นโยบายธุรกิจสำคัญอย่างไร(15)
นโยบายธุรกิจสำคัญอย่างไร(15)
รศ.ดร.สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย
ภาคอุตสาหกรรม(ต่อ)
การกระจายอุตสาหกรรมสู่เขตภูมิภาค
ตั้งแต่ช่วงแผนพัฒนาฯฉบับที่สามเป็นต้นมา รัฐบาลมีโยบายกระจายอุตสาหกรรมไปสู่ภูมิภาค เพื่อสร้างรายได้และการจ้างงานในภูมิภาค และลดการกระจุกตัวของอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ในช่วงแผนพัฒนาฯฉบับที่ห้า รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาเขตชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) ทำให้อุตสาหกรรมกระจายสู่จังหวัดที่อยู่ชายฝั่งทะเลตะวันออก และจังหวัดอื่นๆ ในภาคกลางมากขึ้น ต่อมาแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดชายแดน เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนในพื้นที่ชายแดน ก็มีส่วนสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจในเขตภูมิภาค แต่จนถึงปัจจุบัน จังหวัดในภาคเหนือ ภาคอิสาน และภาคใต้ ส่วนใหญ่ยังมีอุตสาหกรรมอยู่น้อย
รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ มีนโยบายพัฒนาพื้นที่ในเขตภูมิภาค โดยมีแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกรอบใหม่ ที่เน้นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง มีนโยบายพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ และมีโครงการแลนด์บริดจ์ที่จะเชื่อมต่อฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน
นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลตะวันออกรอบใหม่ มีความคืบหน้าไปมากแล้ว แต่โครงการแลนบริดจ์ยังไม่ได้เริ่มต้น ก็มีการเปลี่ยนรัฐบาล และรัฐบาลใหม่มีทีท่าจะยกเลิกโครงการนี้
โครงการแลนด์บริดจ์ไม่เพียงมีประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม ในภาคใต้เท่านั้น ยังมีประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศหลายประการ (มีเขียนไว้ใน”นโยบายเศรษฐกิจสำคัญอย่างไร(8)”บ้างแล้ว)
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่มีทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ได้ยกเลิกแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ ก็ได้ยกเลิกโครงการไทยเข้มแข็ง ทั้งนโยบายการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมและนโยบายไทยเข้มแข็ง เกิดขึ้นหลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ มีขึ้นเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ทรุดลงไปมากหลังวิกฤตเศรษฐกิจ นโยบายดังกล่าวถ้าได้ดำเนินการต่อ จะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจไทยได้มาก แต่ก็ถูกยกเลิกไป ทั้งที่เพิ่งเริ่มดำเนินการ
ถ้าโครงการแลนด์บริดจ์ถูกยกเลิกจริง ก็จะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่รัฐบาลที่ควบคุมโดยตระกูลชินวัตร ยกเลิกนโยบายที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศไปอย่างน่าเสียดาย
เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค นโยบายการพัฒนาเขตภูมิภาคต่างๆที่ได้ดำเนินการมาแล้ว ควรจะดำเนินการต่อไป ไม่ควรถูกยกเลิก และควรจะขยายขอบเขตให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ในการนี้ การพัฒนาสิ่งสาธารณูปโภคโดยเฉพาะการคมนาคมสื่อสาร การส่งเสริมผู้ประกอบการท้องถิ่น การเชื่อมโยงระหว่างภาคเศรษฐกิจ(เกษตร อุตสาหกรรมและบริการ) โดยใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ การร่วมมือประสานงานกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนล้วนเป็นปัจจัยสำคัญ รัฐบาลควรมีแผนงานและโครงการรองรับชัดเจน มีงบประมาณเพียงพอในการดำเนินงาน และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
เหตุหนึ่งที่อุตสาหกรรมไม่ตั้งโรงงานในภูมิภาค คือการขาดแคลนสิ่งสาธารณูปโภค การสร้างสิ่งสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่อการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ และถนน หนทาง จึงมีความสำคัญ ปัจจุบัน พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ยกเว้นถิ่นทุรกันดาที่อยู่ห่างไกลความเจริญ มีสิ่งสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอยู่พอควร แต่ในบางพื้นที่ เช่น ในพื้นที่ที่มีวัตถุดิบที่เหมาะแก่การผลิตสินค้าอุตสาหกรรม อาจต้องสร้างสิ่งสาธารณูปโภคเพิ่มเติม
การสร้างสิ่งสาธารณูปโภคต้องใช้เงินทุน และอาจมีผลตอบแทนที่ไม่คุ้มกับเงินลงทุนในระยะสั้น แต่การสร้างสิ่งสาธารณูปโภค มีผลในการสร้างรายได้ สร้างการจ้างงาน และสร้างประโยชน์อื่นๆทางสังคมในระยะยาวได้ รัฐบาลจึงควรสนับสนุนการสร้างสิ่งสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆในเขตภูมิภาคโดยไม่คำนึงแต่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น
ผลการศึกษาที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า ความคุ้นเคยกับท้องถิ่น เป็นปัจจัยสำคัญในการตั้งกิจการอุตสาหกรรมการค้าและบริการในท้องถิ่นต่างๆ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในจังหวัดนั้น ลงทุนในอุตสาหกรรม จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ที่ทำให้เกิดธุรกิจอุตสาหกรรมในภูมิภาค โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจและมีสิ่งสาธารณูปโภคค่อนข้างพร้อมมูลอยู่แล้ว
ในการส่งเสริมผู้ประกอบการท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะที่สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เช่น กองพัฒนาอุตสาหกรรมในกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ควรมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมและพัฒนาผู้ประกอบการในจังหวัดต่างๆ
สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด มีบทบาทเป็นผู้ประสานงานระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ควรศึกษาสภาพและปัญหาอุตสาหกรรม และทรัพยากรณ์ที่มีอยู่ในพื้นที่ เผยแพร่ข้อมูลการให้บริการต่างๆของกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานอื่นๆให้แก่สถานประกอบการ
สถาบันการศึกษา ทั้งมหาวิทยาลัยและโรงเรียนอาชีวะศึกษาที่ตั้งอยู่ในเขตภูมิภาค ควรมีบทบาทในการศึกษาวิจัย และร่วมฝึกอบรมคนงานแก่กิจการอุตสาหกรรมในภูมิภาค
นอกจากกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว หน่วยงานอื่นๆทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ล้วนมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการกระจายอุตสาหกรรม และสร้างความเจริญทางด้านอื่นในภูมิภาคได้ เช่น จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขตภูมิภาค จัดตั้งศูนย์แสดงสินค้าในภูมิภาคและในจังหวัดต่างๆ ส่งเสริมการขายสินค้าออนไลน์ สนับสนุนเงินทุน ส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างสถานประกอบการ และระหว่างธุรกิจเอกชนกับชาวบ้าน ตลอดจนกำกับดูแลไม่ให้กิจการอุตสาหกรรมในภูมิภาคสร้างมลภาวะ ที่จะเกิดผลเสียต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
แม้การกระจายอุตสาหกรรมสู่เขตภูมิภาคจะมีความสำคัญ แต่รัฐบาลก็ไม่ควรทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อการนี้ โดยละเลยนโยบายด้านอื่น เช่น การพัฒนากำลังคน การปรับปรุงความสามารถในการแข่งขัน และการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในรายได้ระหว่างประชาชน นอกจากนั้น การส่งเสริมอุตสาหกรรมในภูมิภาค ต้องคำนึงถึงข้อแตกต่างทาง เศรษฐกิจและทรัพยากรของแต่ละพื้นซึ่งมีความเหมาะสมในการพัฒนาอุตสาหกรรมแตกต่างกันไป นอกจากอุตสาหกรรมแล้ว การพัฒนาการเกษตร การค้า และบริการอื่น ก็มีความสำคัญต่อการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค การ ส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างภาคเศรษฐกิจต่างๆ ก็เป็นนโยบายที่จะสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างๆได้
การส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดย่อม
เรื่องการส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดย่อม มีการเขียนเไว้บ้างก่อนหน้านี้แล้ว(โปรดดูนโยบายเศรษฐกิจสำคัญอย่างไร(3))ในที่นี้จะสรุปเพียงบหัวข้อที่ควรให้ความสนใจในการส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดย่อม และนโยบายเพิ่มเติมบางอย่างที่ควรเน้น เช่น การช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิดและการตกต่ำของเศรษฐกิจไทยในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา และการปรับตัวของวิสาหกิจอุตสาหกรรมขนาดย่อมในยุคของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
