เสียงเฮ ออกมาก้องหอพักนิสิตชาย
เมื่อ ๕๐ ปีก่อน
เสียงเฮ ออกมาก้องหอพักนิสิตชาย ทุกหอ ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลังจากที่เกษตรไปแข่งรักบี้ที่สนามกีฬาแห่งชาติ แพ้หรือชนะก็ไม่เป็นไร จุดที่สำคัญคือข่าวกีฬาของสถานีวิทยุยานเกราะ ประมาณหลัง ๒ ทุ่ม ที่ชมเชยทีมเชียร์เกษตรทุกครั้งที่มีการแข่งขัน ทำให้พวกเรานิสิตไม่พลาดที่จะไปเชียร์รักบี้ โดยองค์การนิสิต จัดเหมารถบัสออกจากเกษตรไปครั้งละเป็นสิบๆ หรือหลายสิบคัน
สมัยนั้น พวกเราเป็นคนบ้านนอก เวลาจะไปไหน เราจะบอกว่า “ เข้ากรุงเทพฯ” แม้แต่ที่สะพานควาย ก็คือกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นย่านที่เราคุ้นเคยที่สุด ผมเข้าใจเอาเองว่า ควาย เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นบ้านนอกโดยเฉพาะ เกษตร เพราะควายเป็นแรงงานสำคัญในการทำไร่ไถนาในสมัยนั้น หัวเข็มขัดของนิสิตชายที่เป็นโลหะรมควัน มีคำว่า บางเขน นั้น จะมีรูปหัวควายประดับด้วย โดยเหตุนี้ เมื่อเราขึ้นรถบัสหลายๆคันกลับบางเขนหลังจากเชียร์รักบี้แล้ว เพลง “ต้อนกระบือ” ดังกระหึ่มออกมาจากรถทุกคัน “ ค่ำแล้วควาย กลับคอกที เร็วเถิดสิเฮ้ยอย่าเชือน เร็วเถิดสิเฮ้ยอย่าช้า กลับคืนหาแหล่งควายเอย กลับคืนหาแหล่งควายเอย”
เป็นเกษตร เราจะแต่งตัวสำอางไม่ได้ ต้องบึกบึน เพราะมีวิชาเรียนที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับพืช สัตว์ และดินทราย จึงนุ่งกางเกงยีนกันเป็นส่วนใหญ่ ในสมัยนั้น ถ้ามีใครใส่เสื้อเชิร์ตแขนสั้นสีขาว แต่นุ่งกางเกงยีน จะสามารถเดาได้ว่าเขาเป็นนิสิตเกษตร ยีนจะมีอยู่ ๒ ยี่ห้อที่โด่งดังคือ Wrangler และ Lee ฉะนั้น ขณะที่ไปดูกีฬา เห็นผู้ชายนุ่งกางเกงยีน เดินเป็นกลุ่มๆ ไม่ใช่ใครอื่น นั่นแหละคือพวกเรา นิสิตเกษตรจากบางเขน
ถูกต้องแล้วครับ ตอนนั้นเป็นสมัยเมื่อ ๕๐ กว่าปีมาแล้ว หรือระหว่าง ปี ๒๕๐๗-๒๕๑๑ ที่ผมเรียนเกษตร และได้อยู่หอพักกับเพื่อนๆตลอดทั้ง ๔ ปี โดยอยู่ที่ ตึก ๓ ซึ่งเป็นหอพักหนึ่งในหลายๆหอ ตั้งรวมกันที่บริเวณหนึ่ง ซึ่งเป็นบริเวณหอชาย บริเวณนี้ นิสิตหญิงห้ามผ่าน โดยที่ผู้หญิงเขาห้ามกันเอง ยกเว้นว่า มีกิจกรรมสังสรรค์หอ แล้วเชิญนิสิตหญิงมาร่วมงาน ซึ่งถ้ามีการเชิญนิสิตหญิงมาเยี่ยมหอแล้ว พวกนิสิตชายจะต้องแต่งตัวให้เรียบร้อย จัดสถานที่ให้สวยงาม จะให้เหมือนทุกๆวันคงไม่ได้
คำนึงถึงนิสิตหญิงในสมัยนั้น ในวัยหนุ่มสาว มีจับคู่กันหลายคู่ เป็นช่วงชีวิตที่น่าอิจฉามากๆ ตอนเย็น ฝ่ายชายจะขี่จักรยานไปรับคู่ของตนที่หน้าหอหญิง (คงมีที่นั่งรอ ผมไม่เคยไปสักที ) แล้วก็ซ้อนท้ายกันไปกินอาหารที่โรงอาหาร หรือข้างนอก เรียกเพื่อนๆผู้ชายที่มีคู่นั่งซ้อนท้ายว่า”มีตีน” ตรงข้ามกับคนที่ไม่มีตีน คือไม่มีคู่ เพื่อนๆหลายคน รักกันตั้งแต่สมัยเรียน แต่งงานอยู่กินกันมา ต่างก็เจริญก้าวหน้าเป็นอย่างดี ผิดกับพวกเที่ยวเตร่ ขี้เมา ไม่มีใครคอยฉุด บางคนก็ไปไกลมากเกินไปจนเดี๋ยวนี้ไม่สามารถจะกลับมาแล้ว
สำหรับเพื่อนผู้ชายที่พยายามจะมีคู่ แต่เขาไม่เล่นด้วย ต้องกลับหอแต่เดียวดาย แบบนี้เขาเรียกว่า “บุ๋ย” ผมเองก็เคย บุ๋ย อยู่เหมือนกัน แต่เพียงเล็กน้อย ไม่ได้ถลำไปมาก มีเพื่อนผมคนหนึ่ง อยู่หอเดียวกันคือ ตึก ๓ และอยู่ในช่วงปีหนึ่งด้วยกัน เขามาปรึกษากับเพื่อนๆที่หอว่าชอบเพื่อนผู้หญิงอยู่คนหนึ่ง แต่ไม่กล้าจีบ ความจริงเพื่อนผมก็ตาแหลม เพราะเวลานี้ เพื่อนผู้หญิงคนนี้ ประสบความสำเร็จในชีวิต มีงานทำอย่างมีเกียรติและมีฐานะดี เพื่อนๆแนะนำให้เขียนจดหมายไปหา ปรากฏว่าเขาเชื่อเพื่อน เขียนจดหมายขึ้นมา ๑ ฉบับ พอดีเจอกับคนที่หมายปองที่หน้าประตูใหญ่ หน้าหอประชุมเกษตร ก็รีบยื่นจดหมายให้ บอกว่า “เอาจดหมายไปอ่านเล่นนะครับ” พอดีตรงนั้นก็มีนิสิตซึ่งเป็นเพื่อนกัน ผ่านไปมาได้ยิน เลยเอามาล้อที่หอว่า “เอาจดหมายไปอ่านเล่นนะครับ” จนเป็นเรื่องเฮฮา ล้อกันเองจนโด่งดังในระหว่างรุ่นนี้ จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังล้อกันอยู่ ซึ่งทั้งคู่ ต่างก็ใช้ชีวิตของตนเอง เป็นปู่ย่าตายายกันไปเรียบร้อย เพื่อนผู้หญิงยังมาคุยให้ฟังว่า สมัยนั้น ฉันเกลียดมัน เพราะขี่รถไปไหนไปไหน ก็มีคนเรียกฉัน เป็นชื่อเพื่อนคนนั้น ไอ้เพื่อนอีกคน ก็ถามเจ้าตัวเมื่อไม่นานมานี้ว่า “ตอนนั้นเขียนจดหมาย เขียนว่ายังไงวะ” แต่ตอนนี้ ทั้งคู่ก็เป็นเพื่อนแก๊งเดียวกันไปแล้ว แบบนี้เรียกว่า “บุ๋ย ระดับรุ่น” เลย
การที่จะจีบผู้หญิงโดยเฉพาะที่เป็นเพื่อนๆหรือรุ่นน้องนี้ สำหรับบางคนยากลำบาก เขาไม่กล้าเลย เพื่อนๆก็อุตส่าห์เชียร์ ให้เขาไปยืนคอยที่โรงอาหาร พอเพื่อนผู้หญิงมา เขาก็รีบไปทัก ถามว่า”มากินข้าวหรือครับ” ผู้หญิงเห็นว่าเพื่อนคุยด้วย ก็ตอบว่า “ใช่จ้ะ” เขาเหงื่อแตกเต็มหน้าผาก ไม่รู้จะคุยอะไรต่อ ก็บอกว่า “ผมกลับนะครับ” จบ
สำหรับคำพูดอื่นๆที่สนุกๆ พวกเราก็บัญญัติศัพท์ ขึ้นมาใช้เอง บางคำได้แพร่หลายออกไป เช่น คำว่า ไหนๆก็ไหนๆแล้ว เดี๋ยวนี้ได้ยินมีคนพูดกันทั่วๆไป ซึ่งแท้ที่จริงเราเป็นคนคิดขึ้น อีกคำหนึ่งซึ่งไม่มีพูดนัก คือ “มึงจะมารู้กูเรอะ” สมมติว่ามีคนถามว่า กำลังจะไปไหน เราก็ตอบว่า มึงจะมารู้กูเรอะ หรือความหมายก็เหมือนกับที่ถามว่า “กำลังจะไปไหน” ตอบ “เปล่า! ว่าจะไปกินข้าว” (ปฏิเสธจนติดปาก)
เมื่อเรียนกันมาในระยะใกล้จะจบแล้ว พวกเราที่อยู่ในหอเดียวกันก็สนิทกันมากขึ้น สมัยนั้น มีสโมสรในระหว่างหมู่นิสิตหลายสโมสร เช่น สโมสรชาวใต้ สโมสรชาวอีสาน และสโมสรตามวิชาหลักและกิจกรรม ที่เรียน แต่ละสโมสรมีการหารายได้ โดยการจัดฉายภาพยนต์รอบพิเศษ ประมาณ ๖ โมงเช้า ตามโรงภาพยนต์ต่างๆ ภาพยนตร์ของเอลวิส เพรสลี่ ก็มีการจัดอยู่ในลักษณะนี้ด้วย การขายบัตรก็จะไปเคาะประตูแต่ละห้องที่หอ ซึ่งพอมีหลายสโมสรหลายกิจกรรม การเคาะประตูขายบัตรจึงมีบ่อย แทบทุกคืน โดยเฉพาะในฤดูแล้ง เพื่อนผมที่อยู่ห้องข้างๆผมคนหนึ่ง ได้เขียนป้ายแปะไว้หน้าห้องเลยว่า งดรับซื้อบัตรทุกชนิด เขาให้เหตุผลว่า พ่อแม่ส่งเงินให้มาเรียน ต้องทำงานลำบากตรากตรำ หรือทำนาหาเลี้ยงชีพ กว่าจะได้เงินมาให้ลูกเรียนหนังสือ เพื่อนผมอีกคน “เดช” ปิ๊งไอเดียขึ้นมาเลยตั้งให้เพื่อนคนนั้นเป็นกำนัน บ้าน โคกขี้แห้ง พวกเราเป็นลูกบ้าน ต้องปฏิบัติตามกำนันสั่ง คืองดซื้อบัตรทุกชนิด ความจริงเราก็ไม่ได้ซื้ออยู่แล้ว เพราะได้เงินมาจากบ้าน ก็ใช้ในเรื่องไม่เป็นเรื่อง หมดทุกที
สมัยที่สถานีขนส่งสายเหนือ หมอชิต มีร้านขายอาหารเครื่องดื่มเป็นห้องแอร์แห่งแรก ที่อื่นยังไม่มี เพื่อนผมคนหนึ่ง ได้รับธนานัติเงินจากบ้าน จึงชวนเพื่อนอีก ๒ คนไปดื่มเบียร์ กันที่ห้องแอร์ดังกล่าว คงดื่มกันมากพอสมควร เกิดคิดไอเดียขึ้นรถไปเชียงใหม่กัน ๓ คน สมัยนั้น ยังเป็นรถโดยสารธรรมดา นั่งไปจนถึงนครสวรรค์ คงจะสร่างเมา สังสัยว่าขึ้นมาได้ยังไง จะกลับก็กลับไม่ได้ ต้องนั่งไปให้ถึงเชียงใหม่ก่อน แล้วถึงขึ้นรถกลับ
ปัจจุบันนี้ เพื่อนๆทุกคน ต่างก็โลดแล่นอยู่ในวงจรชีวิตตามพรหมลิขิต และที่ตนเองเลือก เพื่อนๆเกือบทุกคนได้ผ่านช่วงที่สำคัญๆในชีวิตการทำงาน และความเป็นอยู่ ผมดีใจที่เพื่อนๆยังสดชื่น แข็งแรง และได้พบเฮฮากันบ่อยๆ โดยเฉพาะได้เล่าความหลังที่สนุกๆ ขอให้เพื่อนๆทุกคนอายุยืนๆ รวมทั้งผมด้วย
บู๊ คนเคยหนุ่ม