ทรัพยากรมนุษย์กับการพัฒนาประเทศ
ทรัพยากรมนุษย์กับการพัฒนาประเทศ
โดย รศ.ดร สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย
ในการพัฒนาประเทศ คนหรือทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้ามีคนที่มีความรู้ความสามารถมาปกครอง ประเทศก็จะพัฒนาได้ดี แต่ถ้ามีคนเลวมาบริหารประเทศ ก็จะสร้างความเสื่อมเสียได้มาก
ซุนยัดเซ็น(孙逸仙หรือ孙中山)ผู้นำการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิง(清朝)กล่าวว่า ประเทศจะพัฒนาได้ดี ต้องใช้คนที่มีความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ ใช้ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ได้เต็มที่ ใช้สิ่งของต่างๆที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ สินค้าและบริการมีการหมุนเวียนเปลี่ยนมือได้อย่างคล่องตัว (人能尽其才、地能尽其利、物能尽其用、货能𣈱其流) แต่การจะใช้ทรัพยากรและสิ่งของที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ รวมทั้งมีการเคลื่อนย้ายสินค้าบริการทำได้คล่องตัวโดยเสรี นั้น ต้องมีกฎหมาย กฎระเบียบที่ดี ซึ่งล้วนต้องมีคนทำ ดังนั้น ในบรรดาทรัพยากรต่างๆ ทรัพยากรมนุษย์หรือคนจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่สุด
องค์ประกอบของทรัพยากรมนุษย์
ก. การค้นพบ
ข. การใช้ประโยชน์
ค. การทะนุถนอม
ง. การพัฒนา
จ. การนำเข้าจากต่างประเทศ/ต่างรัฐ
การค้นพบ: ประเทศจีนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ จะมีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ หากพระมหากษัตริย์เป็นคนดี มุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศ สรรหาคนดีคนเก่งเข้ามาช่วยงาน ประเทศก็จะพัฒนาได้ดี ในสมัยหนึ่ง กษัตริย์จะให้ข้าราชการในท้องถิ่น คัดเลือกคนที่มีชื่อเสียงดีในพื้นที่ของตนมาช่วยงานในเมืองหลวง ต่อมา ใช้ระบบสอบคัดเลือกผู้ที่มีความรู้ความสามารถมารับราชการ บางครั้ง กษัตริย์ หรือเจ้าผู้ครองรัฐ จะไปชักชวนคนดี คนเก่งที่มีชื่อเสียง ให้เข้ามาทำงาน ด้วยตนเอง
การใช้ประโยชน์: เมื่อได้พบคนเก่งคนดีแล้ว ต้องนำมาใช้ประโยชน์ ให้เขามีตำแหน่ง มีอำนาจ ได้ทำงานเหมาะสมกับความรู้ความสามารถของเขา
การทะนุถนอม: ต้องรักษาคนดีคนเก่งให้โอกาสทำงานได้เต็มที่ ไม่ใช่ เมื่อเขาทำงานสักพัก ก็ปลดเขาออก แล้วให้คนอื่นที่มีคุณสมบัติด้อยกว่ามาทำงานแทน
การพัฒนา: มีการสร้างคนที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อมาทดแทนคนเดิมที่เกษียณอายุ หรือเสียชีวิตไป การทำงานพัฒนาประเทศ จะอาศัยคนดีคนเก่งเพียงคนเดียวไม่ได้ คนในตำแหน่งสูง จำเป็นต้องมีทีมงานดังนั้น การพัฒนาหรือสร้างคนที่มีความรู้ความสามารถในระดับต่างๆให้มากเพียงพอ ก็เป็นสิ่งสำคัญ
การใช้คนที่มาจากต่างประเทศหรือต่างรัฐ: ประเทศจีนในราชวงศ์โจว ตะวันออกในสมัยเลียดก๊ก (东周列国) ผู้ครองรัฐมีการใช้คนเก่งจากรัฐอื่นมาทำงานช่วยบริหาร จนประสบผลในการพัฒนา ทำให้รัฐให้มีความเจริญรุ่งเรือง และมีแสนยานุภาพที่แข็งแกร่ง ในปัจจุบัน หลายประเทศก็ใช้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาช่วยพัฒนาประเทศในภาคเศรษฐกิจ และกิจกรรมสาขาต่างๆ
ตัวอย่างการใช้คนที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ
ก. สมัยถังหมิงหวง(唐明皇)ในราชวงศ์ถัง(唐)ของจประเทศจีน
เหตุการณ์น่าสนใจที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารประเทศระดับต่างๆ ทั้งพระมหากษัตริย์ อัครเสนาบดี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจหน้าที่ในการปกครองประเทศที่ทำให้สังคม เศรษฐกิจ การเมืองเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว จนราชวงศ์ที่มีความเจริญรุ่งเรือง กลายเป็นรัฐที่เสื่อมถอยลงมาก เกิดขึ้นในรัชสมัยถังเสวียนจง(唐玄宗)ในราชวงศ์ถัง(唐) เมื่อประมาณ 1300 ปีก่อน
ในช่วงแรกของราชวงศ์ถ้ง ประเทศจีนมีความเจริญรุ่งเรืองมาก แต่หลังจากผ่านพ้นไปประมาณ 120 ปี ก็เสื่อมถอยลงไปมาก ราชวงศ์ถังมีการเปลี่ยนแปลงมากในสมัยกษัตริย์ถังเสวียนจง(唐玄 宗) หรือที่รู้จักกันในนามถังหมิงหวง (唐明皇)ซึ่งเปลี่ยนจากกษัตริย์ดีเป็นกษัตริย์เลวในช่วงเวลาที่ครองราชย์
เรื่องราวของถังหมิงหวงน่าสนใจมาก เขาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ได้ จากการต่อสู้กับผู้ครองอำนาจเดิม ในการนี้ต้องใช้กลอุบายและยุทธวิธี
ที่แยบยล เมื่อขึ้นเป็นกษัตริย์แล้ว เขาก็ตั้งใจบริหารบ้านเมือง ใช้คนที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยทำงาน จนเกิดยุคไคเหวียน (开元之治) ซึ่งเป็นยุคที่ประเทศจีนมีความเจริญรุ่งเรืองมาก (ไคเหวียนเป็นสมญานามของเขาในช่วง 29 ปีแรก ของการครองราชย์)
แต่ในช่วงหลังของรัชกาลไคเหวียน ถังหมิงหวงได้เปลี่ยนแปลงไปมาก เขาสนใจแต่เสวยสุขสำราญหาความบันเทิง ปลดอัครเสนาบดีที่ซื่อสัตย์และมีความรู้ความสามารถออกจากตำแหน่งแล้วให้คนชั่วมารับตำแหน่งแทน ทั้งอัครเสนาบดี ขันทีที่ใกล้ชิด และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่คดโกง ในช่วงหลัง เขาหลงรักหยางกุ้ยเฟย(杨贵妃)และแต่งตั้งญาติพี่น้องหยางกุ้ยเฟย โดยเฉพาะหยางกั๋วจง (杨国忠)ซึ่งเป็นคนเลวที่ไม่มีความรู้ความสามารถ นอกจากเก่งในการเล่นการพนันในเกมที่กษัตริย์ชอบเล่น มาเป็นอัครเสนาบดี มีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ
ในช่วงหลังของรัชกาลไคเหวียน แม้มีขุนนางและข้าราชการเลวจำนวนมาก ประชาชนเดือดร้อน ทำมาหากินลำบาก แต่ยังไม่มีศึกสงคราม จุดหักเหที่ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองคือ การก่อกบฏของอานลู่ซาน(安祿山)ซึ่งใช้เวลาเก้าปี กว่าจะปราบปรามได้หมดสิ้น สงครามครั้งนี้สร้างความเสียหายมาก ทรัพยากรและทรัพย์สินถูกทำลาย ประชาชนล้มตายและบาดเจ็บจำนวนมาก การเชิญให้ทหารชนเผ่าหุยเหอ(回纥)มาร่วมปราบกบฏ ก็สร้างความเสียหายแก่บ้านเมืองมาก จากการปล้นสดมภ์ของทหารหุยเหอ ราชวงศ์ถังได้แปรสภาพจากราชวงศ์ที่เจริญรุ่งเรือง กลายเป็นบ้านเมืองที่วุ่นวาย ระสํ่าระสาย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
การเกิดขึ้นของกบฏอานลู่ซาน ก็เกิดจากการกระทำที่ผิดพลาดของกษัตริย์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ กษัตริย์ถังหมิงหวงโปรดปรานอานลู่ซานมาก เห็นว่าเขาเป็นคนจงรักภักดีต่อกษัตริย์ จึงแต่งตั้งให้ครอบครองพื้นที่หลายแคว้น และมีกองกำลังทหารจำนวนมาก อัครเสนาบดีหลี่หลินฝู่(李林甫)ก็สนับสนุนกษัตริย์ให้แต่งตั้งคนเผ่าอื่นขึ้นมามีอำนาจในหัวเมือง คิดว่าชนเผ่าอื่นได้รับการศึกษาน้อย แม้มีความดีความชอบ ก็ไม่สามารถขึ้นมาดำรงตำแหน่งอัครเสนาบดีแทนตนได้ ต่อมาหลี่หลินฝู่ถูกปลดออก แล้วหยางกั๋วจง ซึ่งไม่ถูกกับอานลู่ซานขึ้นมาเป็นอัครเสนาบดีแทน หยางบอกกษัตริย์ว่า ถ้าให้อานลู่ซานมีอำนาจมาก สักวันหนึ่งเขาอาจจะก่อการกบฏ ในที่สุด อานลู่ซานก็ก่อกบฏจริง โดยให้เหตุผลว่า ต้องการขับไล่หยางกั๋วจงออกจากตำแหน่ง
ในเวลานั้น ราชวงศ์ถังปกครองบ้านเมืองมากว่า 130 ปีแล้ว ไม่มีศึกสงครามมานาน ฝ่ายอานลู่ซาน ก็มีกำลังกล้าแข็ง จึงยกพลบุกเข้ามาเมืองหลวงได้รวดเร็ว
ในกลางปีค.ศ. 756 ถังหมิงหวง หยางกั๋วจง และขุนนางชั้นผู้ใหญ่อีกหลายคน ต้องให้ทหารอารักษ์ขา เพื่อหนีออกจากเมืองหลวง หยางกั๋วจงถูกฆ่าตายโดยฝูงชน แต่เหล่าทหารยังไม่ยอมเคลื่อนพลออกไป บอกว่า แม้หยางกั๋วจงจงตายแล้ว แต่หยางกุ้ยเฟยสนมคนโปรดของกษัตริย์ยังมีชีวิตอยู่ หากไม่ประหารชีวิตหยางกุ้ยเฟย เหล่าทหารก็ไม่ยอมออกเดินทางต่อไป ถังหมิงหวงจึงจำใจให้หยางกุ้ยเฟยผูกคอตาย แล้วหนีระหกระเหินไปมลฑเสฉวน(四川)
หลังจากเหตุการณ์กบฏอานลู่ซานสงบลง ราชวงศ์ถังได้เสื่อมถอยลงเรื่อยๆ จนในที่สุด ถูกโค่นล้มไปในปีค.ศ. 907 หลังจากนั้น แผ่นดินจีนมีความแตกแยกเป็นเวลากว่า 50 ปี จนกระทั่งมีการสถาปนาราช วงศ์ซ่ง(宋)ในปีค.ศ. 960
กรณีสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน
ในสมัยปัจจุบัน ประเทศที่มีความเจริญมาระยะหนึ่ง แล้วเสื่อมลง ส่วนมากเกิดจากการไม่รู้จักเลือกคนดี คนเก่งเข้ามาบริหารประเทศ มีให้เห็นมากมาย ตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ประเทศสหรัฐอเมริกา มีข้อได้เปรียบมากกว่าประเทศอื่นหลายอย่าง: คือ มีทำเลที่ตั้งที่ดี มีทรัพยากรมาก ผู้นำที่ก่อตั้งประเทศ ได้วางพื้นฐานการเมืองการปกครองที่ดี ในสงครามโลกทั้งสองครั้ง อเมริกาไม่ได้ถูกทำลาย ในขณะที่ประเทศอื่นๆในยุโรป เอเชีย และแอฟริกาจำนวนมาก ได้รับผลกระทบจากสงคราม เกิดความเสียหายมาก
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อเมริกากลายเป็นมหาอำนาจของโลก เศรษฐกิจมีความเจริญ สังคมสงบ มีแสนยานุภาพทางทหารเข้มแข็ง ระบบการเงินระหว่างประเทศในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ให้เงินดอลลาร์อเมริกันเป็นเงินสกุลหลักของโลก ก็มีส่วนเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของอเมริกามาก รัฐบาลอเมริกันสามารถพิมพ์ธนบัตร ออกมาใช้ซื้อสินค้าและบริการจากประเทศทั่วโลกได้ โดยไม่ต้องมีทองคำหรือทุนสำรองหนุนหลัง
ในอเมริกา มีนักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์และนักวิชาการแขนงต่างๆจำนวนมาก ทั้งชาวอเมริกัน และที่มาจากประเทศอี่น มีมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของโลกหลายแห่ง ด้วยทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่ อเมริกาสามารถพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีได้ดี ช่วงหนึ่ง อเมริกามีภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการที่เจริญ แต่มาถึงปัจจุบัน อเมริกาเสื่อมถอยลงไปมาก มีปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่ยากแก่การแก้ไข ในทางเศรษฐกิจ อเมริกาขาดดุลการค้าและขาดดุลงบประมาณ มีหนี้ต่างประเทศจำนวนมาก ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่เคยแข็งแกร่งมาก่อน ก็อ่อนแอลง แม้ในภาคบริการ ยังมีบริการไฮเทคบางอย่างที่ดีอยู่ ในทางสังคม อเมริกามีคนยากจน คนไร้บ้าน มีผู้ค้าและผู้ติดยาเสพติดจำนวนมาก มีคดีอาชญากรรมสูง ในแต่ละปี มีคนถูกปืนยิงตายนับหมื่นคน ในทางการเมือง ผู้นำระดับสูงส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ความสามารถ พรรคการเมืองมีความแตกแยกสูง รัฐบาลถูกครอบงำ โดยกลุ่มพ่อค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตและค้าอาวุธยุทโธปกรณ์ ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลอเมริกันเที่ยวครอบงำการบริหารบ้านเมืองของประเทศอื่น ยุยงส่งเสริมให้ประเทศคนอื่นขัดแย้งกัน จนเกิดสงครามในหลายภูมิภาคของโลก
แม้สหรัฐอเมริกา ยังมีฐานะเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก จากพื้นฐานหลายอย่างที่ยังดีอยู่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ได้เสื่อมถอยลงไปมาก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง สาเหตุความเสื่อมถอยของอเมริกาอาจมีอยู่หลายอย่าง แต่สาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ปัจจัยทรัพยากรมนุษย์: ผู้บริหารประเทศไม่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสม และไม่รู้จักใช้คนดีคนเก่งช่วยทำงานบริหารประเทศ ในปัจจุบัน แม้ในอเมริกา ก็ยังมีคนที่มีความรู้ความสามารถสูงในสาขาต่างๆจำนวนมาก แต่คนเหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการบริหารประเทศ อเมริกามีนักเศรษฐศาสตร์เก่งที่มีชื่อเสียงอยู่จำนวนมาก แต่คนเหล่านี้ ก็ไม่มีส่วนในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศแต่อย่างใด
ประเทศจีนยุคหลังการปฏิรูปเศรษฐกิจ
สาธารณรัฐประชาชนจีน มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปลายปีค.ศ. 1978 จากการวางแผนส่วนกลางมาสู่การใช้ระบบตลาด และมีการปฏิรูปและเปิดประเทศทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจีนหลังการปฏิรูปได้ให้ความสำคัญต่อทรัพยากรมนุษย์มาก ในระยะแรก มีการเชิญนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ ที่ถูกปลดออกจากงานในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรม ให้กลับเข้ามาทำงาน ปรับปรุงวิธีการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย และการคัดเลือกคนเข้ารับราชการ คนจีนที่มีความรู้ความสามารถสูงที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศ ก็เดินทางกลับเข้ามาทำงานในประเทศจีนจำนวนมาก ในทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลจีนมีโครงการเชื้อเชิญนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ ทั้งคนจีนและคนต่างชาติที่อยู่ในต่างประเทศมาช่วยงานในประเทศจีน ซึ่งจะมาทำงานในระยะเวลาสั้น หรือมาอยู่ถาวรในประเทศจีนก็ได้ การมีนโยบายให้ความสำคัญแก่ทรัพยากรมนุษย์นี้ มีส่วนช่วยทำให้เศรษฐกิจจีนมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่องกันหลายทศวรรษ
เรื่องทรัพยากรมนุษย์ในประเทศจีนยุคหลังการปฏิรูปและการเปิดประเทศทางเศรษฐกิจ มีการเขียนแล้วในบทความชุด“ ความเจริญและความเสื่อมของเศรษฐกิจจีน: จากอดีตถึงปัจจุบัน” ตอนที่ 11-20 และมีการสรุปบทเรียนไว้ในตอนท้าย(ตอนที่ 19-20) ในที่นี้จะไม่กล่าวซํ้าอีก เพียงแต่จะตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากมีการต่ออายุตนเอง เมื่อครองตำแหน่งประธานาธิบดีสองสมัยของ ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง เศรษฐกิจจีนได้เสื่อมถอยลงมาก ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง(习近平) มีแนวโน้มรวบอำนาจมากขึ้น ในปัจจุบัน คณะกรรมการการเมืองกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน(中国共产党中央政治局常务委员会) ซึ่งมีกรรมการ 7 คน และมีประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง เป็นประธาน เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการกำหนดนโยบาย ผู้ดำรงตำแหน่งในกรรมการชุดนี้ ส่วนใหญ่เป็นคน ใกล้ชิดสีจิ้นผิง แม้เจ้าหน้าที่ระดับอื่นของรัฐบาลจีนส่วนใหญ่ยังมีเหมือนเดิม และเศรษฐกิจจีนก็มีการปูพื้นฐานที่ดีไว้มากพอควรแล้ว แต่ปัจจุบันประเทศจีนต้องประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจหลายด้าน: การตกต่ำของการเจริญเติบโต การว่างงาน ความไม่มั่นคงทางการเงินในภาคอสังหาหาริมทรัพย์ การกีดกันทางการค้าและเทคโนโลยจากอเมริกาและยุโรป การแก้ปัญหาเหล่านี้ จำเป็นต้องมีนโยบายที่ชาญฉลาด แต่ผู้กำหนดนโยบายในระดับสูงสุดของประเทศ ดูเหมือนว่าจะมีคุณภาพที่ด้อยลงกว่าเดิม อนาคตของเศรษฐกิจจีนจะเป็นอย่างไร จะต้องดูกันต่อไป
ความเสื่อมถอยของเศรษฐกิจการเมืองในประเทศไทย
ระหว่างครึ่งหลังของทศวรรษ 1980 ถึงครึ่งแรกของทศวรรษ 1990 เศรษฐกิจไทยมีการเจริญเติบโตในอัตรสูงมาก แต่มาถึงค.ศ. 1997 ประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลในเวลานั้น หลังจากนั้น รัฐบาลได้สรุปบทเรียนความผิดพลาดก่อนหน้านั้น มีนโยบายและมาตรการช่วยเหลือประชาชนทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ และปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น แต่เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นระยะหนึ่ง ก็มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล รัฐบาลใหม่มีนโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยม เพื่อหาเสียงจากประชาชน และยกเลิกนโยบายการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของรัฐบาลชุดก่อนหน้า จากนั้นเป็นต้นมา ความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยก็อ่อนแอลงมามาก
ตั้งแต่ปีค.ศ. 2001 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีรัฐบาลหลายชุด แต่เศรษฐกิจไทยก็เสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ จริงอยู่ที่ประเทศไทยต้องประสบกับสภาพเศรษฐกิจและการเมืองของโลกที่เลวร้าย ทั้งการระบาดของโรคโควิด การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สงครามในยูเครนและในตะวันออกกลาง ล้วนมีผลทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง การส่งออกมีการขยายตัวลดลง แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยน้อยกว่าประเทศ อื่นๆ ในอาเซียน ขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ก็ลดน้อยลงไปมาก สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็คือ ในกว่าสองทศววษที่ผ่านมา มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลายชุด ที่มีผู้บริหารประเทศที่มีคุณภาพตํ่า นักการเมืองส่วนใหญ่ไม่มีจริยธรรม ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีความรู้ความสามารถ และมี นโยบายที่ไม่เป็นประโยชน์ หรือมีโทษต่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพในการกำหนดและบริหารนโยบายประเทศไทยช่วงเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา มีความเสื่อมถอยลงไปมาก ผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาล ทั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีหลายคน มีพฤติการณ์ทุจริตคอรัปชั่น มีทั้งการทุจริตทางนโยบาย การรับสินบน สมรู้ร่วมคิดกับข้าราชการและพ่อค้าทำความผิด แต่ไม่ได้รับการลงโทษตามกฎหมาย เพราะในวงการตำรวจและตุลาการ ก็มีคนที่ไม่ดีจำนวนมาก
รัฐบาลไทยในสองทศวรรษที่ผ่านมา มีคุณภาพในการกำหนดนโยบาย รวมทั้งนโยบายเศรษฐกิจ ลดน้อยลงไปมาก บ่อยครั้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ไม่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์เลย ที่เป็นรัฐมนตรีได้ เพราะได้รับสนับสนุนจากพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำและที่เป็นนพรรคร่วมรัฐบาล เป็นผู้ใกล้ชิดผู้มีอำนาจในพรรคการเมืองที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล คนเหล่านี้เป็นใหญ่ได้ด้วย“เส้นสาย” มากกว่าความรู้ความสามารถ
ในประเทศไทย สถานประกอบการภาคเอกชน มักมีการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานโดยมีการตรวจสอบประวัติ สอบข้อเขียนหรือสอบสัมภาษณ์ เพื่อคัดเลือกบุคคลที่มีคุณภาพเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ แต่การคัดเลือกบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งระดับสูงในรัฐบาล ส่วนมากกลับไม่มีการตรวจสอบประวัติ และไม่มีการสอบคัดเลือกแต่อย่างใด ขอเพียงเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองส่งมา ซึ่งอาจเป็นผู้ไม่มีจริยธรรมและไม่มีความรู้ความสามารถใดๆเลย
การแต่งตั้งและการเลื่อนขั้นข้าราชการระดับสูงในกระทรวงต่างๆ ก็มักอาศัย“เส้นสาย” หรือความใกล้ชิดกับผู้บังคับบัญชา มากกว่าจริยธรรมและความรู้ความสามารถ
ในเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา ผู้บริหารเศรษฐกิจที่มีตำแหน่งสูงในประเทศไทยที่มีคุณภาพ อาจอยู่บ้าง เช่น ผู้ว่าฯธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้บริหารในองค์กรและรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่มีระบบการคัดเลือกผู้บริหารอย่างเป็นกิจจะลักษณะ แต่ในรัฐบาล ทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้บริหารระดับสูงในเขากระทรวงต่างๆ กลับดำรงตำแหน่งได้โดยไม่ต้องผ่านการคัดเลือกที่เหมาะสม
เนื้อร้องท่อนหนึ่งในเพลงมอญดูดาว เพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “ใทยจะเฟือง ไทยจะรุ่งเรือง ก็เพราะการเมืองดี” แต่ถ้าเรามีนักการเมืองที่ไม่ดี ไร้จริยธรรม ไม่ซื่อสัตย์สุจริต มีพฤติกรรมทุจริตคอรัปชั่น การเมืองไทยจะดีขึ้นไม่ได้ และประเทศชาติย่อมจะพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองได้ลำบาก