นโยบายเชิงรุกด้านต่างประเทศของไทยควรเป็นอย่างไร
สบาย สบาย สไตล์เกษม
เกษม อัชฌาสัย
นโยบายเชิงรุกด้านต่างประเทศของไทยควรเป็นอย่างไร
มันเป็นความบังเอิญครับเมื่อค่ำวันอังคาร(๒๙พย.๖๕)ที่ผ่านมาได้ฟังการเสวนาเรื่อง”นโยบายต่างประเทศไทยในบริบทโลกใหม่”
จัดโดยสำนักข่าว”ไทยพีบีเอส”และ”เครือข่ายข่าวแห่งเอเชีย”ชื่อย่อว่า ANN ผ่านทาง”ไทยพีบีเอส เฟซบุ๊ก”
โดยมี”เทพชัย หย่อง”มือข่าวต่างประเทศผู้คร่ำหวอดมาตั้งแต่สมัยอยู่เครือเนชั่น เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
น่าสนใจมากครับ เพราะไม่ได้เห็นใครจัดเสวนาจริงจังอย่างนี้ โดยเฉพาะในประเด็นต่างประเทศมานานแล้ว
อีกอย่างความที่เคยเป็นคนจัดเสวนาเช่นนี้มาก่อนหลายครั้งหายหนทั้งสมัยอยู่”สยามรัฐ”และ”ช่องเจ็ดสี”
ก็เลยพลอยตื่นตาตื่นใจไปกับการเสวนาครั้งนี้ด้วย
ผู้ที่เข้าร่วมการเสวนาครั้งนี้ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะอดีตนายกรัฐมนตรี นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ รองศาสตราจารย์ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรัฐบาลชุดนี้และรองศาสตราจารย์ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ผมจะไม่แยกเล่าความเห็นของแต่ละท่าน ถึงนโยบายต่างประเทศของไทย
แต่จะพูดถึงโดยรวมในเบื้องแรกว่าทุกท่านเห็นด้วยกับการที่ไทยจะเดินนโยบาย”รุก”ไปข้างหน้า
ไม่ใช่”ตั้งรับ”อย่างที่เป็นมาตลอดในอดีต
ต้องรุกเพื่อจะได้รักษาผลประโยชน์และรักษาความมั่นคงของชาติไว้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่แม้ที่ผ่านมาเราพอจะประคับประคองเอาตัวรอดมาได้ด้วยการอนุรักษ์นโยบายเดิมคือ”การวางตัวเป็นกลาง”ตามหลักการสร้างสมดุลดั้งเดิมที่ใช้มานานสิบปีๆ จนถูกกล่าวขวัญในวงการระหว่างประเทศว่า Beyond neutrality (อภิสิทธิ์) คือเลยความเป็นกลางไป
แต่ในบางเรื่องเราก็ถูกตำหนิในกรณีที่ยังคงสับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมา วางเฉยต่อการกดขี่ต่อประชาชนชาวพม่า แทนที่จะเชิดชูระบอบประชาธิปไตย
ที่เสวนายังตั้งข้อสังเกตว่าไทยเรามีจุดยืนที่ไม่ชัดเจนต่อกรณีที่รัสเซียเปิดทำสงครามรุกรานยูเครน โดยงดโหวตเสียงต่อมติประณามรัสเซีย ในสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ซึ่งก็สร้างความ”กังขา”ต่อวงการโลกมากเช่นกัน
ที่เสวนายังพูดถึงบทบาทของอาเซียน ที่ไทยน่าจะช่วงชิงบทบาทเป็น”ผู้นำ”ได้ แต่ก็ไม่ทำทั้งๆ ที่น่าจะทำได้ ในเมื่อไทยเรามิใช่หรือที่เจ้ากี้เจ้าการจัดตั้งอาเซียนขึ้นมา แต่ก็ยังมีปัญหาในประเด็นความสัมพันธ์กับภายนอกไม่ต้องตรงกันในระหว่างสมาชิกด้วยกัน แม้จะไม่ขัดแย้งกันชัดๆ
ที่เสวนา ยังได้เอ่ยถึงกรณีที่ไทยเราในฐานะเป็นเจ้าภาพประชุม”เอเปค”ครั้งที่ผ่านมา พยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงสงครามยูเครน ในขณะที่ในที่ประชุม“จี๒๐”ที่อินโดนีเซียเขาประณามกันโจ๋งครึ่ม โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร “ริชชี ซูนาก”
ถามว่าที่เสวนา นำเสนออย่างไร ต่อการเสนอให้ไทยดำเนินนโยบายในทางรุก
กลับไม่ปรากฏว่า มีการนำเสนอที่ชัดเจนครับ
นอกจากการสร้าง”สมดุลใหม่”ในเชิงยุทธศาสตร์ชาติด้านการต่างประเทศ ให้ประเทศไทยไปข้างหน้า(ดร.ปณิธาน) ซึ่งได้มีการเสนอแผนแม่บทให้กระทรวงต่างประเทศพิจารณาไปแล้ว เพื่อดำเนินการ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ
โดยดร.ปณิธานกล่าวว่าตามแผนแม่บทด้านการต่างประเทศในเชิงยุธศาสตร์ชาตินั้นจะทำได้ก็คือประเทศไทยต้องมีเอกภาพ มีเป้าหมาย ๕ ประการ คือ
๑ ความมั่นคง ไม่ว่าจะในเรื่องชายแดน เรื่องเสถียรภาพ เรื่องสงคราม เรื่องผู้อพยพ เหล่านี้ต้องมีความชัดเจน
๒ ต้องมีความมั่งคั่งคือต้องมีการเจรจาการค้า ต้องเข้าสู่บริบทการค้าเสรี ผลักดัน เอสเอ็มอี
๓ ต้องมีมาตรฐานสากล ต้องเข้าเป็นภาคีกับมาตรฐานสากลทั้งหมด
๔ มีสถานะเกียรติภูมิเป็นที่ยอมรับคือเป็นผู้นำ
๕ ต้องมี”พลวัต”คือมีพลัง ต้องรู้จักวิธีทำงานกับภาคเอกชน
ตามที่ได้กล่าวแล้วทั้งหมดนี้ ดร.ปณิธาน ท่านก็ไม่แน่ใจว่า ได้นำเอาใช้แล้วมากน้อยเพียงใด
ผมเอง ใคร่แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า เพราะตามข้อเท็จจริงแล้วสิ่งเหล่านี้ถูกการเมืองที่แปรเปลี่ยน เข้ามาขวาง
เสียเกือบจะทั้งหมด นอกจากบางข้อเท่านั้นที่สามารถทำได้
แต่การเสวนาครั้งนี้ ไม่พูดนโยบายทางรุกของไทยตรงๆ แต่ เน้นพูดเรื่องอาเซียน ซึ่งสมควรสมัครสมานสามัคคีพูดด้วยเสียงเดียว ไม่ใช่แตกเสียงแย่งกันพูดเช่นในอดีต
โอกาสที่ไทยจะเป็นจะเป็นผู้นำในอาเชียนนั้นมีอยู่ แต่คงต้องแข่งกับอินโดนีเซียและเวียดนามที่กำลังมาแรง
คำถามในที่เสวนาก็คือจะทำได้แค่ไหน ที่ไทยจะเป็น”ตัวกลาง”ในการการแข่งขันกันระหว่างตะวันตกกับจีนแผ่นดินใหญ่ให้พอดิบพอดี
แต่นั่น ไทยต้องสร้างความน่าเชื่อถือ เช่นด้วยการแสดงท่าทีชัดเจนว่า ต้องการเป็นประชาธิปไตยเสรีอย่างแท้จริง ถึงแม้ตอนนี้ยังไม่ชัด ยังไปไม่ถึง
จบกันห้วนๆ อย่างนี้ละครับการเสวนา ก็ไม่รู้ว่า จะมีส่วนช่วยรัฐบาลคิดต่อ-ทำต่อได้อย่างไรบ้าง