จากวันนี้ไปสู่อีก 20 ปี ข้างหน้า
คอลัมน์ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ
ทหารประชาธิปไตย
จากวันนี้ไปสู่อีก 20 ปี ข้างหน้า
ในสภาพปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญกับการรุกรานของไวรัสโควิด-19 หลายประเทศมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายหลักหมื่นหลักแสน พร้อมๆกับการระบาดของโรคเศรษฐกิจทรุดตัวลง มีการปิดงานงดจ้าง ปลดลดคนงานตลอดจนมีการปิดตัวของธุรกิจขนาดเล็ก SME อาชีพอิสระตกงานเป็นแสนเป็นล้านทั่วโลก ส่วนคนติดเชื้อก็ใกล้ 4 ล้านคนเข้าไปแล้ว
ประเทศไทยยังโชคดีที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนไม่มาก ประมาณ 50 เศษจากโควิด และมีผู้ที่ฆ่าตัวตายเพราะความเครียดอันเกี่ยวเนื่องกับนโยบายต่อต้านโควิด คือการปิดเมือง ทำให้ต้องสูญเสียงาน ขาดรายได้ก็มีจำนวนใกล้เคียงกัน
แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่เป็นโรคเครียด โรคประสาท ที่แพร่กระจายไปสู่กลุ่มต่างๆมากบ้างน้อยบ้าง คนมีเงินเดือน เช่น ข้าราชการอาจไม่เดือดร้อนเรื่องจากดำรงชีพ แต่คนหาเช้ากินค่ำนี่สิโดน 2 เด้ง ออกจากบ้านที่แออัดคับแคบก็ไม่ได้ งานไม่มีทำเงินไม่มีแม้จะซื้ออาหารประจำวัน ก็ต้องออกไปเสี่ยงเร่ร่อนรอรับการบริจาคอาหารจากผู้ใจบุญ อย่างนี้ไม่เครียดก็ไม่รู้จะว่าไง
ครั้นมองไปยังประเทศอื่นๆ ขนาดประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ อิตาลี อังกฤษ และสเปน ก็มีผู้คนป่วยและล้มตายจำนวนมาก โดยประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ควบคุมเข้มงวด สหรัฐฯนั้นอำนาจในการควบคุมขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯในแต่ละรัฐ จึงมีนโยบายแตกต่างกันในการปิดหรือเปิดเมือง
ส่วนสวีเดนนั้นปล่อยเสรี แต่ให้การปกป้องคนกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ สำหรับกรณีที่น่าสนใจเปรียบเทียบกันดูก็คือ ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ ซึ่งมีนโยบายแตกต่างกันในการปิดหรือเปิดประเทศ
นิวซีแลนด์ นั้นสั่งปิดประเทศอย่างเข้มงวดทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจสูง ในขณะที่ออสเตรเลียค่อนข้างผ่อนคลาย จึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อย แต่ผลคือ อัตราการตายพอๆกันทั้ง 2 ประเทศ
สำหรับประเทศในอาฟริกานั้น มีปัญหาทบทวี เพราะยากจนขาดแคลนทรัพยากรที่จะใช้ในการต่อสู้กับ
โควิด การงานก็หายากอยู่แล้ว ประชากรส่วนใหญ่ นอกจากยากจนแล้วยังไร้การศึกษา หรืออยู่ในระดับต่ำ มิหนำซ้ำบางประเทศยังเกิดโรคระบาดอื่นซ้ำเติม เช่น อิโบลา
จึงมีแนวโน้มที่ประเทศเหล่านี้จะใช้มาตรการเด็ดขาด โดยเฉพาะประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการ กระนั้นก็ตามก็มีบางประเทศปล่อยให้ธรรมชาติเยียวยา นั่นคือ แนวคิดแบบสวีเดน คือ ภูมิคุ้มกันกลุ่ม (Herd Immunity)
ลองมาพิจารณาคำปราศรัยของประธานาธิบดีอูกันดา ที่กล่าวกับประชาชนของเขาอันมีข้อความบางตอนดังนี้
“ในสถานการณ์ส่งครามไม่มีใครขอให้ใครอยู่ในบ้าน คุณเลือกอยู่ข้างในด้วยตัวของคุณเอง และถ้าคุณมีห้องใต้ดิน คุณก็จะซ่อนอยู่ที่นั่นตราบเท่าที่สงครามยังคงอยู่
ในระหว่างสงครามคุณไม่เคยเรียกร้องหาอิสรภาพของคุณ คุณยอมให้มันผ่านไปเพื่อแลกกับความอยู่รอด
ในช่วงสงครามคุณไม่บ่นเรื่องความหิว คุณแบกรับความหิวโหยและอธิฐานขอให้คุณมีชีวิตอยู่เพื่อกินอีกครั้ง…
ในช่วงสงครามคุณไม่เคยเรียกร้องกับการเปิดธุรกิจของคุณ…
ในช่วงสงคราม คุณไม่กังวลกับการที่ลูกๆของคุณไม่ไปโรงเรียน…
ครับนี่เป็นข้อความบางส่วนจากการปราศรัยของประธานาธิบดี Kaguta Museveni ซึ่งมีการโพสต์ในสื่อสารออนไลน์และคนโพสต์ ดูจะมีความชื่นชมว่าเต็มไปด้วยภูมิปัญญา และพยายามจะสื่อถึงคนไทยที่กำลังเดือดร้อน เพราะตกงานขาดเงิน ขาดปัจจัยในการยังชีพ สิ่งที่ต้องการจากคำปราศรัยของท่านประธานาธิบดีก็คือ ความร่วมมือของประชาชนอย่างอดทน และทนอด เพื่อรักษาชีวิตจากโรคระบาด
แต่ถ้าเราจะพิจารณาอย่างละเอียดด้วยสมองน้อยๆของเรา จะพบว่ามันเป็นตรรกวิบัติทีเดียว ที่เอาสงครามทางกายภาค คือ การรบพุ่งกันด้วยอาวุธ ด้วยกระสุน ทั้งปืนใหญ่ ระเบิด หรือมิสไซด์ ที่คู่สงครามถล่มกันทำลายชีวิต ทรัพย์สิน และฐานกำลังตลอดจนฐานเศรษฐกิจของฝ่ายตรงข้าม แม้กระทั่งล้มรัฐบาล เพื่อทำลายการเมืองการปกครอง การบริหารประเทศ และสะดวกต่อการยึดครอง
ตรงข้ามสงครามกับโรคระบาด สิ่งเหล่านั้นยังคงอยู่นอกจากเราจะทำลายมันด้วยตัวเราเอง ไม่ว่าการปิดเมือง การให้อยู่บ้าน ซึ่งแน่นอนประชาชนส่วนใหญ่ก็สมัครใจเพราะกลัวโรคระบาด แต่ขณะเดียวกัน การกักตัวดังกล่าวทำให้คนที่หาเช้ากินค่ำเดือดร้อน ไม่มีจะกิน รัฐบาลที่ไม่ได้ถูกทำลายโดยโรคระบาด จึงมีหน้าที่ดูแลให้ประชาชนมีปัจจัยยังชีพอยู่ได้
ยิ่งเราปิดเมืองนานเท่าไร เพื่อต่อสู้กับโรคระบาด เราก็ย่อมมีต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว เราจึงต้องเปรียบเทียบระหว่างผลที่ได้รับกับต้นทุน
มีการประเมินกันว่าการรักษาผู้ป่วยต้องใช้ทุนประมาณ 1 ล้านบาทต่อคน ตอนนี้เรามีคนไข้ไม่เกิน 2,000 คนแบบเต็มที่ ก็ใช้เงินประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ต้องสูญเสียไปมีคนประเมินว่าจะทำให้ GDP ลดไป 10% ถ้า GDP หรือ รายได้ประชาชาติในตอนนี้คือ 16 ล้านล้านบาท เราจะสูญเสียรายได้ไป 1.6 ล้านล้านบาท
ที่เขียนอย่างนี้ก็มิใช่ว่าจะเชียร์ให้เปิดอย่างเสรีเหมือนเดิม ก่อนการระบาดแต่การเปรียบเทียบต้นทุนผลได้ผลเสีย อาจทำให้มองอะไรชัดขึ้น
อนึ่งหากจะรอจนวัคซีนโควิดออกมา คงต้องรออีกนาน และอาจออกมาไม่ทัน เมื่ออยู่ๆโควิดก็หายไปเฉยๆเหมือนซาร์ ที่มีอัตราการตายสูงกว่าโควิดมาก
ประเด็นสำคัญคือ ไม่อยากให้เรามองแค่วันนี้ แม้บางคนจะลาโลกไปก่อนจะถึงวันนั้น แต่ประเทศไทยต้องดำรงอยู่ ภายใต้การบริหารจัดการและการมีกิจกรรมต่างๆ ของคนรุ่นใหม่
ปัญหาคือ เราจะอยู่อย่างไรในอีก 20 ปี ข้างหน้า เอาแค่นี้ก่อน ประการแรก จะเห็นได้ว่า แค่การเยียวยาเราใช้งบเงินกู้ถึง 1.9 ล้านล้านบาท แล้วถ้าเป็นงบฯการฟื้นฟูเศรษฐกิจและต้องใช้งบฯอีกเท่าไร ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเงินกู้ และภาระหนี้สาธารณะเราจะเป็นอย่างไร
ประการที่สองภาวการณ์จ้างงานจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการเข้ามาทดแทนด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ ตลอดจนปัญหาเทคโนโลยี Disruption ที่จะทำให้ธุรกิจบางอย่างต้องปิดตัว ซึ่งจะต้องมีแรงงานตกงานเป็นจำนวนมาก และไม่สามารถปรับตัวได้ทันในเวลาอันสั้น
ประการที่สามสภาวะแวดล้อมที่ปรากฏชัดเจนแล้วว่าเราจะพบกับความรุนแรงจากธรรมชาติหากไม่ทำอะไรชนิดหักมุม 180 องศา ซึ่งเป็นไปได้ยาก เพราะความโลภ ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์
ประการที่สี่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ยังคงกว้างออกไปทุกที และจะบานปลายปะทุขึ้นในอีกไม่นาน ก็ยังไม่มีคำตอบ
ประการที่ห้า การเตรียมความพร้อมสำหรับคนรุ่นใหม่ นั่นคือการปฏิวัติการศึกษาก็ยังคงไม่เกิดขึ้น และยังคงคลำอยู่อย่างนี้ จะเป็นปัญหาใหญ่ต่อไป เอาแค่บัณฑิตจบใหม่นี่จะตกงานจำนวนมาก แล้วจะทำยังไง
เอาแค่นี้ก่อนที่เป็นปัญหาหลักๆที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังโควิด-19 หยุดระบาด ดังนั้นจึงอยากเตือนว่า ถ้าการ์ดไม่ตกแต่ชกไม่เป็น มันก็มีแต่แพ้เท่านั้นครับ