จุดจบของระบบทุนนิยม
โดยทหารประชาธิปไตย
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างระบบเสรีนิยมกับระบบสังคมนิยม และก่อให้เกิดสงครามเย็นในระยะต่อมจนถึงช่วงที่ห้าทศวรรษมานี้ก็ปรากฏผลออกมาชัดเจนว่าระบบสังคมนิยมไม่อาจต่อสู้กับระบบเสรีนิยมที่สนับสนุนการค้าเสรี การนำธุรกิจเสรีและระบบทุนนิยมเสรี
ระบบทุนนิยมเสรีนี้นับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าและมีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว เพราะมีแรงขับเคลื่อนและแรงจูงใจจากผลกำไรที่ดึงดูดใจสำหรับเอกชนทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงในการประกอบการในขณะที่ระบบสังคมนิยมนั้นเนื่องจากรัฐเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต คือ ที่ดิน ทุน แรงงาน และการประกอบการ เมื่อได้ผลตอบแทนมารัฐก็จะเป็นผู้แจกจ่ายผลตอบแทนไปยังประชาชน นอกจากนี้รัฐยังเป็นผู้จัดการบริการสาธารณะต่าง ๆ รวมทั้งการศึกษาและการสาธารณสุขให้แก่ประชาชนอีกด้วย แต่อุปสรรคสำคัญ คือ ขาดแรงจูงใจต่อการทำงานในที่สุดผลประกอบการก็ขาดประสิทธิภาพและเศรษฐกิจโดยรวมก็จะถดถอยลงไปจนประเทศทรุดโทรมในที่สุดในขณะที่ระบบเสรีนิยมที่ส่งเสริมระบบทุนนิยมเสรีกลับเติบโตเข้มแข็ง มีการสะสมทุนพอกพูนขึ้นมหาศาลซึ่งก็กลายเป็นสร้างช่องว่างที่แตกต่างระหว่างคนร่ำรวยที่สะสมทุนเป็นจำนวนมากกับคนยากจนที่มีทุนน้อยหรือไร้ทุน
เท่านั้นยังไม่พอเมื่อกลุ่มทุนมีอำนาจทางเศรษฐกิจมากก็ใช้พลังอำนาจของตนไปควบคุมระบบการเมือง ไม่ว่าจะเป็นระบอบเผด็จการหรือระบอบประชาธิปไตยและใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ให้ตนกลายเป็นนายทุนผูกขาดซึ่งชนชั้นกลางและระดับล่างต้องตกเป็นเหยื่อ และระบบทุนนิยมเสรีกลับกลายเป็นระบบทุนสามานย์ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจซึ่งกลายเป็นรวยกระจุกจนกระจาย สร้างความโกรธแค้นให้กับคนชั้นกลางและระดับล่าง จนกลายเป็นความตึงเครียดและความขัดแย้งในสังคม ซึ่งจะต้องบานปลายต่อไปจนเกิดการจลาจล หากไม่มีการแก้ไขให้มีความพอเหมาะพอควร
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ การลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลฝรั่งเศสภายใต้การนำของประธานาธิบดีมาครงแห่งฝรั่งเศส และกำลังลุกลามเข้าไปยังประเทศอื่น ๆ เช่น เยอรมัน เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ แม้แต่ในแคนาดาก็เริ่มมีการออกมาประท้วงกันแล้ว ซึ่งกระบวนการนี้เรียกว่าพวกเสื้อกั๊กเหลือง คือ ตัวแทนชนชั้นกลางและชนชั้นล่างที่นำเอาพวกเสื้อกั๊กเหลืองอันเป็นอุปกรณ์ติดรถเพื่อสรวมใส่ในยามเกิดอุบัติเหตุ จะได้เป็นที่สังเกตของผู้ขับขี่ยานยนต์รายอื่น ๆ
ปรากฏการณ์นี้เป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อการสมคบคิดกันระหว่างชนชั้นปกครองและนายทุนใหญ่ที่ใช้อำนาจการเมืองมาเอารัดเอาเปรียบประชาชน ผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจและขูดรีดประชาชน
อย่างไรก็ตามระบบทุนสามานย์นี้มิได้หยุดยั้งแค่ในประเทศแต่ยังระบาดออกไปนอกประเทศในรูปแบบของการก่อสงคราม การก่อการร้าย การแทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่น เพื่อกอบโกยเอาทรัพยากรมาเป็นของกลุ่มทุนและชนชั้นปกครอง ในขณะที่ส่งคนออกไปปฏิบัติการทางทหารโดยมอมเมาว่าทำเพื่อชาติและเมื่อกลับมาประเทศก็มิได้เหลียวแล ปล่อยให้เผชิญชะตากรรมอย่างยากลำบาก
ประกอบกับการปั่นป่วนที่เกิดจากการทะลักเข้ามาของผู้อพยพที่ถูกประเทศเหล่านี้ไปรุกราน ยกเว้นสหรัฐที่เป็นหัวโจกในการไปรุกรานประเทศต่าง ๆ ที่กีดกันการอพยพ และไม่รับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนไปกระทำมาเพื่อความมั่งคั่งของชนชั้นปกครองและนายทุนใหญ่ที่จะเรียกว่า “รัฐลึก_DEEP STATE” โดยที่ในปัจจุบันได้มีการจับมือกันระหว่างประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ สร้างกันเป็นกลุ่มควบคุมโลกภายใต้สิ่งที่เรียกว่า “การจัดระเบียบโลกใหม่” (NEW WORLD ORDER)
กลุ่มเหล่านี้มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น พวก GLOBALIST พวกอิลูมินาติ พวกไซออร์นิสต์ แต่โดยรวมเอากลุ่มนายทุนใหญ่ทั้งด้านการผลิตอาวุธ อุสาหกรรมต่าง ๆ ตลาดทุน ตลาดหุ้น ธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจการเงิน ธุรกิจสื่อ เป็นต้น
เมื่อเห็นประชาชนเริ่มมีการต่อต้านก็พยายามหากลวิธีต่าง ๆ เพื่อจะรักษาอำนาจของตนไว้ แม้จะได้รับการท้าทายจากการเติบโตจากประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจอย่างจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และต้องการเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการตัดสินการวางนโยบายสำหรับเศรษฐกิจโลก ซึ่งถ้าการแบ่งปันผลประโยชน์ลงตัวเมื่อใด กลุ่มนี้ก็จะควบแน่นรวมเอากลุ่มการเมืองชั้นนำของจีนและรัสเซียเข้าไปด้วยในที่สุด
ระบบทุนนิยมผูกขาดหรือทุนนิยมสามานย์นี้จึงมิใช่แค่การเอารัดเอาเปรียบกับภายในประเทศแต่จะเป็นการขยายวงเอารัดเอาเปรียบกันระหว่างประเทศอีกด้วย
ฝ่ายที่สนับสนุนระบบทุนนิยมเสรีก็ตระหนักดีถึงปัญหาที่ทุนนิยมผูกขาดได้สร้างและกำลังจะต้องเผชิญหน้ากับการต่อต้านจึงพยายามหาวิธีการที่จะคลี่คลายปัญหา ด้วยการเรียกประชุมผู้นำและนายทุนใหญ่ เพื่อสร้างระบบที่เรียกว่า INCLUSIVE CAPITALISM หรือทุนนิยมแบบครอบคลุม นั้นคือขยายขอบเขตของระบบทุนให้ครอบคลุมไปถึงความต้องการต่าง ๆ ของประชาชนรากหญ้าทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อจะได้ผดุงระบบนี้ให้ยั่งยืนต่อไป และพวกกลุ่มทุนและกลุ่มการเมืองเหล่านี้จะได้ครองอำนาจต่อไปเพื่อเป้าหมาย คือ การเป็นรัฐบาลโลก
แต่แนวคิดนี้จะประสบความสำเร็จได้ต้องลดละความเห็นแก่ตัว หรือ ความคิดทางเศรษฐศาสตร์ตะวันตกที่ให้แสวงกำไรสูงสุดมาเป็นแสวงผลประโยชน์ส่วนรวมสูงสุด ซึ่งในความเป็นจริงเป็นไปได้ยาก เพราะมนุษย์เหล่านั้นยิ่งได้เปรียบยิ่งขูดรีดยากที่จะเปลี่ยนทัศนคติ
ดังนั้นในปี 2019 ที่จะถึงโลกใบนี้จะเผชิญกับการประท้วงต่อต้านการขูดรีด การเรียกร้องหาความยุติธรรม การเรียกร้องหาระบบการปกครองที่จะสร้างความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งแน่นอนฝ่ายผู้ที่กุมอำนาจรัฐและนายทุนใหญ่ที่กุมผลประโยชน์ย่อมไม่ยินยอม
ดังนั้นในปีใหม่นี้จะเกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลและการปราบปรามที่แพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลก รวมทั้งการต่อต้านรัฐบาลต่างชาติที่เข้ามากอบโกยผลประโยชน์ในประเทศ
ความขัดแย้งนี้จะขยายตัวบานปลายขึ้นอีกเป็นทวีคูณจากความขัดแย้งที่ก่อตัวขึ้นด้วยการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วฉับพลัน ทำให้กลุ่มคนที่ไม่อาจปรับตัวทางเทคโนโลยีได้มีความอึดอัดที่พร้อมจะระเบิดออกมาเพราะทนรับกับการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ในจำนวนนี้ก็จะมีกลุ่มคนสูงอายุที่นับวันจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในสังคม กลุ่มเหล่านี้จะเป็นกลุ่มหลักที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงในขณะที่พวกหัวก้าวหน้าจะเป็นกลุ่มพลังหนุ่มสาวและเยาวชนจะเป็นผู้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง
ความขัดแย้งในเรื่องบทบาทนำทางเพศและเพศเกิดใหม่ตามกฎหมายก็จะเริ่มได้รับการท้าทายมากขึ้นจนกลายเป็นความขัดแย้งที่หาคำตอบไม่ได้ ผสมปนเปกับความขัดแย้งอื่น ๆ
ปี 2019 จึงจะเป็นปีแห่งความขัดแย้งต่อเนื่องไปอีกหลายปีจนกว่าจะมีการประนีประนอมออมชอมกันในข้อตกลงที่ยุติธรรมกันทุกฝ่าย หรือไม่ก็จะเกิดการลุกฮือแบบพลิกแผ่นดินเพื่อสร้างระบบใหม่ รัฐบาลรูปแบบใหม่ที่จะเป็นรัฐบาลเพื่อประชาชนซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะใช้เวลานานเท่าไรและจะต้องสูญเสียอะไรบ้าง
ถึงวันนั้นเราคงมีทางออกที่เหมาะสม ซึ่งมีความเป็นไปได้ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำยุค และด้วยมนุษย์ที่มีพัฒนาทางจิตใจที่สูงขึ้น