ทุกข์ใหญ่ที่ไทยกำลังเผชิญ
สบาย สบาย สไตล์เกษม
เกษม อัชฌาสัย
ทุกข์ใหญ่ที่ไทยกำลังเผชิญ
ขณะนี้บ้านเราเกิดความทุกข์(หรือ”สภาวะที่ทนทานไม่ได้”)ใหญ่ในสองเรื่องคือ
๑ ทุกข์ว่า จะเกิดความรุนแรง ที่อาจเกิดการปะทะกัน ระหว่างฝ่ายชุมนุมเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย(หมายถึงฝ่ายรัฐบาล)
๒ ทุกข์เพราะทำมาหากินไม่ได้ หรือทำได้ แต่ไม่มั่นคงคล่องตัว เสี่ยงต่อความล่มจมและขาดแคลนอดอยาก เพราะต้องระวัง”โควิด 19”ที่ยังคงแพร่ระบาดรุนแรงในระดับโลก แม้ในเมืองไทยยังควบคุมเอาไว้ได้
ถามผู้ที่มีสติสัมปชัญญะว่า ทุกข์อันไหนสมควรเดินหน้าแก้ไขก่อนกัน ระหว่างข้อ ๑ กับข้อ ๒
ก็คงได้รับคำตอบว่า ทุกข์ข้อที่ ๒ สมควรจะได้รับการแก้ไขก่อน รอไม่ได้แล้ว เพราะหากมีการแพร่ระบาดรอบที่ ๒ ก็อาจเละเทะกันไปทั้งชาติ อย่างที่สหรัฐ อินเดียและบราซิล เป็นอยู่
ถ้ารับมือไม่ไหว บุคลากรทางการแพทย์ไม่พอ เตียงไม่พอ เวชภัณฑ์ไม่พอ ก็จะกลายเป็น”ทุกข์ของแผ่นดิน”โดยแท้
ส่วนทุกข์ข้อที่ ๑ นั้น อันที่จริงไม่น่าจะเกิดขึ้นในเวลานี้ เพราะไร้กาละเทศะ เป็นการซ้ำเติม ในช่วงบ้านเมืองกำลังเดือดร้อนจากโรคระบาด
นับเป็นการสร้างสร้างสถานการณ์ให้ยิ่งเลวร้าย แต่ในแง่ของผู้ดำเนินการอยู่เบื้องหลัง นับว่าเป็นโอกาสเหมาะที่สุด จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด แม้เป็น”ทุกข์เฉพาะกลุ่ม” แต่ชาวบ้านทั่วไปก็ต้องทุกข์ด้วย เพราะไม่ต้องการเห็นความวุ่นวาย เสียเลือดเนื้อ
แต่การแก้ไขทุกข์ข้อที่ ๒ ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ เพราะเป็นปัญหาระดับโลก ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน อย่างน้อยก็อีกราวๆสองปีข้างหน้า ซึ่งง่ายในการติดเชื้อ เพราะสามารถแพร่ระบาดถึงกันได้ด้วยการเดินทาง ที่บางครั้งมิอาจหลีกเลี่ยง(เมื่อจำเป็น) ทุกชาติสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดระบาดซ้ำสอง ซ้ำสามได้ตลอด
ที่สำคัญมากก็คือผลมีกระทบ ทำให้เศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง ทั้งในระดับโลกและระดับชาติ
สำหรับระดับชาตินั้น รายงาน”ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี ๒๕๖๓”ของธนาคารแห่งประเทไทยระบุว่า “เศรษฐกิจชะลอตัวต่ำกว่าที่คาดและต่ำกว่าศักยภาพ”โดยมีปัจจัยกระทบที่สำคัญอันดับแรกคือการระบาดของไวรัส”โควิด 19”ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆปิดกิจการหรือลดขนาดลง
ปัจจัยกระทบอันดับต่อมา ก็คือภัยแล้งและพรบ.งบประมาณล่าช้า
นอกจากนั้นยังมีปัจจัยเชิงโครงสร้างที่เรื้อรังมานาน อาทิ ความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออก ปัจจัยความเหลื่อมล้ำและการกระจายรายได้ของครัวเรือน ปัจจัยหนี้สินครัวเรือน ซึ่งเกี่ยวโยงกัน ไม่อาจใช้มาตรการการคลังระยะสั้นๆแก้ไขได้ ดังนั้น เมื่อมองไปแล้ว จึงเกิดความอับจนทางปัญญา อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์ เช่นศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ ถึงกับออกมาพูดว่า “ใครก็ตามที่เข้ามาบริหารเศรษฐกิจตอนนี้ คือ”ซวย” ถ้าจัดการวิกฤติให้เสร็จสิ้นภายใน๓ ปีได้ ก็ถือว่าโชคดี แต่ผมคิดว่ามันเกิน ๕ ปี แล้วถ้าเกิน ๕ ปี เศรษฐกิจมันจะทรุดลงไปอีกมาก….”
สรุปว่า ไม่มีใครกล้าออกมาเสนอแนะทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม ในช่วง”โควิด 19”แพร่ระบาด
รัฐบาลทำได้ ก็แค่ด้วยการใช้มาตรการการคลังออกมาบรรเทา โดยการแจกเงิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จนในที่สุด เมื่อเงินหมดแล้ว จะทำอย่างไรต่อ ก็ยังไม่เห็นมีใครเสนอแนะวิธีแก้ไข
ถือได้ว่าเป็น”การรักษาโรคตามอาการ”อย่างที่บรรดานายแพทย์ตามโรงพยาบาลกระทำกับคนไข้หนัก รักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น มีแต่ทรงกับทรุด โดยมีความตายรออยู่เบื้องหน้า
อย่างไรก็อย่างนั้น
ย้อนกลับไปพูดถึงทุกข์ข้อที่ ๑ ถ้ามองจากทัศนะนักส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย ก็คงจะบอกว่า เหมาะสมแล้วที่จะดำเนินการเรียกร้องในตอนนี้ เพราะ”จุดไฟติด”แล้ว หลังจากแยกกันชุมนุมที่นั่นที่นี่ซักซ้อมความพรักพร้อมกันหลายหน
นอกจากนั้น รัฐบาลก็อ่อนแอ จึงควรจะเติมเชื้อไฟต่อ โหมให้แรงขึ้น
เหตุผลที่รัฐบาลที่อ่อนแอก็เพราะเล่นพรรคเล่นพวก ปล่อยให้ฉ้อราษฎร์บังหลวง ไร้ความรู้ความเข้าใจที่ดีพอในการบริหารเศรษฐกิจ และถูกตั้งข้อหาว่า”สืบทอดอำนาจเผด็จการ”
แม้ปรับตัวจากระบอบเผด็จการมาแล้ว แต่ก็ไม่สามารถใช้ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อเกิดปัญหาในการบริหารทั้งในคณะรัฐบาล รัฐสภาและกระบวนการยุติธรรม
การชุมนุมใหญ่จึงมีขึ้น เพื่อเรียกร้องหลักๆสามข้อ คือ ๑ ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ๒ ยุบสภาและ ๓ เลิกคุกคามประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ท่าพระจันทร์)ในวันที่ ๑๙ กันยายนที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นความหวังของผู้จัดชุมนุมว่า ผู้เข้าร่วมชุมนุมจะมากกว่าที่เคยมีมาและก็คาดการณ์กันว่า จะมีเสียงเรียกร้องอื่นๆ ในประเด็นแยกย่อยอีกมาก ตามที่เคยเรียกร้องมาแล้ว เพื่อผนึกพลังหลายฝ่ายเข้าด้วยกัน ดูหมือนว่าอยากจะให้เกิดการปฏิวัติประชาชนโน่นเลย
งานนี้ว่ากันว่า อาจจบลงด้วยรัฐประหาร หากเกิดความรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้… นี่ว่ากันในขั้นสุดยอด
การชุมนุมใหญ่คราวนี้ จะมีใครสนับสนุนบ้างนั้น ไม่อาจระบุอย่างสะเปะสะปะ แต่ก็รู้เป็นที่ร็กันทั่วไปว่าทางกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ สนับสนุนการชุมนุมนี้ เช่นเดียวกันกับที่กระทำในฮ่องกงมาแล้ว
สหรัฐนั้นสนับสนุนการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาพ ของประชาชาติต่างๆมาโดยตลอด ด้วยถือเป็นหนึ่งของนโยบายในการแผ่ขยายอำนาจบารมี มาแต่ไหนแต่ไร
จึงจะไม่แปลกใจ หากสถานทูตอเมริกันจะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทางใดทางหนึ่ง ในการชุมนุมนี้ แม้มิใช่โดยตรง โดยมุ่งหวังที่จะบังเกิดประโยชน์แก่สหรัฐ ให้ได้เก็บเกี่ยวต่อไปในอนาคต
การแก้ทุกข์ทั้งสองประการนั้น สมควรจะทำอย่างไร
พุทธศาสนาสอน ให้แก้ที่เหตุ ถ้าต้องอธิบาย ซึ่งก็ต้องเขียนอีกเยอะ เนื้อที่แค่นี้ไม่พอ โดยเฉพาะทุกข์ข้อที่ ๒ นั้น ต้องเขียนถึงขั้นปฏิวัติโลก
แต่สำหรับความทุกข์ข้อที่ ๑ ซึ่งเรียกร้องเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ถามตรง ๆ มายังทุกฝ่ายว่า พร้อมจะแก้ไขความผิดพลาดของตนก่อนหรือไม่
หากต่างฝ่ายต่างดันทุรัง ก่อเหตุแห่งทุกข์เพิ่ม มุ่งแก้ไขปัญหาแบบเอาแต่ใจ ก็จะยิ่งพัลวันพัลเก ไม่มีที่สิ้นสุด อาจบางทีถึงเสียเลือดเนื้อ อย่างเคยเกิดมาแล้ว
อย่างนี้ แก้ไขปัญหาไม่ได้หรอกครับ