การช่วยเหลืออุตสาหกรรมขนาดย่อมที่มีปัญหา
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา วิสาหกิจขนาดย่อมในประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย แม้รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือบ้าง แต่ก็ไม่สามารถช่วยเหลือได้ทั่วถึง หน่วยงานต่างๆที่ส่งเสริมธุรกิจธุรกิจขนาดย่อม ต้องสำราจสภาพและปัญหาของวิสาหกิจขนาดย่อม และกำหนดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่รับผลกระทบต่อไป ในการนี้ หน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภาครัฐบาล ทั้งสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม ควรร่วมมือกันช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบ หน่วยงานอื่นของรัฐ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และสถาบันอุตสาหกรรมเฉพาะทาง ก็ควรมีบทบาทช่วยเหลือแก้ปัญหาของกิจการที่ได้รับผลกระทบในแต่ละอุตสาหกรรม หน่วยงานต่างๆในภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนสมาคมอุตสาหกรรมต่างๆ ก็ควรมีส่วนร่วมด้วย
กิจการอุตสาหกรรมขนาดย่อมมีอยู่จำนวนมากตามพื้นที่ต่างๆของประเทศ การช่วยเหลือเยียวยากิจการเหล่านี้อย่างทั่วถึง คงเป็นไปได้ยาก ข้อเสนอแนะที่เขียนไว้แล้วก่อนหน้านี้คือการจัดทำนามสงเคราะห์ หรือนามานุกรมที่รวบรวมรายชื่อของหน่วยงานช่วยเหลือกิจการขนาดย่อมในแต่ละด้าน พร้อมทั้งระบุช่องทางการติดต่อขอรับการช่วยเหลือ ทำให้กิจการที่ต้องการความช่วยเหลือเข้าถึงบริการต่างๆ ที่จะช่วยแก้ปัญหาเขาได้สะดวกขึ้น
หน่วยงานต่างๆทั้งในภาครัฐและเอกชน ล้วนมีบทบาทในการส่งเสริมและช่วยเหลืออุตสาหกรรมได้ ไม่เพียงแต่ธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจขนาดย่อมในภาคการเกษตรและภาคบริการ ก็ได้รับผลกระทบ จากการระบาดของโรคโควิดและเศรษฐกิจตกต่ำ และต้องได้รับความช่วยเหลือหลายด้าน เช่น การสนับสนุนด้านการเงิน ด้านการตลาด การพัฒนาบุคลากร และการลดต้นทุน ซึ่งจะกล่าวโดยสังเขปดังนี้:
การสนับสนุนด้านการเงิน
ในเวลาที่ผ่านมา มีการจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดย่อมทางด้านการเงิน เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม สถาบันการเงินเฉพาะกิจต่างๆเช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า ก็มีโครงการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดย่อมในภาคเศรษฐกิจต่างๆ ธนาคารพาณิชย์บางแห่ง ก็มีโครงการที่ทำการให้กู้แก่วิสาหกิจขนาดย่อมโดยเฉพาะ
มาตรการส่งเสริมทางด้านการเงินแก่วิสาหกิจขนาดย่อม แม้ขยายตัวมากในเวลาที่ผ่านมา แต่เมื่อเทียบกับความต้องการทางด้านเงินกู้ของวิสาหกิจขนาดย่อม ยังมีขอบเขตที่จำกัด สิ่งที่เขาต้องการคือการเข้าถึงเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยเหมาะสม การช่วยเหลือทางด้านการเงินที่มีต่อวิสาหกิจขนาดย่อม ยังต้องมีการขยายขอบเขตมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
การสนับสนุนด้านการตลาด
ในปัจจุบัน หน่วยงานที่มีบทบาทในการส่งเสริมธุรกิจขนาดย่อมด้านการตลาด ยังมีอยู่ไม่มาก หน่วยงานในภาครัฐส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงพาณิชย์ สมาคมเอกชนแม้มีกิจกรรมส่งเสริมด้านการตลาดอยู่บ้าง แต่เป็นการส่งเสริมโดยทั่วไป ไม่ได้เน้นเฉพาะกิจการขนาดย่อม ปัญหาการตลาดของธุรกิจขนาดย่อม อาจแตกต่างจากปัญหาของธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อให้การช่วยเหลือด้านการตลาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องศึกษา เพื่อให้ช่วยเหลือแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
การพัฒนาบุคลากร
การพัฒนาบุคลากร มีทั้งการพัฒนาผู้ประกอบการ หรือบุคลากรในระดับบริหาร และการพัฒนาแรงงาน แต่ละหน่วยงานทั้งที่อยู่ในภาครัฐและเอกชนมีจุดเน้นที่แตกต่างกัน ประเทศไทยมีกองทุนที่ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน แต่ผลที่ได้จากการปรับปรุงฝีมือแรงงานยังไม่ชัดเจน
ในเรื่องการพัฒนาบุคลากร สถาบันการศึกษา ทั้งมหาวิทยาลัย และโรงเรียนอาชีวศึกษา มีบทบาทสำคัญ (เรื่องนี้ได้กล่าวมาบ้างแล้ว) สถาบันอุตสาหกรรมเฉพาะทางและสมาคมในภาคเอกชน ก็มีบทบาทในการพัฒนาบุคลากร และมีโครงการที่เน้นการพัฒนาบุคลากร ให้แก่ธุรกิจขนาดย่อมโดยเฉพาะ
การลดต้นทุน
ปัจจัยสำคัญในการลดต้นทุน คือ การเพิ่มประสิทธิภาพทั้งการผลิตการจำหน่าย และการลดต้นทุนโลจิสติกส์ในขั้นตอนต่างๆ การแก้ไขกฎระเบียบและข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ มีส่วนช่วยลดต้นทุนได้ รัฐบาลควรแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ หน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมธุรกิจขนาดย่อมต่างๆ ก็ควรมีศูนย์ช่วยเหลือทางกฎหมาย และให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดย่อมในด้านนี้
การปรับตัวของอุตสาหกรรมขนาดย่อมในยุคที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
ในยุคที่เทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว กิจการขนาดย่อมจำนวนมากไม่สามารถปรับตัวทัน ต้องได้รับผลกระทบมาก บ้างก็ต้องเลิกกิจการไป ในเรื่องการปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้ หน่วยงาน ส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดย่อมทั้งในภาครัฐและเอกชน มีบทบาททางด้านนี้ได้ เช่น เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร จัดการอบรมผู้ประกอบการและพนักงานให้เขาเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของเขา เช่น การจัดหาวัตถุดิบ และเครื่องจักรอุปกรณ์ การปรับปรุงการผลิต การจำหน่าย และการประกอบการในลักษณะอื่นๆ เทคโนโลยีสมัยใหม่บางอย่างสามารถเรียนรู้ได้ไม่ยากนัก การเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลก็ทำได้โดยสะดวก การฝึกอบรม ก็อาศัยเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ได้ เช่น มีการสอนหรือการฝึกอบรมออนไลน์ การติดต่อสื่อสารโดยใช้อินเตอร์เน็ต เฟซบุค และไลน์ เป็นต้น
ในปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ธุรกิจขนาดเล็กสามารถแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่มากขึ้น ความเสียเปรียบที่เกิดจากขนาดกิจการในด้านต่างๆลดน้อยลงได้โดยการใช้เทคโนโลยี การออกแบบผลิตภัณฑ์ การโฆษณา การจัดจำหน่าย การผลิต การขนส่ง และการสื่อสารกับลูกค้าที่อยู่ห่างไกล สามารถทำได้โดยเสียค่าใช้จ่ายไม่มาก การซื้อขายสินค้าออนไลน์ ก็ทำให้ กิจการขนาดเล็กแข่งขันกับกิจการขนาดใหญ่ได้โดยมีข้อเสียเปรียบทางด้านต้นทุนน้อย
การฝึกอบรมให้วิสาหกิจขนาดย่อมมีความสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เป็นสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมต้องให้ความสนใจ ควรรณรงค์ให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมในพื้นที่ต่างๆ มีความรู้ความเข้าใจ และสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของตน ทั้งด้านการผลิต การจำหน่าย การบริหารจัดการ การเข้าถึงบริการความช่วยเหลือ และการรู้วิธีค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆได้ด้วยตนเอง จากเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่
การส่งเสริมการรวมกลุ่มธุรกิจเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ธุรกิจอุตสาหกรรมต้องเกี่ยวข้องกับผู้ผลิตวัตถุดิบหรือชิ้นส่วน และกับลูกค้า ต้องติดต่อกับสถาบันการเงินและหน่วยงานของรัฐ ธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน แม้ต้องแข่งขันกัน แต่ก็ร่วมมือกันได้ การได้มาซึ่งข่าวสารข้อมูลการตลาด การจัดซื้อวัตถุดิบ การอบรมคนงานและการปรับปรุงเทคโนโลยีทางด้านต่างๆ สามารถทำร่วมกันได้ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิสาหกิจขนาดย่อม จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยให้มีการปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ ในการนี้ หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมธุรกิจขนาดย่อม ควรส่งเสริมให้สถานประกอบการธุรกิจจัดตั้งเครือข่าย ที่มีความร่วมมือด้านต่างๆ โดยเฉพาะการปรับปรุงความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี