การปรับดุลอำนาจใหม่ย่อมนำไปสู่การเผชิญหน้าที่อาจก่อให้เกิดความรุนแรง
การปรับดุลอำนาจใหม่ย่อมนำไปสู่การเผชิญหน้าที่อาจก่อให้เกิดความรุนแรง
โดย วอลแตร์
ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกาก็กลายเป็นผู้นำเดี่ยวภายหลังยุคสงครามเย็นระหว่างสองขั้วอำนาจ เป็นเวลาหลายทศวรรษ
แต่อะไรมีขึ้นย่อมมีลง อำนาจของสหรัฐฯเริ่มถดถอยลง และเริ่มถูกท้าทายอำนาจมากขึ้น โดยเฉพาะจากรัสเซียและจีน
ฉะนั้นจึงต้องหันมาดูพลังอำนาจของชาติที่ Defence Website ได้จัดอันดับไว้โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างเป็นองค์ประกอบ แต่ให้น้ำหนักมากที่อำนาจทางทหาร และการสนับสนุนจากพันธมิตร ซึ่งอาจจะไม่ได้วิเคราะห์ในรายละเอียดเพื่อจัดวางน้ำหนักที่เหมาะสมนัก
ทั้งนี้จะได้จัดวางเรียงอันดับไว้ 25 อันดับดังนี้
อันดับ ประเทศ อันดับ ประเทศ อันดับ ประเทศ
25 แคนนาดา 24 ไต้หวัน 23 อัลจีเรีย
22 โปแลนด์ 21 ออสเตรเลีย 20 เวียดนาม
19 สเปน 18 เกาหลีเหนือ 17 ปากีสถาน
16 อิสราเอล 15 อินโดนีเซีย 14 บราซิล
13 อิหร่าน 12 อียิปต์ 11 อิตาลี
10 เยอรมนี 9 ตุรกี 8 ญี่ปุ่น
7 เกาหลีใต้ 6 อังกฤษ 5 ฝรั่งเศส
4 อินเดีย 3 จีน 2 รัสเซีย
1 สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตามในการจัดอันดับเหล่านี้ก็มีการวิพากษ์ว่ายังไม่อาจถือเป็นข้อยุติได้ในการวิเคราะห์สภาพการรบจริงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น การเปรียบเทียบอันดับระหว่างอีหร่าน อันดับ 13 กับอิสราเอล อันดับ 16 นั้น หากพิจารณากำลังรบในภาพรวมอาจจะมองข้ามศักยภาพบางอย่างไป เช่น กำลังทางอากาศของอิสราเอล จากการฝึกฝนยาวนานถึง 5 รุ่น และเครื่องบินรบที่ทันสมัยจากการสนับสนุนของสหรัฐฯอย่างเต็มที่ ที่สำคัญอิสราเอลมีอาวุธนิวเคลียร์ ขณะที่อิหร่านยังไม่ปรากฏว่ามีหากอิสราเอลใช้กำลังทางอากาศโจมตีอย่างเฉียบพลันก็อาจทำลายกำลังทางอากาศและสิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารของอิหร่านให้เป็นอัมพาตโดยเฉียบพลันได้
อินเดียเป็นอีกตัวอย่างที่ถูกจัดอันดับ 4 เหนือกว่า อังกฤษ (6) และฝรั่งเศส (5) ซึ่งถ้าพิจารณาขีดความสามารถ ความทันสมัยของอาวุธ และการฝึกฝนแล้วย่อมไม่อาจนับได้ว่าอินเดียจะเหนือกว่าอังกฤษ และฝรั่งเศส ยิ่งถ้านับเอากำลังหนุนของนาโต้เข้าด้วยก็จะทำให้ความต่างศักย์นี้เปลี่ยนไปทันที
อนึ่งการจัดอันดับปากีสถาน(17) นั้นนับว่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเพราะปากีสถานแม้จะด้อยกว่าอินเดียโดยเฉพาะกำลังพล แต่ก็เป็นประเทศมุสลิมประเทศเดียวที่มีนิวเคลียร์ที่สามารถตอบโต้อินเดียได้อย่างเท่าเทียม
ประการสุดท้ายจากการที่กระทรวงกลาโหมรายงานต่อรัฐสภาว่า จีนเป็นประเทศที่มีกำลังทางเรือสูงที่สุดในโลก โดยนับจำนวนเรือ 7,716 ลำ ขณะที่สหรัฐฯมีกองเรือเพียง 415 ลำ แต่สหรัฐฯมีเรือบรรทุกเครื่องบินถึง 20 ลำ โดยจีนมีเพียง 1 ลำ และเตรียมประจำการอีก 1 เท่านั้น
แน่นอนกลาโหมก็เหมือนอีกหลายประเทศพยายามสร้างภาพให้ดูเหมือนว่าตนเองย้ำแย่ก็เพียงเพื่อหวังงบประมาณก้อนโตเท่านั้นเอ
ที่น่าสนใจคือการเพิ่มสมรรถนะของอาวุธต่างๆ เช่น กองเรือของสหรัฐฯเริ่มนำเอาขีปนาวุธที่เร็วกว่าเสียงมาติดตั้งในกองเรือของตน ในขณะที่มีอีก 3 ประเทศที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ เช่น รัสเซีย จีน และอินเดีย โดยเกาหลีเหนือก็กำลังพัฒนาในแนวนี้อยู่อีกไม่นานคงได้ประจำการ
เรื่องเครื่องบินรบสหรัฐฯมี F 35 และ F22 มาแทน F15 และ F16 แต่จีนก็พัฒนา J16 รัสเซียก็มี Su 57 แทน Su 35 ฝรั่งเศสพัฒนาเครื่องบินมิราจ 2000 เป็นราฟาเอล ส่วนเยอรมันและอังกฤษก็พัฒนาทอนาโดที่มีประสิทธิภาพ
แนวโน้มอย่างนี้แสดงถึงการเตรียมพร้อมทางการทหารเนื่องมาจากการปรับดุลแห่งอำนาจ จากการที่สหรัฐฯเคยเป็นผู้นำเดี่ยวมาสู่ระบบที่อาจมีผู้นำร่วมหรือตัวถ่วงดุลที่วัดกันด้วยกำลังทหารและอำนาจทางเศรษฐกิจ
ส่วนการเดินหมากในการสร้างพันธมิตรนั้น สหรัฐฯได้ใช้ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก เพื่อต่อต้านยุทธศาสตร์ BRI เส้นทางสายไหมของจีน โดยยึดหลัก Free and Open คือ เปิดเสรีเพื่อต่อต้านการเข้ายึดครองหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ของจีน ทั้งนี้ตามยุทธศาสตร์นี้สหรัฐฯได้สร้างพันธมิตรหรือที่เรียกว่า จตุรมิตร 4 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้ นอกจากนี้ก็ยังมีแนวโน้มที่หลายประเทศที่มีผลประโยชน์ในทะเลจีนใต้ที่ไม่อาจต่อรองกับจีนโดยลำพังได้เข้าสมทบ ซึ่งมีหลายประเทศในอาเซียน
อีกยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ คือ ยุทธศาสตร์แม่โขงตอนล่าง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการที่จีนสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ถึง 17 เขื่อน ทำให้อีก 5 ประเทศ คือ พม่า ลาว กัมพูชา ไทย และเวียดนาม ต้องกล้ำกลืนแต่ไม่กล้าพูดมาก จึงมีแนวโน้มเข้าร่วม โดยเฉพาะเวียดนามที่ได้ประท้วงจีนมาหลายครั้งแล้ว
ทางยุโรปสหรัฐฯก็ขยายแนวร่วมเข้าไปในยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะโปแลนด์ และยูเครนที่สหรัฐฯนำเข้าเป็นสมาชิกนาโต้
ในขณะที่รัสซียได้ขยายบทบาทเข้าไปในตะวันออกกลางโดยเฉพาะจุดสำคัญ คือ ซีเรีย และมีอีหร่าน เป็นพันธมิตร ส่วนตุรกีที่เป็นสมาชิกนาโต้ก็เริ่มแปรเปลี่ยนไปปรับความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซียมากขึ้น แม้จะมีความขัดแย้งบางประการ เช่น ปัญหาในซีเรีย และปัญหาอเมเนียที่รบกับอาเซอร์ไปจัน เรื่องแคว้นคาราบัค-นากาโน โดยตุรกีก็ยังสั่งซื้อขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศ S-400 ที่กำลังดังในตลาด และเครื่องบินรบ SU-35 มาแทน F-16
สหรัฐฯนั้นกดดันจีน แม้กระทั่งลึกเข้าไปในดินแดนชมพูทวีป คือ เนปาล ส่วนอินเดียก็กำลังตึงเครียดกับจีนที่ลาดัค ติดแคชเมียร์ ซึ่งก็กำลังพิพาทกับปากีสถาน พม่าเองก็หนีไม่พ้นที่จะต้องร่วมความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอินเดียเพื่อลดอิทธิพลจีน
นี่ไม่ต้องพูดถึงการเผชิญหน้ากันระหว่างกองเรือขนาดใหญ่ของสหรัฐฯที่เคลื่อนเข้าไปกดดันจีนในทะเลจีนใต้ และอินเดียก็พยายามขยายอิทธิพลเข้าไปในอาฟริกา โดยอาศัยนักธุรกิจอินเดียที่อพยพไปปักหลักอยู่นานแล้ว เพื่อลดทอนอิทธิพลจีนในอาฟริกา
ในภาพรวมๆแล้วการปรับเปลี่ยนดุลแห่งอำนาจนี้กระเทือนไปทั่วทุกทวีป มีแต่ประเทศไทยที่การต่างประเทศยังหยุดนิ่ง อิงจีนเป็น่หลักเพราะประเทศไทยกำลังมีปัญหาในการปรับดุลอำนาจภายในของตนเอง
โดยในสภาพปัจจุบันหากพิจารณากลุ่ม หรือ ขุมกำลังทางอำนาจก็จัดได้เป็น 3 กลุ่มด้วยกันคือ กลุ่มขุนศึกที่ครองอำนาจมานานโดยมีกองทัพสนับสนุน กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มศักดินาที่มีบารมีเก่าคือมวลชนบางส่วน และกำลังสะสมทางเศรษฐกิจที่แบ่งปันมาจากนายทุนที่อิงแอบอำนาจทั้งสองขั้ว กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มประชาชนที่เรียกร้องการปรับอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองในอุดมการณ์ประชาธิปไตย กลุ่มหลังนี้แม้จะมีมวลชนจำนวนมากสนับสนุน แต่ก็ปราศจากกองกำลังอาวุธ หากจะมีข่าวที่ไม่มีการยืนยันว่าได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ก็ไม่มีความชัดเจนว่าสนับสนุนอะไรบ้างที่สำคัญไม่ใช่การสนับสนุนด้วยกองกำลังในสภาพปัจจุบัน
การแตกร้าวในกองทัพที่มีการแทรกแซงจากกลุ่มศักดินา โดยการสนับสนุนบูรพาพยัคฆ์ที่ได้จัดส่งคนของตนเข้าไปยึดตำแหน่งสำคัญๆในระดับผู้บังคับบัญชาของหน่วยอื่นๆ แม้จะข้ามรุ่นซึ่งถือเป็นแบบธรรมเนียมของกองทัพทำให้เกิดรอยปริแยก และมีผลทำให้การคัดสรรผู้บังคับบัญชาเริ่มได้ผู้นำที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพโดดเด่นมากขึ้น
ล่าสุดการเข้ามารับตำแหน่งสำคัญที่ข้ามรุ่นของวงศ์เทวัญก็มีส่วนทำให้กองทัพระส่ำระสายหนัก และอดีตผู้นำกองทัพก็ประสบกับความล้มเหลวทางการเมืองจนได้รับการต่อต้านจากมวลชนประชาธิปไตย
การปรับดุลแห่งอำนาจที่ฝ่ายศักดินาเป็นฝ่ายรุกและขยายกำลังเข้ามาเพื่อควบคุมกองทัพอย่างเบ็ดเสร็จ จะทำให้เกิดการเผชิญหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนจะเป็นความรุนแรงหรือเป็นการผสานประโยชน์คงต้องเฝ้าดูต่อไป
แต่ขบวนการประชาธิปไตยที่กำลังเติบโตเข้มแข็งก็มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะถูกทำลายด้วยกำลังอาวุธเพราะกลุ่มนี้หากเข้ามามีส่วนในการปกครองบ้านเมืองในที่สุดก็จะได้รับชัยชนะจากประชาชนเพราะเป็นกลุ่มที่กระจายผลประโยชน์จากโครงสร้างรวยกระจุกจนกระจาย นอกจากอุดมการณ์จะแปรเปลี่ยนไปเมื่อมีอำนาจและเสพติดผลประโยชน์