ทิศทางการประชุมเรื่องความมั่นคงระหว่างประเทศที่มอสโคว์
คอลัมน์ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ
ทหารประชาธิปไตย
ทิศทางการประชุมเรื่องความมั่นคงระหว่างประเทศที่มอสโคว์
ผู้เขียนได้รับเชิญจากกระทรวงกลาโหม รัสเซียให้เดินทางไปร่วมการประชุมนานาชาติเรื่องความมั่นคง ในวันที่ 15-16 สิงหาคม หลังจากนั้นก็ได้ไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น พระราชวังเครมลิน จัตุรัสแดง โบสถ์เซนต์เบซิล ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ได้ออกเดินหรือนั่งรถสาธารณะไปสัมผัสผู้คนในมอสโคว์ ซึ่งจะถ่ายทอดให้ฟังภายหลัง แต่ในส่วนแรกขอสรุป เรื่องราวเกี่ยวกับการประชุมดังต่อไปนี้
การประชุมนี้แบ่งเป็น Sessions จำนวน 4 กลุ่ม คือ
1.ความมั่นคงอาฟริกามี 2 คาบ
2.ความมั่นคงในเอเชียแปซิฟิก
3.ความมั่นคงในตะวันออกกลาง
จะเห็นได้ว่ารัสเซียให้ความสำคัญกับอาฟริกามาก จึงให้มีการประชุมถึง 2 คาบ
ส่วนเรื่องตะวันออกกลางก็จะเน้นเรื่องการช่วยเหลือซีเรียและการทำลายผู้ก่อการร้ายที่พยายามล้มล้างรัฐบาล โดยการสนับสนุนของตะวันตก
นอกจากนี้ก็ยังมีการบรรยายถึงความร่วมมือกับสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน โดยเฉพาะมีการพัฒนาอาวุธและแลกเปลี่ยนความรู้กับเทคโลยีระหว่างกัน
ด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค เน้นที่ปัญหาการแทรกแซงของตะวันตก ในการยุยงสนับสนุนให้ไต้หวันแบ่งแยกจากจีน
ทั้งนี้งานเริ่มโดยปูตินได้กล่าวเปิดโดยผ่านวิดีทัศน์ ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า ในมุมมองของปูตินเห็นว่าตะวันตกนั้นก้าวร้าวและรุกราน โดยอาศัยนาโต้ และมีสหรัฐฯอยู่เบื้องหลังในการยุยงให้ยุโรปเป็นศัตรูกับรัสเซีย ทั้งๆที่ควรจะเปิดประเทศค้าขายกัน และสร้างเอกภาพของยุโรป โดยไม่แบ่งแยกเป็นยุโรปตะวันตก-ตะวันออก
ต่อมารัฐมนตรีกลาโหม พลเอกชอยกู ก็เป็นผู้บรรยายหลักในงาน (Keynote) ซึ่งเน้นความก้าวร้าว ของนาโต้ และการขยายตัวรุกราน คุกคามรัสเซียมาตลอด นอกจากนี้ชอยกู ก็ได้พูดถึงความไร้เสถียรภาพในภูมิภาคต่างๆ จนนำมาสู่ความขัดแย้งวุ่นวายไปทั่วโลก
ลักษณะของการประชุมก็ได้จัดเป็นแบบ Symposium คือมีผู้ร่วมบรรยายในแต่ละเรื่องจากตัวแทนของประเทศต่างๆ และมีบางประเทศนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีกลาโหมของเขาก็จะมีการพูดถึงวิสัยทัศน์ของโลก และปัญหาในประเทศของตน อันเกิดจากแรงสั่นสะเทือนของการไร้เสถียรภาพ และการแทรกแซงจากภายนอกโดยบางท่าพูดผ่านวิดีทัศน์
ที่น่าสังเกต คือ สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม ต่างส่งตัวแทนจากกระทรวงป้องกันประเทศ(กลาโหม) มาประชุมอย่างคับคั่ง และนายกฯของเขาต่างก็พูดแสดงวิสัยทัศน์ผ่านวิดีทัศน์ โดยใช้ภาษาของตนเอง แต่ประเทศไทยแม้ได้รับเชิญก็มิได้ส่งตัวแทนหรือกำลังพลไปร่วมประชุมแม้แต่คนเดียว ส่วนผู้เขียนได้รับเชิญในฐานะนักวิชาการอิสระ จึงไม่ใช่ตัวแทนที่เป็นทางการของประเทศไทย
เรื่องนี้ผู้เขียนเองก็ไม่เข้าใจว่าเราคิดอย่างไร ถ้ากลัวว่าจะกลายเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อให้รัสเซีย แต่ก็รู้สึกสะดุดคือ ขนาดมิน อ่อง หล่าย ของเมียนมา ยังมีวิสัยทัศน์ที่น่าทึ่งอย่างยิ่งเลย ทั้งนี้เขาพูดในลักษณะเป็นกลางๆ หรือชักจูงให้ช่วยกันสร้างสันติภาพ ซึ่งน่าจะเป็นภาพลักษณ์ที่ดีสำหรับไทย นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงบทบาทในเวทีโลกอีกโสดหนึ่ง
ส่วนนายกรัฐมนตรีไทยก็ไม่ต้องห่วงภาษาอังกฤษ พูดภาษาไทยได้เต็มที่ไปเลย เขามีคนคอยแปลให้เสร็จไม่ต้องห่วงนี่ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่จะเห็นได้ว่า เราค่อนข้างคับแคบในเวทีโลก ไม่รู้จักฉกฉวยโอกาสแสดงท่าที จุดยืนและวิสัยทัศน์ หรือว่าเราจะขาดกึ๋นก็ไม่รู้นะครับ
ด้านสถานการณ์ในรัสเซีย ที่สะท้อนปฏิกิริยาจากประชาชนส่วนหนึ่งเท่าที่สัมผัสได้ ในมอสโคว์ ทั่วๆไปไม่ได้สนใจเหตุการณ์ในยูเครน แม้จะมีข่าวทุกวัน
แต่บางกลุ่มคนที่ขาดผลประโยชน์ ขาดรายได้ ตกงาน จากการถอนตัวของตะวันตก เช่น พวกที่เกี่ยวพันกับการท่องเที่ยว ที่คนมาเที่ยวจากยุโรปหายไป ร้านค้าช้อปปิ้งมอลล์ ร้านพวกแบรนด์เนมปิด ทำให้มอลล์ ศูนย์การค้าเงียบเหงาลง แต่มันก็อาจจะเกิดจากโควิดด้วยก็ได้ อย่างไรก็ตามศูนย์การค้าก็ยังคงมีคนคึกคักในหลายที่ แม้จะเป็นตอนค่ำวันจันทร์ก็ตาม ร้านเครื่องสำอาง ร้านเสื้อผ้า ภายในประเทศ ยังคงขายดี
ส่วนผู้สนับสนุนปูติน ส่วนใหญ่ จะเป็นพวกที่อยู่ในอุตสาหกรรมน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติ เกษตรกรต่างมีความสุขเพราะขายผลิตผลได้ราคาดี
ปัญหาของรัสเซียในขณะนี้คือการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากตะวันตก โดยเฉพาะเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ ที่รัสเซียยังล้าหลังอย่างมาก และพวกที่ทำงานกับโรงงานของตะวันตก ต่างตกงานเพราะการถอนตัวของตะวันตกที่ไม่เห็นด้วยกับปูตินในกรณียูเครน
แต่โดยทั่วไปเหตุการณ์ในมอสโคว์ยังคงสงบเรียบร้อย ไม่มีการเดินขบวนประท้วงใดๆทั้งสิ้น
ในระหว่างการประชุมผู้เขียนก็ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมนิทรรศการอาวุธ ยุทโธปกรณ์ต่างๆ ซึ่งมีหลายประเทศเข้าร่วม โดยเฉพาะรัฐต่างๆในรัสเซีย เช่น เชชเนีย และตาต้า
ส่วนต่างประเทศก็มีจีนเป็นขาใหญ่ ตามด้วยอิหร่าน ซึ่งแน่นอนไม่มีชาติตะวันตก และพันธมิตรส่งผลิตภัณฑ์มาร่วมงานเลย
บทสรุปการจัดงานครั้งนี้ ชัดเจนก็คือ รัสเซีย ต้องการประชาสัมพันธ์ประเทศ พร้อมๆไปกับการสร้าง และขยายพันธมิตรไปยังกลุ่มประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในอาฟริกา
ส่วนผลกระทบจากการแซงก์ชั่นเท่าที่สังเกตดูในเวลาอันสั้นคิดว่า ไม่กระทบมอสโคว์ นครหลวงของรัสเซียมากนัก และไม่รุนแรงเท่าโควิด ซึ่งในขณะนี้ชาวมอสโคว์ไม่มีใครใส่หน้ากากป้องกันโควิดกันแล้ว ผู้เขียนจึงกลายเป็นมนุษย์ประหลาดที่ใส่หน้ากากออกไปในที่สาธารณะ
จบรายงาน