jos55 instaslot88 Pusat Togel Online ความเจริญและความเสื่อมของเศรษฐกิจจีน: จากอดีตถึงปัจจุบัน 14 - INEWHORIZON

INEWHORIZON

ขอบฟ้าใหม่

ความเจริญและความเสื่อมของเศรษฐกิจจีน: จากอดีตถึงปัจจุบัน 14

ความเจริญและความเสื่อมของเศรษฐกิจจีน: จากอดีตถึงปัจจุบัน 14

รศ.สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย

ง. การเปิดประเทศทางเศรษฐกิจ
การเปิดประเทศเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของการปฏิรูป ก่อนหน้านั้น เศรษฐกิจจีนมีลักษณะค่อนข้างปิด มีการทำการค้าขายกับต่างประเทศน้อย การค้าระหว่างประเทศของจีนส่วนใหญ่เป็นการค้ากับประเทศกลุ่มสังคมนิยม โดยเฉพาะกับสหภาพโซเวียต ในช่วงกว่า 40 ปีหลังการปฏิรูป มูลค่าการค้าต่างประเทศของจีนมีการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด จนในปัจจุบัน จีนกลายเป็นประเทศที่มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศที่สูงที่สุดในโลก มีการส่งออกมากที่สุดและมีการนำเข้าเป็นอันดับสองของโลก การลงทุนต่างประเทศก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน คือมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงมาก ในปัจจุบัน จีนกลายเป็นประเทศที่ได้รับการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุดในโลก และมีการออกไปลงทุนในอันดับต้นๆของโลก
การเปิดประเทศทางเศรษฐกิจของจีนเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจหลายประการ ประเทศจีนสามารถใช้ประโยชน์จากแรงงานและทรัพยากรที่มีต้นทุนต่ำผลิตสินค้าออกไปขายในประเทศต่างๆได้ การขยายตัวของการส่งออกส่งผลให้มีการผลิตสินค้ามากขึ้นและก่อให้เกิดรายได้และการจ้างงานเพิ่มขึ้น การนำเข้าทำให้ประชาชนสามารถใช้สินค้าและบริการต่างๆที่จีนไม่สามารถผลิตได้ หรือยังผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ การลงทุนจากต่างประเทศก็เอื้อประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากเงินทุนแล้ว ผู้ลงทุนต่างชาติยังนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามา การลงทุนจากต่างประเทศทำให้จีนรับประโยชน์จากประเทศที่มาทีหลังในการพัฒนาเทคโนโลยี(late-comer’s advantage) คือสามารถอาศัยความรู้และเทคโนโลยีที่มีการพัฒนามาแล้วมาใช้ประโยชน์ โดยไม่จำเป็นต้องไปพัฒนาขึ้นมาใหม่ รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากการฝึกอบรมคนงาน และสามารถทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้นจากเดิมในเวลาต่อมา
นอกจากดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศแล้ว จีนยังมีการออกไปลงทุนในต่างประเทศด้วย ตั้งแต่ประมาณปีค.ศ.2000 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนได้ส่งเสริมให้วิสาหกิจจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศ คือมี นโยบาย”ก้าวออกไปข้างนอก”(走出去) การออกไปลงทุนในต่างประเทศเอื้อประโยชน์ต่อการแสวงหาวัตถุดิบและเทคโนโลยี การเกินดุลในการค้าเป็นเวลานานทำให้จีนสะสมเงินตราต่างประเทศได้มากและการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศมีความต้องการใช้วัตถุดิบและพลังงานในปริมาณสูง การออกไปลงทุนในต่างประเทศจึงทำให้จีนสามารถใช้ประโยชน์จากเงินตราต่างประเทศที่มีการสะสมไว้อย่างเต็มที่มากขึ้น
การเข้าสู่เวทีโลกของจีนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมาก เมื่อจีนมีการพัฒนา อิทธิพลของจีนต่อเศรษฐกิจโลกก็มีความสำคัญมากขึ้น การนำเข้าของจีนมีผลกระทบต่อความต้องการทั้งในสินค้าโภคภัณฑ์ สินค้าเพื่อการผลิตและสินค้าบริโภค การซื้อสินทรัพย์และหลักทรัพย์ของจีนก็มีส่วนสำคัญต่อการลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนของโลกด้วย
ในทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ริเริ่มการก่อตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาสิ่งสาธารณูปโภคเอเชีย(亚洲基础设施投资银行:AIIB: Asian Infrastructure Investment Bank)ซึ่งมีประเทศเข้าร่วมด้วยจำนวนมากการก่อตั้งกองทุนสายไหม(丝路基金:Silk-road Fund) และมีส่วนร่วมในธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารเพื่อการพัฒนากลุ่มบริกส์(BRICS)ซึ่งประกอบด้วยประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และอาฟริกาใต้ การเข้าร่วมของจีนในองศ์การเหล่านี้ มีผลต่อการเสริมสร้างความเพียงพอของเงินทุนที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาในประเทศต่างๆของโลก
การเจริญเติบโตของการค้าและการลงทุนของธุรกิจจีนมีผลในการสร้างเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศ โดยจีนผลิตชิ้นส่วนเพื่อนำไปเป็นส่วนประกอบของสินค้าที่ผลิตในประเทศอื่น และนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนมาผลิตต่อเป็นสินค้าสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูปในจีน ทำให้การค้าระหว่างประเทศของโลกมีการเจริญเติบโตขึ้น
จีนเป็นประเทศที่มีประชากรมาก การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วทำให้ประชาชนจีนมีรายได้สูงขึ้นและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงมีคนจีนออกไปท่องเที่ยวในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก นักท่องเที่ยวจีนนอกจากมีมากแล้ว ยังมีอำนาจซื้อสูง การท่องเที่ยวของคนจีนจึงมีส่วนส่งเสริมรายได้และการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนมีการสร้างเครือข่ายคมนาคมขนส่งและมีการขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไปสู่ภูมิภาคต่างๆในประเทศและออกไปลงทุนสร้างทางรถไฟความเร็วสูงในหลายประเทศ ซึ่งมีส่วนในการเสริมสร้างความสะดวกสบายเดินทางการเดินทางระหว่างประเทศด้วย
การมีส่วนร่วมในเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่นกลุ่มความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคหรือเอเปก(亚洲太平洋经济合作组织) กลุ่มหุ้นส่วนเศรษฐกิจภูมิภาคหรือRCEP(区域全面经济伙伴关系协定)และกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศอื่นๆ ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาคของจีน ก็มีส่วนทำให้ประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศมีส่วนร่วมมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศซึ่งถูกครอบงำโดยประเทศตะวันตกมาเป็นเวลานาน
ความสำเร็จในการพัฒนาจากประเทศที่ยากจนเป็นเศรษฐกิจขั้นนำของโลก ทำให้ประสบการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนด้านต่างๆถูกนำมาใช้เป็นบทเรียนในการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศอื่นๆ ในช่วงเวลาสามสี่ทศวรรษที่ผ่านมา มีหนังสือและบทความที่ศึกษาถึงนโยบายและประสบการณ์ของจีนในการพัฒนาเศรษฐกิจที่พิมพ์เผยแพร่ออกเป็นจำนวนมาก
การเปิดประเทศทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงสองทศวรรษแรกมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ: ส่งเสริมการส่งออก รับการลงทุนจากต่างประเทศเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการค้าและลงทุน แล้วขยายขอบเขตไปสู่ส่วนอื่นๆของประเทศ ในสองทศวรรษต่อมาจนถึงปัจจุบัน นโยบายการเปิดประเทศทางเศรษฐกิจมุ่งสู่การส่งเสริมการลงทุนในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก ส่งเสริมการนำเข้า การทำข้อตกลงการค้าเสรี เปิดเขตทดลองการค้าเสรีในพื้นที่ต่างๆของประเทศ และการส่งเสริมให้เงินหยวนจีน(人民币)ใ้ห้มีการใช้ในระดับโลกมากขึ้น
การเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก(世界贸易组织)ของจีนในปีค.ศ. 2001 เป็นจุดสำคัญอันหนึ่งในการเปิดประเทศทางเศรษฐกิจ จีนเริ่มมีการเจรจาเข้าองค์การการค้าโลกตั้งแต่ปีค.ศ. 1986 การเจรจานี้หยุดชะงักไปในบางช่วง ใช้เวลารวมทั้งสิ้น 15 ปี จึงสามารถบรรลุข้อตกลงได้ ในการเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก จีนต้องปรับลดภาษีศุลกากร ปรับปรุงกฎระเบียบทางการค้าและการลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับกติกาและหลักปฏิบัติสากล แต่การสมัครเข้าองค์การการค้าโลกของรัฐบาลจีนต้องเผชิญกับการคัดค้านทั้งจากผู้บริหารประเทศบางคน นักวิชาการและประชาชนทั่วไป ซึ่งกังวลว่า เมื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกแล้ว จีนต้องนำเข้าสินค้าที่มีราคาถูกกว่าและมีคุณภาพที่ดีกว่าจากต่างประเทศ ต้องให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ลงทุนต่างประเทศ ต้องเผชิญกับการแข่งขันจากต่างประเทศอย่างรุนแรง ส่งผลให้วิสาหกิจจีนต้องล้มละลายและทำให้เกิดการว่างานจำนวนมาก ผลปรากฏว่า เศรษฐกิจจีนไม่เพียงแต่ไม่ได้เกิดความเสียหายอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ แต่กลับทำให้การค้าการลงทุนทั้งในกิจการที่มาจากต่างประเทศและที่อยู่เดิมในประเทศมีการเจริญเติบโตมากขึ้น โดยบริษัทต่างชาติมีความมั่นใจต่อเศรษฐกิจจีนมากขึ้น จากการปฏิบัติตามกฎระเบียบและเงื่อนไขสากล จึงต่างเข้ามาทำการค้าการลงทุนในจีน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่และมีค่าจ้างแรงงานต่ำ ในทศวรรษหลังจากที่เข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก ขอบเขตการเปิดประเทศทางเศรษฐกิจของจีนได้เพิ่มขึ้นมามาก ในเวลาต่อมาเมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงและจีนต้องเผชิญกับมาตรการการกีดกันทางการค้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา ประกอบกับนโยบายการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศของจีนเอง ขอบเขตการเปิดประเทศทางเศรษฐกิจจึงได้ลดมาบ้าง
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ดำเนินนโยบายเส้นทางสายไหมเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆตามเส้นทางสายนี้ซึ่งมีอยู่หลายสิบประเทศ และผลักดันเงินหยวนจีน(人民币) ให้เป็นเงินตราที่ใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนของโลก ตั้งแต่ปีค.ศ. 2019 รัฐบาลจีนมีการศึกษา ทดลองใช้เงินอิเล็คทรอนิกส์(电子货币)แทนการใช้ธนบัตร และมีเป้าหมายผลักดันให้เงินอิเล็คทรอนิกส์หรือเงินหยวนดิจิตอลนี้เป็นเงินตราระดับโลกที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในเวลาข้างหน้า
จะเห็นได้ว่า การเปิดประเทศทางเศรษฐกิจของจีนมีการทำกันเป็นขั้นตอนและมีการปรับปรุงตามกาลเวลา อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันการเปิดประเทศทางเศรษฐกิจของจีน ยังมีบางส่วนที่ไม่สามารถทำได้เต็มที่ เช่น ยังมีกฎหมายและกฎระเบียบที่ควบคุมการไหลเข้าออกของเงินทุน และมีข้อห้ามในการทำธุรกรรมบางอย่าง แม้กฎระเบียบเหล่านี้มีการผ่อนคลายลงมาบ้างใน4-5ปีที่ผ่านมา แม้จีนมีการปฏิบัติตามกฎระเบียบการค้าการลงทุน และคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา แต่จีนมีการเกินดุลการค้าปริมาณสูง และมีการพัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว จึงมีการครหาจากประเทศคู่ค้าต่างๆโดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกาที่กล่าวหาว่าจีนมีการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เช่น มีค่าเงินต่ำ บังคับให้นักลงทุนชาวต่างชาติต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ประเทศจีน และละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา และกีดกันการค้าจีนในลักษณะต่างๆ การกีดกันทางการค้านี้ ทำให้จีนต้องหันมาส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ พยายามพึ่งตนเองในเทคโนโลยีมากขึ้น และพึ่งชิ้นส่วนอุปกรณ์จากต่างประเทศน้อยลง ซึ่งอาจทำได้ยากในช่วงเวลาสั้น แต่จีนก็คาดหวังว่าจะสามารถพี่งตนเองทางเท็คโนโลยีได้มากขึ้นในระยะยาว
การเปิดประเทศทางเศรษฐกิจของจีนเริ่มจากการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษสี่แห่งในมณฑลกวางตุ้ง(广东)และฮกเกี้ยน(福建)คือ เซินเจิ้น(深圳)จูไห่(珠海) ซ่านโถว(汕头) และเซี่ยเหมิน(厦门) เพื่อเป็นประตูที่รับการลงทุนและติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ต่อด้วยการพัฒนาเขตผู่ตง(浦东)ในมหานครเซี่ยงไฮ้(上海) เกาะไหหลำ และเมืองในชายฝั่งทะเลตะวันออก แล้วขยายวงกว้างจนครอบคลุมพื้นที่มณฑลอื่นโดยทำควบคู่กับยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆของประเทศ รวมทั้งพื้นที่อ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า(粤港澳大湾区)ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 7เมืองในมณฑลกวางตุ้ง และเขตปกครองพิเศษฮ่องกงและมาเก๊า
ในปีค.ศ. 2020 จีนมีนโยบายที่จะพัฒนาให้เกาะไหหลำเป็นเขตเศรษฐกิจการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่เรียกว่าเมืองท่าการค้าเสรีไหหลำ(海南自由贸易港)โดยมีการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เช่น การยกเว้นภาษีศุลกากรนำเข้าและส่งออก การลดอัตราภาษีเงินได้ การคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาและการลดขั้นตอนขออนุญาตการตั้งกิจการ ตั้งแต่ปีค.ศ. 2020 เป็นต้นมา ประชาชนจีนจากแผ่นดินใหญ่ที่ไปท่องเที่ยวในไหหลำ มีสิทธิ์ที่จะนำเข้าสินค้าจากไหหลที่ได้รับการยกเว้นภาษีสุรากากรแล้วในปริมาณหนึ่งได้
ในปีค.ศ. 2013 เจนเริ่มมีการพัฒนาเขตทดลองการค้าเสรี(自由贸易试验区)ที่มหานครเซี่ยงไฮ้ และต่อมาก็ได้ทยอยจัดตั้งเขตทดลองการค้าเสรีในมณฑลต่างๆของประเทศ เขตทดลองการค้าเสรีนี้ จัดตั้งขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าการลงทุนระหว่างประเทศและการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยมีกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศต่างๆ เช่นการแลกเงินโอนเงินและก่อตั้งกิจการ จนถึงปีค.ศ. 2020 ในประเทศจีนมีเขตการค้าเสรีนี้กว่าสามสิบแห่งแล้ว
การจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์เป็นนโยบายส่วนหนึ่งของการปฏิรูปและเปิดประเทศทางเศรษฐกิจ ในปีค.ศ. 1990 มีการก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ในเซินเจิ้นและเซี่ยงไฮ้ แม้ในระยะแรก มีกฎระเบียบในการซื้อขายที่เข้มงวด มีการจำกัดการซื้อขายโดยแบ่งแยกประเภทหลักทรัพย์ในการซื้อขาย แต่ต่อมาก็ค่อยๆคลายความเข้มงวดลง ในต้นศตวรรษที่ 21 ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้นก็ได้เชื่อมโยงกับตลาดหลักทรัพย์ใฮ่องกง(香港) และอนุญาตให้วิสาหกิจจีนไปจดทะเบียนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในประเทศอื่นๆ
การผลักดันให้เงินหยวนจีนเป็นเงินตราที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ(人民币国际化) เป็นยุทธศาสตร์ของนโยบายการเปิดประเทศของจีนในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตและจีนมีส่วนแบ่งในการค้าและการลงทุนของโลกมากขึ้น การใช้

การผลักดันให้เงินหยวนจีนเป็นเงินตราที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ(人民币国际化) เป็นยุทธศาสตร์ของนโยบายการเปิดประเทศของจีนในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตและจีนมีส่วนแบ่งในการค้าและการลงทุนของโลกมากขึ้น การใช้เงินหยวนจีนในตลาดโลกจึงมีการแพร่หลายมากขึ้น อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบันเงินหยวนจีนยังมีสัดส่วนการใช้ไม่มากในระดับโลก แม้มีหลายประเทศที่มีเงินหยวนจีนเป็นส่วนหนึ่งของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ(外汇储备金) และมีการทำข้อตกลงการแลกเปลี่ยนเงินของตนกับเงินหยวนจีนโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านเงินสกุลอื่น แต่เงินดอลล่าร์สหรัฐอเมริกายังเป็นเงินตราที่มีการใช้มากที่สุดในโลก
ในปลายปีค.ศ. 2015 องค์การการเงินระหว่างประเทศได้ประกาศให้เงินหยวนจีนเป็นส่วนประกอบในตะกร้าเงินที่ใช้คำนวณค่าของสิทธิถอนเงินพิเศษ(特别提款权货币篮子)ควบคู่กับเงินดอลล่าร์อเมริกา เงินยูโร เงินปอนด์อังกฤษและเงินเยนญี่ปุ่น โดยเงินหยวนมีน้ำหนักในตะกร้าร้อยละ 10.9 ซึ่งแม้มีสัดส่วนที่น้อยกว่าเงินดอลล่าร์เมริกาและเงินยูโร แต่ก็สูงกว่าเงินเยนญี่ปุ่นและเงินปอนด์อังกฤษ การได้รวมอยู่ในตะกร้าเงินของสิทธิถอนเงินพิเศษนี้ ถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การใช้จ่ายเงินหยวนที่แพร่หลายในตลาดโลกในเวลาข้างหน้า
ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางด้านบล็อกเชน(block chain) การใช้เงินผ่านระบบคอมพิวเตอร์มีความแพร่หลายมากขึ้น และมีองค์กรเอกชนสร้างเงินอิเล็คทรอนิกส์ที่เรียกกันว่าเงินคริปโต(Crypto currency)ออกใช้ เงินคริปโตนี้มีลักษณะเหมือนเงินจริงคือใช้ซื้อสินค้าและบริการได้ ใช้เป็นเครื่องวัดคุณค่าและเก็บรักษาค่าได้ เมื่อเงินนี้มีคนนิยมใช้มากขึ้น จึงมีการซื้อขายเก็งกำไรกัน และทำให้ค่าของมันเคลื่อนไหวขึ้นลงมาก หน้าที่ของเงินคริปโตในด้านการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและการวัดค่าสินค้าบริการจึงได้ลดน้อยลง แต่เงินคริปโตนี้เป็นเงินที่ไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลอย่างเป็นทางการ และหากมีการใช้กันมากๆ อาจส่งผลรบกวนต่อภาคการเงินและประสิทธิภาพของนโยบายการเงินได้ ธนาคารกลางของหลายประเทศจึงเริ่มศึกษาการสร้างเงินอิเล็คทรอนิกส์ที่เป็นทางการ ที่รัฐบาลสามารถควบคุมได้ จีนก็เป็นประเทศหนึ่งที่ศึกษาและทดลองใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกกันว่าการจ่ายเงินโดยดิจิตอลหยวน(数字货币电子支付: Digital Currency Electronic Payment: DCEP) หรือเงินดิจิตอลที่ออกโดยธนาคารกลาง(中央银行数字货币: Central Bank Digital Currency: CBDC)ที่ใช้ได้เหมือนกันจริงและมีการทดลองใช้บ้างแล้ว
มึงหยวนดิจิตอลต่างกับเงินคริปโตคือเป็นเงินจริงที่ออกโดยรัฐบาลและมีค่าเท่ากับเงินหยวนทุกประการ จึงไม่มีปัญหาในเรื่องการเก็งกำไรค่าเงิน การใช้เงินดิจิตอลของภายในประเทศจีนคงไม่ประสบกับปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ เพราะในเวลาที่ผ่านมา ประชาชนจีนมีการใช้จ่ายเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ เช่น ผ่าน Alipay และWeChatอยู่แล้ว และบริษัทเอกชนเจนก็ได้ปรับระบบของตนให้สามารถรองรับการใช้เงินดิจิตอลแล้ว แต่สิ่งที่รัฐบาลจีนมุ่งหวังคือเงินดิจิตอลหยวนนี้จะมีการใช้อย่างแพร่หลายในระดับโลก และมีผลทำให้เงินหยวนจีนค่อยๆทดแทนเงินดอลล่าร์อเมริกา ทำให้จีนสามารถได้ประโยชน์จากการผลิตเงินออกมาซื้อสินค้าบริการ และทำการลงทุนได้โดยไม่ต้องส่งสินค้าออกไปแลกกับสินค้าเข้า อย่างไรก็ตาม เป็นการยากที่จะคาดการณ์ว่า เงินหยวนจีนจะมีการใช้กันแพร่หลาย และกลายเป็นเงินสกุลหลักระดับโลกอย่างเต็มรูปแบบในเวลาใดได้

Facebook Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *