เลิกยุทธศาสตร์ได้แล้วครับ!
โดย สุรชาติ บำรุงสุข
หากการระบาดของเชื้อไวรัส-19 เบาบางลงแล้ว สิ่งที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าคือ การฟื้นฟูชีวิตทั้งในระดับของประชาชนและระดับของประเทศ แต่ในอีกมุม หนึ่งในสิ่งแรกที่ควรจะต้องทำในทางการเมืองก็คือ การ “ยกเลิกยุทธศาสตร์ 20 ปี” ที่รัฐทหาร คสช. ได้ทิ้งเป็นมรดกใหญ่ค้างไว้กับระบอบการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง 2562 เพราะเมื่อต้องตั้งหลักประเทศแล้ว คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ ยุทธศาสตร์ที่ถูกรัฐบาลทหารร่างขึ้นเพื่อกำกับทิศทางอนาคตให้เดินตามที่ผู้นำทหารต้องการนั้น จะยังคงใช้ได้จริงเพียงใด
ดังนั้นบทความนี้ จะทดลองนำเสนอในเชิงข้อเรียกร้องว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาลทหารนั้น หมดสภาพไปกับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ และกลายเป็นยุทธศาสตร์ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการนำพาประเทศไปสู่อนาคต จึงไม่มีความจำเป็นต้องคงไว้อีกต่อไป
คำถามทางยุทธศาสตร์?
ถ้าถามว่าประเทศควรกำหนดทิศทางในระดับมหภาค เพื่อทำให้ประเทศเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่ต้องการหรือไม่ … คำตอบที่ชัดเจนคือ ทุกประเทศจำเป็นต้องกำหนดทิศทางในลักษณะเช่นนี้
การกำหนดนี้อาจปรากฎในรูปของ “นโยบายแห่งชาติ” ที่ผู้นำทางการเมืองได้กำหนดขึ้นในแผนพัฒนาประเทศ เช่น การนำเสนอในช่วงของการหาเสียงทางการเมือง หรือนำเสนอเป็นแนวทางเมื่อได้รับเลือกเป็นรัฐบาลแล้ว การกำหนดในลักษณะดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลทั่วโลกกระทำกัน
แม้ว่าอาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ เนื่องจากเงื่อนไขและปัจจัยทางการเมือง ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม อันส่งผลให้สิ่งที่เรียกว่า “กระบวนการทางยุทธศาสตร์” (strategic process) ถูกดำเนินการในลักษณะที่ต่างกันไปบ้าง แต่กระบวนนี้มีความคล้ายคลึงกันที่จะต้องคำถามหลักสามประการให้ได้ คือ อะไรคือจุดหมายปลายทางที่รัฐบาลต้องการจะพาประเทศไป และในการเดินทางเช่นนี้รัฐบาลมีทรัพยากรอะไร และรัฐบาลหนทางปฎิบัติอย่างไรที่จะพาประเทศไปสู่จุดหมายที่ต้องการนั้น
หากกล่าวในแบบที่ผู้นำรัฐไทย ทั้งทหารและพลเรือนต้องเรียนในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ก็คือปัญหา “คำถามหลักสามประการ” ในเรื่องของ 1) จุดหมายปลายทาง (ends) 2) หนทางปฎิบัติที่ไปสู่จุดหมาย (ways) และ 3) เครื่องมือและ/หรือทรัพยากรที่จะทำให้หนทางการปฎิบัติบรรลุผลได้จริง (means)
คำถามสามประการนี้เป็นสิ่งที่จะต้องตอบให้ได้ชัดเจนในกระบวนการทางยุทธศาสตร์ และที่สำคัญจะต้องคิดตอบคำถามทั้งสามประการนี้ด้วยสภาวะแวดล้อมที่เป็นจริง เงื่อนไขเช่นนี้ทำให้นักยุทธศาสตร์จะต้องตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม ทั้งภายนอกและภายใน เพื่อพิจารณาว่า อะไรคือปัจจัยที่มีสถานะเป็น “สภาวะแวดล้อมทางยุทธศาสตร์” (strategic environment) ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงอย่างมีนัยสำคัญต่อจุดหมายปลายทางที่รัฐตั้งเป้าหมายไว้ หรือกระทบต่อทรัพยากรที่รัฐมีอยู่
ยุทธศาสตร์ที่ถูกกำหนดขึ้นโดยละเลยหลักการพื้นฐานสองส่วนคือ ปัญหาหลักสามประการ และปัญหาสภาวะแวดล้อมสองประการ จะไม่ถูกเรียกว่าเป็นยุทธศาสตร์ได้เลย และอาจจะเป็นเพียงเรื่องของการสร้าง “ความฝัน” มากกว่าจะเป็นเรื่องของกระบวนการทางยุทธศาสตร์ที่แท้จริง
ยุทธศาสตร์ 20 ปีเพื่อใคร ?
หากพิจารณาจากบริบทของไทย ยุทธศาสตร์ที่ถูกกำหนดขึ้นก่อนที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2562 นั้น ดูจะไม่ได้เป็นยุทธศาสตร์อย่างที่เป็นความหวังทางทฤษฎี เพราะกระบวนการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลทหาร ทำให้ยุทธศาสตร์ชุดนี้กลายเป็นความต้องการทางการเมืองที่จะใช้ในการควบคุมผู้ที่จะขึ้นมาเป็นรัฐบาลในอนาคต (หากรัฐบาลในอนาคตไม่ใช่กลุ่ม คสช. เดิม)
นอกจากนี้เห็นได้ชัดว่า ยุทธศาสตร์นี้มีข้อกำหนดทางกฎหมายที่กำกับว่า หากรัฐบาล (หลังเลือกตั้ง 2562) ไม่ดำเนินการในกรอบของยุทธศาสตร์ชุดนี้แล้ว รัฐบาลดังกล่าวจะผิดกฎหมาย ซึ่งเท่ากับว่า ยุทธศาสตร์เป็นกฎหมาย และมีนัยว่ายุทธศาสตร์นี้จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้ เพราะเท่ากับจะเป็นการละเมิดกฎหมายโดยตรง และถ้ายุทธศาสตร์แก้ไขไม่ได้แล้ว การปรับตัวทางยุทธศาสตร์จะกระทำไม่ได้เลย ถ้าเช่นนั้นแล้ว เราจะปรับประเทศให้รองรับกับความเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์ที่เกิดขึ้นได้อย่างไร
ทั้งหมดนี้อธิบายได้ด้วยเหผลประการเดียวว่า ยุทธศาสตร์ 20 ปีของรัฐบาลทหารไม่ได้ถูกออกแบบให้เป็นยุทธศาสตร์ที่รองรับการกำหนดทิศทางของประเทศในอนาคต แต่ยุทธศาสตร์นี้ถูกออกแบบให้เป็น “มาตรการบังคับ” ทางการเมือง ที่รัฐบาลทหารจะใช้ในการควบคุมการเมืองหลังการเลือกตั้ง และขณะเดียวกันก็ใช้ในการควบคุมรัฐบาลในอนาคต (ดังที่กล่าวมาแล้วว่า หากหลังเลือกตั้งได้กลุ่มการเมืองอื่นเป็นรัฐบาล ยุทธศาสตร์นี้จะกลายข้อบังคับทางกฎหมายทันที)
สภาวะแวดล้อมของไทยเปลี่ยนหมดแล้ว !
สิ่งที่ทำให้ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลทหารหมดสภาพลงในความเป็นจริงคือ ความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางยุทธศาสตร์ทั้งในระดับประเทศ และในระดับโลก ถ้าเรายอมรับว่าเส้นแบ่งเวลาสำคัญในการกำหนดอนาคตของประเทศในปัจจุบัน คือ โลกยุคก่อนโควิด (Pre-COVID World) และโลกยุคหลังโควิด (Post-COVID World) การแบ่งยุคเช่นนี้ตอบแก่เราว่า โลกยุคหลังโควิดเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว และจะแตกต่างอย่างมากจากยุคก่อนโควิด
ในกรณีของไทยเองก็เป็นไปในทิศทางดังกล่าว รัฐและสังคมกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาของความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จนสิ่งที่รัฐบาลทหารกำหนดขึ้นมาเป็นยุทธศาสตร์ 20 ปี นั้น กลายเป็นของ “ตกยุค” ไปทันที และไม่รองรับต่อความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่รัฐและสังคมไทยกำลังเผชิญในภาวะปัจจุบันทั้งสิ้น
ถ้าเปรียบเทียบในทางเศรษฐกิจว่า ”สินค้าตกยุค” ขายในตลาดการค้าไม่ได้ฉันใด … ในทางการเมือง “ยุทธศาสตร์ตกยุค” ก็ขายไม่ออกในสังคมฉันนั้น แต่สำคัญกว่านั้นก็คือ ยุทธศาสตร์ที่ไม่รองรับต่อความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยจะไม่สามารถรองรับต่อการขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคตได้เลย เว้นแต่จะคงยุทธศาสตร์นี้ไว้ต่อไป ด้วยเหตุผลว่า หากรัฐบาลปัจจุบันที่สืบทอดอำนาจมาจากรัฐบาลทหารเดิมเกิดความเพลี่ยงพล้ำในทางการเมือง และฝ่ายค้านขึ้นมาเป็นรัฐบาลแล้ว ยุทธศาสตร์นี้จะมีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในการควบคุมฝ่ายตรงข้าม
แต่ถ้าต้องการคงไว้ด้วยคำอธิบายเช่นนั้นแล้ว ยุทธศาสตร์นี้จะไม่ตอบสนองต่อความต้องการทางยุทธศาสตร์ของประเทศไทยเลย ซึ่งก็คือ ยุทธศาสตร์ 20 ปีกลายเป็นความไร้ประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ในตัวเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้อเรียกร้องประการเดียวในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงชุดใหญ่ของสังคมไทยในยุคหลังโควิดก็คือ ถึงเวลาแล้วที่จะต้อง “ยกเลิก” ยุทธศาสตร์ฉบับนี้ … ไม่มีความจำเป็น และไม่มีเหตุผลใดที่จะคง “ยุทธศาสตร์ฉบับตกยุค” เอาไว้อีกต่อไป!