สื่อระดับโลกในฐานะเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ
สบาย สบาย สไตล์เกษม
เกษม อัชฌาสัย
สื่อระดับโลกในฐานะเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ
ผมทำงานสื่อมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๑ จนทุกวันนี้ แม้ออกจากงานแล้ว ก็ยังทำอยู่ ศิริรวมการทำงานแล้ว ก็ราว ๕๕ ปีครับ
ยาวนานพอที่จะมองออกว่า สื่อไหนมีนโยบายอย่างไร ค่อนข้างจะแจ่มแจ้ง
มองออกด้วยว่า สื่อไหนโลเล สื่อไหนมั่นคง ต่อนโยบายของตน
จะเอียงซ้าย จะเอียงขวา หรือเอียงไปเอียงมา รู้นะครับ
ถ้าจะให้ยกตัวอย่างชัด ๆ รับรองว่า “ทัวร์ลง”ผมแน่
ไม่ว่าสื่อใดจะมีหลักการอย่างไร แต่ส่วนตัวผมมีนโยบายของตนเอง คือยึดหลักไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
แม้กระนั้น หลายหน”อคติ”ในตัวตนของผม ก็มักจะแสดงออกให้เห็นในข้อเขียนบ่อยๆ คือไม่ค่อยจะมีความเป็นกลางอะไรนัก
ก็ได้แต่เตือนตัวเตือนใจอยู่เสมอมาและแก้ไข เป็นครั้งคราวไป พยายามยึดกลางๆ เข้าไว้ ไม่ตกเป็นเครื่องมือของการโฆษณาชวนเชื่อ
ยึดเอาผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ทั้งระดับชาติและระดับสากล
พูดถึงการโฆษณาชวนเชื่อ คือการกระพือเรื่องราวข่าวสารให้คนเชื่อนั้น ก็อยากจะเขียนถึงว่าระยะหลังๆ นี่ มีการใช้สื่อเป็นเครื่องมือมากขึ้น
ผมจะไม่ยกตัวอย่างสื่อในเมืองไทย แต่ยกตัวอย่างสื่อสากล
ให้เห็นกันชัดๆ
ก่อนลงลึกในเรื่องนี้ ก็ใคร่สรุปเอาเองว่าในโลกใบนี้มีทฤษฏีสื่อสื่อสาร แค่เพียงสองทฤษฎีใหญ่ๆ เท่านั้นคือ:-
๑ ทฤษฎีสื่อสารเสรีนิยม
๒ ทฤษฏีสื่อสารอำนาจนิยม
ผมไม่สนใจว่า ตำรับตำราทางวิชาการที่แต่งกันขึ้นมาจะแบ่งเป็นกี่ทฤษฎีที่ดูเหมือนจะมีมากมาย
แต่ผมว่ามีเท่านี้แหละครับ
สำหรับในข้อ ๑ นั้น
ยกตัวอย่างชัดๆก็คือสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร(อังกฤษ)ฝรั่งเศส ซึ่งปกครองด้วยระบอบระชาธิปไตยเสรี ก็ย่อมจะมีสื่อที่เสรีตามไปด้วย มีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงออกทางความคิดเห็นและการเสนอขาวสาร โดยแทบจะไม่จำกัด ยกว้นจะไปล่วงละเมิด”อะไร”ที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย
รัฐไม่มีอำนาจพิเศษอะไร จะไปจำกัดสิทธิเสรีภาพที่ว่านี้ครับ
สำหรับข้อ ๒
ก็คือสื่อในจีนและในรัสเซีย ซึ่งสื่อสำคัญส่วนใหญ่จะสังกัดหน่วยงานรัฐ มีส่วนน้อยเท่านั้นที่พอจะมีเสรีอยู่บ้าง แต่ก็ต้องตระหนักในขอบข่ายการนำเสนอข่าวสารและความคิดเห็น ที่จะต้องไม่ทำให้รัฐเสียหาย
ส่วนนอกเหนือไปจากนั้นก็มั่วๆ กันไประหว่างสองทฤษฎีนี้โดยไม่มีใครจะไปบังคับควบคุมได้
ย้อนกลับไปพูดถึงประเด็นหลักที่จะเขียนคือ”สื่อระดับโลกในฐานะเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ”
จะพบว่าเหตุการณ์โลกขณะนี้ หยิบยกมาเฉพาะ”สงครามฮามาส”เป็นการณีศึกษานั้น ทำให้ชาวโลกรุ่นใหม่ เกิดความเข้าใจผิดในความถูกต้องชอบธรรม ไม่ต้องตรงตามความเป็นจริงคือ
ผู้รับข่าวสารจำนวนหนึ่งสนใจ ฝักใฝ่และเห็นใจ”อิสราเอล”ที่ถูกกระทำก่อน
แต่อีกจำนวนหนึ่งเห็นใจ”กลุ่มฮามาส”ซึ่งกระทำการรุนแรงต่อชาวอิสราเอล ทำในนามของชาวปาเลสไตน์
จนกระทั่งมีการชุมนุมเกิดขึ้นที่นั่นที่นี่ทั่วโลกหนุนกันแต่ละฝ่าย ตามที่ปรากฏเป็นข่าว
ข้อเท็จก็คือ สื่อกระแสหลักจากตะวันตก เช่นซีเอ็นเอ็น(ธุรกิจเอกชนในสหรัฐ)และ บีซีซี(ธุรกิจอิสระแยกจากรัฐ) ออกข่าวออกความเห็นหนุนอิสราเอลกลายๆ
ในขณะที่สื่อจากฝ่ายอาหรับ เช่น”อัลญาซีรา”(ของ”กาตาร์”)และ”อาหรับนิวส์”(ของราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย)นำเสนอข่าวและความเห็นสนับสนุนกลุ่มฮามาสซึ่งเป็นตัวแทนชาวปาเลสไตน์
ดังนั้นในข่าวเดียวกัน จึงนำเสนอแง่มุมไม่เหมือนกัน เช่นกรณี”ระเบิดโรงพยาบาล”ใน”กาซา ซิตี้”นั้น
“ซีเอ็นเอ็น”และ”บีบีซี” นำเสนอข่าวว่า”เกิดระเบิดครั้งใหญ่”โดยระบุจำนวนผู้เสียชีวิต แต่ไม่กลับชัดเจนว่า ฝ่ายไหนคือตัวการทำให้เกิดการระเบิด
ในขณะที่”อัลญาซีรา”และ”อาหรับนิวส์”ระบุว่า เกิดจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลที่ยังกระทำต่อเนื่องก่อนบุกเข้ากวาดล้างกลุ่มฮามาสนั่นเอง
เห็นหรือยังว่า สื่อสามารสร้างภาพ สร้างเรื่องให้เกิดความรัก ความเกลียดตลอดจนความห็นอกเห็นใจ ในบรรดา”ผู้รับสาร”ได้ อย่างแนบเนียนจริงๆ
อีกนัยหนึ่งคือการปกป้องสมัครพรรคพวก คือชาติที่สื่อสังกัด หรือปกป้องผลประโยชน์ของสื่อนั้นๆ เอง
สรุปกว้างๆ ว่า สื่อมวลชนไม่ว่าระดับไหน ล้วนถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ
โดยการโฆษณาชวนเชื่อนั้นก็คือ :-
“….การสื่อสารรูปแบบหนึ่งที่มุ่งชักจูงทัศนคติของประชาคมต่ออุดมการณ์หรือมุมมองบางอย่างโดยการนำเสนอการให้เหตุผลเพียงข้างเดียว การโฆษณาชวนเชื่อมักทำซ้ำและกระจายในสื่อหลายชนิดเพื่อสร้างผลที่เลือกสรรแล้วในทัศนคติของผู้ชม” (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
จึงเรียนมา เพื่อความรู้รอบและเพื่อจะได้ช่วยกันพิจารณาครับ
ดังนั้น เวลาเสพสื่อพึงตระหนักว่าสื่อนั้น เข้าข้างฝ่ายไหน แล้วกรองออกมา เป็นข้อเท็จจริง ที่พึงเชื่อได้เท่านั้น
สื่อบ้านเรา ก็อยู่ในอีหรอบเดียวกันครับ