การตื่นตัวของศาสนากับกระบวนทัศน์หลังนวยุค
การตื่นตัวของศาสนากับกระบวนทัศน์หลังนวยุค
ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน
ศูนย์อิสลามศึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
การศึกษาทำความเข้าใจและวิเคราะห์เกี่ยวกับประเด็นการตื่นตัวของโลกอิสลาม อยู่ในแผนงานที่ชาติมหาอำนาจได้วิจัยอย่างเอาจริงเอาจัง ทั้งนี้ทั้งนั้นเนื่องจากความกลัว ความหวาดระแวงที่พวกเขามี อีกทั้งเพื่อหาหนทางในการเผชิญและทำลายคลื่นแห่งการตื่นตัวนี้ เจ้าทฤษฎีแห่งยุคต่างก็ยอมรับว่าการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่านภายใต้การนำของท่านอิมามโคมัยนีคือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตื่นตัวของโลกอิสลาม
อายาตุลลอฮ์ ซัยยิด อาลี คามาเนอี ผู้นำสูงสุดแห่งสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านกล่าวถึงปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า “ก่อนการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน กลุ่มประเทศอิสลาม มีกลุ่มต่างๆ กลุ่มคนหนุ่มสาว กลุ่มนักเคลื่อนไหว กลุ่มพวกเรียกร้องเสรีภาพ เข้าสู่สนามแห่งนี้ แต่หลังจากการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่านเกิดขึ้น บรรทัดฐานของการขับเคลื่อนและขบวนการเรียกร้องเสรีภาพก็เป็นอิสลาม ทุกพื้นที่ของโลกอิสลามยุคนี้ที่มีกลุ่มเรียกร้องเสรีภาพ ต่อต้านชาติมหาอำนาจ บรรทัดฐานหลักและอุดมการณ์หลักของกลุ่มเหล่านั้นก็คืออิสลาม”
มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่งที่ประกอบด้วยร่างกายและวิญญาณ มีสติปัญญา และมีอารมณ์ และมนุษย์ยังมีสัญชาตญาณบริสุทธิ์ที่เรียกร้องและพยายามแสวงหาคำตอบให้กับชีวิต ทั้งส่วนที่เป็นความสุขทางกายภาพและทางจิตและวิญญาณ และยังได้แสวงหาสืบค้นบางอย่างให้เจอเพื่อไปสู่ความสมบูรณ์สูงสุดของตัวตน
การดำเนินชีวิตของมนุษย์มีสองด้าน คือด้านเอกบุคคลและด้านสังคม เหมือนกับทุกๆอวัยวะของร่างกายมีผลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ต่ออวัยวะส่วนอื่นๆด้วยเช่นกัน ดังนั้นมนุษย์ จึงมีความจำเป็นต่อแบบแผนการดำเนินชีวิตหนึ่ง ที่จะเป็นหลักประกันความผาสุกทั้งทางกายภาพและทางจิตวิญญาณ ทั้งทางการดำเนินชีวิตที่เป็นปัจเจกบุคคลและทางสังคม กระบวนแบบแผนนี้ เรียกว่า “ศาสนา” ซึ่งเป็นความจำเป็นที่สัญชาตญาณของมนุษย์เรียกหา ดังที่องค์อัลลอฮทรงตรัสว่า. “จงผินหน้าของเจ้าสู่ศาสนาอันเที่ยงแท้เถิด ซึ่งพระองค์ทรงสร้างให้มนุษย์มีมันอยู่คู่กับมนุษย์”(บทอัรอัรรูม โองการที่ ๓๐)
สิ่งมีชีวิตทุกอย่างมีสถานะของความสมบูรณ์อยู่ ซึ่งจะต้องพัฒนาไปสู่จุดสูงสุดของความสมบูรณ์นั้น และไม่มีหนทางใดที่จะไปสู่ความสมบูรณ์สูงสุดนั้นได้ นอกจากจะต้องยึดปฎิบัติตามที่ได้ถูกกำหนดด้วยพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นระเบียบแบบแผนที่ชัดเจน และเป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ทั้งหมด มิได้เฉพาะกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ดังที่อัลกุรอานได้กล่าวยืนยันไว้ว่า..
“มูซา กล่าวว่า พระผู้อภิบาลของเรา คือผู้ที่ทุกสิ่งอุบัติขึ้นมา และพระองค์ทรงชี้นำทางมัน”(บทฎอฮา โองการที่ ๕๐)
คำว่า “ตื่น” ซึ่งตรงข้ามกับคำว่า “หลับ” และการหลับนั้นคือสภาวะทางร่างกายขณะไม่มีสติสัมปชัญญะ การรับรู้โลกภายนอก และความสามารถในการป้องกันตนเองจะลดลงอย่างมาก ไม่มีกิจกรรมต่างๆของการใช้ชีวิต มนุษย์หายใจในขณะหลับแต่ไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่มีการคิด และการ “ตื่น” หมายถึง การกลับมามีสติสัมปชัญญะ กลับมามีชีวิตชีวา
ดังนั้น “การตื่นตัวของศาสนา” ให้ความหมายในเชิงบวกคือ“การฟื้นฟูศาสนา”นั่นก็หมายถึงการทำให้ อิสรภาพ ความยุติธรรมและหลักธรรมคำสอนของศาสนามีชีวิตชีวา เป็นการฟื้นฟูศาสนา ให้ความสำคัญต่อคำสอนของศาสนาทั้งทางด้านปัจเจกและทางด้านสังคม เป็นการนำหลักการศาสนามาแก้ไขตัวเองและสังคม แต่ไม่ใช่เป็นการ “ดัดแปลงศาสนา” ทว่าเป็นขบวนการแห่ง “การฟื้นฟูศาสนา” หมายถึง การให้มนุษย์และสังคมกลับมามีชีวิตตามครรลองและบรรทัดฐานของศาสนา
ส่วนความหมายของศาสนาหมายถึงพันธะสัญญาต่างๆที่มีต่อพระเจ้า ซึ่งจะขับเคลื่อนมนุษย์ให้ประคองตนสอดคล้องกับบทบัญญัติที่ประทานแก่ท่านศาสดาเพื่อเป็นวิถีชีวิต ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความหมายเชิงกว้างของคำว่า ศาสนา ที่สามารถปรับประยุกต์และนำมานิยามบทบัญญัติจากพระเจ้าที่ได้ประทานแก่เหล่าศาสดาทุกท่าน. หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ศาสนาอุดมไปด้วยแนวความเชื่อ ,ศีลธรรมจรรยา และประมวลบทบัญญัติจากพระเจ้านั่นเอง
การยอมรับว่าบ่อเกิดของศาสนามาจากตัวของมนุษย์เอง ก็คงจะเป็นคำตอบแก่ตัวของเขาว่าแท้จริงการเชื่อดังกล่าวไม่ใช่ความถูกต้องเลย เนื่องจากตัวของมนุษย์นั้นจะสูญสลายไปพร้อมกับศาสนาก็เป็นไปได้ หรือนักสังคมวิทยาหรือนักปรัชญาทางสังคมได้เชื่อว่าการเชื่อหรือศรัทธาในศาสนาเป็นช่วงเวลาที่อ่อนแอของมนุษย์ ดังคำกล่าวของนักสังคมวิทยานักปรัชญาลัทธิปฏิฐานนิยม ศาสตราจารย์ ออคุสม์ กงต์(Auguste Comet 1979) เป็นชาวฝรั่งเศสผู้โด่งดัง ได้กล่าวถึงการวิวัฒนาการของกระบวนการคิดของมนุษย์ว่ามีสามระดับ(three stages of human mind)คือ
๑)ระดับต่ำสุดคือระดับการคิดทางศาสนา(theological stage) เข้าใจทุกอย่างในเชิงลึกลับในทำนองเหนือธรรมชาติ พิสูจน์ไม่ได้ มีมีปัญหาใดๆก็จะยอมรับฟังและจำนนตามคำสอนนั้น(ปราศจากการพิสูจน์และการทดลอง)
๒) ระดับรองลงมาคือการคิดทางอภิปรัชญา(metaphysical stage) เข้าใจอะไรก็จะอ้างได้เป็นระบบ เมื่อเป็นระบบแล้วก็จะพอใจ ไม่คำนึงว่าระบบนั้นจะผิดหรือถูก
๓)ระดับสูงสุดคือขั้นปฎิฐาน (positive stage) ขั้นนี้ถือว่าเป็นขั้นสุดยอดของจิตใจมนุษย์ จะยอมรับอะไรเป็นความรู้ด้วยการทดลองและการคิดตามแนวทางวิทยาศาสตร์ และถือว่าผู้ที่ไปถึงขั้นที่สามจัดอยู่ในระดับของพุทธิปัญญา และเขากล่าวว่าส่วนมากมนุษย์ยังอยู่ในระดับแรกนั่นคือมีกระบวนการคิดเชิงศาสนายังไม่บรรลุระดับพุทธิปัญญา
ส่วนความเชื่อที่ว่าศาสนาเป็นผลของการสร้างมนุษย์หรือมาจากการค้นคิดประดิษฐ์ของมนุษย์ บางครั้งการอุบัติของศาสนานั้นมีเป้าหมายเพื่อแสวงหาอำนาจ การล่าอาณานิคม ซึ่งเป็นเป้าหมายทางการเมืองและอำนาจการปกครอง หรืออาจจะมีเป้าหมายทางด้านเศรษฐกิจ การครอบครองทรัพยากรต่างๆไว้ในอาณัติของตนเอง กล่าวคือด้วยกระบวนการทางการศรัทธาการเชื่อสามารถครอบครองทรัพยากรอันสำคัญของโลก ซึ่งโดยกระบวนการสร้างศาสนาดังกล่าวนี้ สามารถประสบความเร็จทางด้านการครอบครองทรัพยากรต่างๆและสามารถจะควบคุมกลไกลทางด้านเศรษฐกิจได้อยู่ในกำมือของผู้แสวงหาสิ่งดังกล่าว ซึ่งประจักษ์พยานได้ไม่ว่าจากวิถีของชนชาติในยุคโบราณ เช่นในยุคอียิปต์โบราณ ในสมัยของการปกครองกษัตริย์ฟาโรห์
คำถามที่ได้ถามถึงแหล่งกำเนิดของศาสนา เป็นคำถามต้องการจะรู้ถึงสาเหตุของการค้นพบศาสนาหรือต้องการจะสืบค้นของการกำเนิดศาสนา ดังนั้นในความหมายดังกล่าวการจะอรรถาธิบายในประเด็นนี้จึงถือว่าศาสนาคือผลผลิตของปัจจัยภายนอก ซึ่งเป็นเอกเทศแยกจากตัวตนของมนุษย์และเป็นการแยกออกจากการยอมรับของมนุษย์ต่อความจริงบางอย่าง ดังนั้นสามารถจะกล่าวถึงสาเหตุของการค้นพบและการกำเนิดของศาสนา กล่าวคือ ศาสนาและปัญหาทางศาสนาเป็นเนื้อหาที่กล่าวถึงการปะทะกับความจริงแท้หรือการยอมรับการมีอยู่ของความจริงแท้ ดังนั้นจากคำถามข้างต้นเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของศาสนาก็จะได้รับคำตอบดังนักคิดบางคนได้กล่าวว่า แหล่งกำเนิดหรือบ่อเกิดของศาสนาคือพระเจ้าคือการมีอยู่ของพระเจ้าและวิวรณ์ และอีกบางกลุ่มเชื่อว่าบ่อเกิดของศาสนามาจากผลผลิตของมนต์ดำหรือมาจากมาร หรือบางคนกล่าวว่าศาสนาคือผลผลิตของผู้มีอำนาจ ดังแนวคิดของลัทธิมาร์คซิสม์ กล่าวว่า ศาสนาคือผลผลิตของผู้ทรงอำนาจที่ได้สร้างขึ้นมา เพื่อจะล่าเมืองขึ้นต่อผู้อ่อนแอกว่า
จากคำตอบและการแจกแจงเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของศาสนาของบทวิเคราะห์ข้างตน เป็นคำตอบที่อยู่บนจุดยืนของแต่ละคนที่มีโลกทัศน์ของตนเอง ส่วนพื้นฐานของผู้ที่มีโลกทัศน์แนวเทวนิยม อันดับแรกเขามีความเชื่อว่าเอกภพนี้ได้ถูกสร้างขึ้นมาโดยพระเจ้า และพระเจ้านั้นมีพระคุณลักษณะที่งดงามและสัมบูรณ์แล้วจึงได้เนรมิตสร้างโลกใบนี้และบริบาลมันอย่างเหมาะสมและลงตัว กล่าวคือผู้ที่นิยมในเทวาและศรัทธาต่อพระเจ้าพวกเขาจะเชื่อว่าแท้จริงด้วยพระคุณลักษณะอันงดงามและสัมบูรณ์สูงสุดของพระองค์ ดังเช่น พระองค์ทรงปรีชาญาณรู้รอบ ทรงเป็นผู้บริบาล ทรงเป็นผู้อำนาจสิทธิ์ ทรงยุติธรรม ทรงดูแล และอื่นๆเป็นการบ่งบอกว่าพระเจ้านั้นได้ทรงบริหารจัดการให้เกิดระบบระเบียบและเป็นระบอบ และอีกประการหนึ่งแท้จริงมนุษย์เป็นภวันต์หนึ่งของสรรพสิ่งและเป็นส่วนย่อยหนึ่งของเอกภพ ดังนั้นมนุษย์ก็จะต้องมีการพัฒนาและวิวัฒนาการสู่ความสมบูรณ์สูงสุดของตัวตน ซึ่งนั่นหมายความว่ามนุษย์มีภาวะของการพึ่งพาและต้องการการชี้นำจากพระเจ้า และถ้าปราศจากการชี้นำโดยพระเจ้าแล้วไซร้ มนุษย์จะไม่มีวันพบกับความสมบูรณ์สูงสุดได้เลย ดังนั้นการวิวรณ์และการประทานโองการจากพระผู้เป็นถือว่าเป็นความจำเป็นหนึ่งต่อมนุษย์ และประการสุดท้ายถ้ามนุษย์สามารถไปถึงตำแหน่งหนึ่ง เขาก็จะพบกับการชี้นำทางจากพระเจ้าทันที
บทพื้นฐานของบทวิเคราะห์ข้างต้น สรุปได้ว่าแหล่งกำเนิดหรือบ่อเกิดของศาสนาคือพระเจ้า คือ ปฐมบทของการกำเนิดศาสนามาจากพระเจ้า ส่วนมนุษย์เป็นผลของการยอมรับและเป้าหมายแห่งเหตุคือการมีศาสนาและการมีศาสนาคือการยอมรับพระเจ้า และนี่คือตัวแปรภายในของการเกิดศาสนา ซึ่งเป็นองคาพยบที่มีความเป็นระบบ เพื่อมนุษย์จะถึงขั้นรู้แจ้งเห็นจริงและพบเจอพระเจ้า(อันเป็นเป้าหมายของมนุษย์)
ส่วนผู้ที่มีโลกทัศน์ประเภทอเทวนิยม ไม่ยอมรับการมีอยู่ของพระเจ้า ไม่ยอมรับว่าพระเจ้าคือปฐมเหตุแรกของเอกภพ หรือเชื่อว่ามนุษย์ไม่จำเป็นต้องพึ่งพายังวิวรณ์ที่จะส่งมาจากพระเจ้า หรือถึงแม้ว่าเชื่อว่าพระเจ้ามี พระเจ้าได้บริหารจัดการโลกใบนี้ แต่มนุษย์ไม่มีสัมพันธภาพกับพระเจ้าที่จะสามารถรับวิวรณ์มาจากพระเจ้า ดังนั้นผู้ที่มีโลกทัศน์เช่นนี้ พวกเขาเชื่อว่าแหล่งกำเนิดและบ่อเกิดของศาสนาคือมนุษย์ นั่นคือการสร้างประสบการณ์ทางศาสนาและความรู้สึกส่วนตนในด้านจิตแล้วนำสิ่งที่ตนพบเจอจากภาวะจิตของตนมาเสนอต่อมนุษย์(แล้วกล่าวอ้างว่านั่นคือศาสนา) ดังตัวอย่างในอดีตของประวัติศาสตร์มนุษยชาติในคาบสมุทรอาหรับ พวกบูชาเทวรูป พวกเขาเชื่อว่าศาสนานั้นเกิดมาจากผลการศรัทธาที่เกิดขึ้นภายในของมนุษย์เองจากการสำแดงของมนต์ดำบ้างหรือไสยศาสตร์บ้าง
ดังนั้นการตื่นตัวของศาสนาโลกในยุคปัจจุบันและการหันหน้าเข้ามาสานเสวนาทางด้านวัฒนธรรมและศาสนามากขึ้นเนื่องจากได้ประจักษ์พยานแล้วว่าขบวนการแห่งนวยุคภาพ(Modernity)หรือลัทธินวยุค(Modernism)สร้างความเสียหายทางด้านศิลธรรมและคุณธรรมแห่งมนุษยชาติเป็นอย่างยิ่งและมองศาสนาเป็นเรื่องงมงายหรือเป็นเรื่องของคนโง่เขลา ทั้งๆที่บทบาทของศาสนาในทุกยุคและทุกสมัยยังคงสร้างคุณูประการต่อโลกใบนี้มาตลอดและสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนแก่มนุษยชาติ