แนวคิดและศัพท์เศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจ: การทุ่มตลาด(dumpiing)
แนวคิดและศัพท์เศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจ: การทุ่มตลาด(dumpiing)
โดย รศ.ดร สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย
การทุ่มตลาดหมายถึงการตั้งราคาสินค้าต่ำกว่าต้นทุน เพื่อทำลายคู่แข่งในตลาด เมื่อคู่แข่งซึ่งผลิตสินค้าชนิดเดียวกันสู้ราคาไม่ได้ ต้องออกจากตลาดไป ผู้ทุ่มตลาดก็เป็นผู้ผูกขาด สามารถขายสินค้าในราคาที่สูงขึ้นได้ การทุ่มตลาดเกิดขึ้นได้ทั้งกับตลาดภายในประเทศและในตลาดต่างประเทศ ในการค้าระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการส่งออก สินค้าชนิดเดียวกันอาจตั้งราคาขายในประเทศ สูงกว่าราคาที่ขายในต่างประเทศ เพราะการค้าระหว่างประเทศมีการแข่งขันที่สูงกว่าตลาดในประเทศ องค์การการค้าโลก (WTO) กำหนดให้ประเทศสมาชิกสามารถเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (anti-dumping duty) ได้ แต่ต้องพิสูจน์ได้ว่า มีการตั้งราคาผิดจากราคาปกติ(normal price) และสร้างความเสียหายให้แก่อุตสาหกรรมในประเทศ อย่างไรก็ตาม การคิดคำนวณตัวเลขในอัตราชัดเจน เพื่อนำมาคำนวณขนาดของการกำหนดอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ก็ไม่อาจทำได้ง่ายๆ ในปัจจุบัน ในการค้าระหว่างประเทศ ประเทศต่างๆ ต่อสู้ทางการค้ากัน ด้วยวิธีการต่างๆ ประเทศที่ประสบกับการแข่งขันในตลาดโลก มักกล่าวหาว่าประเทศอื่นทุ่มตลาด ทำให้ อุตสาหกรรมในประเทศของตนต้องประสบกับความเสียหาย และประเทศตนต้องประสบปัญหาการว่างงานที่เนื่องมาจากการแข่งขันของสินค้านำเข้าราคาถูก
เจเน็ต เยลเลน (Jenet Yellen) รัฐมนตรีคลังของสหรัฐอเมริกาได้ไปเยือนประเทศจีนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้กล่าวหาว่าจีนทำการทุ่มตลาดในสินค้าหลายอย่าง เช่น แผงโซล่าเซลล์ รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์อีวี และแบตเตอรี่ ที่ประเทศจีนส่งออกไปตีตลาดทั่วโลก ในการเยือนจีนครั้งนี้ เธอได้แสดงความเป็นมิตร และบอกว่าสหรัฐอเมริกา กับจีนไม่ควรตัดขาดออกจากกัน(decouple) แต่ก็ต้องมีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม รัฐบาลแต่ละประเทศต้องไม่อุดหนุน(subsidize) หรือชดเชยอุตสาหกรรมของตนเกินขอบเขต เยเลนไม่ได้พูดตรงๆว่าประเทศจีนทุ่มตลาด แต่บอกจีนใช้นโยบายเศรษฐกิจตะเกียงแก๊ส (gaslighting ecnomics) ระบายสินค้ากำลังการผลิตล้นเกินออกสู่ตลาดต่างประเทศ
Gaslighting เป็นคำที่ใช้ในวิชาจิตวิทยา หมายถึงวิธีการปั่นหัว หรือควบคุมจิตใจของผู้อื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ทำให้เหยื่อเกิดความหลงผิด คิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดปกติของตน คำนี้มาจากละครเรื่องตะเกียงแก๊ส(Gas Light) ในทศวรรษ 1940 ซึ่งสามีทำให้ตะเกียงมีแสงริบหรี่ แต่เมื่อภรรยาถามถึงแสงไฟที่ลดลง สามีกลับตอบว่า ตะเกียงเป็นปกติ ให้แสงสว่างเหมือนเดิม สิ่งที่ภรรยาเห็นนั้น เป็นเพราะเธอคิดไปเอง ทำให้ตัวภรรยาคิดว่า ตัวเธอมีสิ่งผิดปกติต้องเข้ารับรักษาในโรงพยาบาล ตั้งแต่นั้นมาคำตะเกียงแก๊ส (Gas Light) นี้จึงถูกใช้ในความหมายของการควบคุมจิตใจคนอื่นด้วยภาพลวงตา
คำพูดของเยเลน ตีความได้ว่า การที่สินค้าจีนออกไปตีตลาด ขายดิบขายดีในตลาดโลก ก็เพราะขายได้ในราคาถูกกว่าสินค้าชนิดเดียวกันจากประเทศอื่น มีนัยยะว่าจีนระบายสินค้าที่ผลิตล้นเกินออกสู่ตลาดต่างประเทศ แต่หากสหรัฐอเมริกาหรือประเทศอื่นสามารถพิสูจน์ได้ว่า ประเทศจีนมีการขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดปกติ ก็ย่อมตอบโต้ได้ โดยการเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด(anti-dumping duty) ตามกฎขององค์การการค้าโลก
ในการหาเสียงของประธานาธิบดีไบเด้น(Joe Biden)ที่รัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) เขากล่าวว่า รัฐบาลอเมริกาจะขึ้นภาษีศุลกากรผลิตภัณฑ์เหล็กและอลูมิเนียมที่นำเข้าจากประเทศจีน เพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในประเทศ เพราะรัฐเพนซิเวเนียเป็นรัฐหนึ่งที่มีการผลิต ผลิตภันฑ์เหล็กและอะลูมิเนียม
ในเรื่องนี้ รัฐบาลจีนและสื่อต่างๆในจีนตอบโต้ว่า การที่ประเทศจีนสามารถส่งสินค้าเหล่านี้ไปยังตลาดโลกได้ เพราะมีความสามารถในการแข่งขันเหนือกว่า จึงผลิตสินค้าได้ในราคาที่ถูกกว่าประเทศอื่นสหรัฐอเมริกาเองต่างหาก ที่มีการอุดหนุนหรือให้การชดเชยแก่อุตสาหกรรมที่ ทำการผลิตในประเทศของตน เช่น อุตสาหกรรมกึ่งตัวนำ (semiconductor) ที่นอกจากจะมีการทุ่มงบประมาณจำนวนมากให้แก่บริษัทของตนเองแล้ว ยังให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ผลิตกึ่งตัวนำในประเทศอื่น ด้วยเงินจำนวนมหาศาลอีกด้วย
สื่อจีนกล่าวว่า การที่ประเทศประเทศจีนผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปจำหน่ายในตลาดโลกได้ ยังเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของโลกด้วย ตรงข้ามกับสหรัฐอเมริกาที่เที่ยวก่อความเดือดร้อนให้กับประเทศอื่น ด้วยนโยบายการค้าต่างประเทศ และนโยบายการเงินการคลังของรัฐบาล เช่น การขึ้นดอกเบี้ย ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าจำนวนมาก และเงินดอลล่าร์แข็งค่าขึ้นมาก ทำให้ค่าเงินประเทศอื่นลดลงไปมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้น มาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆของอเมริกา ก็ส่งผลลบทางเศรษฐกิจต่อประเทศเป้าหมายมาก เช่นกัน
เคยเขียนมาแล้วก่อนหน้านี้ว่า อเมริกามีการขาดดุลการค้า โดยขาดดุลกับจีนมากที่สุด จึงมีมาตรการกีดกันจีนหลายมาตรการ แต่มาตรการกีดกันทางการค้าเหล่านี้ ก็ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาด้วย เช่น การตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้า ทำให้สินค้าที่นำเข้าจากจีนมีราคาสูงขึ้น ผู้บริโภคในอเมริกาก็ต้องซื้อสินค้าในราคาที่แพงขึ้น ถ้าสินค้านำเข้าจากจีนนั้นเป็นวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตสินค้าสำเร็จรูป ผู้ผลิตในอเมริกาก็ต้องซื้อวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในราคาสูงขึ้น ทำให้มีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น
การกีดกันการนำเข้าจากจีน อาจลดการนำเข้าจากจีน และทำให้ขาดดุลกลการค้ากับจีนลดลงไปบ้าง แต่ตราบใดที่อเมริกามีการใช้จ่ายเกินตัว มีการบริโภคมากกว่าการผลิต ก็ต้องมีขาดดุลการค้าอยู่วันยังค่ำ แม้จะนำเข้าจากจีนลดลง ก็ต้องนำเข้าจากประเทศอื่นมากขึ้น เพราะสหรัฐอเมริกาไม่สามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอต่อการบริโภคของประชาชนในประเทศ การแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าไม่สามารถทำได้ด้วยการกีดกันการค้า หากจะลดการขาดดุลการค้า ต้องเพิ่มการผลิตและลดการบริโภค แต่ผู้ผลิตในอเมริกามีข้อจำกัดในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่สามารถเพิ่มการผลิตได้ ประชาชนอเมริกัน ก็ไม่สามารถลดการบริโภคลงได้ ในปัจจุบัน สหรัฐอเมริกา มีการบริโภคในผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติสูงถึงประมาณร้อยละ 80 สังคมอเมริกา ส่งเสริมการบริโภค ผู้ผลิตก็มีการโฆษณาขายสินค้าด้วยวิธีการต่างๆ การแก้ปัญหาขาดดุลการค้า จึงเป็นเรื่องยาก หากไม่มีการปรับโครงสร้างการผลิตและการบริโภค
ตามสมการ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ส่วนต่างของมูลค่าสินค้านำเข้ากับมูลค่าสินค้าส่งออก เท่ากับส่วนต่างมูลค่าผลผลิตมวลรวม กับการใช้จ่ายมวลรวม (ซึ่งมีการบริโภคเอกชน การใช้จ่ายของรัฐบาล และการลงทุนภาคเอกชน) ในกรณีของอเมริกา นอกจากการบริโภคที่สูงแล้ว การใช้จ่ายรัฐบาลก็สูงขึ้นมาก ในเวลาที่ผ่านมา จากการใช้จ่ายกลาโหมที่สูงขึ้นมาก แต่ระบบการเงินระหว่างประเทศยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เงินดอลลาร์อเมริกันถูกออกแบบเป็นเงินสกุลหลัก(key currency) ที่มีการใช้กันทั่วโลก และ ตามกฎหมายของอเมริกา การพิมพ์ธนบัตรก็ไม่ต้องมีสินทรัพย์อะไรหนุนหลัง อเมริกาจึงพิมพ์เงินออกมาซื้อของจากประเทศต่างๆทั่วโลกได้ แม้ขาดดุลการค้าและเป็นหนี้จำนวนมหาศาล ก็ยังไม่มีปัญหา เพราะประเทศต่างๆยังเชื่อถือในเงินดอลล่าร์ แต่ถ้าวันหนึ่ง ประเทศต่างๆในโลกไม่มีความเชื่อถือในเงินดอลล่าร์อเมริกัน และไม่ยอมรับเงินดอลล่าร์ในการซื้อขายสินค้าแล้ว อเมริกาคงต้องล้มละลายเหมือนกับประเทศอื่นที่มีการใช้จ่ายเกินตัวและเป็นหนี้ต่างประเทศ แต่ไม่รู้ว่า เมื่อไหร่วันนั้นจะมาถึง