ข้อถกเถียงสิทธิสตรี ในชุดความคิดทางอิสลามการเมือง ตอนที่ 2
ข้อถกเถียงสิทธิสตรี ในชุดความคิดทางอิสลามการเมือง ตอนที่ 2
ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน
ศูนย์อิสลามและอิหร่านศึกษา (วทส.)
ท่ามกลางกระแสการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและสถานการณ์ทางการเมืองโลกวันนี้ได้เกิดข้อถกเถียงประเด็นสิทธิสตรีอย่างกว้างขวางทีเดียว และหนึ่งจากประเด็นที่ถูกนำมาพูดคุยและพูดถึงกันมากเรื่องหนึ่งคือ อิสลามการเมืองกับมุมมองต่อสตรีภายใต้หลักชะรีอะฮ์และการปกครองได้มีมุมมองอย่างไรต่อสิทธิสตรี ในขณะที่โลกตะวันตกพยายามจะสร้างวาทกรรมในเรื่องสิทธิและเสรีภาพสตรีและให้คำนิยามที่แตกต่างกับโลกตะวันออก โดยเฉพาะในโลกอิสลามอย่างน่าสนใจและทำให้การปะทะทางความคิดในเรื่องสิทธิสตรีระหว่างอิสลามกับแนวคิดแบบรัฐฆารวาสได้เกิดมาหลายร้อยปีเลยทีเดียว
ต่อมาสื่อกระแสหลักพยายามจะให้หลักคิดเกี่ยวกับประเด็นสิทธิสตรีแบบโลกทัศน์ตะวันตกหรือแบบปรัชญาลัทธิมนุษย์นิยม(Humanism)เป็นพิมพ์เขียวและแบบอย่างต่อโลกสมัยใหม่และเปลี่ยนโลกทัศน์แบบดั้งเดิมในมุมของศาสนาให้หมดไป จนเกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองและสังคมว่าถ้าประเทศใดไม่ได้ยึดหลักสิทธิและเสรีภาพสตรีตามแบบประเทศตะวันตกแล้วไซร้ ก็จะถูกตีความว่าประเทศนั้นได้ละเมิดสิทธิสตรีหรือไม่ยึดมั่นหลักเสรีภาพอะไรทำนองนั้น จนประเทศมุสลิมหลายประเทศได้กลายเป็นเชลยสังคมในเรื่องสิทธิสตรีตลอดมา
ยิ่งในวันนี้กระแสเรื่องประเด็นสิทธิสตรีกับกระบวนทัศน์แบบรัฐบาลตอลิบันได้สร้างกระแสการสนใจอีกครั้งและเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในโลกการเมืองและอิสลามการเมืองไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการกลับมาของกลุ่มตอลิบันในเดือนสิงหาคมปี2021ที่ผ่านมานั้น ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสื่อกระแสหลักและโหมโรงเรื่องการละเมิดสิทธิสตรีในกฏหมายชะรีอะฮ์อิสลาม และแม้แต่คนอัฟกันเองก็เกิดกระแสอาการกังวลต่อกลุ่มการเมืองตอลิบันที่เข้ามาบริหารประเทศอัฟกานิสถานอีกครั้งหลังจากที่ได้ถูกโค่นในปี2001ต่อเรื่องความปลอดภัยคนอัฟกันเองและต่อเรื่องสิทธิครอบครัวหรือแม้แต่ในเรื่องการทำงานของสตรี สิทธิสตรี ว่าสตรีจะมีสิทธิ์จะได้ทำงานนอกบ้านหรือไม่? ผู้หญิงสามารถไปเรียนหนังสือได้เหมือนนานาประเทศหรือไม่?การแต่งกาย เสื้อผ้าผู้หญิงอัฟกันเป็นอย่างไร? เพราะภาพจำอันโหดร้ายของการบริหารกลุ่มตอลิบันในยุคแรกสร้างทัศนะคติเป็นลบต่ออิสลามการเมืองในอัฟกานิสถานโดยการนำของกลุ่มตอลิบันไม่น้อยทีเดียว แต่ทว่าภาพจริงและความจริงจะเป็นอย่างไรนั้น เราคงจะได้มาพูดคุยกับต่อแนวคิดอิสลามการเมืองภายใต้การนำของกลุ่มตอลิบันต่อสิทธิสตรีว่าเป็นอย่างไรและมีขอบเขตอย่างไรต่อการปฎิบัติต่อผู้หญิงในอัฟกานิสถานในตอนต่อไป
อิสลามการเมืองอิหร่านกับสิทธิสตรี
เมื่อเราพูดถึงอิสลามการเมืองPolitical Islam วันนี้ ทำให้นึกถึงภาพจำคำสอนอิสลามทางด้านการเมืองที่ผ่านกรอบแนวคิดท่านศาสดาและคอลีฟะฮ์ที่เคยรุ่งเรืองในอดีตที่มีความสงบสุขและยังจำภาพของการให้เกียรติศาสดาอิสลามและรัฐคอลีฟะฮ์ภายหลังจากศาสดาต่อสตรีเพศอย่างน่าชื่นชม แต่ก็ยังมีอีกภาพจำหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่าการนำเสนออิสลามการเมืองแบบสุดโต่งและการมีอคติต่อคนต่างศาสนิกและกลุ่มต่างในนิกายอย่างกลุ่ม”รัฐอิสลาม”( IS :Islamic State) หรือ “อัลกออิดะฮฺ” คือภาพลบและภาพจำอันเลวร้ายของอิสลามการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนนำไปสู่การเกิดกระแสอิสลาโมโฟเบียหรือโรคเกลียดชังอิสลามนั่นเอง.
หลังจากชัยชนะการปฎิวัติอิสลามในอิหร่านประสบความสำเร็จในปี 1979 และนับได้ว่าปีนี้เป็นปีที่ 34ของการเปลี่ยนการปกครองในอิหร่าน เราคงได้เห็นว่าอิมามโคมัยนีได้นำเสนอทฤษฎีอิสลามการเมืองและได้เร่งร่างรัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายอิสลามตามระบอบรัฐอิสลามทันที และเปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบเทวาธิปไตย(Theocracy) และมีรูปแบบเป็นสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน (Islamic Republic of Iran)ที่ได้จัดระบอบโครงสร้างทางการเมืองและการปกครอง โดยยึดระบอบการปกครองแบบอิสลาม “ระบอบปราชญาธิปไตย” (วิลายะตุลฟะกีย์) และปรับเข้ากับความเป็นรัฐสมัยใหม่ของรูปแบบรัฐชาติ(Nation-State)เป็น”สาธารณรัฐ”(Republic)มีรูปแบบเป็นระบบรัฐสภา อันมีประธานาธิบดี (President) และรัฐสภา (Parliament) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน (Electorate) และประธานาธิบดีจะเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (Cabinet) ที่ต้องได้รับการยอมรับจากรัฐสภา และสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านมีสถาบันสูงสุด คือ สถาบันแห่งประมุขสูงสุด (Supreme Leader)เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ผู้นำรัฐและเป็นผู้ปกครองที่อยู่ในฐานะปราชญ์
อิมามโคมัยนีคือบุคคลต้นแบบที่ได้สำแดงออกถึงวิถีอิสลามการเมืองตามสำนักคิดชีอะฮ์สาขาอิมามียะฮ์ได้อย่างแหลมคมโดยได้ยึดอิสลามการเมืองที่ถูกกำหนดโดยอัลกุรอานและแบบอย่างของศาสดาและอิมามแห่งลูกหลานศาสดา ว่าด้วยหลักการ“การทำความดีและละเว้นความชั่ว” มุ่งเน้นการสถาปนารัฐที่มีธรรมะในทุกๆหนแห่ง โดยปฏิเสธทการปกครองระบอบเผด็จการและแบบอำนาจนิยม และอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) ยังได้ให้ความสำคัญต่อผู้หญิงและการศักดิ์ศรีของสตรีอย่างน่าสนใจ ดั่งที่อิมามโคมัยนีได้กล่าวว่า :
“ผู้ที่ต้องการจะทำให้สตรีเป็นของเล่นของบุรุษและเป็นของเล่นของชายหนุ่มที่ไร้ศีลธรรมนั้น พวกเขาคืออาชญากร สตรีจะต้องไม่ถูกหลอก สตรีอย่าได้หลงคิดว่า สถานภาพของสตรีคือการที่นางจะเสริมแต่งความงามแล้วก็ออกไปนอกบ้าน ในสภาพที่เปิดศีรษะและเปลือยกาย นี่ไม่ใช่สถานภาพของสตรี สตรีจะต้องเป็นผู้กล้าหาญ สตรีคือผู้สร้างสรรค์มนุษย์ สตรีคือผู้อบรมขัดเกลามนุษย์…”
อิมามโคมัยนียังได้ตระหนักถึงประเด็นที่สำคัญเรื่องสิทธิสตรีมาเป็นเวลายาวนานหลายปีตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว และท่านได้เตือนสติบรรดาสตรีของสังคมมุสลิมว่า คุณค่าของสตรีในทัศนะของอิสลามนั้นสูงส่งและมีค่ามากเกินกว่าที่จะโชว์เรือนร่างของตนเองต่อบุรุษเพศ อิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) ได้กล่าวว่า :
“สตรีคือผู้สร้างสรรค์มนุษย์และเป็นผู้อบรมขัดเกลามนุษย์ บรรดาสตรีและมารดาทั้งหลายนั้นมีบทบาทสำคัญยิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ในการอบรมขัดเกลาและการพัฒนาจิตวิญญาณของลูกๆ ของเขา ผู้ที่จะมาเป็นผู้สร้างสรรค์สังคมในอนาคต และสามารถกล่าวได้โดยรวมว่า บรรดาสตรีและมารดาทั้งหลายนั้น คือผู้ที่จะกำหนดทิศทางอนาคตของสังคม”
“และแน่นอนยิ่ง ท่านทั้งหลายควรจะต้องรับรู้ไว้ว่า ฮิญาบที่อิสลามได้กำหนดนั้น ก็เพื่อพิทักษ์ปกป้องคุณค่าต่างๆ ของเหล่าสตรีทั้งหลาย ทุกสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาใช้ ไม่ว่าจะสำหรับสตรีหรือบุรุษ ก็เพื่อที่ว่าคุณค่าต่างๆ ที่แท้จริงที่มีอยู่ในบุคคลเหล่านี้ (สตรีและบุรุษ) จะถูกพิทักษ์รักษาไว้”
ถ้าย้อนดูสถานะของผู้หญิงอิหร่านหลังการปฎิวัติอิสลามปี 1979นั้น อาจกล่าวได้ว่า ชีวิตความเป็นอยู่และฐานะภาพสตรีในอิหร่านดีกว่าบรรดาผู้หญิงในประเทศแถบตะวันออกกลางทั้งหมดก็ว่าได้ ไม่ว่าจะมองในด้านการศึกษา อิหร่านได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดในการยกระดับการศึกษาของผู้หญิง ลดช่องว่างของหญิงชายในด้านการศึกษา ในด้านแรงงาน อิหร่านมีผู้หญิงที่ทำงานเป็นข้าราชการถึงหนึ่งในสามของจำนวนข้าราชการทั้งหมด มีผู้หญิงรับตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกต่างๆนับร้อย และในการเลือกตั้งท้องถิ่นในปี 1999 มีผู้หญิงถึง 5,000 คนลงสมัครรับเลือกตั้ง และในจำนวนนี้ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นผู้นำท้องถิ่นถึง 300 คน
ยิ่งไปกว่านั้นความเปลี่ยนแปลงในสถานะของผู้หญิงอิหร่านก็กำลังเพิ่มขึ้นทุกขณะ หลังปี 1997 เป็นต้นมา อดีตประธาธิบดีมุฮัมมัดคอตามี ได้ประกาศต่อชาวโลก ถึงความพยายามที่จะยกระดับสถานะของสตรีอิหร่าน ขจัดระบบเลือกปฏิบัติต่อเพศหญิง และรวมถึงมีการแต่งตั้งผู้หญิงขึ้นเป็นรองประธานาธิบดีอีกดด้วย และในปัจจุบันมีนักวิจัยและผู้ศึกษาต่อบทบาทสตรีในรัฐอิสลามประเทศอิหร่านที่พวกเขาได้เดินทางไปพบเห็นและมีโอกาสได้สัมภาษณ์พูดคุยกับผู้หญิงอิหร่านจำนวนมาก ในช่วงปีพ.ศ. 2002-2004 จากแง่มุมต่างๆทั้งในแง่ของชีวิตครอบครัว การศึกษา เศรษฐกิจ และการเมือง พบว่าสภาพความเป็นอยู่และเกียรติยศของสตรีเพศในอิหร่านเพิ่มมากขึ้นและสตรีมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกทั้งมีสถานะสูงในสังคม
ความสำเร็จหนึ่งของการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านมีหลายด้าน แต่ด้านหนึ่งที่สำคัญคือการส่งเสริมการรู้หนังสือของผู้หญิง ถือได้ว่า เป็นคุณลักษณะที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง ที่ต้องกล่าวถึงอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเมื่อคำนึงถึงปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น เราก็จะมีความเข้าใจเกี่ยวกับการรู้หนังสือและการศึกษาของผู้หญิงมากขึ้น นี่เป็นจุดสำคัญในการพัฒนาความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการรู้หนังสือและสถานะทางการศึกษาของผู้หญิง การทบทวนตรวจสอบปัจจัยดังกล่าว ตั้งแต่ยุคก่อนการปฏิวัติ จนถึงปัจจุบัน ได้มุ่งเน้นไปยังสถิติตัวเลขที่ถูกเผยแพร่อย่างเป็นทางการ ก่อนและหลังการปฏิวัติอิสลาม
มาตรา 20 – รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน เน้นย้ำเรื่องความเป็นมนุษย์โดยไม่คำนึงถึงเพศ อย่างชัดเจน และด้วยเหตุนี้ จึงเน้นย้ำถึงการมีส่วนแบ่งที่เท่าเทียมกันในสิทธิมนุษยชน ในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของมนุษย์
มาตรา 21 – ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปกป้องสิทธิของผู้หญิง โดยประกาศว่า ทุกคนควรเคารพสิทธิของผู้หญิง และยังยืนยันว่า สิทธิเหล่านี้เป็นความรับผิดชอบอย่างหนึ่งของฝ่ายบริหาร และองค์กรรัฐของประเทศ
อายาตุลลอฮ์ ซัยยิด อะลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน กล่าวว่า:
“..เราถือว่าสตรีมีบทบาทในกิจกรรมทางสังคม การเมือง วิทยาศาสตร์ และเศรษฐกิจ และจากมุมมองของศาสนาอิสลาม ยังถือว่าสตรีมีเวทีสำหรับกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์เศรษฐกิจ และการเมือง และได้เปิดกว้างอย่างสมบูรณ์ หากมีผู้ใดตัดสินใจกีดกันสตรี จากงานด้านวิทยาศาสตร์ และความพยายามทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม บนพื้นฐานของมุมมองของอิสลาม พวกเขาได้กระทำการขัดต่อพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า สตรีสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆได้มากเท่าที่ความสามารถทางร่างกาย และความต้องการของพวกเธอจะเอื้ออำนวย พวกเธอสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมได้มากเท่าที่จะทำได้ กฎชารีอะฮ์อิสลามอันศักดิ์สิทธิ์ [กฎหมายอิสลาม] ไม่ได้ต่อต้านมัน แน่นอนว่า เนื่องจากผู้หญิงมีความละเอียดอ่อนในด้านกายภาพจึงมีข้อจำกัดบางประการ(แต่มิได้ละเมิดสิทธิของสตรีเพศใดๆ)”
นี่คืออิสลามการเมืองในกระบวนทัศน์อิสลามต่อสิทธิสตรี ซึ่งได้สร้างความสนใจเป็นพิเศษแก่ผู้หญิงโดยเฉพาะเกี่ยวกับชีวิตด้านการศึกษาและด้านการเมืองของพวกเธอ จนปรากฏให้เห็นว่าอิสลามการเมือง สนับสนุนสตรีเพศอย่างกว้างขวาง จนได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมและเป็นที่น่าสังเกตในความก้าวหน้าทางด้านชีวิตส่วนบุคคลสังคมและวิทยาศาสตร์ของพวกเธอในยุคหลังการปฏิวัติอิสลามอิหร่านมีการเปลี่ยนแปลงอย่างน่ามหัศจรรย์และได้เห็นถึงอุดมการณ์อิสลามต่อเรื่องสิทธิสตรีเป็นสิ่งที่น่ายกย่องโดยที่ให้โอกาสและให้สถานะต่อผู้หญิงในทุกๆด้านและได้ลบภาพจำที่เลวร้ายของตะวันตกต่ออิสลามในประเด็นสตรีได้อย่างน่าสนใจทีเดียว