ลองเดากันว่าทำไม”มหาธีร์”ลาออก
สบาย สบาย สไตล์เกษม
เกษม อัชฌาสัย
ลองเดากันว่าทำไม”มหาธีร์”ลาออก
เป็นงง สิครับ ที่จู่ๆ ดร.มหาธีร์ โมฮามัด พลันส่งจดหมาย ยื่นถวายการลาออกจากตำแหน่งนายรัฐมนตรีมาเลเซียต่อ”ยังดิ เปอร์ตวน อากงที่ ๑๕” พระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้
เมื่อทรงรับใบลาแล้ว ก็ทรงเรียกดร.มหาธีร์เข้าเฝ้า ก็คงจะทรงซัก ถามไถ่รายละเอียด ถึงเหตุผลในการลาออก แต่แล้วกลับแต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไปก่อน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ท่ามกลางเสียงคาดการณ์ว่า เขาจะได้รับการแต่งตั้งขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกจนครบเทอม
ส่วนตอนนี้(๒๖กพ.) ยังคงทรงอยู่ระหว่างการเชิญ ส.ส. จำนวน ๒๒๒ คนไปสัมภาษณ์ ซักถามความเห็นทีละคน(เป็นการ”ซาวเสียง”)อยู่ว่า สมควรจะให้ใคร ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องกระทำด้วยการโหวตด้วยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร(หรือ “เดวัน รักยัต”) แต่หากไม่ลงตัว ทรงเห็นว่า ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มั่นคงได้ ก็จะต้องทรงยุบสภา เพื่อเลือกตั้งทั่วไปกันใหม่ ทั้งนี้ เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญมาเลเซียกำหนดเอาไว้
ไม่มีข่าวเล็ดรอดออกมาว่า ทำไม ดร.มหาธีร์จึงได้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตกันว่า อาจเป็นเพราะ
- ดร.มหาธีร์หลีกเลี่ยง ไม่ต้องส่งมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ให้”อันวาร์ อิบรอฮีม”ประธานพรรค”พีเคอาร์”(หรือ People’s Justice Party) ตามที่สัญญาไว้เมื่อบริหารประเทศไปได้ระยะหนึ่ง (โดยไม่ระบุว่าจะส่งมอบเมื่อไร) เพราะพรรค”เบอร์ซาตู”ที่เขาสังกัด ก็ถอนตัวออกจากกลุ่มพรรคพันธมิตร”ปากาตัน ฮาราปัน”แกนนำพรรคผสมหลายเช่นกัน และเพื่อให้โปร่งใสไปกว่านั้น ดร.มหาธีร์ได้ลาออกจากประธานพรรค”เบอร์ซาตู”ด้วย เพื่อบอกให้สาธารณะรู้ว่า ไม่มีตำแหน่งสำคัญในพรรคนี้แล้ว แม้เขาจะยังดำรงตำแหน่ง ส.ส.อยู่
- ในการนี้ “อันวาร์ อิบรอฮีม”กล่าวหาว่า บางคนในกลุ่มพรรค
พันธมิตรพรรค”ปากาตัน ฮาราปัน”ทรยศ”ซึ่งเขาคงจะหมายถึงบางคนในพรรค”เบอร์ซาตู”และบางคนในพรรคของเขาเอง(พีเคอาร์) หักหลังเขา ด้วยการถอนตัวไปจำนวนหนึ่ง เพื่อออกไปจัดตั้งกลุ่มอิสระและคนเหล่านี้จะรวมหัวกันจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยไม่มีเขาร่วมอยู่ด้วย และในการจับกลุ่มใหม่นี้ จะมีพรรคฝ่ายค้านคือ”อัมโน”(พรรคใหญ่ที่สุด)กับพรรค”ปาส”(พรรคอิสลาม)เข้าร่วมด้วย
- การตั้งข้อสังเกตของ”อันวาร์ อิบรอฮีม”จะเป็นจริงหรือไม่ ยัง
ไม่มีใครยืนยันชัดเจน เพราะมีข่าวว่า ทางพรรคฝ่ายค้านอันได้แก่พรรค”อัมโน”และ”ปาส”จะร่วมก่อตั้งรัฐบาลโดยเอา”มหาธีร์”กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกนั้น ไม่น่าจะมีทางเป็นไปได้ เนื่องจากสองพรรคนี้ปฏิเสธไม่เอาด้วยแล้ว โดยให้เหตุผลว่า พรรคกิจประชาธิปไตยหรือ”ดีเอพี”Democratic Action Party (ซึ่งมีนายลิ่ม กวน เอ็ง เป็นประธาน)มีนโยบายต่อต้านชาวมาเลย์และศาสนาอิสลาม ถ้อยแถลงนี้แสดงว่า พรรคนี้ก็จะเข้าร่วมตั้งรัฐบาลใหม่ เช่นกัน
ที่น่าสังเกตก็คือ“อันวาร์ อิบรอฮีม”ไม่ได้ตำหนิ “มหาธีร์”อย่างเจาะจงในการนี้เลย
ก่อนหน้าที่จะเกิดอาการ”ช็อก”ทางการเมืองคราวนี้ รัฐบาลผสมหลายฝ่ายของมาเลเซียจัดตั้งขึ้นมา ก็ด้วยการร่วมมือของพรรคการเมืองต่างๆ ที่รวมหัวกันในนามกลุ่มการเมืองผสมหลายฝ่ายที่เรียกว่า”ปากาตัน ฮาราปัน”ชนะการเลือกตั้งปี ๒๐๑๘ สามารถทำลายการ”การผูกขาด”ของรัฐบาลของพรรคอัมโน ซึ่งมี”ราจิบ รอซัก”เป็นผู้นำได้สำเร็จ โดยเชิดชู”มหาธีร์ โมฮามัด”ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี หมายคลี่คลายคดีฉ้อราษฎร์บังหลวงกองทุน 1MDB อันอื้อฉาวซึ่ง”รอซัก”กับภรรยาเข้าไปเกี่ยวข้องเต็มๆ
กลุ่มการเมืองผสมหลายฝ่ายที่ว่านี้ประกอบไปด้วยพรรคการเมืองอันได้แก่ พรรคกิจประชาธิปไตย(ดีเอพี)นำโดยลิ่มกวนเอ็ง(๔๒ ที่นั่ง) พรรคพีเคอาร์ นำโดย”อันวาร์ อิบรอฮีม”(๓๙ ที่นั่ง) พรรคอะมานะห์ หรือ”เนชั่นนัล ทรัสต์”(๑๑ ที่นั่ง) และพรรค”เบอร์ซาตู”นำโดย”มหาธีร์”(๒๖ ที่นั่ง) รวม ๑๑๖ ที่นั่ง จากที่นั่งในสภาผู้แทน หรือ”เดวัน รักยัต”ทั้งหมด ๒๒๒ ที่นั่ง
จากการลาออกของ”มหาธีร์” ทางพรรค”เบอร์ซาตู”ก็ถอนตัวไป ๒๖ ที่นั่ง กับพรรคพีเคอาร์ ถอนตัวไปอีก ๑๑ ที่นั่ง ทำให้”ปากาตัน ฮาราปัน”มีเสียงไม่พอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้อีก
ในขณะที่การจัดตั้งรัฐบาลผสมใหม่ ที่จะนำเอา”มหาธีร์”กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไม่มีแนวโน้ม ที่จะเป็นไปได้
ดังนั้น หนทางออกทางเดียวก็คือยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่โดยพลันเท่านั้น
การเลือกตั้งครั้งใหม่ หากมีขึ้น “มหาธีร์”จะลงแข่งหรือไม่ ไม่มีใครรู้ใจเขา หากไม่ลง เพราะอายุปาเข้าไป ๙๕ ปีแล้ว ก็แสดงว่า เขาต้องการให้ชาวบ้านใช้สิทธิใช้เสียง หนุน”อันวาร์ อิบรอฮีม”อย่างเต็มที่ “อิบรอฮีม”จะได้ชนะอย่างเต็มภาคภูมิ เพราะภารกิจของ”มหาธีร์”เสร็จสิ้นลงแล้ว แม้ยังไม่สมบูรณ์นักในกรณี 1MDB
นี่กระมัง คือคำตอบที่ว่า ทำไมคราวนี้ “อันวาร์ อิบรอฮีม” จึงรูดซิบปากสนิท ไม่แตะต้อง”มหาธีร์”แม้แต่สักแอะเดียว