จะเกิดอะไรขึ้นจากการเลือกตั้งในอินโดนีเซีย
คอลัมน์ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ
ทหารประชาธิปไตย
จะเกิดอะไรขึ้นจากการเลือกตั้งในอินโดนีเซีย
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชาชนหนาแน่นมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง และมีประชากรมากที่สุดในอาเซียน ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาอินโดนีเซีย แสดงบทบาทนำในสมาคมอาเซียน โดยเฉพาะภายใต้การนำของประธานาธิบดี โจโก วิโดโด หรือ “โจโกวี” อดีตนายกเทศมนตรีจากเมืองโซโล และก้าวขึ้นมาเป็นผู้ว่าฯ หรือนายกเทศมนตรีนครจาร์กาต้า จนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ครองตำแหน่งมา 2 สมัย 10 ปี แต่ไม่อาจลงเลือกสมัยที่ 3 เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้
ที่น่าสนใจคือ อินโดนีเซีย เคยอยู่ภายใต้การปกครองของทหาร คือ นายพลซูฮาโต ที่ทำการยึดอำนาจจากประธานาธิบดีซูกราโน ซึ่งเป็นผู้นำท่านหนึ่งที่ร่วมกับท่านเยาวฮาลาล เนรู (อินเดีย) ท่านโจวเอนไล(จีน) จอมพลตีโต(ยูโกสลาเวีย) ตั้งกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ในช่วงสครามเย็นสหรัฐฯ-โซเวียต
ซูฮาโตครองอำนาจยาวนานกว่า 40 ปี จนถูกประชาชนลุกฮือโค่นล้ม เพราะการคอร์รัปชั่นที่แพร่ระบาด โดยเฉพาะในกลุ่มลูกๆของท่าน
ที่น่าสนใจคือ อินโดนีเซีย ผ่านการเลือกตั้ง มา 5 ครั้งแล้ว โดยที่ไม่มีการยึดอำนาจจากทหารอีกเลย ทั้งๆที่ในช่วงต้นๆก็ยังมีอำนาจอิทธิพลอยู่ไม่น้อย
ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ อินโดนีเซีย เปรียบเสมือนกำแพงที่กั้นระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิค และมหาสมุทรอินเดีย และมีช่องทางผ่านไปมาที่อาจเดินเรือขนาดใหญ่ได้ คือ ช่องแคบมะละกา ช่องแคบซุนดรา และช่องแคบ ลอมบอร์ก แต่ 2 ช่องแคบหลังนั้นมีหินโสโครก และกระแสน้ำแรง จึงไม่ค่อยเหมาะสมกับการเดินเรือขนาดใหญ่นัก
ด้วยประชากรกว่า 200 ล้านคน และส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม อินโดนีเซีย จะมีการเลือกตั้งครั้งที่ 5 นับแต่มีการโค่นล้มนายพลซูฮาโต และมีการปฏิรูปการเมืองในปี 1998 ในวันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์นี้
ในการเลือกตั้งของอินโดนีเซีย รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเลือกตั้งเป็นลำดับดังนี้ ครั้งแรก ถ้าไม่มีผู้สมัครคนใดได้คะแนนเกิน 50% ก็ให้จัดการเลือกตั้งใหม่ โดยนำเอาผู้สมัครที่ได้อันดับ 1 และ อันดับ 2 มาเลือกตั้งกันใหม่ คราวนี้กำหนดไว้ต้นเดือนมิถุนายน ใครชนะในครั้งนี้ก็ได้เป็นประธานาธิบดี แต่จะเข้ารับตำแหน่งในเดือนตุลาคม
ทั้งนี้มีผู้สมัครในคราวนี้ 3 ท่าน ด้วยกันคือ
1.อดีตรัฐมนตรีกลาโหม ในยุค “โจโกวี” พลเอกปราโบโว สุเบียนโต ลูกเขยอดีตผู้นำนายพลซูฮาโต ซึ่งลงเลือกตั้งมาแล้ว 2 ครั้ง และพ่ายต่อโจโกวิโกโดทั้ง 2 ครั้ง อายุ 72 ปี
คราวนี้จากโพลท่านมีคะแนนนำ โดยเฉพาะได้นำเอาลูกชายของ “โจโกวี” มาเป็นทีมในฐานะว่าที่รองประธานาธิบดี ซึ่งอายุอยู่ในวัยประมาณ 40 ปี จึงมีฐานคะแนนคนรุ่นใหม่ และยังได้คะแนนนิยมจากพ่อติดมาอีกด้วย
2.อดีตผู้ว่าจาวากลาง นายกันจา ปราโนโว อายุ 55 ปี ที่เป็นตัวแทนพรรคที่เป็นรัฐบาลของนายโจโกวี นั่นแหละส่งประกวด คือ พรรค Indonesian Democratic Party of Struggle (PDI-P) จึงมีคะแนนพื้นฐานของพรรคแต่ก็อาจถูกแบ่งไปสนับสนุนลูกชาย โจโกวี เพราะความนิยมส่วนตัวนั่นคือ Gibran Pakaduming ที่ไปลงเลือกตั้งกับปราโบโว
3.นายแอนนี่ส์ บัสวีดาน อายุ 54 ปี เคยเป็นอธิการบดี และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลโจโกวี 1 แต่เมื่อมีการปรับครม.ในสมัย 2 หลุดโผ จึงไปรวมกับฝ่ายค้าน
อย่างไรก็ตาม 2 ท่านแรกน่าจะสานต่อนโยบายของโจโกวี แต่แอนนี่ส์ ต้องการปรับเปลี่ยนนโยบายของโจโกวี โดยเฉพาะเรื่องการย้ายเมืองหลวง และการตั้งโรงงานถลุงแร่ นิเกิล ที่อินโดนีเซีย ส่งออกเป็นสินแร่ ที่มีจำนวนมาก และเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำรถไฟฟ้า
ทั้งนี้แอนนี่ส์ได้ออกหาเสียง โดยกล่าวว่าเขาเป็นทางเลือกจากแนวทางเก่าของ “โจโกวี” โดยเฉพาะเรื่องเมืองหลวงที่เขาเห็นว่า มีใช้งบประมาณมาก ที่อินโดนีเซีย จำเป็นต้องใช้ในสิ่งที่จำเป็นมากกว่า การมาสร้างบ้านใหม่ให้ประธานาธิบดี
เรื่องย้ายเมืองหลวงนี้เป็นปัญหาเหมือนบางประเทศ เพราะกรุงจากาตาร์มีประชากรแออัดหนาแน่นกว่า 10 ล้านคน และผังเมืองก็ไม่อาจปรับปรุงได้ แต่การย้ายเมืองหลวงจากเกาะชวาไปอยู่ที่เกาะกาลิมันตัน ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวาง เป็นป่าดงดิบ ธรรมชาติงดงามนี้ ก็มีปัญหาทำลายสิ่งแวดล้อม และใช้งบประมาณมากในการสร้างสาธารณูปโภค
จากการสำรวจโพลล่าสุด ปราโบโวได้คะแนนนำ และมีสัดส่วนเกิน 50% คือ 51.8% แอนนี่ส์ได้ 24.1% และกันจาได้ 19.6% ถ้าผลในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้เป็นอย่างโพล ปราโบโว ก็ไม่ต้องเข้าสนามแข่งอีกเป็นครั้งที่ 2 และเดินเข้าทำเนียบประธานาธิบดีได้ในเมืองตุลาคมโดยสง่าผ่าเผย
อินโดนีเซีย-กำลังจะก้าวขึ้นไปเพื่อผ่านกับดักรายด้านปานกลางในปี 2045 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 100 ปี หลังเป็นเอกราช แต่จะต้องให้มีอัตราการเติบโตประมาณ 6%-7% ต่อปี ในขณะที่ปัจจุบันมีอัตราการเติบโตเพียง 5% จึงมีปัญหาในการจัดสรรงบประมาณไปสร้างเมืองหลวงใหม่ ที่ผู้ถือแนวของโจโกวี ทั้ง 2 ท่าน คงจะมีปัญหาในการจัดสรรงบประมาณดังกล่าว
ปัญหาต่อมาที่ผู้ลงคะแนนเสียงคาดหวังจากประธานาธิบดีคนใหม่ จากการสำรวจของโพลในเดือนกันยายนปีที่แล้วคือ 31% ต้องการให้มีการควบคุมราคาของสิ่งจำเป็นในการยังชีพ โดยเฉพาะก๊าซหุงต้ม อันดับรองลงมาคือการจ้างงาน โดยเฉพาะสำหรับคนรุ่นใหม่และเด็กจบใหม่
แม้ว่าสถิติของรัฐบาลจะรายงานว่า อัตราการว่างงานจะลดลงเหลือ 5.3% ในเดือนสิงหาคม จากที่เคยสูงกว่านี้ในอดีตเมื่อปี 2020
แต่สถิติการว่างงานของคนรุ่นใหม่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงถึง 17% ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานอายุระหว่าง 20-24 ปี ในช่วงปี 2022
ในแง่การเมืองระหว่างประเทศ อินโดนีเซีย ไม่ว่าจะได้ใครเป็นประธานาธิบดีคงจะดำรงนโยบายเดิม คือ แนบแน่นกับสหรัฐฯในแง่ความมั่นคงและการทหาร
แต่ในทางการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคงจะใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น ขณะที่ก็ยังคงรักษาความเป็นประชาธิปไตยได้อย่างมั่นคง
ส่วนนโยบายในเรื่องปาเลสไตน์ ปราโบโว ประกาศว่าจะไปเปิดสถานทูตในเขตเวสแบงค์ของปาเลสไตน์ และสนับสนุนการจัดตั้งประเทศปาเลสไตน์ ซึ่งประการหลังนี้ ผู้สมัครอีก 2 ท่านก็คงมีแนวทางเดียวกัน
ขอแถมด้วยการรายงานผลคืบหน้าในการเลือกตั้งในปากีสถาน เมื่อสัปดาห์ก่อน ผลการเลือตั้งพรรคนายชารีฟ ได้ที่นั่ง 71 ที่นั่ง จาก 265 ที่นั่งในสภาแต่คนของอดีตนายกอิมรอนคาน ที่พรรคถูกแบน และตนเองติดคุก จึงส่งแบบอิสระได้ 91 ที่นั่ง ปัญหาคือ การฟอร์มรัฐบาล จะทำกันอย่างไร ซึ่งอาจทำให้เกิดการจลาจล และทหารเข้ายึดอำนาจหรือต้องทำเรื่องสู่ศาลสูงก็ต้องดูกันต่อไป
สุดท้ายขอสนับสนุนให้เกิดสันติภาพ ในตะวันออกกลาง นั่นคือ “Free Hostages and Free Parestine”
“ปล่อยตัวประกันเป็นอิสระ และปล่อยปาเลสไตน์เปนอิสระ” นั่นคือทางออกเพื่อสันติภาพ