จีนปวดหัวเมื่อมีเงินตราต่างประเทศไหลท่วมธนาคาร
คอลัมน์ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ
ทหารประชาธิปไตย
จีนปวดหัวเมื่อมีเงินตราต่างประเทศไหลท่วมธนาคาร
ในขณะที่สหรัฐฯยังคงขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีรายได้จากสินค้าและการขายความรู้ด้านเทคโนโลยีต่างๆ ตลอดจนรายได้ในการขายบริการด้านระบบไอที เช่น FB , Google, U-Tube เป็นต้น แต่โดยรวมก็ยังขาดดุลการค้าโดยเฉพาะกับจีน
ส่วนจีนก็กำลังประสบปัญหาการเกินดุลการค้าอย่างมาก จนได้เงินตราต่างประเทศไหลเข้าเป็นจำนวนมาก โดยเพิ่มขึ้นถึง 1.01 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 35.7% จากปีที่แล้ว
เท่านั้นยังไม่พอจากการที่จีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้ ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจจีนโตวันโตคืน และรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นถึง 6% ในปีนี้ นั่นจึงเป็นแรงดึงดูดให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นมหาศาล รวมทั้งการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย
ปัญหาประการแรกสำหรับธนาคารพาณิชย์คือ จะเอาเงินฝากจำนวนมากเหล่านี้ไปลงทุนทำอะไร จึงจะได้ผลตอบแทนคุ้มค่า จึงเกิดกระแสกดดันต่อสินทรัพย์ภายในประเทศ
ประการต่อมาการมีเงินทุนสำรอง เงินตราต่างประเทศมาก จะทำให้จีนต้องขึ้นค่าเงินหยวน ซึ่งรัฐบาลจีนพยายามหลีกเลี่ยง เพราะมันจะทำให้สินค้าจีนแพงขึ้น
แต่ปัญหานี้อาจไม่ใช่แค่ปัญหาของจีน เพราะสหรัฐฯที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากจีน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภค บริโภค อาจเจอกับภาวะเงินเฟ้อ ด้วยสินค้าจีนแพงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ของจีนไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ เพราะการที่มีเงินตราต่างประเทศจำนวนมหาศาล จะนำไปสู่การเก็งกำไร โดยการที่นักลงทุนต่างประเทศจะหาทางแลกเปลี่ยนเงินตราเหล่านั้นกับเงินหยวน ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ซื้อทองคำ หรือหลักทรัพย์ เพื่อมาแลกหยวน ซึ่งจะทำให้ค่าเงินหยวนเพิ่มขึ้นจากดีมานด์
ส่วนทางธนาคารจีน ก็พยายามขยับเอาเงินดอลลาร์ไปอยู่ตลาดต่างประเทศ ทำให้เกิดเงินไหลออกจำนวนมาก ในรายการการลงทุนอื่นๆ ในบัญชีดุลการชำระเงิน ทำให้ยอดเงินไหลออกมากถึง 115 พันล้านดอลลาร์ จำนวนนี้นับรวมเอาเงินที่ธนาคารจีนนำไปฝากธนาคารในต่างประเทศด้วย
แต่ก็ไม่สามารถลดแรงกดดันได้เพียงพอ ดังนั้นอัตราผลตอบแทนดอลลาร์ที่ฝากในจีนจึงตกต่ำเกือบจะสุดๆ คือประมาณแค่ 1 ใน 3 ของราคาทุนในสหรัฐฯ
ประการต่อมาที่สร้างแรงกดดันให้กับจีน นั่นคือการที่สหรัฐฯคอยจับตาดูการตกแต่งบัญชี หรือแทรกแซงอัตราแลกเงินหยวนของรัฐบาลจีน ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯมีสิทธิขึ้นภาษีนำเข้าหรือแซงซั่นสินค้าจีนได้
ข้อจำกัดของการระบายเงินออกของจีนตามระบบ เช่น การไปซื้อหลักทรัพย์ในต่างประเทศนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่เชี่ยวชาญของบุคคลหรือนิติบุคคลจีน ในการบริหารจัดการสินทรัพย์ต่างประเทศ จึงทำให้การซื้อหลักทรัพย์ต่างประเทศไม่มากเท่าที่ควร ที่สำคัญ คือ มาตรการห้ามนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจีนเดินทางไปต่างประเทศ ก็มีส่วนทำให้การระบายเงินไม่เพียงพอที่จะลดแรงกดดันจากจำนวนเงินต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น
จีนจึงพยายามหาช่องทางที่จะระบายเงินเหล่านี้ออกไปต่างประเทศ เพื่อหลักเลี่ยงการขึ้นค่าเงินหยวน แต่แผนการของจีน เช่น BRI เส้นทางสายไหมก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
