jos55 instaslot88 Pusat Togel Online พลังแห่งศรัทธา - INEWHORIZON

INEWHORIZON

ขอบฟ้าใหม่

พลังแห่งศรัทธา

พลังแห่งศรัทธา
โดยพระไพศาล วิสาโล

คนเราเวลาเจ็บป่วย ถ้าได้กินยาหรือฉีดยา ส่วนใหญ่ก็จะรู้สึกดีขึ้น ดีกว่าคนที่ไม่ได้กินยา ไม่ได้ฉีดยา ทั้งๆ ที่ยาที่กินหรือที่ฉีด อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับโรคที่เป็นเลยก็ได้ อาจจะเป็นแค่วิตามินหรือว่ายาบำรุง แต่ทำไมหลายคนรู้สึกว่าโรคมันทุเลาเบาบาง อันนี้เพราะความเชื่อในยาที่กินหรือที่ฉีด คือเชื่อว่ายานั้นๆ จะช่วยเยียวยารักษาโรคได้ หรือทำให้คลายปวดได้

 ที่เคยพูดไปแล้วเมื่อ 2-3 วันก่อนว่า คนส่วนใหญ่เวลาได้รับยาที่หมอบอกว่าราคาแพง จะรู้สึกดีขึ้น รู้สึกดีกว่ากินยาที่หมอบอกว่ามันราคาถูก หรือว่าถ้าได้ยาที่มีสี เป็นเม็ดเหลี่ยม หลายคนก็จะรู้สึกว่า เออ มันดีนะ ดีกว่ายาที่เป็นเม็ดขาวๆ ไม่มีเหลี่ยม ความรู้สึกดีที่ว่านี้หมายถึงว่าปวดน้อยลง หรือว่าตอบสนองต่อยาดีขึ้น แล้วถ้าเทียบระหว่างยาสีแดงกับยาไม่มีสีหรือสีขาว ยาสีแดงมันจะออกฤทธิ์ได้เร็วกว่า ในความรู้สึกของผู้ป่วยที่กินยานั้น
     ทั้งๆ ที่ว่าไปแล้วฤทธิ์ทางยาหรือทางเภสัชของยาสีแดงหรือสีเขียว มันก็เหมือนกันนั่นแหละ ต่างกันแค่สี แต่คนจะรู้สึกว่ายาเม็ดสีแดงนี่มันดีกว่า มันช่วยเยียวยาโรคได้ดีกว่า ออกฤทธิ์ได้ดีกว่า หรือช่วย บรรเทาปวดได้ดีกว่า อันนี้เรียกว่าความเชื่อ แล้วก็ไม่ใช่เป็นความเชื่อเฉยๆ เป็นความเชื่อมั่นที่จะเรียกว่าศรัทธาก็ได้ ศรัทธานี่ไม่ได้แปลว่าความเชื่อ มันหมายถึงความเชื่อมั่น ความเชื่อนี่อาจจะเป็นเรื่องของทิฐิ แต่ว่าความเชื่อมั่นเป็นเรื่องของศรัทธาโดยตรงเลย
     คนเราถ้ามีความเชื่อมั่นหรือมีศรัทธาในสิ่งใดแล้ว มันก็มีผลทั้งต่อกายและใจได้ไม่น้อยเลย อย่างที่เคยเล่าว่าคนไข้ที่ไม่สบาย หมอให้ยา แต่แทนที่จะให้ยาด้วยมือ แต่ว่าใช้คีมคีบยานั้น บอกว่ายานี้มันฤทธิ์แรงมากเลย จับมือเปล่าไม่ได้ ต้องใช้คีมคีบ แล้วก็ให้คนไข้ แล้วคนไข้ก็รู้สึกดีขึ้นเลย แล้วที่มันน่าสนใจคือว่า บางทีหมอก็บอกว่าที่ให้นี่ไม่ใช่ยานะ
     มีหมอคนหนึ่งเขาทดลองกับคนไข้ที่เขามีปัญหาอาการปวดท้อง แล้วก็บอกว่าไม่มียานะ แต่ว่ามีเม็ดน้ำตาลอยู่ ที่มันพอจะช่วยได้ คนไข้ก็รู้ว่ามันไม่ใช่ยา รู้ว่ามันเป็นน้ำตาล แต่พอกินแล้วประมาณ 60% ก็รู้สึกดีขึ้น ความปวดทุเลาลง อันนี้แสดงว่าไม่ใช่แค่ศรัทธาในยาอย่างเดียว ศรัทธาในตัวหมอด้วย คือศรัทธาหรือเชื่อมั่นว่า สิ่งที่หมอให้นี่มันดีกับเรา มันสามารถจะช่วยเยียวยารักษาโรค หรือบรรเทาปวดได้
     แม้รู้ทั้งรู้ว่าเป็นน้ำตาล แต่ว่าหมอให้ ก็แสดงว่ามันต้องดีกับเรา อันนี้เป็นความเชื่อมั่น เชื่อมั่นในตัวหมอ หมอพูดอะไรก็เชื่อ แม้กระทั่งว่าอย่างที่ยกตัวอย่างเมื่อสักครู่ ยาฤทธิ์มันแรงมาก จับด้วยมือเปล่าไม่ได้ ต้องใช้คีมคีบ ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เข้าไปในท้องจะเป็นอย่างไรนะ แต่คนไข้พอกินเข้าไปรู้สึกดีขึ้นเลย เพราะว่ามีศรัทธาทั้งสองอย่างควบคู่กัน คือศรัทธาในยา แล้วก็ศรัทธาในตัวหมอ
     หมอให้ก็แสดงว่ามันต้องดีกับเรา แต่ถ้าไม่ศรัทธาในตัวหมอ มันก็คงไม่เกิดผล หรือไม่ศรัทธาในตัวยา มันก็ไม่เกิดผล พูดถึงศรัทธาในตัวหมอ มันเป็นสิ่งจำเป็นมากเลย สำหรับการเยียวยารักษา แล้วบางที หมอเก่งๆ เขาไม่ได้ทำอะไรกับคนไข้ เพียงแต่ทำให้คนไข้เกิดความเชื่อมั่น เชื่อมั่นในความรู้ในความสามารถของหมอ เชื่อมั่นในความตั้งใจ ในความเมตตาของหมอ เชื่อมั่นในความใส่ใจ ว่าหมอจะดูแลคนไข้อย่างดี เท่านี้มันก็ช่วยทำให้คนไข้รู้สึกดีขึ้นได้แล้ว
     มีหมอคนหนึ่งแกเป็นผู้ก่อตั้งคณะสาธารณสุขในมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ในอเมริกา มีชื่อเสียงมากคณะนี้ หมอนี้แกพูดถึงพ่อ พ่อเป็นหมอเหมือนกัน แกพูดถึงพ่อว่าเวลาพ่อเข้ามาในหอผู้ป่วยคนไข้ คนไข้จะรู้สึกดีขึ้นเลย เพียงแค่เห็นหน้าหมอ หรือเห็นหน้าพ่อของตัวเอง
     หมอท่านนี้ไม่ได้ทำอะไรเลยนะ เพียงแค่เข้ามา คนไข้ก็รู้สึกดีขึ้นแล้ว เพราะอะไร เพราะมีศรัทธาในหมอผู้นี้ มีศรัทธาที่ว่าหมอรักคนไข้ มีศรัทธาเชื่อมั่นว่าหมอมีความรู้ความสามารถ คนไข้ที่ทีแรกอาจจะรู้สึกห่อเหี่ยว หรือว่าเป็นทุกข์ เพราะความเจ็บป่วยหรือความเจ็บปวด พอเห็นหน้าหมอคนนี้เข้ามาก็รู้สึกดีขึ้น เพราะเชื่อว่าจะได้รับการเยียวยา เชื่อว่าจะได้รับการดูแลให้หายได้
     และหลายคนก็รู้สึกดีขึ้นจริงๆ ทั้งที่หมอไม่ได้ทำอะไรเลย หมออาจจะยิ้มให้ และมีแววตาที่อ่อนโยน แต่สิ่งที่มันเยียวยาคนไข้คืออะไร คือศรัทธา ศรัทธาความเชื่อมั่นในผู้ที่เป็นหมอ มันก็ทำให้เกิดการเยียวยาตัวเองขึ้นมา
     อาจจะมีสารบางชนิดหลั่งออกมา เช่น สารสื่อประสาทที่เรียกว่าโดพามีน เซโรโทนิน เอ็นโดรฟิน พวกนี้ พอมันหลั่งออกมา มันก็ช่วยทำให้ความเจ็บปวดทุเลาลง แล้วก็อาจจะมีผลทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายดีขึ้น สามารถจะเยียวยารักษาโรคที่เกิดขึ้นได้ และที่สารพวกนี้มันหลั่งมาได้นี่เพราะความศรัทธา เห็นหมอแล้วดีใจ เห็นหมอแล้วสบายใจ เห็นหมอแล้วรู้สึกว่าฉันจะดีขึ้น
     ฉะนั้น ศรัทธามันเป็นสิ่งที่มีอานุภาพมาก ไม่ใช่เฉพาะศรัทธาในยา ศรัทธาในหมอ สำหรับคนที่ศึกษาหรือฝึกฝนพัฒนาตน ผู้ที่อยู่บนเส้นทางของการฝึกฝนตน ศรัทธาอย่างหนึ่งที่สำคัญคือศรัทธาในครูบา อาจารย์ เพราะว่าการที่คนเราฝึกฝนตนได้ บางครั้งก็ต้องทวนกระแสกิเลส จะต้องเคี่ยวเข็ญตนเอง ไม่ให้จมอยู่กับความเคยชินเดิมๆ ไม่ปล่อยให้กิเลสตัณหาครอบงำ เอาแต่รักสบาย ปรนเปรอตน มันจะมีพลัง ในการที่จะขับเคี่ยวตนเอง กล้าที่จะทวนกระแสกิเลสได้ มันก็ต้องอาศัยศรัทธาด้วย
     ศรัทธาในครูบาอาจารย์นี่มันช่วยได้มาก คนที่ฝึกฝนพัฒนาตน อาจจะปฏิบัติธรรมอยู่ในบ้าน หรือปฏิบัติธรรมอยู่คนเดียว บางทีอาจจะฟังยูทูป หรือว่าฟังเทปธรรมะ มันก็ดีอยู่นะ แต่ถ้าหากว่ามีครูบาอาจารย์เป็นตัวเป็นตนอยู่ใกล้ มันจะมีอานิสงส์มาก มันไม่เพียงแต่ว่าจะได้รับคำแนะนำจากครูบาอาจารย์ หรือมีปัญหาอะไรก็สอบถามท่าน แต่ว่ายังอาจจะอาศัยศรัทธาในตัวท่านเคี่ยวเข็ญตนเอง
     มีโยมคนหนึ่ง อายุก็มาก เกือบ 70 แล้ว แกเป็นคนที่เจ้าอารมณ์ เพราะว่าชอบคิดลบคิดร้าย แล้วก็ชอบปรุงแต่งไปต่างๆ นานา คิดฟุ้งซ่าน ก็ทำให้มีความวิตกกังวลบ้าง ทำให้มีความเครียดบ้าง มันก็ไปสุม ทำให้ความหงุดหงิดเจ้าอารมณ์มันรุนแรง โยมคนนี้แกศรัทธาอาจารย์คนหนึ่ง เป็นอาจารย์ทางพุทธศาสนาทิเบต อาจารย์ก็ให้คำแนะนำในเรื่องการระงับโทสะ แนะนำเรื่องการรู้จักบรรเทาอารมณ์ที่รุ่มร้อน แต่ว่า แนะนำไปอย่างไร โยมแกก็ไม่ค่อยได้ทำเท่าไหร่ หรือว่าทำแล้วก็ไม่ค่อยได้เกิดผล
     อาจารย์ก็เลยแนะนำว่าให้ไปสวดมนต์หนึ่งแสนจบ โอม มณี ปัทเม หุม เอาไปเลยหนึ่งแสนจบ ถ้าคนธรรมดาก็คงจะทำได้ไม่เท่าไหร่ แต่เพราะว่าความศรัทธาในอาจารย์ ก็ทำให้โยมคนนี้แกก็พยายามสวด มนต์โอม มณี ปัทเม หุม ซึ่งเป็นบทสำคัญของธิเบต ถึงแม้จะเป็นบทสั้นๆ แต่ว่าแสนจบนี่ก็ใช้เวลาเป็นเดือน แล้วที่อาจารย์แนะนำให้สวดมนต์ เพราะว่าใจจะได้ไม่ไปหมกมุ่นฟุ้งซ่าน จะได้ไม่คิดแต่จะมองลบมองร้าย หางานให้จิตทำ ให้อยู่กับบทสวดมนต์
     ด้วยความศรัทธาในอาจารย์ โยมก็เลยยอมทำ บางทีก็เกียจคร้าน บางทีก็ท้อ แต่เพราะอาจารย์สั่ง แต่ก่อนอาจารย์แค่แนะนำ แต่คราวนี้อาจารย์สั่ง ศรัทธาในอาจารย์ก็ต้องทำ แม้จะไม่ใช่วิสัยของตัว มันก็ต้องเคี่ยวเข็ญตนเองให้ทำ แล้ววันๆ หนึ่งก็ท่องไปหลายร้อยจบ บางทีขยันหน่อยก็พันจบ กว่าจะครบแสนจบได้นี่ก็เป็นเดือน
     แกก็ดีใจนะ สวดได้ครบแสนจบเสียที ดีใจมารายงานอาจารย์ แต่อาจารย์แทนที่จะชม กลับแนะนำหรือสั่งเลยว่าให้โยมไปท่องมาอีกหนึ่งล้านจบ เพราะโยมนี่ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ ยังเปลี่ยนแปลงไม่มากพอ ยังเจ้าอารมณ์ ยังขี้หงุดหงิด ยังชอบคิดลบคิดร้าย มีความเปลี่ยนแปลงขึ้นแต่ไม่มาก เพราะฉะนั้นเอาไปเลยล้านจบ โยมแกก็อึ้งเหมือนกันนะ แสนจบนี่ก็เป็นเดือนแล้ว หลายเดือนเลยทีเดียว แล้วล้านจบนี่มันจะไหวหรือ แต่พอศรัทธาในอาจารย์ก็เลยต้องทำ ก็คงเป็นปี แล้วโยมแกทำอย่างนี้ได้เพราะอะไร เพราะมีศรัทธา ศรัทธาในอาจารย์
     ถ้าคนที่ปฏิบัติธรรมคนเดียว ไม่มีอาจารย์ แม้จะรู้ว่าอะไรดี อะไรถูก อะไรเหมาะสม แต่คงไม่ค่อยทำเท่าไหร่ เพราะว่ากิเลสมันมีกำลังมากกว่า ความเคยชินมันมีน้ำหนักมากกว่า แต่พอมีครูบาอาจารย์ แล้วก็มี ศรัทธาในครูบาอาจารย์ ท่านสั่งท่านแนะนำแล้วก็ต้องทำตาม มันทำให้จิตฝ่ายกุศลมีกำลังเหนือจิตฝ่ายอกุศลหรือจิตฝ่ายกิเลส ซึ่งมันทำให้สามารถเอาชนะความเกียจคร้าน เอาชนะแม้กระทั่งมานะและทิฐิได้
     ในสมัยพุทธกาลก็มีเรื่องราวทำนองนี้มากมายทีเดียว ที่มีชื่อก็คือเรื่องราวของพระรูปหนึ่งที่ชื่อว่าตุจโฉโปฏฐิละ จริงๆ ชื่อจริงไม่ได้ชื่อนี้หรอก แต่ว่าชื่อในพระไตรปิฎก ชื่อนี้เป็นสมญานามที่กลายเป็นชื่อที่ชาวพุทธที่สนใจรู้จักดี คือท่านเป็นคนที่มีความรู้มากในด้านปริยัติธรรม รู้เยอะเพราะความจำดี อ่านมาก แต่ว่าไม่ค่อยได้ฝึกฝนเคี่ยวกรำตนเองเท่าไหร่ มิหนำซ้ำความรู้มากก็ทำให้เกิดความผยอง เกิดความหลง ตัวว่าฉันเป็นคนเก่ง คอยไปข่มขี่คนอื่นที่มีความรู้น้อยกว่า เรียกว่ายกตนข่มท่าน จนใครๆ นี่ก็ไม่อยากจะสู้หน้าหรือถกเถียงด้วย ท่านก็เกิดความอหังการ์ว่าฉันแน่ๆ
     แต่วันหนึ่งไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปกราบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เลยพูดว่า อ๋อ มาแล้วหรือ ท่านใบลานเปล่า ใบลานเปล่าภาษาบาลีว่าตุจโฉโปฏฐิละนี่แหละ มาแล้วหรือ ท่านใบลานเปล่า พอพระรูปนี้จะกลับ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า อ๋อ จะไปแล้วหรือ ท่านใบลานเปล่า
     พระรูปนี้ท่านก็เกิดความรู้สึกประหลาดใจ ว่าทำไมพระพุทธเจ้าถึงเรียกตัวเองว่าเป็นใบลานหรือเปล่า แทนที่จะชื่นชมสรรเสริญผู้ที่มีความรู้ เมื่อมาทบทวนก็พบว่าตัวเองมีแต่ความรู้ แต่ว่าไม่มีแก่นสาร จิตใจก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร กิเลสก็ยังมากเหมือนเดิม ก็เกิดความสำเนียก อยากจะฝึกฝนตน
     แต่ว่าไปหาใคร ไปหาพระรูปไหน ก็ไม่มีพระรูปใดกล้าที่จะเป็นอาจารย์สอนพระตุจโฉโปฏฐิละได้ เพราะว่ายำเกรงในความรู้ หรือไม่มั่นใจว่าพระรูปนี้จะมีความตั้งใจแค่ไหน แล้วหลายท่านก็เคยเป็นศิษย์ของพระตุจโฉนี้ด้วย หาอาจารย์คนแล้วคนเล่าก็หาไม่ได้ สุดท้ายก็ไปเจอสามเณรน้อยรูปหนึ่ง สามเณรนี้เป็นพระอรหันต์ ไม่มีอาจารย์คนไหนรับ ก็ขอฝากตัวให้สามเณรรับเป็นอาจารย์
     สามเณรก็ไม่มั่นใจว่าท่านเอาจริงหรือเปล่า มีความตั้งใจจริงไหม ก็ต้องการทดสอบว่ามีความตั้งใจจริงเพียงใด ก็ให้ห่มจีวรอย่างดีพร้อมสังฆาฏิ ว่าแล้วก็ให้เดินลุยน้ำลุยโคลน ท่านตุจโฉเป็นอาจารย์ที่มีคนเคารพนับถือมาก แต่ว่าถูกเณรสั่งให้ทำอย่างนั้น นิสัยของคนที่มีอัตตากิเลส ก็คงต้องไม่พอใจหรือขัดขืน แต่ท่านก็ยอม ที่ท่านยอมเพราะท่านตั้งใจว่าจะฝากตัวเป็นศิษย์ของสามเณรท่านนี้
     แต่ว่าไม่ใช่แค่นี้นะ ท่านต้องมีความศรัทธาด้วย มีศรัทธาว่าสามเณรท่านนี้จะสอนท่านได้ จะปราบพยศที่เกิดจากอัตตาตัวตนในใจของท่านได้ เป็นเพราะศรัทธาในสามเณรท่านนี้ ว่าจะเป็นอาจารย์สอนตนได้ จึงยอมทำ ทั้งๆ ที่มันสวนทางกับทิฐิมานะ แล้วพอยอมทำตามทุกอย่างทุกประการของสามเณร สามเณรก็เลยรับเป็นศิษย์แล้วสอน จนกระทั่งท่านตุจโฉกลายเป็นพระอรหันต์บรรลุธรรม
     การที่อาจารย์ที่มีลูกศิษย์ลูกหาเยอะ ยอมปฏิบัติตามคำสอนคำสั่งของสามเณร มันเป็นเรื่องที่ทวนกระแสกิเลสในใจของท่านมากทีเดียว แต่ที่ท่านทำได้เพราะอะไร เพราะศรัทธา ศรัทธาในอาจารย์ ศรัทธาว่าสามเณรจะเป็นอาจารย์สอนท่านได้
     ศรัทธาจึงมีความสำคัญที่สามารถจะช่วยให้ใจใฝ่ดี ให้คุณธรรมหรือความใฝ่ดีในใจเรามันมีพลัง จนเอาชนะกิเลสตัณหา หรือเอาชนะมานะทิฐิได้ ไม่อย่างนั้นกิเลสมันก็จะมีชัย หรือว่าครอบงำคุณธรรม หรือว่าความใฝ่ดีในใจของคนเราได้ เราจะสามารถปลุกหรือสร้างพลังให้กับความใฝ่ดีหรือกุศลธรรมในใจเราได้ ส่วนหนึ่งก็ต้องอาศัยศรัทธา ศรัทธาในครูบาอาจารย์ แต่ว่าถึงที่สุดแล้ว เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะมาศรัทธาในคุณธรรมที่อยู่ในใจเรา
     ศรัทธาอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือศรัทธาในความเพียร คนเราต้องมีศรัทธาในความเพียร ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าคนเรามีศรัทธาในความเพียรของตนแล้ว ก็จะทำให้เรามีพลังที่จะเอาชนะอุปสรรค ความยากลำบาก สามารถทำสิ่งที่ยากให้สำเร็จได้ สิ่งที่ยากนั้นก็ไม่ได้เป็นการชนะคนอื่น แต่คือการชนะใจตัวเอง หรือชนะกิเลสตัวเอง ชนะความหลง ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ต้องใช้การฝึกฝน ต้องใช้การเคี่ยวกรำ อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยเฉพาะสำหรับปุถุชนที่อินทรีย์ยังไม่แก่กล้า
     แต่ว่าคนเราจะทำอย่างนั้นได้มันต้องมีศรัทธา มีความเชื่อมั่นว่าความเพียรที่เราระดมเข้ามาใช้ในการปฏิบัติ มันจะช่วยให้เราสามารถเอาชนะความทุกข์ หรือเข้าถึงความพ้นทุกข์ได้ หรืออย่างน้อยก็สามารถ จะบรรเทาเบาบางกิเลสในใจได้ ที่จริงอย่าว่าแต่การปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์เลย แม้กระทั่งการทำงานทางโลกที่ยากลำบาก ตั้งแต่การเรียนการศึกษา ไปจนถึงการทำงานทำการ มันต้องมีความยาก ลำบาก แต่ว่าคนเราจะสามารถเอาชนะความยากลำบากได้ ที่สำคัญก็คือมีศรัทธาในความเพียร
     ยิ่งถ้าทำความเพียรแล้วมันเห็นผลว่าทำแล้วสำเร็จๆ ก็ยิ่งศรัทธามากขึ้น เช่นเดียวกันเวลาปฏิบัติธรรมแล้ว แม้ว่าเราจะมีปัญหา ประสบกับอุปสรรค แต่พอเราตั้งใจทำความเพียร ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ปรากฏว่ามีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ก็เกิดศรัทธาในความเพียรของตัวเองมากขึ้น ฉะนั้นศรัทธาในความเพียรนี่สำคัญมากนะ เพราะว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร บุคคลจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร
     โรงเรียนของอาตมา โรงเรียนอัสสัมชัญ จะมีคำขวัญประจำโรงเรียนว่า LABOR OMNIA VINCIT เป็นภาษาละติน แปลว่า ความเพียรชนะทุกสิ่งทุกอย่าง ก็คล้ายกับพุทธภาษิตที่ว่า บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร คนเราถ้าหากว่ามีศรัทธาในความเพียร ซึ่งที่จริงก็ไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจของตัวเองนี่แหละ มันก็จะทำให้เราสามารถที่จะมีกำลัง ในการที่จะพัฒนาตนเป็นลำดับ จนกระทั่งเข้าถึงความสิ้นทุกข์ได้ หรือว่าสามารถก้าวข้ามความทุกข์ อุปสรรคหรือวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาในชีวิตได้
     แล้วที่จริงมันไม่ใช่แค่ศรัทธาในความเพียรอย่างเดียว ต่อไปพอเพียรมากๆ เข้า ก็จะเกิดศรัทธาในธรรมะอย่างอื่นด้วย ศรัทธาในสติ ศรัทธาในความรู้สึกตัว ศรัทธาในปัญญา เพราะว่าความเพียรในการปฏิบัติทำให้เห็นอานิสงส์อานุภาพของสติ สมาธิ ปัญญา ความรู้สึกตัวมากขึ้น ก็ยิ่งมีศรัทธา และศรัทธาอย่างนี้แหละที่บางทีเราก็เรียกว่าศรัทธาในตัวเอง แต่ว่าศรัทธาตัวเองนี่มันยังไม่ชัดเจน ถ้าจะพูดให้แจกแจงชัดเจนก็คือศรัทธาคุณธรรมในใจของเรา อันนี้เป็นสิ่งที่พุทธศาสนาเน้นมาก
     แล้วพุทธภาษิตที่เราคุ้นเคยก็คือว่า ตนนั้นเป็นที่พึ่งแห่งตน แต่ที่จริงแล้วพระพุทธเจ้ายังตรัสต่อไปว่า บุคคลที่ฝึกตนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งที่หาได้ยาก ถ้าเราฝึกตนไว้อย่างดี เราก็ย่อมได้ที่พึ่ง แล้วเราจะฝึกตนได้ เราก็ต้องมีศรัทธาในความเพียร ศรัทธาในคุณธรรมต่างๆ เราจึงจะมั่นใจได้ว่าเรามีตนเป็นที่พึ่งได้ แล้วพอมีตนเป็นที่พึ่งแล้ว ก็ยิ่งศรัทธาในตนมากขึ้น จะไม่หวั่นไหวไปกับอุปสรรค ความยากลำบาก หรือแม้กระทั่งสายตาคนรอบข้าง
     เขาจะไม่ชอบเรา เขาจะไม่ได้ชื่นชมเรา เขาจะนินทาเรา ก็ไม่ได้หวั่นไหว เพราะจิตใจมั่นคงอยู่ในคุณธรรม หรือว่าจิตใจไม่ได้หวั่นไหวไปกับโลกธรรม ไม่ว่าโลกธรรมฝ่ายบวกหรือฝ่ายลบ ก็สามารถที่จะรักษาตน รักษาใจให้เป็นปกติมั่นคงได้ ทั้งหมดนี้ก็เกิดขึ้นจากศรัทธาที่มี อย่างถูกต้อง พระพุทธเจ้ายังตรัสว่าศรัทธานี่ก็เป็นพลัง หรือพละอย่างหนึ่งในพละ 5 ศรัทธาเป็นหนึ่งของพละหรือกำลัง ที่จะทำให้เรามีความสามารถในการเอาชนะอุปสรรค และความทุกข์ทั้งปวงได้.
Facebook Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *