นโยบายเศรษฐกิจสำคัญอย่างไร (17)
โดย รศ.ดร สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย
ภาคอุตสาหกรรม(ต่อ)
ปัญหามลพิษ
การพัฒนาอุตสาหกรรม มีผลทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต แต่ก็ก่อให้เกิดต้นทุนทางสังคม เช่น ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ มีสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลง การขยายตัวของอุตสาหกรรม มักเกิดขึ้นควบคู่กับการเพิ่มขึ้นของมลภาวะ ทั้งมลพิษทางน้ำ ทางดิน และทางอากาศ โรคภัยจากการทำงาน การผลิตสินค้าที่มีผลเสียต่อสุขภาพ ก็เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรม
อุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น เครื่องไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เซรามิกส์ พลาสติก ปูนซีเมนต์ ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ โลหะ และอุปกรณ์ขนส่ง ล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเจริญเติบโตสูง สร้างรายได้และการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม แต่ก่อเกิดมลพิษมาก การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และลักษณะของผลิตภัณฑ์ ก็ทำให้อุตสาหกรรมที่มีของเสียในรูปสารอินทรีย์ เปลี่ยนมาเป็นของเสียที่เป็นสารอนินทรีย์ ซึ่งเป็นสารพิษที่ควบคุมและกำจัดได้ยากขึ้น
แต่เดิมประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งทรัพยากรน้ำและดิน แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมและการเกิดชุมชนเมืองทำให้ต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้น ภาคอุตสาหกรรมต้องใช้น้ำ จึงมีการขุดเจาะน้ำบาดาล มีการทิ้งขยะและน้ำเสียลงในแม่น้ำลำคลอง ทำให้มลพิษทางน้ำเพิ่มขึ้นมาก กรุงเทพฯและปริมณฑลมีมลภาวะระดับสูง ส่วนหนึ่งเนื่องจากการกระจุกตัวของกิจกรรมอุตสาหกรรมในพื้นที่บริเวณนี้
การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยในอดีต เน้นการเติบโตและการประหยัดต้นทุนเป็นหลัก ไม่ใส่ใจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากนัก ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ต้องการลดต้นทุนการผลิต มักไม่ใส่ใจในการกำจัดขยะที่เกิดจากการผลิต และทำการทิ้งน้ำเสียจากการผลิตลงสู่แม่นำ้ลำคลอง การไม่ลงโทษผู้ประกอบการที่ก่อให้เกิดมลภาวะเหล่านี้อย่างจริงจัง ทำให้ปัญหามลพิษทวีความรุนแรงมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ส่วนมากคิดว่า การพัฒนาเศรษฐกิจต้องมาก่อน การแก้ปัญหามลภาวะ สามารถทำได้ภายหลัง แต่เมื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมขยายตัวมากขึ้น จนทำให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเสียหายมากแล้ว การแก้ไขก็ทำได้ยาก และมีต้นทุนสูง
ความคิดที่ว่า ถ้าอยากให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำเป็นต้องทำลายสิ่งแวดล้อมบ้าง ไม่น่าจะเป็นความคิดที่ถูกต้อง ประเทศที่มีอัตราการเจริญทางเศรษฐกิจสูงบางประเทศ เช่น เยอรมัน สิงคโปร์ และประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย พัฒนาเศรษฐกิจ สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้ โดยที่ยังรักษาสภาพแวดล้อมที่ดี เพราะมีมาตรการรักษาสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด
อย่างไรก็ตาม ในช่วงกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศต่างๆทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รัฐบาล ประชาชน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในประเทศไทย ก็ให้ความสำคัญกับการกำจัดมลพิษมากขึ้นเช่นกัน ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับต่างๆ ก็มีนโยบายการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และคุ้มครองสิ่งแวดล้อม แม้จะเป็นเพียงแนวทางกว้างๆ ก็ตาม
ในแผนพัฒนาฯฉบับที่เจ็ด (ค.ศ. 1992-1996) มีแผนการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนขึ้น ในปีค.ศ.1992 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในรัฐธรรมนูญปี ค.ศ.1997 ก็มีมาตราที่ส่งเสริมประชาชนให้มีส่วนร่วมในจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และบำรุงรักษาสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนกว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ การปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ในประเทศไทยประสบกับปัญหาและอุปสรรคหลายประการ เนื่องจากมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมในหลายกระทรวง และขาดการประสานงานที่มีประสิทธิภาพ
ในปี ค.ศ.2002 มีการตั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขึ้น ทำหน้าที่อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และควบคุมมลภาวะ ปัจจุบันโครงการก่อสร้างและโครงการผลิตขนาดใหญ่ต้องผ่านเกณฑ์ประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก่อน จึงได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการต่อไปได้
ความสนใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมในประชาคมโลกและการเชื่อมโยงปัญหาสิ่งแวดล้อมกับการค้าระหว่างประเทศ นอกจากหน่วยงานภาครัฐแล้ว ยังมีองค์กรที่ไม่ใช่รัฐบาล (NGOs) ที่มีภารกิจส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก ความร่วมมือระหว่างองค์กรเอกชนและรัฐบาลก็มีมากขึ้น ปัจจุบัน ประเทศไทยมีข้อผูกตามพันธกรณีด้านสิ่งแวดล้อมหลายฉบับ และมีเป้าหมายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงกับประชาคมโลก โดยได้ตั้งเป้าหมายว่า จะเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 และจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปีค.ศ. 2065 มีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนและการผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และมีการร่างกฎหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกฎหมายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติยังขาดรายละเอียดที่ชัดเจนในหลายประเด็น และความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานยังคงเป็นปัญหา
นโยบายการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป้องกันมลพิษที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรม ทำได้หลายทาง ทั้งการส่งเสริมสนับสนุน การหาข้อมูลข่าวสาร การตรวจสอบ การมีกฎระเบียบที่ชัดเจน การลงโทษพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษ เก็บภาษีอากร ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ ร่วมมือกับนานาชาติในการอนุรักษ์ทรัพยากรและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
การรณรงค์และประชาสัมพันธ์
หน่วยงานของรัฐบาลที่รับผิดชอบเรื่องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ควรประชาสัมพันธ์ให้สถานประกอบการ ในภาคเศรษฐกิจต่างๆ และประชาชนทั่วไปให้ตระหนักถึงความสำคัญ ของการมีสภาพแวดล้อมที่ดี และรู้จักเลือกซื้อสินค้าที่สะอาด ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ในปัจจุบัน สถานประกอบการธุรกิจจำนวนมาก มีการทำกิจกรรม/โครงการที่เป็นประโยชน์และรับผิดชอบต่อสังคมทางธุรกิจ (Corporate Social Responsibility: CSR ) และมีการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance: ESG) เพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รัฐบาลควรส่งเสริมกิจกรรมเหล่านี้ โดยให้มีมาตรการจูงใจในลักษณะต่างๆกัน เช่น ลดหรือยกเว้นภาษีให้ธุรกิจที่ทำกิจกรรมเหล่านี้ และประกาศเกียรติคุณแก่ธุรกิจที่ทำความดีต่อสังคม นอกเหนือจากการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งส่งเสริม ESG ในกลุ่มบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ข่าวสารข้อมูล
ในยุคปัจจุบัน ข้อมูลข่าวสารมีความสำคัญ ความรู้ในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น แนวทางการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างของนโยบายและมาตรการที่ใช้ในประเทศอื่นที่ประสบความสำเร็จในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อม แม้จะมีเผยแพร่อยู่ในสื่อต่างๆแล้วก็ตาม แต่หน่วยงานของรัฐบาลที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมก็ควรมีส่วนในการเผยแพร่ข้อมูลด้านนี้อย่างสม่ำเสมอ
กฎระเบียบและการลงโทษ
กฎระเบียบที่กำหนดบทลงโทษแก่ผู้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การกำหนดให้มีการผลิตสินค้าที่ไม่สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม กำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมติดตั้งอุปกรณ์บำบัดนํ้าเสียก่อนปล่อยออกจากโรงงาน รวมทั้งมีบทลงโทษการทิ้งน้ำเสียและของเสียอื่นที่เป็นพิษเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม มีข้อกำหนดในเรื่องความสะอาดและปลอดภัยของสภาพการทำงานในโรงงาน มีการผลิตที่ไม่มีรังสีหรือเคมีภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่มีฝุ่นละออง หรือเสียงดังเกินมาตรฐาน อันจะก่อให้เกิดอันตรายต่อคนงาน ถูกสุขอนามัย ไม่ใช้วัตถุดิบที่เป็นอันตราย มีการเก็บรักษาสินค้า วัตถุดิบและวัสดุอื่นในสภาพที่ปลอดภัย ไม่เกิดอันตราย หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแล ก็ควรมีเกณฑ์การตรวจสอบ และมีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนอย่างชัดเจน รวมทั้งควรมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอและทั่วถึง
การเก็บภาษีอากร
บางประเทศมีการเก็บภาษีคาร์บอน (carbon tax) คือภาษีที่เก็บจากการผลิต หรือการจำหน่ายสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เชื้อเพลิงฟอสซิล (น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน) และมีการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม (environmental tax) ให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพื่อลดการก่อมลพิษ ในขณะที่เขียนบทความนี้ (ค.ศ. 2023) ประเทศไทยยังไม่มีการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม แม้จะมีความคิดในเรื่องนี้ แต่ยังต้องมีการศึกษาว่าจะเก็บภาษีจากกิจกรรมอะไรบ้าง ในอัตรามากน้อยเพียงใด และจะส่งผลกระทบอย่างไร อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้มีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากรถยนต์และรถจักรยานยนต์โดยพิจารณาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยเพื่อจูงใจให้เกิดการบริโภคยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
พลังงานทดแทน
พลังงานทดแทน คือพลังงานที่ใช้ทดแทนพลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิงหลักที่ใช้กันอยู่ ซึ่งมีผลในการก่อมลพิษ พลังงานทดแทนสำคัญ ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานความร้อนจากใต้พิภพ และพลังงานชีวมวล
ประเทศไทย มีการใช้พลังงานน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้ามาแล้วเป็นเวลาหลายสิบปี ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่หนึ่ง (1961-1966) ได้มีการสร้างเขื่อนอเนกประสงค์ เพื่อใช้ประโยชน์ด้านชลประทานและกำเนิดไฟฟ้าหลายแห่ง ต่อมา เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเจริญเติบโตมากขึ้น พลังงานจากแหล่งกำเนิดเดิมไม่เพียงพอ จึงต้องใช้พลังงานจากน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติมากขึ้น ในแต่ละปี ต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศในปริมาณมาก
กว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศต่างๆในโลกมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น ประเทศไทยตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ได้รับพลังงานแสงอาทิตย์ตลอดทั้งปี ก่อนหน้านี้ คนไทยยังไม่รู้จักใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ในการสร้างไฟฟ้า ต่อมา เมื่อมีโซล่าเซลล์ จึงใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น ทั้งที่ติดตั้งตามบ้านพัก สำนักงาน และโรงงาน แต่จนถึงบัดนี้ ในประเทศไทยยังมีการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์อยู่ไม่มาก และการผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ของไทยยังคงใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นแหล่งพลังงาน
พลังงานลม ก็มีการใช้บ้าง แต่ยังมีไม่มากเทียบกับบางประเทศ เช่นประเทศจีนและประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งมีเทคโนโลยีที่ใช้ประโยชน์จากพลังลมดีกว่า
พลังงานชีวมวล เป็นการนำอินทรีย์วัตถุจากซากพืช และมูลสัตว์มาผลิตเป็นพลังงาน ซึ่งน่าจะเหมาะกับไทยที่เป็นประเทศเกษตรกรรม ที่มีวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรเป็นจำนวนมาก ในประเทศไทย แม้มีการใช้พลังงานด้านนี้บ้าง แต่ก็ยังมีน้อย และส่วนใหญ่มีขนาดที่เล็กมาก ซึ่งอาจยังมีข้อติดขัดด้านเทคโนโลยีอยู่บ้าง พลังงานความร้อนใต้พิภพ มีการใช้ที่น้อยมากเนื่องจากข้อจำกัดด้านสภาพภูมิศาสตร์ของไทย การใช้พลังงานไฟฟ้าจากขยะก็ยังมีอยู่น้อย แต่ละวัน ในประเทศมีการทิ้งขยะในปริมาณมาก แต่ไม่มีการใช้พลังงานจากขยะอย่างเป็นล่ำเป็นสันเหมือนกับบางประเทศ
ในบางประเทศ มีการใช้พลังงานนิวเคลียร์ผลิตกระแสไฟฟ้า แต่การสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ ต้องมีการลงทุนสูง และอาจมีอันตรายที่จะเกิดจากการรั่วไหลของพลังงานนิวเคลียร์ แม้พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกและฝุ่นละออง และผลิตได้ในปริมาณมาก แต่ ปัจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะใช้พลังงานนิวเคลียร์
จากที่กล่าวมาข้างต้น เห็นได้ว่า ในการพัฒนาพลังงานทดแทน ความรู้และเทคโนโลยีมีความสำคัญ หากประเทศไทยจะใช้พลังงานทดแทนให้มากกว่าเป็นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จำเป็นต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยี นำผู้เชี่ยวชาญเข้ามาจากต่างประเทศ และร่วมมือกับประเทศอื่นที่มีเทคโนโลยีสูงกว่า
รีไซเคิล(recycle)
การรีไซเคิล คือการนำของเสียหรือวัสดุที่ใช้แล้วมาปรับปรุง หรือผ่านกระบวนการแปรรูป เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ หรือผลิตเป็นสินค้าใหม่ ในประเทศไทย มีมาตรการบางอย่างที่ส่งเสริมการรีไซเคิล เช่น ส่งเสริมให้มีการทิ้งขยะโดยแยกเป็นสิ่งนำมาแปรรูป หรือนำมาใช้ใหม่ได้ นอกจากนั้น ยังมีการรณรงค์ในเรื่องการใช้ซ้ำ (reuse) คือนำเอาของบางอย่างที่ไม่ใช้แล้ว มาใช้ประโยชน์อีกครั้ง หรือผ่านการดัดแปลงให้เป็นสิ่งที่ใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่มีการแปรรูป
ในเรื่องรีไซเคิล อาจถือได้ว่า ประเทศไทยได้ประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่การนำของเก่ามาใช้ ดูเหมือนว่ายังมีอยู่น้อย ตัวอย่างที่เห็นได้ในหมู่ประชาชน โรงงานหรือร้านค้า คือการนำเอากระดาษและกระดาษแข็งที่ไม่ได้ใช้แล้ว มาใช้ประโยชน์ด้านอื่นอีกครั้ง และนำถุงผ้าหรือถุงพลาสติกมาใช้ไหม่ การเก็บเงินจากการใช้ถุงพลาสติกตามสรรพสินค้าและร้านค้าต่างๆ ก็ช่วยลดใช้ถุงพลาสติกได้มาก
การส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ไทยมีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจ บีซีจี (BCG:Bio-Circular-Green Economy) คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) โดยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2564
การส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ คือการส่งเสริมการนำทรัพยากรชีวภาพที่มีอยู่มาผลิตสินค้าและพัฒนาอุตสาหกรรม ประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพมาก การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และการสร้างนวัตกรรม โดยเฉพาะจากฐานวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จะทำให้เราสามารถผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้บริโภคในประเทศต่างๆได้ ตัวอย่างคือ อุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป ที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย ซึ่งไทยมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ
ส่วนเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคอุตสาหกรรม คือ การใช้ทรัพยากร อย่างคุ้มค่า รู้จักนำเอาของที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ หรือมาซ่อมแซม และแปรรูปใหม่ มีการปรับปรุงวิธีการผลิตและกระบวนการผลิต การคัดเลือกและการจัดเก็บวัตถุดิบ เครื่องจักรอุปกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ มีส่วนในการสร้างให้เกิดการหมุนเวียนของสินค้า เครื่องจักร อุปกรณ์ และวัสดุต่างๆได้
การส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียวในภาคอุตสาหกรรม คือ มีการผลิตและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากอาหารแล้ว ยังรวมถึงสินค้าอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา ไม้ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และหัตถกรรมพื้นเมืองด้วย และยังรวมถึงการที่อุตสาหกรรมที่เคยก่อมลพิษหันมาปรับเปลี่ยนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย
การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ
การลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นวิธีที่จะส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมได้ สินค้าที่ผลิตโดยกิจการการลงทุนจากต่างประเทศบางอย่าง เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า พลังงานชีวภาพ ซึ่งผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมของไทยไม่สามารถทำได้ ก็สามารถส่งเสริมให้มาลงทุนทำการผลิตได้ ประเทศไทยแม้มีทรัพยากรธรรมชาติที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ แต่การใช้ทรัพยากรบางอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ยังมีข้อจำกัด ขาดแคลนเทคโนโลยีที่จำเป็น ในการนี้ เทคโนโลยีที่นำเข้าโดยบริษัทต่างชาติ จะนำมาใช้ประโยชน์ได้
ในการส่งเสริมเศรษฐกิจบีซีจี การลงทุนจากต่างประเทศมีประโยชน์ ไม่เฉพาะการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม แต่ยังรวมถึงการลงทุนในภาคบริการ เช่น การแพทย์ การท่องเที่ยว การจัดประชุม การสื่อสาร การค้นหาข้อมูล และการซื้อขายสินค้าออนไลน์ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องเทคโนโลยี รวมทั้งเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม เราควรหลีกเลี่ยงการพึ่งพาต่างประเทศมากเกินไป ควรส่งเสริมให้สถาบันวิจัย โรงเรียนมหาวิทยาลัย สถานประกอบการภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป ให้รู้จักการค้นหาข้อมูลข่าวสาร มีการวิจัยพัฒนา สร้างนวัตกรรม เพื่อทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเป็นสิ่งควรทำ แต่ไม่ควรคิดว่าผู้ลงทุนจากต่างประเทศจะช่วยเราแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง จนให้สิทธิประโยชน์มากมายแก่เขา โดยไม่ปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนในประเทศ และละเลยการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ
สิ่งที่รัฐบาลไทยควรทำก็คือ แม้ส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ เพื่อได้รับประโยชน์ด้านการปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม แต่ก็ควรต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี กำลังคน ให้มีความพร้อมที่จะรับการถ่ายทอดและต่อยอดเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมที่นำเข้าจากต่างประเทศ
การร่วมมือกับนานาชาติในการรักษาสิ่งแวดล้อม
ในปัจจุบัน ประเทศต่างๆในโลกมีความตื่นตัวในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม จึงมีกิจกรรมการประชุม การทำข้อตกลง และการกำหนดกฎระเบียบต่างๆที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก การปฏิบัติตามกฎระเบียบทางด้านสิ่งแวดล้อมนานาชาติ เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ทำให้เราสามารถส่งสินค้าออกมากขึ้น สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมที่มีคุณต่อสิ่งแวดล้อมมากขี้น และทำให้นานาชาติเห็นว่า ไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่ น่าเที่ยว น่าคบหาด้วย
การศึกษาตัวอย่างนโยบายและมาตรการของต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการกำหนดนโยบายมาตรการ เป็นสิ่งมีประโยชน์ต่อผู้กำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมของไทย เราอาจนำนโยบายและมาตรการ ที่ใช้แล้วประสบผลสำเร็จ มาปรับใช้ให้เหมาะกับสภาพการณ์ได้