ศึกสองสมรภูมิ
คอลัมน์ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ
ทหารประชาธิปไตย
ศึกสองสมรภูมิ
สถานการณ์ของโลกดูจะเขม็งเกลียวยิ่งขึ้นไปทุกที โดยเฉพาะความขัดแย้งในภูมิภาคยูเครน-รัสเซีย และความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ด้านภูมิภาคยูเครน กองทัพเคียฟภายใต้การสนับสนุนของนาโต้ทั้งกำลังคนและอาวุธได้ทำเซอร์ไพร์ อันเป็นกลยุทธที่สำคัญทางทหาร ในการยกกำลังประมาณ 12,000 คน บุกเข้าไปโจมตีรัสเซียในแคว้นคุชส์ ซึ่งเป็นภาคพื้นเกษตรกรรมชายแดนรัสเซียติดกับยูเครน
ครั้งนี้ยูเครนทำเซอร์ไพร์ต่อรัสเซียจริงๆ เพราะได้เคลื่อนพลผ่านชายแดนนี้ อันเป็นป่าและที่ลุ่มหนองคลองบึง ไม่มีผู้คนอาศัย และรัสเซียมิได้วางกองกำลังป้องกันชายแดนในส่วนนี้ ประเด็นนี้ต้องเข้าใจว่าดินแดนรัสเซียกว้างใหญ่ไพศาล มีเนื้อที่มากที่สุดในโลก การจะวางกองกำลังไปคุ้มครองชายแดนทั้งหมดย่อมเป็นไปไม่ได้
นอกจากการเคลื่อนกำลังเข้าโจมตีในจุดที่รัสเซียมิได้เฝ้าระวังแล้ว ยูเครนยังใช้โดรนรุ่นใหม่เอี่ยมที่ได้รับการสนับสนุนและพัฒนาจากตะวันตก ซึ่งมีระบบรบกวนการตรวจจับด้วยเรด้าและอินฟาเรด ทำให้กองกำลังรัสเซียที่ยกออกมาป้องกันเกิดอาการมืดบอด ทำให้เฮลิคอปเตอร์ถูกทำลายไปหลายลำ
และด้วยความไม่พร้อมในการตั้งรับ โดยในชั้นแรกรัสเซียส่งกองกำลังทหารรับจ้างจากเชชเนียร์ และบางส่วนจากวากเนอร์ ที่มาจากเบลารุส ซึ่งขาดการปกป้องทางอากาศและอาวุธหนักที่เพียงพอ ฝ่ายยูเครนโดยการสนับสนุนจากโดรน จึงรุกคืบเข้าไปในดินแดนรัสเซียกว่า 10 ก.ม.
คำถามยูเครนมีเป้าหมายในการบุกครั้งนี้เพื่ออะไร คำตอบก็คือ ในเบื้องต้นยูเครนต้องการเบี่ยงเบนการรุกของรัสเซียจากดอนบาส ที่ยูเครนเคยรุกกลับตีโต้จนรัสเซียต้องถอยไปตั้งรับ แต่บัดนี้รัสเซียกลับเป็นฝ่ายรุกบ้าง แม้ในตอนต้นจะเป็นไปอย่างช้าๆ แต่ก็คืบหน้าทุกวัน ยูเครนจึงหวังว่าการโจมตีในครั้งนี้จะทำให้รัสเซียต้องพะวักพะวงในการตอบโต้ยูเครน
ประการต่อมายูเครนคาดว่าไม่ช้าก็เร็วจะต้องมีการเจรจาเพื่อสงบศึก จึงต้องการสร้างอำนาจต่อรองในการเจรจา ซึ่งยูเครนก็ยังมีแผนสำรองไว้อีกแผน นั่นคือการตั้งเป้าเข้ายึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในแคว้นคูชส์ของรัสเซีย
แต่นั่นคงยังไม่พอยูเครนเปิดฉากเข้าโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ซาโปริสเซีย กลางประเทศยูเครนที่ถูกรัสเซียยึดอยู่ โดยมีเป้าหมายที่จะใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้ง 2 โรงนี้เป็นเครื่องมือ ต่อรองในการเจรจา
หากรัสเซียไม่ยอมทำตามเงื่อนไขของตนก็พร้อมที่จะทำลายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้ง 2 อันจะทำให้กับมันตภาพรังสี แผ่กระจายไปทั้งในรัสเซีย ยูเครนและประเทศข้างเคียงหลายพื้นที่ในยุโรปขึ้นอยู่กับกระแสลม และหายนะครั้งนี้จะร้ายแรงกว่าการเกิดเหตุที่เชอร์โนบิล ในยูเครนเมื่อครั้งยังอยู่ในดินแดนสหภาพโซเวียตอีก เพราะโรงไฟฟ้าซาโปรัสเซียนั้นเป็นโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปในขณะนี้ นับเป็นการวางแผนข่มขู่ทั้งรัสเซียและยุโรปครั้งสำคัญ
อนึ่งเพื่อสร้างความวุ่นวายให้เกิดกับรัสเซีย ยูเครนยังเตรียมระเบิดสกปรกที่มีกัมมันภาพรังสี พร้อมกับการใช้กระสุนเคลือบยูเรเนียม ในการบุกครั้งนี้ เพราะมันจะทำให้รัสเซียต้องปั่นป่วน ซึ่งก็ได้ผลรัสเซียต้องอพยพชาวบ้านกว่า 180,000 คน ออกจากพื้นที่โดยทันที แต่ก็ไม่ง่ายเพราะยูเครนได้ใช้จรวดทำลายสะพานในคูชส์เพื่อปิดกั้นการช่วยเหลือสนับสนุน
ด้านรัสเซียก็ดำเนินการแก้กลศึกยูเครนโดยประการแรกได้ทำการปรับปรุงเครื่องมือในการทำสงครามอิเลคโทรนิคของยูเครน
ต่อมาก็ส่งกำลังทางอากาศไปโจมตีเมืองซูมี่ ที่เป็นแหล่งกองหนุนของยูเครน โดยเฉพาะคอยช่วยหน่วยทหารที่บุกเข้าไปในแคว้นคูชส์
ประการต่อมาได้โจมตีเมืองโปคอฟสก์ที่เป็นศูนย์ส่งกำลังบำรุงของยูเครน ที่ตั้งอยู่บนถนนหลักขนานกับชายแดนยูเครน-รัสเซีย ไปยังเมืองสำคัญอย่างครามาทอส คอนสแตนตินอฟ และสลาเวียนสก์ ที่รัสเซียกำลังคืบคลานเข้ามาโจมตีจากดอนบาส
ตอนนี้ยูเครนต้องอพยพผู้คนออกจากเมืองโปคอฟแล้ว เพราะรัสเซียส่งกำลังเข้ารุกคืบใกล้ยึดเมือง
จึงเห็นได้ว่าถ้ายูเครนยังคงรุกคืบต่อไป ในแคว้นคูชส์ กองกำลังหลายกองพลนั้นก็จะถูกบดขยี้และขาดเสบียงอาหารจนล่มละลายในที่สุด ประกอบกับเป้าหมายในการยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นตัวประกันก็ล้มเหลว ยูเครนเลยปรับแผนโดยให้กองกำลังดังกล่าวเริ่มหันเหทิศทางมาบุก ด้านเบลกูรอด ซึ่งคาดว่าอาจจะวกกลับมาโจมตีด้านหลังกองกำลังรัสเซียที่เคลื่อนมาจากดอนบาส
นอกจากนี้ยังคาดว่ายูเครนอาจมีแผนบุกไครเมียอีกระรอก เพื่อสร้างความปั่นป่วนให้รัสเซีย และสร้างอำนาจต่อรองหากมีการเจรจา
อย่างไรก็ตามการบุกของยูเครนในครั้งนี้สร้างความโกรธให้แก่ผู้นำรัสเซีย ปูตินจึงประเทศว่าพร้อมที่จะถล่มเคียฟให้ราบ และเตรียมการกองเรือดำน้ำที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ โดยมีเป้าไปยังเมืองสำคัญในยุโรป ทำให้โปแลนด์ต้องเตรียมพร้อม แต่เบลารุส โดยลูกาเซนโก ก็ประกาศกร้าวระดมกำลังพร้อมรบ พร้อมใช้หัวรบนิวเคลียร์ยุทธวิธี โดยเฉพาะเพื่อป้องกันยูเครนระเบิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพราะกลัวผลกระทบต่อเบลารุส
หันไปอีกสมรภูมิคือตะวันออกกลาง ขณะนี้ทุกฝ่ายต่างก็เฝ้ารอด้วยใจระทึกว่าอิหร่านจะทำการตอบโต้ การก่อการร้ายของอิสราเอลต่อการไปลอบสังหารผู้นำฮามาส อิสมาเอล ฮานิเยห์ถึงในเทหะราน
แต่อิหร่านยังดูเงียบ ในขณะที่ฮิซบุลเลาะฮ์ทำการโจมตีตอบโต้กับอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง โดยสหรัฐฯส่งกองกำลังไปตั้งหลักเพื่อช่วยเหลืออิสราเอลแล้ว
ด้านรัสเซียได้ส่งรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคง อดีตรมว.กห.ไปเจรจาที่อิหร่าน เข้าใจว่าในเบื้องต้นคงจะไปขอให้อิหร่านโจมตีอิสราเอลอย่างจำกัด เพราะรัสเซียไม่ต้องการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง ด้วยคาดว่าสหรัฐฯจะต้องปกป้องอิสราเอลอย่างเต็มที่ จนถึงขั้นโจมตีอิหร่าน ซึ่งรัสเซียก็มีพันธะที่ต้องปกป้องอิหร่านด้วย
ทว่าอิหร่านก็ยังสงบนิ่ง แม้เตรียมพร้อมเต็มที่ในการป้องกันประเทศ โดยการสนับสนุนจากรัสเซีย ในขณะที่ก็ยังยืนยันที่จะตอบโต้ในเวลาที่เหมาะสม ทำให้เกิดความตึงเครียดในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในอิสราเอลซึ่งถ้าอิสราเอลชิงลงมือก่อน นั่นก็จะเป็นการจุดชนวนสงครามที่ดึงสหรัฐฯเข้ามาร่วม
แต่เมื่อยูเครนบุกรัสเซีย และทำให้ปูตินโกรธมาก เพราะถือว่าเป็นการรุกรานของตะวันตก โดยใช้ยูเครนเป็นเครื่องมือ ผู้เขียนจึงคาดว่ารัสเซียอาจเปลี่ยนใจไม่ขอให้อิหร่านโจมตีอย่างจำกัด แต่อาจสนับสนุนให้โจมตีอย่างเต็มที่ เพื่อย้ายสมรภูมิมายังตะวันออกกลาง และวันเวลาที่เหมาะสมอาจเป็นช่วงเดียวกันกับที่มอสโค ทำการถล่มเคียฟ
นั่นก็จะเป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างสมรภูมิยูเครนและสมรภูมิตะวันออกกลาง ซึ่งย่อมหมายความว่าความเป็นไปได้ในการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 มีสูงมาก
แล้วประเทศไทยจะทำอย่างไร ฝ่ายความมั่นคงยังมัวไปติดตามหรือห้ามการชุมนุมเพื่อปาเลสไตน์ หรือฝ่ายการเมืองยังแบ่งเก้าอี้ไม่ลงตัว ฟ้าจะถึงหลังแล้ว ไม่เห็นโลงไม่หลั่งน้ำตาหรือ