ศัพท์และความคิดทางเศรษฐศาสตร์บางอย่างที่น่าสนใจ
ศัพท์และความคิดทางเศรษฐศาสตร์บางอย่างที่น่าสนใจ
รศ.ดร.สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย
คำศัพท์และแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจ: ความล้มเหลวของตลาด(market failure)
เศรษฐกิจตลาด(market economy) เป็นรูปแบบหนึ่งของระบบเศรษฐกิจที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ คือ การจัดสรรทรัพยากรเพื่อการผลิตและการบริโภคสินค้าและบริการ เป็นไปตามกลไกตลาด หรือกลไกราคา ตามหลักอุปสงค์และอุปทาน บุคคลหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทำการผลิตและบริโภคด้วยความสมัครใจ ปราศจากการแทรกแซงหรือถูกบังคับจากรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจใดๆ เศรษฐกิจตลาดใช้กลไกราคาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การกำหนดราคาสินค้าและปริมาณในการผลิต รวมถึงการบริโภคเป็นไปโดยความสมัครใจของผู้เกี่ยวข้อง
ในแต่ละวัน ไม่ว่าที่กรุงเทพฯในประเทศไทย ที่มหานครนิวยอร์ก(New York) ในสหรัฐอเมริกา หรือในที่อื่นๆของโลก มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นมากมาย มีสินค้าและบริการที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันเป็นจำนวนมาก ทุกคนทำงานตามหน้าที่โดยไม่ต้องมีใครมาสั่งการ ไม่ต้องมีใครสั่งว่า จะต้องผลิตสินค้าและบริการแต่ละอย่างออกมาเท่าไร แต่กลไกตลาดหรือกลไกราคาจะทำงานทำให้สิ่งต่างๆเกิดขึ้นได้เองโดยอัตโนมัติ สินค้าที่ไม่มีการผลิตในกรุงเทพฯ ในนิวยอร์ก หรือในที่อื่นๆ ผู้บริโภคก็สามารถหาซื้อได้ ขอเพียงจ่ายเงินตามราคาที่กำหนดไว้ในตลาด ก็จะมีคนนำสินค้าเหล่านี้มาขาย แม้อาจต้องนำเข้าจากต่างประเทศ หรือขนส่งมาจากแดนไกล ส่วนสินค้าที่ไม่มีผู้ต้องการ ก็จะลดน้อยลงหรือหายออกจากตลาดไปในที่สุด
กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ: สินค้าและบริการที่หลากหลาย อาชีพการงานมากมาย เกิดขึ้นมาได้อย่างไรโดยไม่มีใครกำหนดหรือบงการ อดัม สมิท(Adam Smith)กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากพลังของกลไกตลาด หรือ”มือที่มองไม่เห็น”(Invisible hand) ที่ทำให้ทุกคน ทุกหน่วยงานทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง เขากล่าวว่า ไม่ใช่ความเมตตาของผู้ค้าเนื้อสัตว์ ผู้ผลิตขนมปัง หรือผู้ผลิตเครื่องดื่ม ที่ทำให้เรามีสิ่งเหล่านี้มาเป็นอาหาร แต่ผู้ผลิตสิ่งต่างๆเหล่านี้ ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเขาเอง จึงทำให้เรามีสิ่งของเหล่านี้มาบริโภคได้ โดยไม่ต้องวางแผนหรือบงการใดๆ การเห็นแก่ประโยชน์ตนของบุคคลในสังคม ทำให้เกิดสิ่งต่างๆที่มีผู้ต้องการ แม้แต่ละคนจะเห็นแต่ประโยชน์ของตนเอง แต่ก็ก่อให้เกิดผลดีต่อสังคมโดยรวม กลไกตลาดเป็นเสมือนมือที่มองไม่เห็น ที่ทำให้เกิดสิ่งต่างๆที่เราต้องการ และทำให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในบางกรณี ที่กลไกตลาดทำงานไม่ได้ หรือทำงานได้ไม่เต็มที่ คือ มีความล้มเหลวของตลาด(market failure)เกิดขึ้น เช่น มีสินค้าและบริการบางอย่างที่คนต้องการมาก แต่กลับไม่มีผู้ผลิต หรือผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ หรือการผลิตสินค้าและบริการบางอย่างก่อให้เกิดผลเสีย หรือทำให้เกิดผลกระทบภายนอก(externalities) สร้างความเสียหายแก่ผู้คนในสังคม แต่ผู้ผลิตสินค้านั้นกลับไม่ต้องรับภาระใดๆเลย หรือในบางกรณีที่ ตลาดสินค้าและบริการมีการผูกขาด ผู้ผลิตหรือผู้ขายเอาเปรียบผู้บริโภค มีการกำหนดราคาที่สูงมาก ผู้ผลิตรายใหญ่สามารถครอบงำผู้ผลิตรายเล็ก หรือผู้ผลิตมีการรวมหัวกันโก่งราคา นอกจากนั้น ในตลาดที่มีการแข่งขันเสรี บางครั้งผู้บริโภคหรือผู้ซื้อมีข้อมูลข่าวสารไม่เพียงพอ ทำให้ ต้องซื้อของในราคาแพง และไม่มีคุณภาพตามที่ต้องการ ในระบบตลาด อาจมีสินค้าและบริการบางอย่างที่มีความจำเป็น แต่ไม่มีใครผลิต โดยทั่วไปแล้ว สินค้าและบริการแต่ละอย่างต้องใช้เงินซื้อเพื่อให้ได้มา แต่มีสินค้าบางอย่างเมื่อผลิตออกมาแล้ว ทุกคนสามารถใช้ได้แม้ไม่จ่ายเงินซื้อ นอกจากนั้น เมื่อมีคนต้องการใช้ ก็ปฏิเสธไม่ให้ใช้ไม่ได้ สินค้าและบริการลักษณะนี้เรียกกันว่า"สินค้าสาธารณะ(public goods)" ที่เศรษฐกิจตลาดไม่อาจจัดหาให้ได้ เพราะผู้ผลิตไม่สามารถขายสินค้าและบริการเหล่านี้ในตลาดโดยได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า จึงไม่มีใครทำการผลิต ในกรณีเช่นนี้ รัฐบาลต้องรับภาระเป็นผู้จัดหาให้ โดยไม่พึ่งพาระบบตลาด ตัวอย่างของสินค้าสาธารณะที่พูดถึงกันมาก เช่น การมีทหารและตำรวจเพื่อป้องกันประเทศและรักษาความสงบเรียบร้อย การสร้างถนน การสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น ในกรณีที่มีการผูกขาดตลาดไม่มีการแข่งขันเสรี มีสินค้าและบริการที่ไม่มีคุณภาพ หรือมีการผลิตสินค้าที่ขัดต่อศีลธรรม ส่งผลเสียหายแก่ประชาชน รัฐบาลก็ต้องควบคุมดูแล นักเศรษฐศาสตร์ที่มีแนวความคิดเสรีนิยม จึงมักเห็นว่า รัฐบาลไม่ควรมีการแทรกแซงตลาด นอกจากในกรณีที่เกิดความล้มเหลวของตลาด นอกจากนั้น การแทรกแซงของรัฐในระบบตลาด ยังมีผลทำให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจ และอาจทำให้เกิดความล้มเหลวของรัฐบาล(goernment failure)ได้ (เรื่องความล้มเหลวของรัฐบาลจะพูดถึงในตอนต่อไป) แต่อย่างไรก็ดี รัฐบาลต้องดูแลสวัสดิการของประชาชนและส่งเสริมการพัฒนาประเทศ คงมีหน้าที่มากกว่าการขจัดความล้มเหลวของตลาด ในปัจจุบัน ข้อบกพร่องของระบบตลาด ไม่เพียงแต่มีสิ่งที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น ยังมีปัญหาอีกหลายประการที่ต้องแก้ไข ระบบตลาดที่มีการแข่งขันเสรี อาจมีผลทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้และทรัพย์สินระหว่างประชาชน ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียในการพัฒนาประเทศ รัฐบาลจึงต้องกำหนดอัตราภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในรายได้และมีระบบสวัสดิการดูแลผู้ด้อยโอกาสในสังคม และต้องส่งเสริมการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และกำลังคน เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ ความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้และทรัพย์สินของประชาชน นับเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่อาจเห็นว่า ไม่ใช่ความล้มเหลวของตลาด แต่ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้และทรัพย์สิน ก็เป็นผลอย่างหนึ่งที่เกิดจากเศรษฐกิจตลาด ในระบบเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันเสรี ผู้มีความรู้ความสามารถ ย่อมได้รับผลตอบแทนจากการทำงานมากกว่าผู้อื่น สถานประกอบการที่เล็งเห็นโอกาสในการผลิตสินค้าและบริการที่มีผู้ต้องการ ย่อมทำกำไรได้ดีกว่าผู้ประกอบการอื่น ดังนั้น เศรษฐกิจระบบตลาด จึงมีผู้มีรายได้สูงกว่าคนอื่น ผู้มีความรู้ความสามารถด้อยกว่าหรือมีโอกาสในการทำมาหากินน้อยกว่า ย่อมมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ต่ำต้อยกว่า แต่การมีความเหลื่อมล้ำในรายได้ทรัพย์สินที่รุนแรง ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศ เมื่อประชาชนส่วนหนึ่งตกอยู่ในภาวะยากจน ปัญหาสังคมมีมาก รัฐบาลก็ต้องมีนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เช่นการเก็บภาษีอากรอัตราก้าวหน้าและมีสวัสดิการช่วยเหลือผู้ยากไร้ ขจัดความยากจน ในประเทศที่ใช้เศรษฐกิจระบบตลาด ผู้ประกอบการเอกชนอาจไม่มีกิจกรรมวิจัยและพัฒนามากนัก การวิจัยและพัฒนาไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่หรือการปรับปรุงวิธีการผลิต มักต้องมีการลงทุนมาก และมีความเสี่ยงสูง เช่น เมื่อประสบผลสำเร็จและพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาได้แล้ว แต่ไม่เป็นที่นิยมของตลาด แต่ถ้าผลิตภัณฑ์เป็นที่นิยมของตลาดและทำกำไรได้มาก ก็อาจมีผู้เลียนแบบผลิตสินค้านี้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา ในกรณีเช่นนี้ การปกป้องสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาและอนุญาตให้ผู้วิจัยและพัฒนาที่ประสบผลสำเร็จรายแรก สามารถผลิตและจำหน่ายสินค้าหรือบริการนั้นแต่เพียงผู้เดียวในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อาจมีความจำเป็น แต่การกระทำเช่นนี้ ก็เป็นการขัดกับหลักการของระบบตลาดที่ส่งเสริมการแข่งขันที่เสรี นอกจากนี้ การวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานมีความสำคัญ สามารถนำไปใช้ต่อยอดสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือผลิตสินค้าบริการที่ใช้ประโยชน์ได้ แต่การวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานที่ยังไม่ถึงขั้นการประยุกต์ผลิตออกเป็นสินค้าและบริการ มักต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง และไม่ได้รับผลตอบแทนในทันที ผู้ประกอบการเอกชนจึงมักไม่นิยมความการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน รัฐบาลประเทศต่างๆ จึงต้องมีหน่วยงานหรือสถาบันที่มีการทำวิจัยการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน และสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยทำการวิจัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ยุคปัจจุบัน มีกิจกรรมโฆษณามาก การโฆษณามีส่วนทำให้ผู้บริโภคใช้สินค้าและบริการเกินความจำเป็น ทำให้มีการผลิตและใช้สินค้าที่มีรูปแบบสวยงาม แต่ใช้ประโยชน์ได้ไม่มาก หากสินค้าและบริการที่ไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนมีมาก ทรัพยากรที่แต่เดิมใช้ในการผลิตสินค้าที่จำเป็นต่อประชาชน ก็จะถูกเบี่ยงเบน นำไปผลิตสินค้าและบริการที่มีการโหมโฆษณา แต่ไม่มีประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ แม้ประชาชนที่มั่งมีมีเงินซื้อสินค้าและบริการที่เกินความจำเป็นเหล่านี้ได้ แต่การมีสินค้าและบริการที่ไม่มีประโยชน์มากเกินไป ก็มีผลทำให้ทรัพยากรที่ควรใช้ในการผลิตสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการครองชีพของประชาชนผู้ยากไร้ ต้องถูกนำมาใช้ในการผลิตสิ่งที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ ซึ่งก็หมายความว่า ระบบตลาดไม่สามารถทำให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ในบางประเทศที่ใช้ระบบเศรษฐกิจตลาด เช่นสหรัฐอเมริกา ยังมีเหตุการณ์ความล้มเหลวของตลาด ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ ทำให้เกิดความล้มเหลวของตลาดที่ผสมผสานกับความล้มเหลวของรัฐบาล เช่นในกรณีผู้ผลิตและผู้ค้าอาวุธยุทโธปกรณ์ในภาคเอกชน สนับสนุนทางการเงินให้แก่นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อออกกฎหมายและกฎระเบียบที่เอื้อต่อผลประโยชน์ต่อบริษัทของตนโดยภาครัฐมีนโยบายที่ส่งเสริมการทำสงครามในต่างประเทศ และอนุญาติให้มีการใช้ปืนอย่างแพร่หลายภายในประเทศ ซึ่งเป็นผลเสียต่อสันติภาพโลกและความสงบเรียบร้อยของสังคมในประเทศ ดังนั้น รัฐบาลและประชาชนในประเทศต่างๆ จึงควรร่วมมือกันขจัดความล้มเหลวของตลาด ตลอดจนความล้มเหลวของรัฐบาล เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่ มาส่งเสริมเทคโนโลยี และพัฒนากำลังคนเพื่อการพัฒนาประเทศ และลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และแก้ปัญหาความยากจนของประชาชน ประเทศที่มีเศรษฐกิจระบบตลาด ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดของระบบเศรษฐกิจแบบนี้ และพยายามขจัดความล้มเหลวของตลาด ตลอดจนความล้มเหลวของรัฐบาลในลักษณะต่างๆ เมื่อ 30 ปีก่อน สหภาพโซเวียตแตกสลายออกเป็นสิบกว่าประเทศ รัฐสังคมนิยมในยุโรปตะวันออก ก็หันมาใช้ระบบตลาดบริหารเศรษฐกิจ ในเวลานั้น ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมถูกพากษ์วิจารณ์มาก ถึงกับมีผู้กล่าวว่า ต่อจากนี้โลกจะมีเศรษฐกิจเสรีประชาธิปไตยเพียงระบบเดียวเท่านั้น มาถึงเวลานี้ เราเห็นแล้วว่า ประเทศที่อวดว่าตนเองเป็นเสรีประชาธิปไตย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรป ก็มีปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่หลากหลาย ในประเทศเหล่านี้ระบบตลาดไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ความล้มเหลวของตลาดที่เกิดขึ้นมีอยู่หลายรูปแบบ ทั้งความเหลื่อมล้ำทางการกระจายรายได้ การผูกขาดในธุรกิจ ปัญหาผลกระทบภายนอก เช่น มลภาวะ การทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การผลิตสินค้าที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพ การแพร่หลายของยาเสพติด อุบัติภัย ต่างๆ อาชญากรรม การฉ้อฉล ใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ และอื่นๆอีกมาก สถานการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ในการบริหารเศรษฐกิจระบบตลาด แม้มีข้อดี แต่ก็ประสบความล้มเหลวได้มากเช่นกัน ต่อจากนี้ ประเทศต่างๆควรบริหารเศรษฐกิจอย่างไร จึงทำให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพได้ เป็นเรื่องควรพิจารณาอย่างรอบคอบต่อไป