กิติมา อมรทัต ไร่นาน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (21)
กิติมา อมรทัต ไร่นาน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (21)
จรัญ มะลูลีม
ปัญญาซะอฺดี (ต่อ)
ซะอฺดีเชื่อว่าการบรรลุถึงความรักทางจิตวิญญาณที่สูงส่งเช่นนั้นไม่ใช่ความรักชนิดต่ำๆ ทางโลกียะ แต่เป็นความลับเร้นของความสมบูรณ์ทางศีลธรรมของมนุษย์ เหมือนอย่างที่บรรดานักปราชญ์และผู้ถึงซึ่งวิชญาณจักพึงได้รับ มันเป็นความรักที่เกิดจากความบริสุทธิ์ของจิตใจที่ปราศจากสนิมภายในและปลุกจิตวิญญาณให้มีชีวิตชีวาขึ้น ในเรื่องนี้ท่านกวีได้ครวญออกมาว่า
“จิตใจคือกระจกของพระผู้ที่ไม่อาจรู้จักได้ในสภาพที่กระจกนั้นไร้ซึ่งสิ่งแปดเปื้อน”
การบรรลุถึงความรักเช่นนั้น ซะอฺดีเชื่อว่า “ผู้ที่ไม่เคยได้ดื่มไวน์แห่งความรัก เปรียบได้ดังผู้ไม่เคยได้รับความชื่นชมในสิ่งที่ชีวิตได้เสนอให้ในโลกนี้”
ซะอฺดีคิดว่าสภาพจิตใจที่บรรลุถึงความรักดังกล่าวนั้นย่อมแตกต่างจากความรู้สึกที่เพียงแต่ชื่นชมยินดีทางด้านร่างกาย เพราะความรักทางจิตวิญญาณนั้นสูงส่งไกลเกินกว่าราคะ ความรักอยู่ในความบริสุทธิ์ไม่อาจที่จะบรรลุถึงได้หากชีวิตนี้เต็มไปด้วยมลภาวะของความเห็นแก่ตัว และความอยากความใคร่ทางด้านกายภาพท่านจึงได้อุทานออกมาว่า
“โอ้ซะอฺดี ความรักและความใคร่ไม่อาจเป็นสิ่งเดียวกันได้ ปีศาจร้ายไม่สามารถเข้าถึงบรรดามะลาอิกะฮ์ (อรูปวิญญาณ) ที่กำลังอยู่ในภาวะนมัสการได้”
บนพื้นฐานดังกล่าวนี้ ท่านเชื่อว่าความรู้ใดก็ตามที่มิได้นำมนุษย์ไปสู่ความรักที่แท้จริงนั่นคือไม่ถึงซึ่งเทียบได้กับทูตสวรรค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ว ความรู้นั้นก็มิได้เป็นสิ่งใด นอกจากความโง่เขลาและความหลงผิดที่สุดเท่านั้นเอง
“ซะอฺดีชำระล้างแผ่นจารึกแห่งหัวใจของเจ้าไปหมดสิ้น เว้นแต่ฉายาของพระองค์เท่านั้น
ความรู้ซึ่งมิได้นำไปสู่สัจธรรม คืออวิชชา”
ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นคุณธรรมทางด้านศีลธรรมทีพบในผลงานของซะอฺดีซึ่งไม่ค่อยจะได้พบง่ายนักในบรรดากวีคนอื่นๆ ซะอฺดีมีความกล้าหาญในการอธิบายสัจธรรม กล้าพูดความจริงต่อบรรดาผู้ปกครองที่อธรรมและผู้อยู่ในอำนาจในยุคสมัยของท่านเพราะบุคคลเหล่านั้นบางคนไม่ใส่ใจใยดีต่อคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า อีกทั้งยังแวดล้อมไปด้วยคุณธรรมจอมปลอมซึ่งมิใช่ออกมาจากความบริสุทธิ์ใจ กวีในสมัยนั้นแต่งบทสรรเสริญผู้มีอำนาจ แต่งานของซะอฺดีกลับตรงกันข้าม เป็นการสั่งสอนศีลธรรมและคติธรรมต่อบรรดาผู้ปกครอง และยกย่องคนดีมีศีลธรรมตามความเป็นจริง ทั้งนี้เพราะซะฮฺดีไม่ใช่กวีที่ประจบประแจงซึ่งมีแต่ความสอพลอต่อผู้มีอำนาจ และยกย่องสดุดีกันจนเกินขอบเขตของความเป็นจริง แต่ซะอฺดีแนะนำตักเตือนด้วยความจริงใจ และบริสุทธิ์ใจต่อบุคคลที่อยู่ในอำนาจเหล่านั้น ท่านได้เตือนให้บุคคลเหล่านั้นได้สังวรในความไม่มั่นคงของอำนาจและความมั่งมีศรีสุขที่เกิดจากวัตถุ และชี้ให้เห็นถึงชะตากรรมอันเลวร้ายที่จะบดขยี้ทรราชทั้งหลาย ซะอฺดีใช้ภาษาตักเตือนหรือลงแส้อย่างเมตตา ท่านพยายามดึงความสนใจของผู้ยิ่งใหญ่เหล่านั้นให้มาปฏิบัติตนตามหลักศาสนาและให้ภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า พร้อมทั้งให้ความเคารพต่อกฎแห่งความยุติธรรมและอุทิศตนแก่การกระทำคุณงามความดี ซะอฺดีได้กล่าวว่า “คนเราไม่สามารถพูดออกมาอย่างกล้าหาญได้ทุกคนดอก แต่ซะอฺดีคือผู้ที่มีอิทธิพลเหนือถ้อยคำเหล่านั้น”
ความศรัทธาในศาสนาของซะอฺดีและความเชื่อมั่นในหลักการของศาสนาได้ปรากฎในหนังสือของท่านเรื่องเตาฮีดียะฮ์ ซึ่งในเรื่องนั้นได้สรรเสริญเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวและท่านได้แต่งกวีสรรเสริญท่านศาสนทูต (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) ท่านได้อุทิศเพื่อศาสนทูตและบรรดาผู้สืบทายาทของท่าน ท่านได้แสดงให้เห็นถึงความรักความภักดีที่ได้ยอมพลีอุทิศตนอย่างหมดหัวใจโดยเน้นให้เห็นถึงทางรอดที่จะต้องดำเนินชีวิตตามรอยเท้าของท่านศาสดาโดยกล่าวว่า
“ซะอฺดี ไม่เคยคิดว่าทางแห่งความเที่ยงธรรมที่จะปฏิบัติตามได้จะอยู่ที่ใด นอกจากที่จะผ่านตามรอยเท้าแห่งวิถีทางของมุศฏอฟาผู้เป็นศาสนทูตอย่างเดียวเท่านั้น”
อย่างไรก็ตามแม้ว่าซะอฺดีจะเป็นผู้ที่ยึดมั่นและปฏิบัติตามบทบัญญัติของศาสนา แต่ลักษณะที่เด่นชัดก็คือรักเสรีภาพและมีจิตใจกว้างขวางเห็นอกเห็นใจมนุษย์ทั้งมวล ถือว่ามนุษย์เหล่านั้นอยู่ในสภาพที่เท่าเทียมกันไม่มีมิตรและศัตรูเพราะให้ความรักแก่ทุกคนเท่าเทียมกัน จะมีบ้างที่ซะอฺดีคัดค้านก็คือผู้ปกครองที่อยุติธรรมและหน้าไหว้หลังหลอกที่ใช้ศาสนาเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ซะอฺดีถือว่ามนุษย์ทุกคนเป็นชาติพันธุ์จากพระผู้เป็นเจ้า ท่านแสดงความรักและเชิดชูฐานะศักดิ์ศรีของมนุษย์ ท่านทำตัวเป็นผู้ประกาศล่วงหน้าเกี่ยวกับสันติภาพถาวรและหลักมนุษยธรรมโดยถือว่ามนุษย์ทุกคนมาจากสภาพอันเดียวกัน ต้องมีเสรีภาพและทุกประชาชาติจะต้องมีชีวิตอย่างเป็นเอกภาพ จะต้องไม่มีความแตกต่างใด ๆ มากีดกันสังคมมนุษยชาติ ฉะนั้นจึงรับผิดชอบในอันที่จะแสดงความเห็นอกเห็นใจแก่ประชาชาติผู้อ่อนแอและขาดที่พึ่งและมีความปรารถนาที่จะฟื้นฟูสภาพของมนุษย์ให้อยู่ในฐานะที่สูงส่ง ท่านกล่าวว่า
“ถ้าท่านไม่ยอมรับการทำงานหนัก และแรงงานของคนอื่นๆ แล้วไซร้ ท่านก็ไม่อาจที่จะอ้างได้ว่าตัวท่านเองเป็นมนุษย์”
ซะอฺดีมีความสามารถในการใช้ถ้อยคำ ถือว่าเป็นนายของถ้อยคำเลยทีเดียว และเนื่องจากความรอบรู้ในวิชาการด้านต่างๆ และประสบการณ์ที่มีคุณค่าอย่างกว้างขวางจึงทำให้มีความเข้าใจอย่างเป็นสากล สิ่งเหล่านี้นับเป็นลักษณะพิเศษในตัวทำให้กลบจุดอ่อนหรือข้อผิดพลาดเล็กน้อยใดๆ ที่จะพบเห็นได้ในตัว เพราะเหตุว่าเสียงของซะอฺดีที่ปรากฎออกมานั้นแทนเสียงของมนุษย์คนอื่นๆ ที่มีความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ จึงทำให้ความหวานซึ้งแห่งถ้อยคำของซะอฺดีไม่มีขอบเขตจำกัด ขับขานลำนำกวีออกมาในอุทยานแห่งอัจฉริยภาพซึ่งเต็มไปด้วยเสียงร้องที่หวานจับใจเหมือนดังเสียงนกการะเวกที่กำลังร้องเพลงอยู่ในสวน ซึ่งกลบเสียงนกอื่นๆ ให้เงียบหายไปดุจเสียงใบ้ของนกกระสา ฐานะของซะอฺดีนับว่าสูงส่งในโลกของบทกวีและในหมู่นักวรรณคดี เป็นความไพเราะและความคิดที่สูงส่งประณีตลึกซึ้งซึ่งสั่นสะเทือนความรู้สึกของมนุษยชาติทั้งมวล มีอิทธิพลทั้งต่อวรรณคดีเปอร์เซีย และนักคิด นักเขียนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาวอิหร่านทั่วโลกอีกด้วย จึงทำให้องค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติได้ยอมรับให้เกียรติท่านให้อยู่ในฐานะกวีของโลกโดยได้จัดให้มีการประชุมที่เมืองชีราซ ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อเฉลิมฉลองการรำลึกถึง 800 ปีแห่งการกำเนิดของท่าน นอกจากนั้นในประเทศต่างๆ ก็ได้จัดงานรำลึกในวาระโอกาสดังกล่าวนี้ด้วยเพื่อเป็นเกียรติแก่ความรู้และปัญญาญาณของมนุษยชาติในนามของท่าน
หลังจากปฏิวัติอิสลามแล้วรัฐบาลอิหร่านมีนโยบายที่จะเชิดชูนักปราชญ์ จึงได้มีการรำลึกถึงนักคิดและกวีผู้นี้ มีการจัดงานรำลึกถึงซะอฺดี โดยจัดขึ้นที่เมืองชีราซอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นการย้ำรำลึกถึงมติที่ได้รับการยอมรับในการประชุมครั้งที่ 22 ของยูเนสโกแห่งสหประชาชาติเมื่อปี 1984 ด้วยเหตุนี้กระทรวงวัฒนธรรมและการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจึงได้ร่วมมือกันในการรำลึกและสร้างความสัมพันธ์เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างประเทศซึ่งเป็นสมาชิกของยูเนสโก
ซะอฺดีประกอบงานสิลปะอย่างวิจิตรบรรจงเสมือนช่างถักทอพรมชีวิตแห่งยุคสมัยเป็นลวดลายอันละเอียดอ่อนของพฤติกรรมชีวิตมนุษย์ทุกแง่ทุกมุมของทุกชนชั้น เป็นทั้งผู้สะท้อนภาพพจน์มนุษย์อย่างปราดเปรื่อง และเป็นทั้งผู้ถักทอหรือผู้จักสานเส้นใยแห่งชีวิตอย่างรอบคอบสุขุมคัมภีรภาพ เป็นทั้งผู้คลี่พรมชีวิตแห่งยุคสมัยให้ปรากฎแก่สายตาชาวโลกตลอดไป สะท้อนภาพประวัติศาสตร์ของการต่อสู้อันยาวนาน ระหว่างฝ่ายธรรมและอธรรมหรือระหว่างกลุ่มของผู้ถูกบังเกิดที่ดีที่สุด (ค็อยรุล บะรียะฮ์) กับกลุ่มผู้ปฏิเสธหรือผู้สัปปลับแห่งยุคสมัย (มุนาฟีกีน)
“การหลับใหลไปครึ่งวันของผู้ปกครองที่อยุติธรรมนั้นดีกว่าการตื่นของเขาเพื่อกดขี่ผู้อื่น และหากเขาตายลงได้ก็ย่อมจะดีกว่าที่เขาจะมีชีวิตอยู่ด้วยการกดขี่”
“อย่าหวาดวิตกและทุกโศกต่อการงานที่ยุ่งยากเลยเพราะแท้จริงแล้วน้ำพุแห่งชีวิตนิรันดร์นั้น ย่อมแฝงอยู่ในความเร้นลับเสมอ พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเมตตาปรานีได้ทรงประทานความโปรดปรานแฝงเร้นอยู่ในการงานที่ยุ่งยากลำบากเสมอเพื่อฝึกฝนความอดทน เพราะความอดทนเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา มันเป็นเสมือนยาดำอันขมขื่นที่จะบำบัดโรคภัยต่างๆ ให้ชีวิตถึงซึ่งความหวานชื่นได้
“ผู้ใดที่ละเมิดฝ่าฝืนบทบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อหวังเอาใจมวลมนุษย์ผู้ถูกบังเกิดขึ้นมาในโลกนี้แล้ว พระผู้เป็นเจ้าก็จะทรงทำให้มนุษย์ที่พระองค์ทรงบังเกิดขึ้นมานั่นแหละนำเอาความทุกข์ยากมายื่นให้แก่เขา และจะนำเอาความเสียหายมาให้แก่โลกได้ในที่สุด”
“ลาที่ว่าโง่แต่ยังช่วยบรรทุกสัมภาระให้เจ้าของของมันได้นั้น ย่อมดีกว่าสิงโตที่คอยซุ่มจะทำลายผู้คนอยู่ร่ำไป”
“ความยิ่งใหญ่ของบุคคลอยู่ที่สติปัญญาและความประพฤติที่ดีงามบริสุทธิ์ยุติธรรมต่อผู้อื่น มิใช่อยู่ที่อายุขัยขวบปี อำนาจก็เช่นกัน ย่อมอยู่ที่การทำงานให้บรรลุผลสำเร็จโดยชอบธรรม หาไม่แล้วก็ไร้ประโยชน์ มันมิได้อยู่ที่ทรัพย์ศฤงคารหรือตำแหน่งใดๆ ของบุคคลนั้น
สุดท้ายนี้ เราหวังว่าปัญญาซะอฺดีซึ่งได้สะท้อนจากผลงานที่ยิ่งใหญ่คือกุลิสตานและบูสตาน จะเป็นประโยชน์ต่อวงการวรรณคดีของประเทศเรา และจะได้จรรโลงอยู่คู่บรรณพิภพตลอดไปชั่วกาลนาน เพราะเหตุว่าสอดคล้องกับหลักการแห่งศาสนาสากลในการพัฒนามนุษย์เข้าไปสู่จุดมุ่งหมายสูงสุดทั้งโลกนี้และโลกหน้า
ด้วยความเคารพนับถือ
อาจารย์ ดร.ไรน่าน อรุณรังษี (เขียนในนามคณะผู้แปล ซึ่งประกอบด้วยดร.กิติมา อมรทัตและ ดร.จรัญ มะลูลีม)