jos55 instaslot88 Pusat Togel Online พระไพศาล วิสาโล สร้างภูมิคุ้มกันให้ชีวิตเข้มแข็งรับปีเสือ สุขทุกวันด้วยธรรมะ - INEWHORIZON

INEWHORIZON

ขอบฟ้าใหม่

พระไพศาล วิสาโล สร้างภูมิคุ้มกันให้ชีวิตเข้มแข็งรับปีเสือ สุขทุกวันด้วยธรรมะ

พระไพศาล วิสาโล สร้างภูมิคุ้มกันให้ชีวิตเข้มแข็งรับปีเสือ สุขทุกวันด้วยธรรมะ

โดย พระไพศาล วิสาโล

การแพร่ระบาดของโควิด 19 ก่อให้เกิดความเครียด ความท้อแท้ และความกังวลถึงความไม่แน่นอนต่าง ๆ นานา เมื่อสภาวะจิตใจมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดความเครียดสะสม เราทุกคนจึงล้วนต้องการการเยียวยาใจ เพื่อจุดประกายความหวังให้กับชีวิต

ความสุข ความทุกข์ เป็นความรู้สึกที่แปรเปลี่ยนไปตามภาวะแห่งจิตเมื่อถูกทดสอบโดยสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญ สิ่งสำคัญมากที่สุดเมื่อต้องอยู่เพียงลำพังกับความคิดและอารมณ์ของตนเองคือการเพิ่มพลังบวกให้กับจิตใจที่กำลังดำดิ่งในทางลบ คอลัมน์ Inspiration ฉบับนี้ จึงได้รับความเมตตาจาก พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ มาถ่ายทอดถึงหลักธรรมะที่ช่วยเติมเต็มหัวใจให้ฉ่ำชื่น ปลุกปลอบพลังกายพลังใจ ดำเนินชีวิตให้ก้าวหน้าด้วยหัวใจอันแข็งแกร่ง

ทุกสรรพสิ่งในโลกล้วนไม่จีรัง

กลางคืนไม่เคยมืดมิดไปตลอด เพราะสุดท้ายก็ต้องหลีกทางให้กับแสงเงินแสงทองยามรุ่งอรุณ เช่นเดียวกับความทุกข์ ความยากลำบาก บทเรียนจากโควิด 19 ชี้ให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของสรรพสิ่ง เราจึงต้องตระหนักถึงความไม่แน่นอนนี้ และเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน

“ทุกอย่างในโลกนี้ล้วนไม่จีรัง ทางพระเรียกว่า ‘อนิจจัง’ หมายความว่า โควิดก็ดี ความยากลำบากจากโควิดก็ดี สักวันหนึ่งก็จะผ่านไป ขอให้เราระลึกถึงวลีนี้ไว้จะได้มีกำลังใจ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ‘ผู้มีปัญญา แม้ประสบทุกข์ ก็ยังหาสุขพบ’ เราสามารถพบสุขได้ท่ามกลางความทุกข์ที่รายล้อมรอบตัว วิธีพบความสุขง่าย ๆ ก็อย่างเช่น ถามตัวเองว่าตอนนี้เราเจ็บป่วยหรือไม่ ตายังมองเห็น หูยังได้ยินเสียงคนที่เรารักหรือเปล่า เรายังกินอิ่มนอนอุ่นอยู่ใช่หรือไม่ สิ่งเหล่านี้แท้จริงคือความสุขที่อยู่กับเราแล้ว แต่เราอาจมองไม่เห็นหรือมองข้ามไป”

ที่สำคัญคือ ความไม่แน่นอนนี้ยังหมายรวมถึงความไม่แน่นอนของชีวิต ที่วันดีคืนดีคนใกล้ตัวต้องเสียชีวิตลงอย่างปัจจุบันทันด่วนโดยต่างฝ่ายไม่มีโอกาสได้บอกลา เมื่อชีวิตไม่มีความเที่ยง เราจึงควรใช้เวลาที่มีอยู่ให้เกิดคุณค่า เพราะเวลาแต่ละนาที แต่ละชั่วโมง หรือแต่ละวัน คือโอกาสทองซึ่งจะหมดลงไปเรื่อย ๆ หากไม่รีบใช้เวลาที่มีอยู่ทำความดี ทำหน้าที่ต่อคนที่เรารัก สร้างประโยชน์ทั้งกับตัวเองและผู้อื่น เมื่อเวลาของเราสิ้นสุดลง เราจะรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ให้เวลากับคนที่เรารัก เสียดายที่ไม่ได้ทำความดี

ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด

ต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ที่นำมาสู่ความวิตกกังวล ความท้อแท้ในเรื่องหน้าที่การงาน หลายคนอาจถึงกับต้องตกงาน เปลี่ยนงาน ลดงานที่ทำ หรืออาจจะแค่ปรับที่ทำงานมาเป็นที่บ้าน ในยามนี้สิ่งที่จะช่วยรักษาใจเราไม่ให้ทุกข์คือการยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และคิดต่อไปว่าเราจะหาประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง

เราต้องไม่ท้อแท้ ท้อถอย หรือก่นด่าชะตากรรม มีคำกล่าวอยู่เสมอว่า “ในวิกฤตมีโอกาส” คนที่ไม่ยอมแพ้ รู้จักขวนขวาย ย่อมหาโอกาส หาช่องทางให้กับตัวเองได้เสมอ เช่น บางคนเคยเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เมื่อตกงานก็ผันตัวมาเป็นแม่ค้าขายทุเรียน แม้ไม่เคยมีความรู้เรื่องทุเรียนมาก่อน แต่เพราะรู้จักขวนขวายเรียนรู้ ก็สามารถสร้างรายได้และมีความสุขกับสิ่งที่ทำอยู่ได้

ส่วนคนที่ยังมีงานทำแต่ทำอยู่ที่บ้านก็ควรให้จิตอยู่กับปัจจุบัน ถ้าใจไม่อยู่กับปัจจุบัน แต่ไปอยู่กับอนาคต เราจะวิตกกังวล จะมโนถึงความไม่แน่นอน และคิดร้ายกับอนาคตที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า ทุกวันนี้คนเครียดไม่ใช่เพราะทำงานหนัก หรือทุกข์เพราะสิ่งที่กำลังทำในปัจจุบัน แต่ทุกข์เพราะใจไปอยู่กับอนาคต มโนถึงสิ่งเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นทั้งที่อาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ หรือถึงเกิดขึ้นก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เราคิด เช่น คิดไปว่าปีหน้าอาจตกงาน คิดแบบนี้ก็เกิดความเครียดแล้วทั้งที่มันอาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ ดังนั้น เราต้องอยู่กับปัจจุบันและทำปัจจุบันให้ดีที่สุด นั่นหมายความว่าให้รู้จักหาความสุขจากงานที่ทำ เห็นคุณค่าของงานที่ทำก็มีความสุขได้

“เราทำงานที่บ้านอย่างมีความสุขได้ถ้าเห็นคุณค่าของงาน มีใจรักงาน มองอุปสรรคเป็นสิ่งท้าทายความสามารถที่จะดึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ออกมาได้ สุขหรือทุกข์อยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา บางทีก็ปฏิเสธได้ยาก จึงควรเริ่มจากการยอมรับ ไม่บ่น ไม่โวยวาย ไม่ตีโพยตีพาย รู้จักอยู่กับมันให้ดีที่สุด แล้วหาความสุขจากมันให้ได้มากที่สุด”

“สติ” ภูมิคุ้มกันชีวิต

พระอาจารย์ไพศาลกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันการกระตุ้นเร้าของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้ผู้คนมีชีวิตเร่งรีบมากขึ้น มีเวลาคิดใคร่ครวญน้อยลง ชีวิตจึงรุ่มร้อน กระวนกระวายมากขึ้น ธรรมะในยามนี้จึงยิ่งมีความสำคัญในการชะลอชีวิตผู้คนให้ช้าลง

ธรรมะยังช่วยให้คนมีสติมากขึ้น ช่วยให้เราไม่ด่วนสรุปหรือเชื่ออะไรง่าย ๆ ยิ่งปัจจุบันในโลกดิจิทัลที่ผู้คนถูกหลอกลวงด้วยข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จได้ง่าย สิ่งที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตจากสื่อดิจิทัลเหล่านี้ได้ก็คือ การมีสติ ซึ่งทำให้เราไม่หลงคล้อยตามไปกับข้อความข่าวสารที่กระตุ้นเร้าให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความอยากได้ใคร่มีต่าง ๆ

“ในยุคนี้เราต้องมีสติให้มาก อย่าเชื่อทันที อย่าด่วนสรุป ต้องตรวจสอบ ต้องมีวิจารณญาณ มีปัญญาแยกแยะ และตระหนักถึงโทษของเทคโนโลยีรวมถึง Metaverse ที่กำลังจะตามมา ถ้าเห็นโทษของมันเราก็จะไม่ผลีผลาม ไม่ปล่อยใจให้ตกอยู่ในอำนาจของมัน นอกจากสติแล้ว เราควรมีวินัย คือรู้ว่าเมื่อไหร่ควรทำอะไร หรือเท่าไหร่ควรจะพอ เช่น ตั้งเงื่อนไขกับตัวเองว่าตื่นเช้ามาเราจะไม่เปิดโทรศัพท์มือถือทันที เพราะการเปิดโทรศัพท์มือถือตั้งแต่เช้าแทนที่จะพบกับความสดชื่นแจ่มใสจากบรรยากาศยามเช้า ก็อาจเจอกับความหม่นหมองจากข้อความในมือถือ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นวันใหม่ที่ไม่ดีนัก เราอาจทำอย่างอื่นก่อน เช่น ล้างหน้าแปรงฟัน ออกกำลังกาย หรือนั่งสมาธิ สวดมนต์ เสร็จแล้วค่อยเปิดโทรศัพท์มือถือ ก็จะช่วยทำให้เราไม่ถูกครอบงำด้วยอำนาจของโทรศัพท์มือถือตั้งแต่เช้า”

ภัยร้ายอีกประการหนึ่งในโลกดิจิทัลคือมิจฉาชีพทางการเงิน การจะสร้างภูมิคุ้มกันในเรื่องนี้ได้ เราต้องมองให้เห็นความจริงที่ว่า มิจฉาชีพเข้ามาหลอกลวงโดยอาศัยความโลภของคนเป็นส่วนใหญ่ จึงตกเป็นเหยื่อได้ง่าย แต่หากเรามีสติ รู้จักยับยั้งชั่งใจ ก็จะไม่หลงเชื่อไปกับการหลอกลวงนั้น ปัจจุบันยังมีมิจฉาชีพที่อาศัยจุดอ่อนของมนุษย์ทางด้านสุขภาพมาหลอกล่อให้คนยอมใช้จ่ายโดยอ้างว่าใช้รักษาโรคแล้วเห็นผลจริงก็ยิ่งต้องระวัง อย่าปล่อยให้จุดอ่อนนี้มีอิทธิพลต่อจิตใจ ต้องมีสติเข้าไว้ อย่าหลงเชื่อง่าย ๆ

นอกจากนี้ สิ่งที่พบเห็นได้ในตัวผู้คนทุกวันนี้คือ แม้จะมีทุกอย่างครบ แต่บางสิ่งบางอย่างกลับขาดหายไปจากชีวิต นั่นก็คือความมีชีวิตชีวา ความเบิกบานแจ่มใส ความสงบ ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลไม่สามารถตอบสนองได้ เพราะสิ่งที่ดิจิทัลให้ได้คือความรวดเร็ว ความสะดวกสบาย และความสนุกสนานเร้าใจ ธรรมะจึงเป็นสิ่งนำพาให้คนพบความสงบเย็นในจิตใจ พบความหมายของชีวิต

“อารมณ์ร่วมสมัยของคนยุคนี้คือการมีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายมากมาย มีทุกสิ่งทุกอย่างที่ช่วยทำให้มีความสุขจากการเสพ แต่ชีวิตกลับว่างเปล่า เคว้งคว้าง โดดเดี่ยว ไร้ชีวิตชีวา ไม่มีไฟที่จะทำอะไร เพราะขาดเป้าหมายในชีวิต ธรรมะมีความสำคัญตรงนี้เพราะจะช่วยให้เขาพบความหมายของชีวิต ทำให้เขารู้ว่ามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร เมื่อได้เข้าถึงสิ่งเหล่านี้ เขาก็จะพบความหมายของชีวิต รวมทั้งความสงบในจิตใจ ธรรมะในสายตาคนทั่วไปเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่ในความน่าเบื่อมันมีสิ่งชโลมใจที่ดีกว่า เปรียบได้กับน้ำเปล่า ไม่มีรสชาติ แต่เราขาดไม่ได้ และดื่มได้ทั้งวัน ขณะที่น้ำหวาน น้ำอัดลม มีรสชาติอร่อยก็จริง แต่ถ้าดื่มมากไปก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ชีวิตคนเราอยู่ไม่ได้ถ้าขาดน้ำที่เป็น H2O ซึ่งช่วยหล่อเลี้ยงกายและใจ เช่นเดียวกับธรรมะซึ่งทำให้มองเห็นความสุขที่ชื่อว่าความสงบ ไม่ใช่ความตื่นเต้นเร้าใจ”

ส่งเสริมธรรมะให้งอกงามในจิตใจ

อย่างไรก็ดี ในสังคมยุคใหม่ที่สื่อโซเชียลมีเดียกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเผยแพร่สิ่งต่าง ๆ การเผยแผ่ธรรมะก็ต้องปรับในเรื่องวิธีการ เทคนิค ภาษาที่ใช้ รวมทั้งจุดเน้นต้องเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เราสามารถเชื่อมธรรมะกับคนรุ่นใหม่ได้ผ่านเทคโนโลยีที่คนรุ่นใหม่สนใจอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่ ๆ การใช้พอดคาสต์ อินสตาแกรม ฯลฯ ซึ่งมีความจำเป็นอยู่ แต่ก็ไม่ควรเทน้ำหนักไปที่สื่อดิจิทัลอย่างเดียว เพราะมีกิจกรรมอีกหลากหลายที่สามารถทำให้ผู้คนเข้าถึงธรรมะได้นอกเหนือไปจากคอร์สปฏิบัติธรรมหรือการเข้าวัดฟังธรรม อย่างเช่น การจัดเวิร์กช็อป การจัดอีเวนต์ ที่ทำให้คนได้กลับมาเรียนรู้ตัวเอง

กิจกรรมออฟไลน์เหล่านี้อาจดูเหมือนสวนกระแสสังคมดิจิทัลที่คนเราอยากอยู่กับหน้าจอมือถือมากกว่าออกไปตากแดดตากลมข้างนอก แต่ความจริงแล้วคุณค่าของกิจกรรมที่ทุกคนจะได้คือการได้เห็นตัวเอง เห็นคุณค่าของสิ่งที่อาจเคยมองข้ามไป

พระอาจารย์ได้ยกตัวอย่างถึงกิจกรรมที่ทำมาอย่างต่อเนื่องคือกิจกรรมปลูกป่าของทางวัดที่มีมากว่า 20 ปี และโครงการ “ปลูกต้นไม้ ปลูกธรรมะ” ที่ท่านดำรงฐานะประธานมูลนิธิปลูกต้นไม้ ปลูกธรรมะ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560

“ปลูกต้นไม้ ปลูกธรรมะ” มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า พื้นที่สีเขียวให้กับธรรมชาติ ส่งเสริมค่านิยมการทำบุญด้วยต้นไม้ ซึ่งให้ประโยชน์ต่อตัวผู้ทำบุญ ต่อส่วนรวมต่อโลก โครงการนี้ รณรงค์ส่งเสริมให้ผู้คนปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินของตนเองหรือที่สาธารณะใกล้บ้านทั้งในเมืองและชนบท เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ธรรมะจากต้นไม้ จากป่าไม้ จากธรรมชาติ นอกจากนั้นยังสนับสนุนการประยุกต์พิธีกรรม เช่น เวียนเทียนด้วยต้นไม้แล้วนำกลับไปปลูกในพื้นที่ต่าง ๆ ตามที่ต้องการ ไม่เฉพาะในพื้นที่ป่า

“เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกิดรสชาติใหม่ ๆ ของสิ่งเสพมากมาย แต่มันไม่สามารถเติมเต็มจิตใจได้อย่างแท้จริง เพราะถึงจุดหนึ่งคนก็จะเบื่อ คนเราสามารถพบความสุขที่ประเสริฐกว่า คือความสุขจากความสงบ ความสุขจากการลดหรือการละ ไม่ใช่ความสุขจากการมีหรือการได้ ความสุขจากการทำ ไม่ใช่ความสุขจากการเสพ อาตมาคิดว่ากิจกรรมที่ทำให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กันยังจำเป็นอยู่ และเป็นสิ่งที่คนยุคนี้โหยหา ธรรมะจึงควรมาในรูปแบบนี้ด้วย และมันก็มีพลังดึงดูดคนได้ไม่น้อย อย่างกิจกรรมปลูกต้นไม้ ปลูกธรรมะ ก็เกิดจากความต้องการให้คนปลูกต้นไม้กันเยอะ ๆ โดยการปลูกต้นไม้เปรียบได้กับการปลูกธรรมะ การนำต้นไม้หรือต้นกล้าไปปลูกเป็นการบำรุงพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนาเกิดขึ้นท่ามกลางธรรมชาติ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ในป่า โดยอาศัยร่มเงาของต้นไม้ ถ้าเราส่งเสริมการปลูกต้นไม้ให้สถานที่ต่าง ๆ เป็นรมณีย์ ก็เท่ากับช่วยส่งเสริมให้ธรรมะงอกงามในจิตใจของผู้คน และส่งเสริมความร่มเย็นให้กับโลก เพราะตอนนี้โลกมีความร้อนขึ้นเรื่อย ๆ”

ความสุขในทุก ๆ วัน

ความสุขในชีวิตคือสิ่งที่ทุกคนแสวงหา ทว่าในแต่ละวันเราต่างต้องเผชิญความเครียดมากมาย แล้วจะทำอย่างไรให้เรายังพบความสุขได้ในทุก ๆ วัน

กล่าวกันว่า เราไม่สามารถหาความสงบสุขจากภายนอกได้ ตราบใดที่เรายังไม่ได้สร้างความสงบสุขขึ้นภายในจิตใจ ดังนี้แล้ว พระอาจารย์ไพศาลจึงได้ฝากทิ้งท้ายให้เป็นเช็กลิสต์ถึงหนทางที่จะทำให้เราพบความสุขในจิตใจ

1. ยิ้มรับวันใหม่ด้วยความรู้สึกขอบคุณที่เรายังมีชีวิตอยู่ ขอบคุณที่เรายังมีคนที่เรารักอยู่อย่างพร้อมหน้าพร้อมตา หากตื่นเช้าขึ้นมาแล้วยังสามารถยิ้มรับวันใหม่ได้ก็ถือเป็นการเริ่มต้นวันใหม่ได้ดี สิ่งนี้ก็จะนำไปสู่ความสุข

2. รู้จักชื่นชมสิ่งดี ๆ ที่เรามีอยู่ หรือที่เราได้พบในแต่ละวัน สิ่งดี ๆ นั้นมีอยู่รอบตัวเรามากมาย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสังเกตเห็นหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลของเพื่อนร่วมงาน ความมีเมตตาจากคนรอบข้าง ท้องฟ้าที่สวยงาม ดอกไม้ที่เบ่งบานข้างทาง

3. รู้จักให้อภัย แต่ละวันอาจมีเรื่องกระทบจิตใจมากมาย ถ้าเราไม่รู้จักให้อภัย วันทั้งวันก็จะกลายเป็นวันที่ชวนให้หม่นหมอง รุ่มร้อน หาความสุขมิได้ จึงควรถามตัวเองว่าวันนี้เรารู้จักให้อภัยหรือยัง

4. รู้จักขอโทษ เมื่อทำผิดทำพลาด เราต้องรู้จักขอโทษ เพื่อไม่ให้มีสิ่งใดค้างคาจิตใจอยู่

5. ทำความดี พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ผู้ให้ความสุขย่อมได้รับความสุข เราจึงควรถามตัวเองอยู่เสมอว่าวันนี้เราทำความดี เอื้อเฟื้อเกื้อกูลใคร หรือให้ทานแก่ผู้ที่เดือดร้อนแล้วหรือยัง

หากทำสิ่งเหล่านี้ได้ทุกวัน เราก็จะมีความสุขได้ไม่ยาก

Facebook Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *