jos55 instaslot88 Pusat Togel Online คำสั่งเสียของหลวงพ่อ - INEWHORIZON

INEWHORIZON

ขอบฟ้าใหม่

คำสั่งเสียของหลวงพ่อ

คำสั่งเสียของหลวงพ่อ

พระไพศาล วิสาโล

แสดงธรรมก่อนฉันเช้า  วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๗  ณ วัดป่าสุคะโต

การเคลื่อนย้ายสรีระของหลวงพ่อ จากหน้ากุฏิไปศาลาใหญ่บ่ายโมงวันนี้ เป็นไปตามที่ท่านได้สั่งไว้ในพินัยกรรมของท่าน ว่าให้ตั้งสรีระของท่านไว้ที่กุฏิ ๕-๗ วัน หลังจากนั้นค่อยเคลื่อนไปศาลาใหญ่ แล้วจึงเคลื่อนย้ายสรีระท่านไปที่เมรุ ทั้งหมดนี้ใช้เวลาไม่เกิน ๑๕ วัน

หลวงพ่อได้กำหนดและออกแบบพิธีกรรมสำหรับการปลงสรีระของท่านไว้อย่างชัดเจน ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ต่อลูกศิษย์ลูกหาทั้งสิ้น ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดคำถามว่าจะทำอย่างไรดี   ซึ่งลูกศิษย์แต่ละคนก็คงจะมีความเห็นแตกต่างกันไป  กว่าจะตกลงกันได้ก็คงต้องใช้เวลา หรืออาจจะตกลงกันไม่ได้ด้วยซ้ำ หลวงพ่อช่วยลูกศิษย์ลูกหาไว้มากทีเดียว โดยระบุไว้ชัดเจนว่าจะให้ทำอย่างไรกับสรีระของท่านเมื่อสิ้นลมแล้ว

นอกจากระบุชัดเจนแล้ว ท่านยังกำชับให้การจัดการสรีระของท่านเป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่มีพิธีรีตองมาก อย่างเช่น มีแค่เฉพาะพิธีกรรมตอนเย็น คือการสวดมนต์แปล ไม่ใช่สวดโดยที่คนฟังและคนสวดไม่รู้ความหมาย มีการสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแปล และสวดอภิธรรมแปล พวกเราที่เคยไปงานศพ อาจจะเคยฟังพระสวดอภิธรรมมาร้อยครั้งพันจบ แต่ไม่รู้ความหมายเลย แต่ใครมางานหลวงพ่อก็ได้รู้ความหมาย แม้อาจยังไม่เข้าใจชัด ว่าอภิธรรมซึ่งเป็นเรื่องระดับปรมัตถ์ มีความหมายลึกซึ้งแค่ไหน ก็ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยก็รู้ว่าคำบาลีที่พระสวดนั้นแปลว่าอะไร อันนี้คือศาสนพิธีระหว่างที่รอการปลงสรีระของท่าน

ครั้นถึงวันปลงสรีระคือวันที่ ๖ กันยายน พิธีกรรมก็ไม่มีอะไรยาก ง่าย ๆ เหมือนกันคือ แสดงธรรมและสวดมนต์ ก่อนสวดก็แสดงธรรมครึ่งชั่วโมง สวดมนต์ครึ่งชั่วโมง แล้วก็ถวายเพลิงสรีระท่านเลย ไม่มีอะไรมากกว่านั้น ไม่มีพิธีทอดผ้าบังสุกุล ท่านกำชับไว้เลยว่าห้ามมี คงเพราะท่านตระหนักดีว่าพิธีทอดผ้าบังสุกุลเดี๋ยวนี้เฟ้อมาก แต่ก่อนทอดผ้าแค่ไตรเดียว แต่เดี๋ยวนี้มีการทอดผ้ากันเป็นสิบเป็นร้อยไตร แต่เดิมทอดผ้าบังสุกุลไม่กี่ไตร แต่ว่าพอเชิญแขกผู้มีเกียรติมาทอดผ้าแล้ว ก็เกรงว่าคนที่ไม่ได้รับเชิญจะน้อยใจ จะรู้สึกไม่ดีกับเจ้าภาพ จึงเพิ่มเป็นสิบแล้วก็ยี่สิบ ตอนหลังก็เป็นร้อย โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ตายเป็นข้าราชการหรือคนมีชื่อเสียง เดี๋ยวนี้ทอดผ้ากันเป็นร้อยแล้ว และไม่ใช่จำเพาะกรณีที่เป็นข้าราชการเท่านั้นนะ งานศพของชาวบ้านธรรมดา เจ้าภาพก็อยากจะทำแบบนั้นบ้าง ทำตามแบบข้าราชการ

ที่ภูหลงเดือนก่อนมีงานศพ ก็มีการทอดผ้าบังสุกุลเป็นร้อยเหมือนกัน อันนี้เข้าใจว่าเป็นการให้เกียรติแขกที่มาร่วมงาน เพราะบางทีก็มีนายกเทศมนตรี  มีผู้อำนวยการ มีครู  แต่ทำไปทำมากลายเป็นการทำเพื่อหน้าตาหรือเกียรติยศของเจ้าภาพมากกว่าที่จะทำเพื่อเกียรติของผู้ตาย เพราะผู้ตายก็คงไม่ปรารถนาอย่างนั้น เดี๋ยวนี้แม้แต่ภูหลงซึ่งอยู่ห่างไกล ก็มีพิธีกรรมซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะไปลอกเลียนมาจากในเมือง ลอกเลียนมาจากข้าราชการ ซึ่งมักทำงานศพเพื่อหน้าตาของเจ้าภาพมากกว่า

แต่พิธีกรรมของหลวงพ่อที่จะให้ทำวันที่ ๖ กันยายน รวมทั้งวันอื่น ๆ ก่อนหน้านั้นไม่มีอะไรมาก มีแค่ ๓ ขั้นตอนเท่านั้น คงมีญาติโยมหลายคนคิดว่าต้องมีพิธีกรรมมากกว่านี้จึงจะสมเกียรติหลวงพ่อ แต่ที่จริงแล้วถ้าจะให้สมเกียรติหลวงพ่อ ก็ไม่ควรไปเน้นที่พิธีกรรมหรือศาสนพิธี แต่ต้องกลับมาให้ความสำคัญกับศาสนธรรม อันนี้หลวงพ่อเขียนไว้ในพินัยกรรมเหมือนกันว่า ศาสนพิธีให้เป็นไปอย่างเรียบง่าย แต่ให้ความสำคัญกับศาสนธรรมเต็มที่

ถ้าจะให้เกียรติหลวงพ่อ อยากแสดงความเคารพหลวงพ่ออย่างแท้จริง อย่าไปเน้นเรื่องศาสนพิธี ให้มาเน้นศาสนธรรม  ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อตนเองจะได้ประโยชน์จากงานของหลวงพ่ออย่างเต็มที่  อย่างไรก็ตาม ศิษยานุศิษย์ก็คงอยากทำอะไรเพื่อหลวงพ่อ หลายท่านอยากจะพิมพ์หนังสือ หลายท่านก็ขอพิมพ์ภาพของหลวงพ่อ  ทั้งนี้เพราะอยากมีส่วนในการทำบุญครั้งนี้ แต่ที่จริงแล้วหลวงพ่อท่านไม่ได้ต้องการบุญแล้ว งานศพส่วนใหญ่จะมีพิธีการทำบุญ บำเพ็ญทักษิณานุปาทาน  มีการถวายสังฆทาน ทั้งนี้เพื่ออุทิศบุญให้แก่ผู้ล่วงลับ แต่หลวงพ่อท่านไม่ปรารถนาแล้ว ท่านไปพ้นเรื่องบุญแล้ว คนที่ต้องการบุญคือพวกเราต่างหาก และที่ต้องการมากกว่านั้นคือกุศล

มาพิจารณาดูแล้ว หลวงพ่อท่านช่วยเหลือลูกศิษย์ลูกหามาก เมื่อจากไปแล้วก็ไม่อยากให้ท่านเป็นภาระของพวกเรา ท่านจึงระบุเอาไว้หลายอย่างทั้งในพินัยกรรมและบันทึก ที่จริงไม่ใช่เฉพาะเรื่องงานศพ ท่านยังระบุอีกว่า ก่อนที่ท่านมรณภาพ ช่วงที่ท่านอาพาธอยู่ ขออย่าให้ทำอะไรกับท่านบ้างในยามที่ท่านไม่สามารถตัดสินใจได้ เช่นห้ามปั๊มหัวใจ ห้ามผ่าตัดใหญ่ ห้ามใช้เครื่องช่วยหายใจหากว่าท่านหายใจด้วยตัวเองไม่ได้ ท่านระบุเอาไว้ชัดเจนมาก ซึ่งช่วยลดปัญหาความขัดแย้งของศิษยานุศิษย์ ว่าจะทำอย่างไรดี มันเคยเป็นอย่างนี้มาแล้วในกรณีของครูบาอาจารย์หลายท่าน พออาพาธหนักจนไม่รู้ตัว  ลูกศิษย์ลูกหาก็พากันทำทุกอย่างเพื่อยื้อชีวิตของท่านเอาไว้ ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานและสิ้นเปลืองเป็นอย่างยิ่ง เป็นการส่งเสริมค่านิยมยื้อชีวิตหนีความตาย ทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งที่ไม่มีใครหนีพ้น

หลวงพ่อทำเป็นแบบอย่างให้แก่พวกเรา ไม่ว่าจะเป็นพระหรือญาติโยม สำหรับคนทั่วไปถ้าไม่ระบุเรื่องนี้เอาไว้ก็อาจจะมีปัญหาได้ เช่นเวลาเจ็บป่วยไม่สามารถที่จะตัดสินใจอะไรได้ ลูกหลานก็จะเถียงกันว่าจะทำอย่างไรดี จะยื้อหรือไม่ยื้อ และส่วนใหญ่คะแนนก็จะเทไปทางยื้อเอาไว้ ส่วนหนึ่งก็ไม่ได้ทำเพื่อผู้ป่วยโดยตรง แต่ทำเพื่อลดความรู้สึกผิดของลูกหลานที่ไม่ค่อยดูแลท่านตอนที่ท่านยังปกติอยู่  พอท่านป่วยหนักก็อยากจะแสดงความกตัญญูต่อท่าน บอกหมอว่าทำเต็มที่เลยนะ จ่ายเท่าไหร่ไม่ว่า หลายคนทำเช่นนี้เพราะเชื่อว่านี่เป็นการแสดงความกตัญญู แต่อันที่จริงที่ทำอย่างนี้เพราะต้องการลบความรู้สึกผิดของตัวเองที่ไม่ค่อยมาดูแลท่านเลย กลายเป็นว่าการกระทำกับคนป่วย ไม่ใช่เพราะประโยชน์ของผู้ป่วย แต่ทำเพื่อตัวเองมากกว่า เพื่อความสบายใจของตนเอง และเพื่อไม่ให้ใครต่อว่าว่าเป็นลูกหลานอกตัญญู ทำไมไม่ช่วยพ่อแม่ให้เต็มที่  ทำไมไม่ยื้อชีวิตท่านเอาไว้

แต่ถ้าระบุไว้ชัดเจนแบบนี้ก็หมดปัญหาที่จะถกเถียงกัน ยิ่งถ้าระบุไว้ด้วยว่าตายแล้วจะให้จัดงานศพอย่างไร  จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ยังอยู่ ไม่ต้องทะเลาะกันว่าจะทำอย่างไรให้สมเกียรติผู้ตาย เพราะพอพูดถึงคำว่าสมเกียรติ ก็มักจะหมายถึงการทำให้ยิ่งใหญ่ มีพิธีการมากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น  และเสียเงินมากขึ้น กลายเป็นความฟุ้งเฟ้อและห่างไกลศาสนธรรมไป

ขอให้พวกเราถือเอาหลวงพ่อเป็นแบบอย่าง และเตรียมตัวไว้แต่เนิ่น ๆ จะได้ไม่เป็นภาระกับลูกหลาน ในยามที่ต้องดูแลเรายามป่วยหนักหรือจัดงานศพให้เราเมื่อสิ้นลม

Facebook Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *