แค่รักษาของดีที่มีอยู่แล้วในใจเราก็พอ
แค่รักษาของดีที่มีอยู่แล้วในใจเราก็พอ
โดย พระไพศาล วิสาโล
ช่วงนี้ตอนเช้าๆ หรือสายๆ บางทีเราจะเห็นสัตว์บางชนิด พวกกิ้งก่า จิ้งเหลนมันมานอนอาบแดด อาจจะตรงสะพานบ้างหรือตรงริมถนนบ้าง หรือถ้าเดินไปในป่า บางทีก็อาจจะเจองูมันนอนรับแดดอยู่ตรงพื้นที่ที่มันโล่งๆ บางทีเดินเข้าไปใกล้มันถึงรู้ตัว อาจจะเป็นเพราะมันกำลังเพลิน กำลังสบาย
ทำไมมันทำอย่างนั้นนะ เพราะว่ามันหนาว แล้วสัตว์พวกนี้มันเป็นสัตว์เลือดเย็น คือมันไม่มีความสามารถในการทำความอุ่นให้กับตัวเอง ความอุ่นจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยสิ่งภายนอกเช่นแสงแดด
ต่างจากคนเรานะ คนเราได้เปรียบกว่าสัตว์เหล่านี้ตรงที่ว่า ร่างกายเราสามารถที่จะสร้างความอบอุ่นได้ด้วยตัวเอง เราจึงถือว่าเป็นสัตว์เลือดอุ่น ซึ่งก็มีสัตว์ประเภทนี้อยู่มาก การที่เราเป็นสัตว์เลือดอุ่นก็ทำให้ เรามีความอบอุ่นอยู่ในตัว อย่างที่เราทราบดีอยู่แล้วนะ คนเรานี่ถ้าไม่เจ็บป่วยอุณหภูมิก็ประมาณนี้ 36-37 องศา เวลาเขาจะตรวจสอบว่าใครป่วยไม่สบาย ก็ดูตรงอุณหภูมินี่แหละว่าอุณหภูมิสูงมั้ย เกิน 37 ไปหรือเปล่า ถ้าเกินก็แสดงว่าป่วย
ซึ่งที่จริงความที่มีอุณหภูมิสูงมันไม่ใช่เพราะว่ามีเชื้อโรคเข้ามา แล้วเชื้อโรคมาทำให้ร่างกายเราเป็นไข้ ที่ร่างกายเราเป็นไข้ก็เพราะความตั้งใจของร่างกายเราเอง ที่จะเพิ่มความร้อนให้สูงขึ้น เพื่ออะไร เพื่อฆ่าเชื้อโรค เชื้อโรคที่มันเข้ามาสู่ร่างกายเรา จำนวนมากเลยถ้ามันเจอความร้อนที่สูงขึ้นในร่างกายเรา มันก็จะตาย อันนี้เป็นวิธีการของร่างกายเราในการกำจัดเชื้อโรค ซึ่งก็ไม่ใช่จะกำจัดได้ทุกชนิด อย่างที่ทราบ ว่าพอเราเป็นไข้แล้วก็ป่วยหนักได้ แต่เชื้อโรคหลายชนิดทีเดียวพอมันเข้าสู่ร่างกายเรา พอเราเป็นไข้ อาจจะเป็นไข้แบบจัดๆ แต่พอหายไข้ เชื้อโรคมันก็ตาย หรือพูดอีกอย่างคือ พอเชื้อโรคมันตาย ร่างกายเราก็หายไข้ แล้วกลับมาเป็นปกติ
อันนี้ก็เป็นความได้เปรียบของคนเราเมื่อเทียบกับสัตว์เลื้อยคลาย เรามีความสามารถในการเพิ่มอุณหภูมิหรือสร้างความอบอุ่นขึ้นในร่างกาย ซึ่งทำให้เราอยู่ในที่หนาวหรือทนหนาวได้มากกว่าสัตว์เหล่านี้ แล้วก็ทำให้เราสามารถจะเยียวยาตัวเองได้เวลามีเชื้อโรคเข้ามาในร่างกาย เยียวยาด้วยการฆ่ามันด้วยความร้อนหรือการเป็นไข้
คนเรานี่มีความสามารถในการสร้างอุณหภูมิหรือความร้อน แต่บางครั้งเวลาอากาศหนาวมากๆ อุณหภูมิที่สร้างขึ้นมาในร่างกายก็อาจจะไม่เพียงพอ นี่คือเหตุผลว่าเราจึงใช้ผ้าห่มหรือเสื้อหนาๆ คลุมกาย เวลาอากาศหนาวๆ อย่างช่วงนี้เราต้องอาศัยผ้าห่มเลยทีเดียวตอนกลางค่ำกลางคืน ขาดผ้าห่มไม่ได้
ถ้าถามว่าผ้าห่มมีไว้ทำไม หลายคนก็ตอบว่าเพื่อทำให้ร่างกายอบอุ่น แล้วคำตอบนี้ก็ดูเหมือนถูกนะ แต่ที่จริงก็ไม่ถูกทีเดียวนะ เพราะมันมีนัยยะว่า ผ้าห่มสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายเรา หรือเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกายเรา ที่จริงผ้าห่มมันทำไม่ได้นะ
ผ้าห่มนี่มันไม่สามารถจะสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายของเราได้เลยแม้แต่องศาเดียว แต่ที่เรารู้สึกอบอุ่นเมื่อเราอยู่ใต้ผ้าห่มหรือใส่เสื้อหนาๆ ก็เพราะผ้าห่ม หรือเสื้อมันช่วยเก็บกักความร้อนหรือความอบอุ่นที่แผ่มาจากร่างกายของเรา มันทำได้เท่านี้แหละ คือมันเก็บความร้อนหรือเก็บความอบอุ่น ซึ่งก็มาจากร่างกายของเรานี่แหละ มันไม่ได้มาจากผ้าห่ม แต่การที่มันเก็บความอบอุ่นในร่างกายเรา มันก็ทำให้เราอุ่นมากขึ้น
บางทีคนไม่เข้าใจนะ คิดว่าความอบอุ่นนี่มาจากผ้าห่ม ไม่ใช่เลย มันมาจากร่างกายของเรา เพียงแต่มันกักเอาไว้ไม่ให้ถ่ายเทสู่อากาศภายนอกหรือรอบตัว พอความอบอุ่นในร่างกายเราถูกกักเก็บเอาไว้ มันก็ทำให้ตัวเราอุ่นมากขึ้น ก็เลยทนหนาวได้มากกว่าเดิม แต่ก็ต้องอย่าเผลอไปเข้าใจว่าความอบอุ่นนั้นมาจากเสื้อนะ มันมาจากตัวเรานี่เอง อยู่ที่ว่าเราจะเก็บกักความอบอุ่นในร่างกายเราได้มากแค่ไหน
ที่จริงตัวเราไม่ว่าร่างกายหรือจิตใจ มันสามารถที่จะสร้างสิ่งดีๆ มากมาย แต่บางทีเราก็ไปนึกว่าเป็นเพราะเหตุอื่นมากกว่า อย่างเช่นเวลาคนพาตัวเข้ามาอยู่ในป่า อยู่ในที่สงบสงัด จะเป็นที่นี่หรือแถวอุทยาน แห่งชาติหรือป่าที่ไหนก็แล้วแต่ หลายคนจะรู้สึกถึงความสงบ สัมผัสได้ถึงความสงบในจิตใจ แล้วพอเป็นอย่างนี้หลายคนก็เลยคิดว่าป่ามันทำให้ใจเราสงบ พูดอย่างนี้ก็อาจจะทำให้เข้าใจว่าความสงบนี่มาจากป่า ที่จริงไม่ใช่หรอก ความสงบนี่มันมีอยู่ในจิตใจของเราอยู่แล้ว เพียงแต่ป่าช่วยเสริมหรือช่วยดึงเอาความสงบจากใจเราออกมา ให้เราสัมผัสได้
ความสงบมีในจิตใจของเราอยู่แล้ว มันไม่ได้อยู่ที่ป่า มันไม่ได้อยู่ที่เกาะแก่งที่ไหน เพียงแต่ว่าพอเราไปอยู่สถานที่นั้น สถานที่นั้นมันช่วยดึงเอาความสงบในจิตใจของเราออกมา หรือช่วยรักษาความสงบในจิตใจของเราไม่ให้แผ่กระจายออกไป เหมือนกับผ้าห่มที่มันช่วยรักษาความอบอุ่นที่ไม่ได้มาจากไหนเลย ก็มาจากร่างกายของเรา
ป่าหรือธรรมชาติมันก็ทำหน้าที่คล้ายๆ กันในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องของความสงบ ใจเรามีความสามารถที่จะสงบได้อยู่แล้ว เพียงแต่ป่าหรือธรรมชาติมันช่วยดึงออกมา หรือช่วยรักษาเอาไว้ไม่ให้กลายเป็นความฟุ้งซ่าน แต่ถ้าคนเรารู้จักรักษาความสงบในใจของตัวเองได้ ก็ไม่ต้องพึ่งธรรมชาติ ไม่ต้องพึ่งป่าก็ได้ แต่ว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีความสามารถที่จะดึงเอาความสงบออกมาจากใจ หรือรักษาความสงบที่มีอยู่แล้วให้มันคงอยู่ ก็เลยต้องอาศัยตัวช่วย สิ่งแวดล้อม สถานที่ ป่าไม้ ธรรมชาติ เกาะแก่ง
ความสุขก็เหมือนกันนะ ความสุขมันก็มีอยู่แล้วในใจเรา แต่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ ก็ไปคิดว่ารูปรสกลิ่นเสียงมันจะทำให้เราได้มีความสุข แต่ที่จริงความสุขที่เกิดจากรูปรสกลิ่่นเสียงพวกนี้มันก็เป็นของชั่วคราว แล้วมันก็ไม่ได้เป็นความสุขที่ออกมาจากใจของเรา แต่เมื่อใดก็ตามที่เรารู้จักรักษาความสุขในใจ หรือช่วยปัดเป่าสิ่งที่มันก่อกวนปั่นป่วนความสุขในใจเรา ถ้าเราเอาสิ่งเหล่านี้ออกไป ความสุขมันก็แสดงตัวออกมาให้เราสัมผัสได้
มันก็เหมือนแสงแดดล่ะนะ แสงแดดหรือแดดที่มันส่องสว่างมาจากดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์มันก็ส่องสว่างอยู่ตลอดเวลา แต่บางครั้งมันมืด บางครั้งมันครึ้ม ไม่ใช่เป็นเพราะแสงแดดหรือแสงจากดวงอาทิตย์ มันลดน้อยถอยลงไป แสงแดดก็ยังเหมือนเดิม ยังแผ่มาจากดวงอาทิตย์เท่าเดิม แต่ที่มันมืดที่มันครึ้มเพราะมีเมฆมาบัง เมฆนี่ถ้าหากว่าหายไปเมื่อไหร่ ความสว่างก็ปรากฏ แต่เป็นความสว่างที่มีอยู่แล้วตลอดเวลา เพียงแต่บางช่วงบางขณะ เมฆมันบดบัง
อันนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสนะ อุปมาก็เหมือนใจของเราเหมือนกันนะ พระพุทธเจ้าตรัสว่า จิตนั้นประภัสสร แต่หมองมัวเพราะกิเลสมันจรเข้ามา จิตเรานี่สุกสว่างหรือผ่องใสอยู่แล้ว แต่ที่เศร้าหมองหรือที่เป็นทุกข์ เพราะกิเลสมันจรเข้ามา เราไม่จำเป็นต้องไปเพิ่มหรือเติมความผ่องใสให้กับใจเลยนะ สิ่งที่เราควรจะทำก็คือเอากิเลสออกไป พอเราดึงกิเลสออกไป ก็เหมือนกับเมฆที่พอมันหายไป ความสว่างก็เกิดขึ้น แต่เป็นความสว่างทีมีอยู่แล้วมาตลอดเวลา เพียงแต่ถูกเมฆมันบดบังเท่านั้นเอง
จิตใจเราก็เหมือนกันนะ สุกสว่างหรือผ่องใสอยู่ตลอด แต่ในบางครั้งหรือบ่อยครั้งก็หมองมัวเพราะกิเลสมันจรเข้ามา หรือที่จริงถ้าพูดให้ครอบคลุมคือ ความหลงที่จรเข้ามามันบดบังจิต
เวลาเรามาฝึกสติ ฝึกความรู้สึกตัว ที่จริงสติหรือความรู้สึกตัวมันก็มีอยู่แล้วในใจเรา มันไม่จำเป็นต้องมาเติม มาเสริมมาสร้าง แต่สิ่งที่เราทำจริงๆ ก็คือ เอาสิ่งที่มันบดบัง บั่นทอนสติหรือความรู้สึกตัวออกไป สิ่งที่ บดบังสติก็คือความลืมตัว สิ่งที่บดบังความรู้สึกตัวก็คือความหลง จะว่าไปแล้วการปฏิบัติของเราถ้ามองในแง่หนึ่ง มันไม่ใช่เป็นการมาเติมสติหรือเติมความรู้สึกตัวอะไรเลย เพียงแต่เราพยายามเอาความหลง ออกไป พอเราเอาความหลงออกไป ความรู้สึกตัวมันก็แสดง ก็ปรากฏ เหมือนกับพอเมฆมันจางหายไป ดวงอาทิตย์ก็สุกสว่างใหม่ แต่ที่จริงก็สว่างอยู่แล้ว เพียงแต่ถูกบดบังด้วยเมฆเท่านั้นเอง
ใจเรานี่มีความรู้สึกตัวเป็นทรัพย์ หรือเป็นคุณสมบัติประจำอยู่แล้ว แต่ที่เราทุกข์ ที่เราหม่นหมอง ที่เรากลัดกลุ้ม เพราะกิเลสหรือความหลงมันจรเข้ามา คำว่า “จร” แปลว่าไม่ใช่เป็นเนื้อเป็นตัวของใจ มันไม่ใช่ เป็นสิ่งที่ติดมาหรือเป็นธรรมาติของใจ มันเป็นเพียงแต่สิ่งที่มาชั่วครั้งชั่วคราว และเมื่อจรมามันก็มีคำว่าจรไป คำว่ามากับไปเป็นของคู่กัน อะไรที่มาได้ มันก็ไปได้
ฉะนั้น กิเลสที่จรเข้ามา มันก็สามารถจะไปได้เหมือนกัน ความหลงที่จรเข้ามา มันก็สามารถจะไปได้เหมือนกัน ที่จริงการปฏิบัติของเรา เราไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแต่เอาความหลงออกไปหรือไม่เปิดช่องให้ความหลงเข้ามา
นี่ก็เป็นเทคนิคเดียวกันกับผลงานแกะสลักของช่างหรือศิลปินที่มีฝีมือ อย่างไมเคิลแองเจโล ผลงานแกะสลักของเขาถือว่ายิ่งใหญ่มาก หินอ่อนที่ดูไม่น่าสนใจ หรือหินอ่อนที่ถูกคนเขาทิ้งแล้วเพราะผ่านมือช่างมาหลายคน แต่มันไม่สำเร็จเป็นผลงานที่สวยงามเลย ทั้งๆ ที่เป็นแท่งหินอ่อนที่คนเขาทิ้งแล้ว ผ่านงานมาแล้ว ไม่ได้เป็นแท่งหินอ่อนที่สวยเท่าไหร่ แต่ไมเคิลแองเจโลเขาสามารถที่จะแกะสลักให้เป็นรูป ปั้น ให้เป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ อย่างรูปปั้นดาวิด คนเห็นก็ทึ่งมากเลยเพราะดูเหมือนมีชีวิต แล้วก็งดงาม แม้กระทั่งเส้นเลือดที่ปูดโปนขึ้นมาคนก็เห็นด้วยสายตา
แล้วคนก็ไปถามไมเคิลแองเจโลว่าเขาแกะสลักได้อย่างไร ถึงได้ผลงานที่งดงามอย่างนั้น เขาก็บอกว่า เขาเพียงแต่เอาส่วนเกินออกไปเท่านั้นแหละ ภาพที่งดงามหรือรูปที่งดงามมันอยู่ในก้อนหินที่ดูไม่สวยงาม ที่ดูขี้เหร่ แต่ข้างในมันมีรูปที่สวยงามซ่อนอยู่ สิ่งที่ช่างทำก็คือแกะเอาส่วนเกินออกไป พอแกะเอาส่วนเกินออกไป สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือรูปที่งดงาม
การที่เรามาฝึกจิตก็เหมือนกันนะ ความรู้สึกตัวก็ดี สติก็ดี ปัญญาก็ดี จริงๆ ก็มีอยู่แล้วในใจของเรา เพียงแต่มันถูกครอบหรือถูกคลุมหรือถูกบดบังด้วยกิเลส ด้วยอวิชชา ด้วยความหลง หน้าที่เราก็คือเอาสิ่ง เหล่านี้ออกมา พอเอามันออกมา สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความตื่นรู้ ความสุกสว่างของใจ หรือความเบิกบาน รวมทั้งการมีปัญญาแจ่งแจ้ง ที่มันยังไม่เกิดขึ้นตอนนี้ไม่ใช่เพราะว่ามันไม่มีในใจเรานะ มันมี แต่มันถูกห่อ คลุมหลายชั้นทีเดียว ด้วยกิเลส อวิชชา ความหลง
ทางทิเบตเขาเชื่อกันเลยนะว่า พอคนเราตาย ชั้นของกิเลส อวิชชาเหล่านี้มันจะสลายไปทีละชั้นๆ จนกระทั่งจิตสว่างไสว เป็นจิตที่ประกอบไปด้วยปัญญาความรู้แจ้ง แต่มันเป็นชั่วประเดี๋ยวประด๋าวนะ เพราะ พอผ่านไปไม่กี่ขณะจิต มันก็ถูกห่อหุ้มด้วยกิเลสด้วยอวิชชาเหมือนเดิม ก็เลยต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ เพราะยังมีความหลง เพราะยังมีอวิชชา แต่ก็เป็นเฉพาะตอนที่ตาย ตอนที่ผ่านช่วงที่เรียกว่าแสงกระจ่าง คือไม่ใช่ความตายทางกาย แค่หมดลมหายใจ หัวใจหยุดเต้น แต่จิตมันก็ดับไปด้วย ตอนนั้นมันเป็นช่วงสั้นๆ ที่กิเลสทั้งหลายทั้งปวงที่เคยห่อหุ้มจิตเป็นชั้นๆ จะสลายไป สิ่งที่ตามมาคือความสุกสว่างของจิต ซึ่ง เรียกว่าแจ่มแจ้งด้วยวิชชาและปัญญา แต่สำหรับปุถุชนแล้วมันก็เป็นช่วงสั้นๆ แล้วอวิชชา กิเลสมันก็ห่อคลุมใหม่ อันนี้ก็เป็นความเชื่อของพุทธศาสนาแบบวัชรยาน
แต่สำหรับการปฏิบัติของเรา เราไม่ต้องรอให้ตายไปก่อน ถึงจะเกิดการแจ่มแจ้งทางปัญญาเพราะอวิชชามันเสื่อมสลายไปจนหมดสิ้น เราก็ปฏิบัติเพียงแค่ทำให้ความหลงมันไม่มีที่ตั้ง เราเอาความหลงออกไป ความรู้สึกตัวก็เกิดขึ้น แต่ถ้าหากยังไม่เข้าใจตรงนี้ เราก็พยายามทำความรู้สึกตัวไปเรื่อยๆ
อันนี้ก็เป็นวิธีที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนให้เราทำความรู้สึกตัวไป เริ่มตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมาเก็บที่นอนก็รู้สึกตัว ขณะที่เก็บที่นอน ใจก็มีสติ อยู่กับการเคลื่อนการขยับของมือ ขณะที่เก็บผ้าห่มพับผ้าห่ม ถึงเวลาลุก เข้าห้องน้ำก็มีสติ มีความรู้สึกตัว อาบน้ำถูฟันก็มีความรู้สึกตัว ซึ่งปกติแล้วมันก็ไม่ใช่จะรู้สึกตัวต่อเนื่องหรอก มันก็ลืมตัวบ้าง บางทีก็เผลอคิดไปถึงงาน เผลอคิดไปถึงเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้วเมื่อวันก่อน บางทีก็นึกถึงโทรศัพท์อยากจะไปเปิดดูข้อความ ซึ่งเดี๋ยวนี้มันเป็นนิสัยของคนส่วนใหญ่ก็ว่าได้ ตื่นขึ้นมาแล้วไม่ถึงสิบนาทีก็ต้องคว้าโทรศัพท์มาดูข้อความกันเป็นส่วนใหญ่
ในการทำอย่างนั้นก็เป็นธรรมดา แต่พอเราฝึกให้มีความรู้สึกตัว ในด้านหนึ่งคือการที่เราปัดเป่าขับไล่ความหลงออกไป ด้วยการที่เราเอาจิตมาอยู่กับสิ่งที่เราทำ อันนี้เรียกว่ามีสติอยู่กับกายหรือมีสติรู้กาย การที่เรามีสติรู้กายมันก็ทำให้ความหลงมันเข้ามาครอบงำจิตไม่ได้ แต่พอสติดับไป ความหลงก็จู่โจมเข้ามาเลย แต่พอเรากลับมามีสติใหม่ ความหลงก็หายไป เรียกว่ามันสลับกันแบบนี้แหละ แต่ถ้าหากเราขยันทำไปเรื่อยๆ ความรู้สึกตัวที่มีต่อเนื่องก็ทำให้ความหลงมันเข้ามาครอบงำ เข้ามาบดบังจิตได้ยาก
แล้วมันไม่ใช่แค่เพียงต้องมาทำในรูปแบบอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นการเดินจงกรม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างจังหวะ หรือการตามลมหายใจ นั่นอาจจะเรียกได้ว่ายังไม่สำคัญเท่ากับการที่เราพยายามมีสติ มีความรู้สึกตัวอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน หลายคนบอกว่าไม่ค่อยมีเวลาปฏิบัติในรูปแบบ แต่พอแนะนำว่าให้มีสติ มีความรู้สึกตัวในชีวิตประจำวัน ก็บอกทำได้ยาก คือมันจะมีข้ออ้างอยู่เรื่อยๆ ทั้งที่ยังไม่ได้ลองทำ หรือยังไม่ได้ทำเต็มที่ อันนี้ก็เป็น ความหลงอีกชนิดหนึ่งนะ กิเลสมันก็ปรุงแต่งเหตุผลข้ออ้าง แล้วเราก็หลงเชื่อมัน แต่พอเราไม่หลงเชื่อมัน อันนี้ก็ถือว่าเป็นขั้นตอนแรกแล้วในการที่จะปัดเป่าปิดกั้นความหลงไม่ให้มารบกวนใจ แล้วพอปิดกั้น ความหลงไม่ให้เข้ามารบกวนใจ มันก็เหมือนกับเมฆที่มันหายไป ดวงอาทิตย์ก็สว่างไสวเหมือนเดิม ถ้าเราปัดเป่าความหลงให้ออกไปอยู่เรื่อยๆ มันก็มีความรู้สึกตัวต่อเนื่องตามมา
แต่ถ้าหากยังไม่รู้ว่าจะขจัดปัดเป่าความหลงอย่างไร ก็หันมาสร้างสติ มาสร้างความรู้สึกตัวให้ต่อเนื่องก็แล้วกัน แล้วถ้าทำไปๆ สิ่งที่มันมีอยู่แล้วในใจเราก็จะแสดงตัวออกมา แล้วก็จะเป็นที่พึ่งพาอาศัยของเราได้ ไม่มีอะไรที่จะมาทำให้เรามีสติมีความรู้สึกตัวหรือมีความสงบได้ เพราะว่าทั้งหมดนี้มันมีอยู่แล้วในใจเรา สิ่งอื่นเป็นแค่ตัวช่วย เหมือนกับป่าที่ช่วยดึงความสงบ ที่มันมีอยู่แล้วในใจเราให้แสดงตัวออกมา หรือเหมือนกับผ้าห่มที่มันเพียงแค่รักษาความอบอุ่น ซึ่งที่จริงก็มาจากร่างกายของเรานั่นแหละ
ถ้าเรารักษาสติ รักษาความสงบ รักษาความรูู้สึกตัวในลักษณะนี้ ก็จะทำให้สติ ความรู้สึกตัว ความสงบ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แล้วก็สามารถที่จะปกป้องเราไม่ให้จมอยู่ในความทุกข์ได้