ตั้งนิคมยิวผิดกฎหมายในแดนปาเลสไตน์
สบาย สบาย สไตล์เกษม
เกษม อัชฌาสัย
ตั้งนิคมยิวผิดกฎหมายในแดนปาเลสไตน์
เมื่อ”โจชัว”ได้รับมอบหมายจาก”โมเสส”ให้นำพาชาวยิวที่อพยพข้ามทะเลแดงหนีฟาโรห์ฮามานไปตั้งรกรากในแผ่นดินเหนือแม่น้ำจอร์แดนนั้น อยู่ในช่วง ๑,๒๐๐ ปีก่อนคริสต์กาล(Encyclopedia Britannica, “Exodus”)
แผ่นดินที่ว่าก็คือแผ่นดินพันธสัญญาที่พระผู้เป็นเจ้ามอบให้ลูกหลาน “อับราฮัม”ที่กระจัดกระจายกันไปอยู่อื่นรวมทั้งที่อียิปต์ตั้งแต่สมัยฟาโรห์ปโตเลมี
และก็เป็นแผ่นดินเดียวกันที่ชาวปาเลสไตน์ ซึ่งตอนนั้นเรียกว่าชาวฟิลิสตีนกับชาวคานาไนต์อาศัยอยู่มาก่อนและเข้าแย่งชิงครอบครอง เกิดการต่อสู้กันมาหลายครั้งหลายหนนับไม่ถ้วน
มาถึงวันนี้ ชาวอิสราเอลยังได้แผ่นดินนี้ไม่ได้ทั้งหมด ยังพยายามเอาคืนให้ได้ มิเลิกรา
แม้สหประชาชาติจะแบ่งให้ ก็ไม่ยอมรับ ยังยืนยันในพันธสัญญาที่พระผู้เป็นเจ้ามอบให้มา ทั้งที่โลกเปลี่ยนไปแล้ว
ปัญหาความขัดแย้ง เลยเกิดขึ้นมิรู้จบ
ต่อไปนี้คือข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งในความพยายามเอาคืนแผ่นดินนอกเหนือจากดินแดนฉนวนกาซาที่อิสราเอลกำลังทำสงครามแย่งอยู่
นั่นคือดินแดนบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนที่อิสราเอลยึดมาจากจอร์แดนใน”สงครามหกวัน”(๑๙๖๗)
ตั้งแต่อิสราเอลโจมตีตอบโต้กลุ่มฮามาสเมื่อ ๗ ตค.๖๖ ทหารอิสราเอลกับนักตั้งถิ่นฐานชาวยิว(settlers)ก็ใช้โอกาสนี้โจมตีรุกยึดที่ดินจากชาวปาเลสไตน์ที่อยู่มาก่อนในถิ่นที่นี้ด้วย
แม้จะมีกลุ่มชาวปาเลสไตน์ในท้องที่จับอาวุธสู้ ก็สู้ไม่ไหว
จาก ๗ ตค.๖๖ ถึง ๑๙ ตค.๖๖ มีชาวปาเลสไตน์ถูกสังหารไปในเวสต์แบงก์ ๗๕ คน (อัลญะซีรา) ขณะที่อ่านเรื่องนี้คาดว่าจำนวนน่าจะเพิ่มขึ้น
ซึ่งก็ยังไม่นับจำนวนย้อนกลับไปตั้งแต่ปี ๑๙๖๗ ซึ่งหาตัวเลขไม่ได้
เรื่องการยึดแผ่นดินในเขตเวสต์แบงก์นั้น ชาวยิวทำทั้งที่รู้ว่าผิดกฏหมาย เพราะรัฐบาลอิสราเอลไม่ได้ครอบครองไว้อย่างถูกต้อง เนื่องจากแผ่นดินนี้ ก็เช่นเดยวกับที่ฉนวนกาซา ยังคงเป็นของชาวปาเลสไตน์อยู่ ตามมติของสหประชาชาติ
พลิกดูประวัติศาสตร์พบว่า ชาวยิวเริ่มแรกตั้งนิคมหรือ Kibbutzชื่อ Kfar Etzion ซึ่งอยู่ระหว่าง”เยรูซาเลม”กับ”เฮบรอน”(ที่ตั้งหลุมศพ”อับราฮัม”)ตั้งแต่ปี ๑๙๖๗ เลยทีเดียว
จากนั้นตลอด ๕๘ ปีที่ผ่านมาก็รัฐบาลอิสราเอลก็ส่งนักตั้งถิ่นฐานชาวยิวเข้าไปยึดพื้นที่ทำมาหากินของชาวปาเลสไตน์(ชนเผ่าเบดูอิน)มาไม่หยุด ทั้งๆ ที่ผิดกฏหมาย
ก่อให้เกิดการปะทะกันเรื่อยมา จนเกิดชุมชนชาวยิวเพิ่มขึ้นกว่า ๑๕๐ แห่งแล้วทุกวันนี้
ชนชนที่ว่านี้ มีลักษณะต่างกันไปตั้งแต่เล็ก(ขนาดหมู่บ้านซอมซ่อ)จนกระทั่งชุมชนขนาดใหญ่คือนิคมหรือคิบบุตส์หรือโมชาฟ
บางนิคมมีผู้เข้าไปอยู่อาศัยและทำงานราว ๔๐๐ คนกลายเป็นหน่วยผลิตทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอิสราเอล
มีรายงานว่า ชาวยิวที่เข้าไปอยู่ทำมาหากินในเวสต์แบงก์มีอย่างน้อยราว ๔๕๐,๐๐๐ คน อย่างมากราว ๗๐๐,๐๐๐ คน(หากรวมทั้งใน”เยรูซาเลมตะวันออก”) ซึ่งนี้ก็เป็นข้อมูลเก่า
ล่าสุดมีเท่าไหร่ ไม่รู้แน่ชัด
จำนวนที่ว่ามีไม่ถึง ๑๐ เปอร์เซนต์ของประชากรอิสราเอลขณะนี้ซึ่งมีกว่า ๙ ล้าน
นอกนั้นราว ๒๕,๐๐๐ คนๆไปทั้งถิ่นฐานบนที่ราบสูงโกลันซึ่งยึดมาจากจอร์แดนในสงครามเดียวกัน
พื้นที่โกลันตรงนี้ ว่ากันว่าปลูกองุ่นได้ดีมาก มีโรงงานผลิตไวน์หลายแห่ง ผลิตไวน์ดีๆ ติดตลาดโลกจากองุ่นพันธุ์กาแบร์เนต์ โซวีญอง,ชาร์ดอนเน,โซวีญองและโซวีญอง บลอง ฯลฯ เป็นต้น
ยิวบางคนไปตั้งชุมชนในเวสต์แบงก์ด้วยเหตุผลทางศาสนา บางรายไปเพราะหนีจากภาวะค่าครองชีพสูงในเมืองและเพื่อได้รับการอุดหนุนจากทางการ
ตัวเลขระบุว่า ชาวยิวออร์โธดอกซ์สุดโต่งราวมีอยู่ราว ๒ ใน ๓ ของจำนวนผู้ตั้งถิ่นฐานทั้งหมด
นักตั้งถิ่นฐานชาวยิวในเวสต์แบงก์ส่วนใหญ่เชื่อว่าการสร้างนิคมช่วยทำให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้จากการสำรวจของ Pew Research Center
ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็คือ การตั้งถิ่นฐานของชาวยิวในเวสต์แบงก์คือก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรค ต่อการที่จะบรรลุแผนสถาปนา”สองรัฐ”อันจะเป็นรากฐานอย่างสำคัญในการตั้งรัฐปาเลสไตน์และอิสราเอล
ที่จะช่วยให้อยู่ร่วมกันได้ด้วยสันติอย่างถาวร
ก็ยังไม่รู้ว่า การที่กลุ่มฮามาสกระตุ้นเตือนด้วยการเปิดโจมตีครั้งใหญ่เมื่อ ๗ ตค.๖๖ หมายให้มีการรื้อฟื้นกระบวนการสถาปนารัฐปาเลสไตน์ จะได้รับการตอบสนองจากชาติมหาอำนาจหรือไม่