เมาลานา ญะลาลุดดีน รูมี กับอิทธิพลวรรณกรรมเปอร์เซีย อดีต/ปัจจุบัน/อนาคต ตอนที่ 2
เมาลานา ญะลาลุดดีน รูมี กับอิทธิพลวรรณกรรมเปอร์เซีย อดีต/ปัจจุบัน/อนาคต ตอนที่ 2
ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน
ศูนย์อิสลามและอิหร่านศึกษา วทส.
อิทธิพลแห่งจิตวิญญาณและพลังความคิดของเมาลานา รูมีต่อโลกทั้งอดีตและปัจจุบัน ทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมยิ่งทวีคูณมากยิ่งขึ้น แม้ต่อในประเทศไทยเองก็จะเห็นการเคลื่อนไหวของคนรักรูมี หรือได้จัดให้มีการแปลบทกวีของรูมีอย่างน่าสนใจ เราคงจะนำบทกวีแห่งจิตวิญญาณเหล่านั้นมาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และถ้าย้อนดูกระแสการตอบรับหรืออิทธิพลของพลังจิตวิญญาณรูมี จะพบว่ามีการแปลตำราต่างๆของรูมีออกมาเป็นภาษาต่างๆมากมาย และยังได้มีนักวิชาการ ปราชญ์ระดับสูงได้นำบทกวีแห่งซูฟี แห่งจิตวิญญาณนั้นมาอรรถาธิบาย เราจะได้เห็นชื่อของเมาลานา รูมีปรากฏอยู่ทั่วโลกและในโลกตะวันตกยังมีโครงการจะทำภาพยนต์เกี่ยวกับชีวะประวัติของรูมีเสียด้วยซ้ำ เดวิด ฟรานโซนี่ นักเขียนบทรางวัลออสการ์จาก Gladiator พร้อมกับโปรดิวเซอร์ สตีเฟ่น โจเอล บราวน์ เตรียมสร้างภาพยนตร์ชีวประวัติของ เมาลานา ญะลาลุดดีน มูฮัมหมัด รูมี นักกวีชาวมุสลิมในช่วงศตวรรษที่ 13 เขากล่าวว่า
“รูมีเขาเป็นเหมือนเชกสเปียร์เลยนะ” ฟรานโซนี่กล่าวถึง รูมี ในการสัมภาษณ์กับ The Guardian “เขาเป็นคนที่มีความสามารถอย่างยิ่ง เป็นคนสำคัญของประชาชน และสังคม ซึ่งยังคงมีอิทธิพลอยู่จนถึงทุกวันนี้ และยังมีคนศึกษาคุณค่างานของเขาอยู่จวบจนปัจจุบัน”
เมาลานา ญะลาลุดดิน รูมี ถือว่าเป็นธรรมาจารย์ทางจิตวิญญาณและอัจฉริยภาพทางกวีนิพนธ์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของมนุษยชาติ ถึงแม้ว่านักประวัติศาสตร์อ้างอิงถึงความเป็นชนชาติอิหร่านก็ตาม เพราะว่ารูมีมิได้เป็นเพียงกวีแต่ทว่าเขาผู้ก่อตั้งลัทธิซูฟีสาขาหนึ่งที่ได้รับความนิยมมาถึงปัจจุบันนี้ และเราคงจะได้มาพูดคุยกันเรื่องลัทธิซูฟีในตอนต่อๆไป เพราะมีความเกี่ยวโยงและสัมพันธ์กับเมาลานา รูมีอยู่มากทีเดียว และถึงแม้ว่ามีนักเทววิทยาบางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับวิถีของลัทธิซูฟีอยู่บ้างก็ตาม และเมาลานารูมียังเป็นผู้บรรลุธรรมด้านในและมีกรอบปรัชญาทางความคิดอย่างลึกซึ้งต่อมุมมองในธรรมชาติของมนุษย์ ต่อพระเจ้า ต่อความรักอีกด้วย นักวิชาการรุ่นหลังๆพยายามที่จะเชื่อมโยงและอ้างอิงว่า ลัทธิซูฟีสาขาเมาละวี ซึ่งเป็นลัทธิซูฟีสายหนึ่งนั้นมาจากเมาลานา รูมี และบางคนมีทัศนะเชิงวิพากษ์ว่าเป็นกลุ่มนอกรีตหรือเป็นมุสลิมนอกกระแสหลักของศาสนาอิสลาม และเน้นทางภาวนา การสวดบทดุอาและการปฏิบัติกิจธรรมตามแนวทางซูฟีเพื่อจาริกจิตวิญญาณและเพื่อเข้าถึงรหัสยนัยหรือความเร้นลับในสิ่งมหัศจรรย์สูงสุด หรือตามหลักอภิปรัชญาเรียกว่าภวันต์แท้ นั่นคือ การเข้าถึงองค์พระผู้เป็นเจ้า เขากล่าวว่า แม้นกบินจากโลกไปไม่ถึงสวรรค์ แต่อย่างไรก็ตาม มันได้รับประโยชน์ของการอยู่ห่างไกลจากตาข่าย ฉะนั้น มนุษย์ผู้เป็น ดัรวีช (Dervish: ผู้จาริกแสวงบุญ) แม้มิอาจเข้าถึงความสมบูรณ์พร้อม แต่ก็อยู่เหนือฝูงชนทั่วไป และหลุดพ้นจากความยุ่งยากของโลก
รูมีกล่าวถึงการค้นหาตัวเอง ยิ่งใหญ่กว่าการค้นหาสิ่งใดและเขาบอกว่าไม่ต้องไปสืบค้นหาที่ไหน แต่ให้แลมองในตัวตนนั้น ดังบทกวีใน”มัษนะวี”กล่าวว่า”จักรวาลนี้ มิได้อยู่ภายนอกเจ้าแต่อย่างใด จงมองเข้าสู่ภายในตัวตนแห่งเจ้า ทุกสิ่งที่เจ้าปรารถนา,เจ้าเป็นอย่างนั้นอยู่เองแล้ว” (รูมี ทางสู่กวีนิพนธ์ ความรักและการรู้แจ้ง โดย ภูมิช อิสรานนท์)
วิถีทางแห่งการค้นหาจิตวิญญาณของเมาลานา รูมีไม่ใช่ ตะวันออก และก็มิใช่ ตะวันตก แต่อยู่กึ่งกลาง ยิ่งกว่านั้น มันคือการถ่ายทอดออกมาจากจารีตของอิสลามออกมาจากหลักธรรมคำสอนของจิตวิญญาณที่แท้จริง ซึ่งหล่อหลอมเขามา ถือว่ามีเพียงศาสนาเดียวมอบแก่มวลมนุษยชาติ ผ่านศาสดาหรือผู้นำสาส์นมากมาย ซึ่งนำการรู้แจ้งมาสู่ผู้คนบนโลก พระเจ้าเป็นบ่อเกิดอันวิเศษสุดของสรรพชีวิต ซึ่งเนื้อแท้ของพระองค์นั้นมิอาจพรรณนาหรือเปรียบเทียบกับสิ่งใด แต่เป็นที่รับรู้ผ่านเนื้อหาของศาสนาที่แจ่มแจ้งในโลกและในใจมนุษย์ เป็นรหัสยนัยอันลึกซึ้ง ซึ่งเน้นหนักอย่างสำคัญและชัดเจนที่เกียรติภูมิของมนุษย์และความยุติธรรมในสังคม พระศาสดามุฮัมมัดเป็นศาสดาองค์สุดท้าย ผู้นำมาซึ่งสาสน์แห่งความรักของพระเจ้า (รูมี ทางสู่กวีนิพนธ์ ความรักและการรู้แจ้ง โดย ภูมิช อิสรานนท์)
รูมีเป็นกวีที่สร้างสรรค์ผลงานมากมายแต่มิได้เป็นกวีอาชีพ เป็นผู้นำศาสนาที่คงแก่เรียน ครู นักเทศน์ และเหนืออื่นใด เป็นผู้เกร่งศาสนา หรือเป็นผู้ประจักษ์แจ้งแห่งจิต อาริฟ ( ผู้มีความรอบรู้เรื่องจิตวิญญาณอันนำไปสู่ความสุขสงบ) เป็นเวลาหลายศตวรรษ รูมีเป็นที่รู้จักในฐานะเมาลานา (ครูของเรา) ของผู้คนที่พูดภาษาเปอร์เซียในอิหร่าน อัฟกานิสถาน ทาจิกีสถาน และหลายส่วนของอินเดียและปากีสถาน นาม รูมี หมายถึง ‘เป็นของรุม หรือ โรม’ คือ อาณาจักรโรมัน-ไบแซนไทน์ ซึ่งเคยครอบครองอนาโตเลีย ที่ราบสูงอันกว้างใหญ่ในเอเชียน้อย บนคาบสมุทรสุดตะวันตกของทวีปเอเชีย ตั้งอยู่ระหว่างทะเลดำกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน – ดินแดนอันสับสนวุ่นวายที่รูมีอาศัยอยู่เป็นเวลาส่วนใหญ่ของช่วงชีวิต(รูมี ทางสู่กวีนิพนธ์ ความรักและการรู้แจ้ง โดย ภูมิช อิสรานนท์)
เราจะพบบางส่วนของวรรณคดีเปอร์เซีย เข้ามามีอิทธิพลในโลกอาหรับ ตุรกีและอินเดีย จากบทกวีของรูมี แต่ก็เกิดปรากฏการณ์บางอย่างในแวดวงวรรณคดีของอาหรับหรือตุรกี หรือแม้แต่ในอินเดียในยุคปัจจุบันได้มีการเขียนวรรณคดีที่ลอกมาจากเมาลานารูมี แต่ทว่าพวกเขาไม่ได้กล่าวถึงต้นฉบับนั้นเอาเสียเลย หรือแม้แต่ในตุรกีเองได้มีการนำเสนอบทกวีและวรรณกรรมที่ต้นกำเนิดและที่มานั้น เป็นของเมาลานา แต่ทว่านักวิชาบางคนได้ใจแคบไม่เอ่ยนามของรูมีไว้
เมื่อเราเพิ่งพินิจในวรรณคดีของเมาลานา รูมีและเรียนรู้ชีวิตของเขา จะพบว่าเส้นทางชีวิตของรูมี เป็นการอุทิศตนเพื่อแสวงหาสัจธรรมและปรารถนาค้นหาจิตวิญญาณด้วยหนทางแห่งซูฟี ดังนั้นจึงพบว่ารูมีในช่วงอายุขัยของเขาได้จาริกทางจิตวิญญาณและมุ่งเน้นการพบเจอพระเจ้าและพร้อมได้สลายตัวตนให้เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า และจากการศึกษาตำรากวีนิพนธ์ของรูมี เป็นสารัตถะแห่งการเข้าถึงตัวตนและประจักษ์แจ้งต่อโลก และพบเจอพระผู้เป็นเจ้าอย่างมีความสุขและดูดดื่มกับการจาริกทางจิตวิญญาณนั้น
ตำราต่างๆของรูมีเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้และผ่านการปฏิบัติจริงตามหลักคำสอนของอิสลาม วางอยู่บนรากฐานวิทยปัญญาของพระคัมภีร์อัลกุรอานและซุนนะฮ์แห่งศาสดามุฮัมมัด รวมทั้งมรดกตกทอดทางวรรณกรรมและวิชาการต่างๆของปวงปราชญ์ทั้งภาคภาษาอาหรับและภาษาเปอร์เซีย ซึ่งจะเห็นว่า เมาลานาจะกล่าวถึงอิมามฆอซซาลี กล่าวถึงชัมส์ ตับรีซีย์ ผ่านการกลั่นกรองอย่างละเอียดและเข้าจึงในสารัตถะอย่างสูงสุด นั่นคือความจริงสูงสุดอันประกอบด้วยความเป็นหนึ่งเดียวของพระเจ้าซึ่งเป็นความเที่ยงแท้ที่แผ่รัศมีออกมาในนามของความบริสุทธิ์และความยุติธรรม โน้มนำมนุษย์ไปสู่สิ่งที่ดีงาม ที่เรียกว่าเป็นหลักความดีสากลหรือความรักอันพิสุทธิ์ของพระองค์ที่มีต่อสิ่งที่พระองค์ทรงรังสรรค์สร้าง เป็นความรักสากล แล้วกลั่นออกมาจากการจาริกนั้นเป็นการประจักษ์แจ้ง ซึ่งเป็นหลักแห่งความรักและการอุทิศที่อันนำไปสู่ความไม่เห็นแก่ตัวนั่นเอง
การสละตัวตนและสละกิเลสตัณหาต่างๆ เป็นอีกคำสอนหนึ่งของรูมีว่าจะเป็นหนทางนำไปสู่ความเข้าใจแจ้งที่สำแดงออกมาจากถ้อยคำหรือจากบทกวี เหมือนประโยคหนึ่งที่ได้ถูกกล่าวไว้ใน มัษนะวีว่า..
“เมื่อกระจกแห่งหัวใจใสสะอาด
และปราศจากสิ่งแปดเปื้อนนั้นแล้ว
ณ ภายในนั้น เธอจะได้เห็นภาพหลากหลาย
ที่โพ้นแผ่นดินโพ้นแผ่นน้ำ
เธอเห็นทั้งสอง ทั้งผู้วาดและภาพวาดต่างๆนั้น
ทั้งพรมสวรรค์และผู้คลี่พรมนั้น”
หรือกล่าวถึงพลานุภาพแห่งรักและการอยู่ด้วยความรัก ว่าเป็นเกียรติยศ จะไม่หวั่นวิตก และรักคือวิถีแห่งการเข้าถึงความจริงสูงสุด เพราะพระเจ้าคือองค์แห่งรัก
“จงยืนหยัดบนบัลลังก์แห่งรัก
และขอจงอย่าได้หวาดกลัวสิ่งใด
จงหยัดยืนในสัจจะแท้จริง
เบื้องหลังความเท็จทั้งปวง
และจงอย่าได้กลัวเกรงต่อสิ่งใด”
การถ่ายทอดออกมาเป็นบทกวีอย่างไพเราะเพราะพริ้งเช่นนี้ เกิดจากการเข้าถึงทางจิตวิญญาณและจารีตประเพณีที่ประชาชนสมัยนั้นเข้าใจได้ แฝงด้วยคติธรรมและคำอุปมาอุปไมย ซึ่งยังคมเป็นคติสอนใจที่คงทันสมัยอยู่ถึงปัจจุบันนี้ และถ้าเราย้อนดูตัวของเมาลานารูมีและดูคำสอนต่างๆที่ปรากฏเป็นหลักฐาน ถือว่าเขาคือบรมครูทางซูฟี เป็นผู้ชี้นำทางรหัสยะนัย โดยส่งผ่านคำสอนนั้นจากบทกวีและปรัชญาทางความคิดที่ล้ำลึกมากทีเดียว จนทำให้เกิดประโยชน์ทางวิชาการเพื่อศึกษาเกี่ยวกับหลักรหัสยะนัยและรากฐานทางศัพท์เทคนิคต่างๆหรือคำจำกัดความทางด้านซูฟีได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในหนังสือมัษนะวีอันทรงคุณค่านั้น ซึ่งเราคงจะนำคำต่างๆเหล่านั้นมาอรรถาธิบายให้ผู้อ่านได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น เช่น คำว่า ขลุ่ย คำว่า ไวท์ คำว่าสตรี เส้นผมของสตรี โสเภณี โรงเตี้ยมฯลฯ และเราจะเห็นถึงความสอดคลอ้งทางความคิดของรูมีต่ออัลกุรอานและฮะดีษของศาสดา โดยที่เขาได้มีความปรารถนาอย่างมากที่จะถ่ายทอดความหมายของโองการต่างๆอัลกุรอานออกมาเป็นภาษาวรรณคดีและบทกลอน และไม่เป็นที่สงสัยอีกต่อไปว่า สิ่งที่เมาลานาได้กล่าวและได้สำแดงออกมานั้นผ่านการเรียนรู้จากปวงปราชญ์ต่างๆ ไม่ว่าจากหนังสือ”ริซาละกุชัยรี” หรือ”กูตุลกุลูบ” ของอะบูตอลิบ มักกี เพราะว่าในหนังสือ มัษนะวีของเขา ถือว่าหนังสือสองเล่มหลักนี้เป็นรากฐานทางแนวทางซูฟี ถึงแม้ว่าบางบทกวีได้อ้างถึงอิมามฆอซซาลีอยู่บ้าง จากหนังสือ”เอี๊ยยาอุลอุลูม”ก็ตาม.