิวัตน์ถือว่าเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้และยังคงมีอิทธิพลต่อชาวโลกจนถึงวันนี้ ความหมายของโลกาภิวัตน์ ( globalization) คือ ผลจากการพัฒนาการติดต่อสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง และเทคโนโลยีสารสนเทศ อันแสดงให้เห็นถึงการเจริญเติบโตของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี และวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงระหว่างปัจเจกบุคคล ชุมชน หน่วยธุรกิจ และรัฐบาล ทั่วทั้งโลก โลกาภิวัตน์ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายถึง “การแพร่กระจายไปทั่วโลก การที่ประชาคมโลกไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใด สามารถรับรู้ สัมพันธ์ หรือรับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วกว้างขวาง ซึ่งเนื่องมาจากการพัฒนาระบบสารสนเทศเป็นต้น” และโลกาภิวัตน์ เป็นคำศัพท์เฉพาะที่บัญญัติขึ้นเพื่อตอบสนองปรากฏการณ์ของสังคมโลกที่เหตุการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในส่วนหนึ่งของโลก ส่งผลกระทบอันรวดเร็วและสำคัญต่อส่วนอื่นๆของโลก(วิกีพิเดีย หมวดโลกาภิวัตน์)

สังคมโลกาภิวัตน์ ได้ถือว่าทุกๆความขัดแย้งนั้นสามารถจะแก้ไขได้ โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งในศาสนาและศาสนิกหรือแม้แต่ในระหว่างนิกาย ดังนั้นการสนองตอบต่อทฤษฎีพหุนิยมในศาสนาและนิกายคือทางออกหนึ่งของความขัดแย้งและนำไปสู่สันติภาพ โดยพวกเขาได้นำเสนอทางออกของความขัดแย้งระหว่างศาสนาหรือระหว่างนิกายลดลงไปหรืออาจจะทำให้เกิดความใกล้ชิดระหว่างกันมากยิ่งขึ้น คือการนั่งสานเสวนาและปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์แบบยึดมั่นถือมั่น มาเป็นกระบวนทัศน์แบบพหุนิยม  หรือถ้าเราอาจจะมองให้แคบกว่านั้นในความแตกต่างของนิกายในศาสนาเดียวกัน โดยมองว่าเป็นไปได้ที่จะพิจารณาระหว่างศาสนาด้วยกัน ในลักษณะที่ว่าทุกศาสนานั้นความจริงและความถูกต้อง หรือมองว่าทุกๆศาสนาต่างได้ประโยชน์จากความจริงทั้งสิ้น หรือในศาสนาหนึ่งๆอาจแบ่งออกเป็นหลายนิกาย และแต่ละนิกายนั้นต่างมีความจริงทั้งสิ้น เช่น นิกายซุนนี และชีอะฮ์  มีอยู่ภายในศาสนาอิสลาม และแต่ละนิกายจะแนะนำตัวเองว่าเป็นอิสลาม ถึงแม้ว่าจะมีบางหลักปฏิบัติที่แตกต่างอยู่ก็ตาม  ดังนั้นตามทัศนะของผู้นิยมในหลักคิดพหุนิยมแล้วทั้งสองนิกายสามารถวางอยู่บนความถูกต้อง หรือกล่าวได้ว่าการได้รับประโยชน์จากความจริง มีอยู่ทั้งสองนิกายก็ได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พหุนิยมทางศาสนา สามารถแบ่งออกเป็นความหลากหลายภายนอกและภายในศาสนา

กระแสเหตุการณ์ของโลกาภิวัตน์และประชาคมโลกต่างเรียกร้องและต้องการความสันติภาพ ต้องการความยุติธรรม และเสรีภาพ และปรารถนาความสัมพันธไมตรีและอยู่อย่างมิตรภาพมีความสมานฉันท์ อุดมการณ์ทางการเมืองหรือทางลัทธิความเชื่อได้ถูกทำให้ผู้คนสับสนจนก่อให้เกิดความบาดหมางและมีทัศนคติที่เป็นลบต่อกันทั้งๆที่คำสอนของทุกศาสนาต่างเรียกร้องให้ผู้ปฎิบัติตามศาสนานั้นๆหรือให้ศาสนิกของตนอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์อย่างฉันท์พี่น้อง อีกทั้งให้รู้จักเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์เคารพบูชาของแต่ละศาสนา

นักโลกาภิวัตน์ได้เรียกร้องให้ทุกๆศาสนาและทุกนิกายลัทธิหันมาศึกษาและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันและให้รังเกียจการให้ร้ายและการสร้างความแตกแยกในสังคม และยังเรียกร้องให้ทุกๆศาสนาสร้างหลักศาสนสัมพันธ์และนิกายสัมพันธ์เพราะถือว่าเป็นกระบวนการทางปัญญาและยังถือว่าเป็นหลักสันติวิธีโดยยึดความเมตตาธรรมและความรักเป็นที่ตั้ง และพร้อมที่จะปฏิบัติและพยายามนำหลักการทางศาสนาของศาสนาและนิกายของตนมาบูรณาการปฎิบัติในด้านความสัมพันธ์และด้านสังคม กอรปกับแสดงออกด้วยการปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจังของแต่ละศาสนาและแต่ละนิกาย โดยยึดปฎิบัติตามคำสั่งสอนและสิ่งที่ถูกสอนไว้ในนิกายนั้นๆ เพื่อสำแดงให้เห็นว่าทุกศาสนาและทุกนิกายได้เคารพหลักความเชื่อ ความศรัทธาต่อกันและกัน ไม่ดูถูกหรือดูหมิ่นดูแคลนคำสอนของความเชื่อหรือความศรัทธาในศาสนาของกันและกัน และพร้อมที่จะเป็นเพื่อนร่วมโลกต่อกันและกัน

โลกาภิวัตน์ได้ถือว่าหลักคิดในเรื่องพหุนิยมในศาสนาคือบทบาทหนึ่งที่สำคัญของการสร้างสันติภาพระหว่างมนุษยชาติ และเรียกร้องให้มีศาสนสัมพันธ์และนิกายสัมพันธ์ เพราะนั่นคือบทบาทหนึ่งที่จะนำแนวทางการสานเสวนาทางศาสนา โดยยึดหลักปรัชญาว่าด้วยทฤษฎี”ความเป็นเอกภาพในพหุภาพ และความเป็นพหุภาพในเอกภาพ”  นั่นคือ การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การยึดมั่นถือมั่น นั่นก็คือที่เคยแสดงความชิงชังต่อกัน หรือเคยทำสงครามกัน แต่ทว่ากระบวนทัศน์ของศาสนสัมพันธ์ในยุคโลกาภิวัตน์นั้น คือการไม่เหยียดหยามและดูถูกดูหมื่นความเชื่อของกันและกัน  โดยเฉพาะอย่างยิงพระศาสดา ถึงเป็นที่เคารพของทุกศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพระศาสดามุฮัมมัด(ศ)ของอิสลาม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพุทธศาสนา พระเยซูคริสต์ และอื่นๆต่างเป็นที่ยอมรับต่อกันและกัน

อิสลามถือว่าเป็นศาสนาหนึ่งที่ทรงอิทธิพลต่อชาวโลกจำนวนมาก และมีการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องความเชื่อและการอุดมการณ์ของศาสนาไปในทางลบ โดยกล่าวว่าเป็นศาสนาที่นิยมในความรุนแรง มองคนต่างศาสนิกอื่นเป็นศัตรู เป็นพวกชาตินิยมอะไรทำนองนี้ หรือกล่าวว่าเป็นศาสนาแบบชาตินิยม มองศาสนาอื่นเป็นศาสนาที่หลงทางและอื่นๆซึ่งเราจะพบเห็นตามสื่อต่างๆที่ได้เสนออิสลามในเชิงลบ ทั้งๆที่ศาสนาอิสลามจากสมัยของพระศาสดามุฮัมมัด(ศ)เป็นศาสนาแห่งความเมตตา ศาสนาแห่งศานติ ศาสนาแห่งเหตุและผลและท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ)เป็นบุคคลแรกที่ได้มีแบบฉบับในการอยู่กับคนต่างศาสนิกอย่างสันติและเรียกร้องการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ให้เกียรติต่อกันและท่านศาสดามุฮัมมัดเป็นบุคคลแรกที่ได้นำเสนอหลักการสานเสวนาทางศาสนาขึ้นในนครมะดีนะฮ์

ตลอดเวลาของประวัติศาสตร์อิสลามได้ชี้ให้เห็นถึงผู้ดำเนินรอยตามแบบฉบับของศาสดามุฮัมมัด(ศ)และยึดหลักปฎิบัติตามวงศ์วานลูกหลานของศาสดาและบรรดาสาวกผู้ทรงเกียรติ ชี้ให้เห็นว่าอิสลามในคำสอนอันพิสุทธิ์นั้นผ่านการชี้นำโดยอิมามผู้นำภายหลังจากศาสดามุฮัมมัดเรียกร้องให้ทุกศาสนานั่งสานเสวนาและพูดคุยในด้านศาสนาอย่างเป็นมิตรและไมตรีจิต

ศาสนาทั้งหลายในอดีตได้แสดงบทบาทที่สำคัญและเห็นด้วยกับหลักการนั้นโดยการให้ความร่วมมือจึงเป็นที่คาดหวังว่าในยุคหนึ่งนั้นบรรดาศาสนาทั้งหลายจะอยู่กันอย่างสันติเคารพในศาสนากันและกันและสร้างความพึงพอใจและความต้องการด้านต่างๆของมนุษย์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นทุกศาสนาได้เชื่อและมีความศรัทธาว่า โลกแห่งสันติภาพยังมิอาจบรรลุถึงได้ นอกเสียจากบรรดาศาสนาและผู้นำของศาสนาต่างๆ ซึ่งมีพื้นฐานทางด้านวัฒนธรรมอันดีงามและมีอารยธรรมอันน่ายกย่องนั้น มาร่วมสานเสวนาและพูดคุยสนทนาทางด้านศาสนากัน เพราะว่าในความเป็นจริงแล้วไม่มีศาสนาใดในโลกใบนี้ที่มีความเชื่อหรือมีหลักคิดที่เป็นลบต่อกันหรือส่งเสริมมุ่งร้ายและแข่งขันในทางที่มิชอบ แต่ตรงกันข้ามศาสนาทั้งหลายต่างชื่นชมและยินดีในความเป็นมิตรและมีจิตเอื้ออาทรต่อกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือว่าศาสนาไม่ใช่ภัยคุกคามต่อกัน

เป็นที่รู้จักกันดีว่า พุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาแห่งความสงบและเป็นศาสนาแห่งสันติ เป็นศาสนาที่สอนให้มนุษย์รู้จักตัวตนและการทำลายทุกข์ทั้งปวง และพุทธศาสนาเป็นสาส์นแห่งความรัก และสอนให้เอ็นดูรู้สึกสงสาร ไม่เบียดเบียนพร้อมกับสอนให้อดกลั้น และสันติภาพและความรักถือว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนานั่นหมายความว่าวัตถุประสงค์ของชีวิตแห่งศิลธรรมทั้งมวลของการฝึกฝนอบรมและปฎิบัติในทางศาสนาทั้งหมด จุดมุ่งหมายที่สุดของพุทธศาสนา คือ นิพพาน ดังนั้นสิ่งใดที่ไม่นำไปสู่สันติภาพ สิ่งนั้นถือว่าเป็นอุปสรรคและเป็นการรบรวมสันติภาพ

ศาสนาอิสลามโดยการเป็นประจักษ์พยานตามบริบทของของยุคสมัยจากสมัยเริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน ซึ่งยืนยันโดยประวัติศาสตร์ของอิสลามว่า ศาสดามุฮัมมัด(ศ)ได้กำชับและบอกแก่สาวกของท่านให้อยู่ร่วมกับบรรดาศาสนิกอื่นๆในนครมะดีนะฮ์อย่างสันติ และประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่าหลังจากที่ศาสดามุฮัมมัดได้อพยพสู่นครมะดีนะฮ์ และได้จัดตั้งรัฐอิสลามขึ้น บรรดามุสลิมในสมัยนั้นได้เริ่มรู้จักบรรดาศาสนิกของศาสนาอื่นๆโดยใช้ชีวิตตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่ร่วมกัน และมีความสัมพันธ์ต่อกันทางด้านวัฒนธรรม มีการแปลตำราทางด้านศาสนาจากภาษาอื่นๆและมีการปฎิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมตลอดทั้งทางด้านวิชาการด้านอื่นๆ

คัมภีร์อัลกุรอานได้อ้างไว้อย่างชัดเจนในความสัมพันธ์ที่ทำให้นึกถึงบรรดาผู้ศรัทธาในศาสดาก่อนศาสดามุฮัมมัด อย่างเช่นชาวยิวที่มีศรัทธาต่อศาสดาฮิบรอฮีม และศาสดามูซา ชาวคริสต์ที่ได้ศรัทธาต่อพระเยซู ศาสดาอีซา ชาวโซโรอัสเตอร์

 

การตีความและการนิยามของพหุนิยมในศาสนาตามความเชื่อของจอห์น ฮิก เป็นไปได้ที่เขาจะให้ความหมายของพหุนิยมทางศาสนา คือ ทุกๆศาสนิกของแต่ละศาสนา มีความต่างในเรื่องหลักปฏิบัติตามศาสนกิจแต่มีแก่นแท้ของความจริงเดียวกัน  ซึ่งหมายความว่าในแต่ละศาสนานั้นมีจุดร่วมและจุดต่าง  และในความต่างนั้นสามารถจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ หรือต่างได้อดทนระหว่างกันและกันในความต่าง  หรือเรียกว่า”การใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสมานฉันท์ในมีหลักปฏิบัติที่แตกต่างกัน”

ความหมายของพหุนิยมในศาสนาของนิยามข้างต้นนั้น เป็นที่ยอมรับของนักโลกาภิวัตน์ เพราะว่าเป็นหลักคิดที่สติปัญญายอมรับ อีกทั้งในศาสนาสนับสนุนให้พึงปฏิบัติเช่นนั้น   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศาสนาอิสลามที่เรียกร้องให้อยู่ด้วยกันอย่างศานติและอยู่ด้วยกันอย่างเห็นอกเห็นใจ ไม่สร้างความทะเลาะหรือชิงชัง ให้ร้ายต่อกัน แต่ให้มีมิตรภาพระหว่างกันและกัน  อยู่ภายในร่มธงเดียวกัน  ดังกุรอานได้กล่าวว่า…

“จงกล่าวเถิด(โอ้มุฮัมมัด)ว่า โอ้ชาวคัมภีร์เอ๋ย จงเข้ามายังถ้อยคำหนึ่งที่เท่าเทียมกัน ระหว่างเราและพวกท่าน นั่นคือ เราจะไม่สักการะกราบไหว้สิ่งใด นอกจากพระอัลลอฮ์เท่านั้น และจะไม่ตั้งภาคีใดๆกับพระองค์ และพวกเราบางคนก็จะไม่ยึดถืออีกบางคนเป็นพระเจ้าอื่นนอกเหนือพระอัลลอฮ์ แล้วถ้าหากพวกเขาได้ผินหลังให้ ก็จงกล่าวเถิดว่า พวกท่านจงเป็นพยานด้วยว่า แท้จริงพวกเราเป็นผู้น้อมตาม(ยอมรับความศานติ)”(อาลิอิมรอน โองการที่ ๖๔)

หรือแม้แต่ในหลักปฏิบัติศาสนกิจ(ฟิกฮุลอิสลาม) ได้มีบทและมาตราว่าด้วยการอยู่ร่วมกันระหว่างศาสนิกอื่นและระหว่างนิกายอื่นๆ โดยได้นำคำวินิจฉัยของปวงปราชญ์ถึงเรื่องนี้ว่า ถือเป็นหน้าที่หนึ่งของมุสลิมต้องให้เกียรติและไม่เมิดสิทธิของเพื่อนบ้าน ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิมก็ตาม และอีกทั้งยังได้กล่าวถึงสิทธิของเพื่อนบ้านและคนต่างศาสนิกไว้น่าชื่นชมทีเดียว

อิมามอะลี บินอะบีตอลิบ  ในขณะที่ได้เป็นคอลีฟะฮ์ปกครองอาณาจักรอิสลาม  ครั้งนี้ท่านได้เดินผ่านตำบลหนึ่ง และได้เห็นชายตาบอด ซึ่งได้ขอทานและขอความเชื่อเหลือจากประชาชน   อิมามอะลีได้กล่าวว่า  “ ชายผู้พิการและตาบอดนั้น เขาเป็นผู้ขัดสน จงนำทรัพย์สินกองกลาง(บัยตุลมาล)ให้กับเขาเถิด และจงรักษาเกียรติของเขา”(อ้างอิงจากหนังสือวะซาอิลุชชีอะฮ์  เล่ม ๑๑ หน้า ๔๙)   ทั้งๆชายพิการและตาบอดผู้นั้น เป็นชาวคริสเตียนเสียด้วยซ้ำ     และการสร้างความรักและความเมตตาระหว่างศาสนา ไม่ได้เฉพาะแค่ศาสนาหนึ่งศาสนาใด แต่ทุกๆศาสนาและทุกๆนิกาย

อัลกุรอานได้กล่าวอีกว่า….

“องค์อัลลอฮ์มิได้ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่มิได้ต่อต้านพวกเจ้าในเรื่องศาสนา และพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้าในการที่พวกเจ้าจะทำความดีต่อพวกเขา และให้ความยุติธรรมแก่พวกเขา แท้จริงอัลลฮ์ทรงรักผู้มีความยุติธรรม“(บทมุมตะฮีนะฮ์  โองการที่ ๘)

อิมามอะลี บินอะบีตอลิบ ได้กล่าวต่อ มาลิก อัชตัร ถึงการปกครอง โดยยึดความยุติธรรมและสร้างความารักต่อผู้อยู่ใต้การปกครอง ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิม    ดังบันทึกไว้ว่า…

“ผู้นำต้องใช้มโนธรรมที่เปี่ยมด้วยความเมตตา ปราณีต่อประชาชน สร้างความรักและความกรุณาขึ้นในจิตใจเพื่อประชาชน ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความเป็นมิตรและอำนวยประโยชน์สุขแก่คนเหล่านั้นโดยถ้วนหน้า

    อย่าปฏิบัติกับประชาชนอย่างสัตว์ร้ายที่มีความเคียดแค้น โดยโน้มเอียงไปสู่การเบียดเบียนให้ร้าย เพราะว่าประชาชนมีสองกลุ่ม   เขาอาจจะเป็นพี่น้องในศาสนาเหมือนกับท่าน(อยู่ในศาสนาเดียวกัน) หรือ เขาอาจจะเหมือนกับกับท่านในความเป็นมนุษย์

            แม้ว่าประชาชนเหล่านั้นบางส่วนจะมีอุดมการณ์ ความเชื่อ ศรัทธาและทัศนะคติบางอย่างแตกต่างไปจากผู้นำก็ตาม  ผู้นำต้องไม่รู้สึกละอายในการให้อภัย และไม่สร้างความพยาบาท ไม่กระหยิ่มหรือทะนงตนในอำนาจ

         หากผู้นำล้มเหลวในการปกครองด้วยความยุติธรรม ย่อมเป็นการเปิดรับความอยุติธรรมให้เข้ามาแทรกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และผู้ใดก็ตามที่อยุติธรรมต่อสรรพสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้าง และมีฐานะอันเป็นที่เกลียดชังของบรรดาผู้ถูกกดขี่ บุคคลเหล่านั้นอยู่ในภาวะเป็นปรปักษ์กับพระผู้เป็นเจ้า เว้นแต่เขาจะสำนึกผิดด้วยความเสียใจ และยุติการกดขี่ข่มเหงประชาชน”(นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์  สาส์น ฉับบที่ ๕๓)

นักโลกาภิวัตน์และผู้ที่เห็นด้วยกับเรื่องความเป็นพหุวัฒนธรรมของสังคมมนุษยชาติ ต่างได้เรียกร้องให้ทุกๆศาสนาและทุกๆนิกายหันมาสานเสวนาระหว่างกันและกันหรือการเรียกร้องหลักศาสนสัมพันธ์ และแม้แต่ในคัมภีร์อัลกุรอานได้เรียกร้องถึงเรื่องการสานเสวนาและการพูดคุยระหว่างความแตกต่าง เพื่อให้เกิดความเข้าใจระหว่างกันและกัน

      อัลกุรอาน

“ดังนั้นจงแจ้งข่าวดีต่อปวงบ่าวของข้า บรรดาผู้ที่สดับฟังคำกล่าวนั้น แล้วพวกเขาได้ยึดปฏิบัติตามต่อสิ่งที่ดีที่สุดนั้น”(บทอัซซุมัร โองการที่ ๑๗-๑๘)

 

ทัศนะของนักวิชาการอิสลามและนักคิดทั้งยุคอดีตและยุคปัจจุบัน ยอมรับในเรื่องความแตกต่างในศาสนาและนิกาย และถือว่าการทำความเข้าใจกับศาสนาอื่นๆเป็นความจำเป็นหนึ่ง ดังนั้นพหุนิยมในศาสนาในความหมายที่กล่าวมาข้างต้น นั่นหมายความว่า การมีความหลากหลายในหลักปฏิบัติของศาสนาต่างๆ ไม่ได้เป็นเหตุหรือมูลเหตุปัจจัยที่จะต้องขัดแย้งหรือดูถูกระหว่างกันและกัน แต่ทว่าทางเลือกที่ดีที่สุดคือ การแสวงหาจุดร่วมและสงวนจุดต่าง คือหลักสำคัญของการให้เกิดสันติภาพที่ยั่งยืน

 

 

 

 

 

 

 

 

Facebook Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *