ศาสนาในตะวันออกกลาง (เอเชียตะวันตก) ตอนที่ 3
ศาสนาในตะวันออกกลาง (เอเชียตะวันตก) ตอนที่ 3
จรัญ มะลูลีม
การขยายตัวของคริสตศาสนา
ต่อมาคริสตศาสนาก็ขยายเข้าสู่อัร-รูมหรือโรม จักรพรรดิแห่งรูม (คำว่า “อัร-รูม ถูกใช้ในสมัยก่อนอิสลาม (กุรอาน 30:2)) แห่งเดียวกับในสมัยหลัง คืออาณาจักรโรมันตะวันออกหรือไบแซนติอุม นักประวัติศาสตร์ของชาวอาหรับนั้นเมื่อจะพูดถึง “ไบแซนไตน์” พวกเขาจะพูดว่า “โรมัน” ซึ่งตอนนั้นมีอำนาจทั่วโลกพร้อมกับหันมารับศาสนาใหม่นี้และรับแนวทางของคริสตศาสนามาใช้ ด้วยเหตุนี้ศาสนาของศาสดาเยซูก็ขยายไปทั่วอียิปต์ ซีเรียและกรีซ จากอียิปต์ก็แพร่ไปยังอบิสสิเนียและเจริญงอกงามอยู่หลายร้อยปีต่อมา ผู้ใดก็ตามที่แสวงหาความคุ้มครองจากโรมันก็ต้องเข้าร่วมในศาสนานี้
อารยธรรมและศาสดา
ตะวันออกกลางโบราณแหล่งกำเนิดอารยธรรม
ปัญหาเรื่องต้นกำเนิดและพัฒนาการแห่งอารยธรรมของมนุษย์ได้ทำความงงงันให้แก่นักศึกษาสมัยปัจจุบันอยู่ต่อไป นักวิชาการเคยคิดมานานแล้วว่าประเทศอียิปต์คืออู่ของอารยธรรมเมื่อหกพันปีที่แล้วและคิดว่าในสมัยต้นๆ นั้นประกอบด้วยประวัติศาสตร์เก่าซึ่งปราศจากความรู้ด้านวิทยาศาสตร์
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้นักโบราณคดีได้ไปทำงานในอิรักและซีเรียโดยหวังว่าจะได้ค้นพบร่องรอยเกี่ยวกับต้นกำเนิดของอารยธรรมเมโสโปเตเมียและโฟนิเซีย เพื่อจะสอบสวนดูว่าอารยธรรมทั้งสองนี้มีมาก่อนหน้าหรือภายหลังอารยธรรมอียิปต์และหวังที่จะสืบสวนถึงอิทธิพลของอารยธรรมเหล่านั้นที่มีต่อกันและกัน
ไม่ว่าผลของการค้นคว้าด้านโบราณคดีในช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ตอนนี้จะเป็นอย่างไรก็ตามก็ยังไม่มีการค้นพบทางโบราณคดีอันใดในประเทศจีนหรือตะวันออกไกลจะท้าทายข้อเท็จจริงข้อหนึ่งได้ นั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่าอู่อารยธรรมของมนุษย์ที่อยู่ในระยะต้นที่สุด ไม่ว่าจะเป็นที่อียิปต์โฟนิเซียหรือเมโสโปเตเมียก็ตาม มักจะมีความสัมพันธ์กับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
เป็นเรื่องที่ไม่มีข้อสงสัยกันในเรื่องที่ว่าอียิปต์คือดินแดนแรกที่ส่งอารยธรรมของตนออกไปยังกรีกและโรม และเรื่องที่ว่าอารยธรรมสมัยปัจจุบันมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดมากกับอารยธรรมสมัยโบราณ (มุฮัมมัด หุซัยนฺ ฮัยกัล, ศาสดามุฮัมมัด มหาบุรุษแห่งอิสลาม ภาคหนึ่ง, แปลโดยกิติมา อมรทัต, อุ่น หมั่นทวี และจรัญ มะลูลีม, กรุงเทพมหานคร สำนักพิมพ์อิสลามิค อะคาเดมี, 2537 , หน้า 1)
ตะวันออกกลางเป็นผู้ให้กำเนิดอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกนับเป็นเวลา 25,000 ปีมาแล้วที่ภูมิภาคแห่งนี้ได้เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นี้มีฝีมือในการทำกสิกรรมมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ทำให้ดินแดนแห่งนี้มีผู้เข้ามาตั้งหลักแหล่ง เกิดชุมชนและการสนับสนุนให้มีงานหัตถกรรมขึ้นมาบริเวณลุ่มน้ำไนล์ของอียิปต์และบริเวณชายฝั่งของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอันเป็นที่ตั้งของประเทศ ซีเรีย เลบานอนและปาเลสไตน์ (อิสราเอล) ในปัจจุบัน
ดินแดนทั้งหมดในบริเวณลุ่มน้ำไทกริสและยูเฟรตีสได้มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์มาช้านานถึง 10,000 ปี ดินแดนดังกล่าวเรียกกันในอดีตว่าบาบิโลเนีย จากบาบิโลเนียก็เปลี่ยนมาเรียกเมโสโปเตเมียในภายหลัง
วัฒนธรรมของผู้คนแห่งปี 4000 – 3000 ก่อนคริสตศักราชของตะวันออกกลางหรือเอเชียตะวันตกมีคุณูปการต่อมนุษย์อย่างใหญ่หลวง เพราะเป็นอดีตของวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อการพัฒนาอารยธรรมตะวันออกกลางและตะวันตกอย่างยิ่ง
ดินแดนจันทร์เสี้ยวสมบูรณ์ ซึ่งอยู่ระหว่างแม่น้ำไทกริสและยูเฟรตีสนั้นถือกันว่าเป็นที่เกิดของอารยธรรมของตะวันออกกลาง มีผู้คนหลายกลุ่มที่ได้มีส่วนให้กำเนิดต่อวัฒนธรรมสำคัญในอาณาบริเวณนี้ กลุ่มคนเหล่านี้ได้แก่ชาวบาบิโลเนีย (ปี 1850-1550 ก่อนคริสตศักราช)
ในเมโสโปเตเมีย ซึ่งมีความหมายในภาษากรีกว่าแม่น้ำสายกลางนั้นเป็นบริเวณที่ชาวอัสซีเรียและบาบิโลเนียได้มุ่งมั่นในการสร้างอารยธรรมมาตั้งแต่ปี 3000 ก่อนคริสตศักราช
ชาวคอลเดีย (ปี 612-539 ก่อนคริสตศักราช) ก็เป็นชนอีกกลุ่มหนึ่งนอกเหนือไปจากชาวสุเมอเรียและชาวบาบิโลเนีย ที่เป็นผู้คิดค้นเกี่ยวกับจักรราศี โดยเชื่อว่าในที่สุดพวกเขาจะสามารถทำนายอนาคตได้ด้วยการดูตำแหน่งดาวบนท้องฟ้า
ในขณะที่ชาวฮิตไตส์ (ปี 1750-1200 ก่อนคริสตศักราช) ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่บริเวณเอเชียน้อยหรือตุรกีฝั่งเอเชียก็เป็นผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความสามารถหลอมโลหะเพื่อทำเครื่องมือการเกษตรและอาวุธ
ส่วนชาวลิเดีย (ปี 600-500 ก่อนคริสตศักราช) ซึ่งอยู่ในเอเชียน้อยเช่นกันเป็นผู้ที่ประดิษฐ์ระบบการชั่งน้ำหนักและการวัดขึ้นมา
ชาวเผ่าพันธุ์เซมิติค (Semitic) มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแหลมอาระเบีย บรรพบุรุษของชนเผ่าพันธุ์นี้คงจะอาศัยอยู่ที่นี่มาก่อนระยะหนึ่ง ต่อมาจึงได้โยกย้ายไปอยู่ในที่ต่างๆ ของดินแดนจันทร์เสี้ยวสมบูรณ์ (The Fertile Crescent) ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นที่ตั้งของอิรัก ซีเรีย เลบานอนและอียิปต์ และกลายเป็นชนชาติต่างๆ กันในเวลาต่อมาคือชาวบาบิโลเนีย อัสซีเรีย โฟนิเซียและฮิบรู (ยิว) เป็นต้น