เพราะจีนคิดดอกเบี้ยแพงกว่าธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และยังระแวดระวังเกี่ยวกับเครดิตของประเทศที่จะไปลงทุน เพราะกลัวหนี้เสีย ทำให้โครงการในยุทธศาสตร์BRI เส้นทางสายไหมชะลอตัวลง เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงในไทย หรือโครงการท่าเรือน้ำลึกในปากีสถาน
นอกจากการเข้มงวดในทางการเงินแล้ว จีนยังมีเงื่อนไขผูกพันมากมายในโครงการ BRI เช่น ต้องซื้อวัสดุอุปกรณ์จากจีน ใช้วิศวกรและคนงานก่อสร้างของจีนทั้งหมด เรียกว่า กวาดเก็บกลับไปไม่เหลือ นอกจากหนี้สิน จึงทำให้หลายประเทศเริ่มลังเลที่จะร่วมโครงการกับจีน
ดังนั้นหากจีนต้องการระบายเงินออกต่างประเทศมากๆ ก็คงต้องลดเงื่อนไขต่างๆลง เพื่อให้ประเทศต่างๆได้ตกลงทำโครงการกับจีนมากขึ้น
อย่างไรก็ตามยิ่งจีนเก็บเงินต่างประเทศไว้นาน โดยไม่หาทางระบายออก ธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเอกชน หรือแม้แต่รัฐบาลก็จะต้องขาดทุนจากการที่ค่าเงินต่างประเทศโดยเฉพาะดอลลาร์ที่มีแต่จะลดค่าลง เมื่อเทียบกับเงินหยวน หรือเมื่อเงินหยวนต้องเพิ่มค่า ซึ่งจะมีความเสียหายจำนวนมากต่อจีน
ในขณะนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจีนจะทำอย่างไร แต่ถ้าดูพฤติกรรมในอดีต ในช่วงปี 2017-18 ไม่มีรายงานชัดเจนว่าจีนได้รับผลตอบแทนเพียงใดกับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ครั้นรัฐบาลเพิ่มค่าเงินหยวน ภาคเอกชนจีนแทนที่จะเพิ่มการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ กลับลดการลงทุนลง
คราวนี้ธนาคารจีนกำลังโยกเงินไปตลาด Offshore ตามที่กล่าวมาแล้วว่าโยกออกไปถึง 115 พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้รวมทั้งเอกชน ด้วยการปล่อยกู้หรือลงทุน แต่รัฐบาลจีนก็เพิ่มมาตรการทุนสำรองของธนาคาร On Shore แต่ละแห่งจาก 5% เป็น 7% ทำให้ต้นทุนการกู้เงินเพิ่มขึ้นภายในประเทศ
สำหรับประเทศไทยการเตรียมตัวเปิดประเทศ เพื่อตอบรับการลงทุน และการท่องเที่ยวของจีนเป็นสิ่งที่ดี และจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเร็วขึ้น
แต่ปัญหาภายในประเทศ ตั้งแต่การไม่สามารถจัดหาและฉีดวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนที่สามารถต้านโควิด-19 ได้ ในอัตราที่สูง จะเป็นตัวฉุดรั้งให้การเปิดประเทศชะลอตัวล่าช้าออกไปอีก เพราะเรายังคุมการแพร่ระบาดไม่อยู่ ชาวต่างชาติก็คงกลัวจะมาท่องเที่ยวหรือลงทุน
ส่วนคนไทยก็กลัวว่าต่างชาติจะนำเชื้อโรคมาเผยแพร่ให้ระบาดอีกเหมือนเมื่อต้นปี 2020 ที่มีการเตือนให้งดรับนักท่องเที่ยวชาวจีน หลังการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ที่อู่ฮั่น แต่รัฐบาลก็ล่าช้าในการตัดสินใจ จนสายไปและเกิดการระบาดรอบที่ 1
คราวนี้เรากำลังเจอกับการขยายตัวและแพร่ระบาดเชื้อโรคกลายพันธุ์จากอินเดีย สายพันธุ์เดลตาที่ติดง่ายขยายเร็วในรอบที่3 และทำท่าว่าจะเกิดการปะทุเป็นรอบที่ 4 หากไม่พร้อมที่จะควบคุมการระบาด แทนที่จะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอาจจะทรุดตัวลงได้
ปัญหาอีกด้าน คือ ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง เพราะรัฐบาลทำให้ความน่าเชื่อถือของตนเองลดลง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำหรือคำพูด ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ที่ทำให้ประชาชนสับสน
แม้เสียงในสภาจะดูหนาแน่น โดยเฉพาะการสนับสนุนจากวุฒิสมาชิก แต่ถ้ากระแสการต่อต้านของประชาชนเนื่องจากความไม่พอใจท่วมท้น เกิดการลุกฮือขึ้น การเปิดประเทศก็คงไม่อาจทำให้เราฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อต้อนรับเงินลงทุนและการใช้จ่ายจากจีน ก็คงไม่สมประโยชน์ เพราะจีนคงเคลื่อนตัวไปประเทศอื่นๆ ที่พร้อมกว่าอย่างเวียดนาม หรืออินโดนีเซีย