พินิจรอมฎอน
พินิจรอมฎอน
ดร.เชคชะรีฟ ฮาดีย์
ศูนย์อิสลามศึกษา วทส.
รอมฎอน คือเดือนที่ 9 ของปฏิทินอิสลาม หรือที่เป็นที่รู้จักกันว่ามุสลิมจะถือศิลอดทั้งเดือนและร่วมกันทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่นแบ่งปันเกื้อกูลต่อกันและกัน อ่านกุรอาน อ่านบทดุอา ฯลฯ แต่มีคำถามมากมายเกี่ยวกับการถือศิลอดของมุสลิมว่าอะไรคือแรงจูงใจให้ถือปฎิบัติกันเช่นนี้? ความพิเศษการถือศิลอดนั่นหลักวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้หรือไม่? และการถือศิลอดมีมิติภาคสังคมบ้างใหม?หรือคำถามอื่นๆที่ถูกตั้งขึ้นสำหรับผู้ไม่ใช่มุสลิมว่า ทำไมต้องอดอาหารด้วย?ไม่ใช่เป็นการทรมานตัวเองหรือ? โดยเฉพาะในภาวะระบาดโควิด -๑๙ ไม่ต้องถือศิดอดได้หรือไม่?อะไรทำนองนั้นของคำถามที่น่าสนใจ
เรามาดูความสำคัญของเดือนรอมฎอนสักนิด เราจะพบว่าการถือศิลอดในเดือนรอมฎอนนั้นเนื่องจากพระเจ้าทรงบัญชามาและชาวมุสลิมจะต้องปฏิบัติเพราะเป็นศาสนบัญญัติที่เชื่อว่าประโยชน์ของบทบัญญัตินั้นจะตกอยู่ในตัวของมนุษย์เอง การถือศิลอดด้วยการงดอาหารทุกชนิด รวมถึงงดทุกๆการดื่มในช่วงเวลาพระอาทิตย์ขึ้น-พระอาทิตย์ตกดิน รวมทั้งการหยุดทำความชั่ว และออกห่างจากสิ่งหรือคนที่จะชักนำเราไปสู่การฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้าไม่ว่าด้วยอวัยวะของเราทุกส่วน และที่สำคัญคือการกลับสู่การมีสำนึกทำดีละเว้นการละเมิดผู้อื่นในทุกๆด้าน หรือพูดง่ายๆคือการเข้าสู่หมวดของการขัดเกลาจิตใจกันครับ นั่นคือให้เราหันมองมิติทางด้านจิตวิญญาณมากขึ้น เน้นหัวใจให้แสวงหาธรรมะและจดจ่ออยู่กับการแสดงการเคารพภักดี นมัสการต่อพระผู้เป็นเจ้าหรือเรียกได้ว่า รอมฏอนเป็นเดือนแห่งการอบรมจิตใจตัวเองส่วนในทางสังคมการช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างกัน การเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ในยามลำบาก ในภาคส่วนตัวก็ไม่ทำสิ่งไร้สาระหรือจะทำอะไรต้องระมัดระวังทุกการกระทำและคำพูด ไม่ชิงชังต่อกัน ไม่พูดให้ร้ายผู้อื่น ให้อภัยได้ก็ให้อภัยต่อกัน
เดือนรอมฎอนโดยหลักคิดหนึ่งถือว่าเป็นเดือนที่ผูกพันอยู่กับ”ความรัก” แต่เป็นความรักในบริบทของการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า เป็นการแสดงออกถึงภาวะทางจิตวิญญาณที่ผูกติดและร้อยเรียงเป็นลูกโซ่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างผู้รักกับคนรัก โดยมุ่งเน้นความงดงามทางจิตวิญญาณที่ถ่ายทอดออกมา เพื่อจะสื่อถึงความรักที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร้เงื่อนไขและไร้ขอบเขต
เดือนรอมฎอนเป็นเดือนการสร้างความผูกพันระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ผ่านบทภาวนา บทดุอาที่ถูกเน้นให้มีการรำลึกพระเจ้าอยู่เนืองนิตย์ รอมฎอนยังเป็นเดือนความพูกพันกับพระคัมภีร์อัลกุรอานจึงเน้นให้อ่านพระคัมภีร์อัลกุรอานหรือไปไกลกว่านั้นคือการพิเคราะห์ความหมายของคัมภีร์อัลกุรอาน และถ้าเราย้อนดูพระคัมภีร์อัลกุรอานหรือพระวจนะของศาสดาอิสลามตลอดจนจากอัครสาวกของพระศาสดาเอง จากคนครอบครัวของศาสดา(อะลุลบัยต์)เกี่ยวกับบทดุอาอ์(บทภาวนา) จะพบว่าโองการอัลกุรอานหรือบทดุอาอ์อันทรงพลังนั้นได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ด้วยหลักของความรักและยังกล่าวถึงพลานุภาพแห่งรักระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าได้อย่างล้ำลึกทีเดียว
ถ้าเราเพ่งพินิจต่อบทสวดบทดุอาเหล่านั้น จะพบว่าบางบท จะใช้คำว่า”ฮุบบ์”(Love) แปลว่าความรักนั้น ซึ่งสะท้อนถึงภาวะทางจิตอันพิสุทธิ์ของมนุษย์ ว่าการแสดงออกต่อพระเจ้าด้วย”ความรัก”นั่นคือการเข้าถึงวิญญาณแห่งรอมฎอน มันเป็นความรักที่ไม่ได้ถูกต่อรองใดๆ แต่เป็นความรักระหว่างผู้สร้างกับผู้ถูกสร้าง เป็นความรักระหว่างบ่าวกับพระเจ้า ดั่ง เมาลานา ญะลาลุดดีน รูมีได้กล่าวถึงเรื่องความรักไว้น่าสนใจว่า
“รัก” คือเปลวไฟอันลุกโชน มันเกิดขึ้นระหว่างผู้รักและคนรักอยู่ตลอดเวลา
และแสงแห่งรักนั้น มิมีวันดับลงไป จากคนรักได้เลย”
รูมีกล่าวอีกว่า
“ เมื่อใดที่เราจัดให้รักนั้น ปราศจากความคาดหวังใดๆ ไร้การคำนวณ มิได้มีการต่อรอง แน่แท้เราทั้งผองล้วนอยู่ในสวรรค์อย่างแท้จริง”
เราเชื่อว่ารอมฎอนคือเดือนที่สร้างตัวตนของเราให้เข้าถึงความเป็นมนุษย์อย่างน่าพิศวงและด้วยกระบวนการของการขัดเกลาจิตใจนั้น ถือว่ามนุษย์สามารถก้าวพัฒนาไปสู่จุดสูงสุดในการเป็นอารยบุคคล เป็นมนุษย์ที่ประเสริฐ ในฐานะ”อินซาน อัล กามิล”(Perfect Man) คือภาวะมนุษย์ที่สมบูรณ์ หรือถ้าจะกล่าวในนิยามของพุทธศาสนาคือ ความเป็นพระโพธิสัตว์นั่นเอง เป็นภาวะของมนุษย์ที่บรรลุธรรมที่สามารถเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างสองโลก คือโลกแห่งวัตถุและโลกแห่งจิตวิญญาณได้อย่างสมดุล
ความน่าสนใจของเดือนรอมฎอน คือเป็นห้วงเวลาที่ดีที่สุดในการปฎิรูปตนเองโดยได้เข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ในการแสวงหาตัวตนมากกว่ามิติอื่นๆ โดยมุ่งเน้นภาวะการไปถึงมนุษย์สมบูรณ์ที่สามารถสำแดงออกถึงจิตวิญญาณกับพระผู้เป็นเจ้า เป็นภาวะของความสมบูรณ์ด้านจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นอยู่ในฐานะบุคคลที่บรรลุถึงฐานะแห่งความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์หรือเรียกว่า”อินซาน อัลกามิล”
คุณค่าของการปฎิบัติธรรมและการจาริกทางจิตวิญญาณในเดือนรอมฎอนได้ถูกอ้างถึงในฐานะที่เป็นเหตุผลของการภักดีเชื่อฟังอีกทั้งเป็นบรรไดของการเข้าถึงความเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์โดยถือว่าการสำแดงออกด้วยการปฎิบัติทางจริยธรรมและการเก็บเกี่ยวผลจากจริยะนั้นเป็นการเข้าใจตัวตนมนุษย์ในจุดเริ่มต้น ดังนั้นเดือนรอมฎอนยังได้มุ่งเน้นจุดมุ่งหมายในชีวิตของมนุษย์เป็นสาระธรรม และทว่าการปฏิบัติธรรมนั้นเริ่มด้วยความรักและความปรารถนา มิได้มาจากการบีบบังคับใดๆ ดั่งที่ เมาลานา รูมีได้กล่าวถึงพลานุภาพแห่งรักต่อการเข้าถึงพระเจ้าไว้น่าสนใจว่า
“ ถ้าท้องฟ้ามิได้มีความรัก แผ่นอกของมันก็ไม่น่าอภิรมย์
ถ้าตะวันมิได้มีความรัก ใบหน้าของมันก็ไม่แจ่มกระจ่าง
ถ้าผืนดินและภูเขามิได้มีความรัก พืชพันธุ์ก็มิอาจงอกออกมาจากหัวใจของมัน
ถ้าทะเลมิได้ตระหนักถึงความรัก มันคงจะเงียบงันอยู่ที่ใดสักแห่ง”
อะบูอะลี อิบนิ สิน่า(นักปรัชญามุสลิม) กล่าวว่า
”ผู้ประจักษ์แจ้งแห่งพระเจ้า(อาริฟ) พวกเขาจะแสวงหาพระเจ้าเท่านั้น พวกเขาไม่สนใจเกี่ยวข้องกับสิ่งใดๆ เพราะในสายตาพวกเขาไม่มีสิ่งใดสำคัญมากไปกว่าและไม่มีสิ่งใดๆมีคุณค่ามากไปกว่า การรู้แจ้งทางจิตวิญญาณ พวกเขาจะภักดีต่อพระอัลลอฮ์ด้วยความรัก เพราะว่าการภักดีเป็นสิทธิที่จะต้องปฏิบัติเพราะว่ามันเป็นการเหมาะสมสำหรับพระองค์เท่านั้น และเป็นการแสดงออกที่งดงามในความสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อพระเจ้า การปฎิบัติธรรมและการนมัสการทางธรรมของบรรดาผู้ประจักษ์แจ้งแห่งพระเจ้า(อาริฟ)จึงอิสระจากพื้นฐานใดๆของความกลัวหรือความหวังที่จะได้รับรางวัล”
พื้นฐานแรกสำคัญของมนุษย์เราควรคิดและไตร่ตรองของการปฎิรูปตัวเองคือการทำความรู้จักตัวเรา มองตัวเองให้มากกว่าจะมองคนอื่น ดั่งที่กวีชื่อดั่งฮาฟีซได้กล่าวถึงการรู้จักตัวเองไว้อย่างน่าสนใจยิ่งนักว่า
“ ดวงตาที่พร่ามัว ไม่อาจเห็นใบหน้าของผู้เป็นที่รักนั้นได้ แต่จะจับจ้องสายตาของเธอไปยังคนรักนั้น เมื่อกระจก(แห่งดวงใจ)ของเธอใสสะอาด”
“ฉันล้างตาของฉันใสสะอาดด้วยน้ำตาของฉันเอง เหมือนดั่งผู้แลเห็นอย่างชัดแจ้งกล่าวว่า จงชำระตัวเองของท่านให้สะอาดเสียก่อน แหละแล้วจะมองเห็นไปยังความสะอาดนั้น”(ดีวาน ฮาฟีซ)
ดังนั้นเดือนรอมฎอนคือห้วงเวลาสำคัญของการตรวจสอบตัวเองและแสวงหาการรู้จักองค์สัมบูรณ์เจ้าพระผู้เป็นเจ้าด้วยการหลักของความรักและแสวงหาความเอื้ออาทรสูงสุดจากพระเจ้าเพียงผู้เดียว เป็นการแสดงออกที่งดงามตามวิถีแห่งรัก โดยปราศจากการคำนวณหรือการต่อรองใดๆ แต่เป็นการให้เข้าถึงพระเจ้าโดยแท้ที่ปรากฏขึ้นทางในและทางจิตวิญญาณของเรา รอมฎอนคือวิถีแห่งการสรรสร้างสังคมที่จะให้หลักความอดทนอดกลั้นในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมและศาสนา อีกทั้งรอมฎอนได้หล่อหลอมให้ผู้ศรัทธารู้จักกับคำว่า”ความรักและความเอื้ออาทร”ต่อกันอย่างน่าพิศวงทีเดียว