jos55 instaslot88 Pusat Togel Online ความเจริญและความเสื่อมของเศรษฐกิจจีน:อยากอดีตถึงปัจจุบัน 13 - INEWHORIZON

INEWHORIZON

ขอบฟ้าใหม่

ความเจริญและความเสื่อมของเศรษฐกิจจีน:อยากอดีตถึงปัจจุบัน 13

ความเจริญและความเสื่อมของเศรษฐกิจจีน:จากอดีตถึงปัจจุบัน 13

รศ.สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย

จ. การเปลี่ยนแปลงนโยบายและโครงสร้างเศรษฐกิจ
หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา เศรษฐกิจจีนมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก นอกจากมีความเจริญเติบโตในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายทศวรรษแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจในหลายลักษณะคือ
ภาคเศรษฐกิจต่างๆทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรมและบริการมีการเปลี่ยนแปลงไปมากทั้งทางด้านความสำคัญในผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์
เศรษฐกิจภาคต่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปมาก การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมาก
ความสำคัญของเศรษฐกิจภาคเอกชนมีมากขึ้น แม้ภาครัฐบาลและภาครัฐวิสาหกิจก็มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
การลงทุนและการบริโภคขยายตัวมากและมีรูปแบเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
อาจกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายการบริหารเศรษฐกิจจากการพึ่งพาการวางแผนมาเป็นการใช้กลไกตลาด เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจจีนอย่างใหญ่หลวง เศรษฐกิจจีนมีการพัฒนาดีขึ้นจากเดิมมาก
แม้นโยบายการปฏิรูปและการเปิดประเทศทางเศรษฐกิจประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม แต่การเปลี่ยนแปลงนโยบายการบริหารเศรษฐกิจมาเป็นระบบตลาดตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา ต้องประสบกับปัญหาและอุปสรรคนานาประการ อุปสรรคที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงแนวคิดหลักในการปกครองประเทศที่กล่าวมาบ้างแล้วก่อนหน้านี้ ตลอดช่วงเวลาสามทศวรรษหลังการเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐในปีค.ศ 1949 บุคคลทุกฝ่ายทั้งต่างได้รับการปลูกฝังความคิดว่า ทุนนิยมเป็นระบบที่มีความชั่วร้ายและสังคมนิยมเป็นระบบทีดี การเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจจากการควบคุมโดยภาครัฐมาเป็นการใช้กลไกตลาดเป็นสิ่งควรหลีกเลี่ยง และก ารเปิดเสรีทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ นโยบายต่างๆ เช่นการอนุญาตให้ประชาชนมีสิทธิในการประกอบธุรกิจ การยกเลิกระบบคอมมูนประชาชน การทำการค้าระหว่างประเทศโดยอณุญาตให้นำเข้าสินค้าและการเปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศจีน ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ควรนำมาปฏิบัติในประเทศที่ยึดถือแนวทางของลัทธิสังคมนิยมอย่างจีน
แม้ผู้บริหารระดับสูงบางคนรับรู้ในความล้าหลังของจีนเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายที่เน้นการต่อสู้ทางชนชั้นโดยละเลยการพัฒนาเศรษฐกิจที่เห็นชอบกับการเปลี่ยนแปลงในนโยบายเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังมีผู้นำประเทศ นักวิชาการ สื่อมวลชน และประชาชนบางส่วนที่พยายามหาทางต่อต้านนโยบายการปฏิรูปอย่างแข็งขันด้วยการเผยแพร่ความคิดต่อต้านการปฏิรูปและการขัดขวางนโยบายและมาตรการต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไปจากแนวทางเดิม
นอกจากปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนแนวคิดแล้ว การพัฒนาเศรษฐกิจจีนในช่วงทศวรรษแรกยังต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคนเงินทุน ขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ และมีความล้าหลังทางด้านเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการ การขาดแคลนเงินทุน เงินตราต่างประเทศและเทคโนโลยีนี้ สามารถแก้ไขได้โดยการส่งเสริมการส่งออก การนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรจากต่างประเทศ และการชักชวนให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุน แต่การจะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย อัตราภาษีศุลกากร และกฎระเบียบ ซึ่งต้องประสบกับการขัดขวางและไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้โดยรวดเร็ว
แต่ในที่สุด รัฐบาลจีนก็สามารถขจัดปัญหาและอุปสรรค และประสบผลสำเร็จในการปฏิรูปทางเศรษฐกิจได้อย่างงดงาม ความสำเร็จนี้เกิดจากความมุ่งมั่นของผู้นำระดับสูงของประเทศ และการสนับสนุนของประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะชาวชนบทยากจนที่ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายการปฏิรูปทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน
ผู้นำนโยบายการปฏิรูปสำคัญคือเติ้งเสี่ยวผิง(邓小平)ซึ่งเป็นผู้นำประเทศระดับสูงที่ผ่านการต่อสู้กับพรรคก๊กมินตั๋งมา และมีเพื่อนเก่าที่ยังมีตำแหน่งสูงในรัฐบาลอยู่หลายคน การสามารถรับรู้ข่าวสารจากต่างประเทศมากขึ้น และได้เห็นความเจริญของประเทศอื่นๆจากการชมโทรทัศน์การออกไปเยือนต่างประเทศของผู้นำประเทศและคณะก็ทำให้ผู้บริหารประเทศเห็นความเจริญของประเทศอื่นและความล้าหลังของจีน และรับรู้ถึงความสำคัญของการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ในรัฐบาลจึงมีฝ่ายสนับสนุนนโยบายการปฏิรูปและการเปิดประเทศทางเศรษฐกิจอยู่ไม่น้อย
นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในแขนงวิชาต่างๆที่ถูกลงโทษ ถูกคุมขัง และถูกทรมานในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม ต่างได้รับการปลดปล่อย และถูกเชิญมาร่วมงานการพัฒนาประเทศ การรื้อฟื้นระบบการสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยและการรับราชการโดยใช้ความรู้ความสามารถเป็นเกณฑ์การคัดเลือก ตลอดจนการส่งคนไปศึกษาวิชาความรู้ในต่างประเทศ ก็มีส่วนในการสร้างกำลังคนที่ส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจจีนในช่วงกว่า 40 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ทางความคิดในการพัฒนาประเทศระหว่างฝ่ายที่เน้นแนวคิดการต่อสู้ทางชนชั้นของเหมาเจ๋อตง(หรือที่เรียกกันว่า”ฝ่ายซ้าย”)กับฝ่ายที่มุ่งมั่นที่จะปฏิรูปทางเศรษฐกิจยังไม่จางหายไปและยืดเยื้อออกไปหลายปีหลังการเปลี่ยนแปลงนโยบาย แม้การปฏิรูปทางเศรษฐกิจทำให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้าขึ้น และประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก แต่ก็เกิดปัญหาสังคมและเศรษฐกิจบางประการ เช่น ความเหลื่อมล้ำในรายได้ระหว่างประชาชน ความผันผวนในราคาสินค้า และปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น เหตุการณ์ความไม่สงบ 4 ในค.ศ.1989 ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่พอใจของนักศึกษาและประชาชนที่มีต่อภาวะเงินเฟ้อและการทุจริตในวงราชการ ในระหว่างปีค.ศ.1989 ถึง 1992 นักการเมืองและนักวิชาการฝ่ายซ้ายถือโอกาสเผยแพร่ความคิดในแนวสังคมนิยมและโจมตีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจว่า มีผลทำให้เกิดความผันผวนในราคาสินค้า ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ การทุจริต และการปล่อยให้ชาวต่างชาติมากอบโกยประโยชน์ได้ประเทศจีน
ทางด้านสถานการณ์ระหว่างประเทศ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศสังคมนิยม สหภาพโซเวียตได้แตกสลายลงและกลายเป็นประเทศเอกราช 10 กว่าประเทศ ประเทศสังคมนิยมในยุโรปตะวันออก เช่น โปแลนด์ ฮังการี และเช็กโกสโลวะเกีย ได้นำแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมแบบตะวันตกมาใช้ในประเทศของตน แต่ในช่วงแรกก็ต้องประสบกับปัญหาภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจตกต่ำ การเปลี่ยนแปลงในยุโรปตะวันออกได้สร้างความกังวลต่อผู้บริหารประเทศและประชาชนจีน ข้าราชการและนักวิชาการฝ่ายซ้ายบางคนเห็นว่า หากประเทศจีนยังคงใช้นโยบายระบบตลาดอยู่ต่อไป เศรษฐกิจและการเมืองจีนอาจต้องประสบกับความล้มเหลวคล้ายกับประเทศสังคมนิยมในทวีปยุโรป บ้างก็กล่าวว่า เมื่อสหภาพโซเวียตได้ล่มสลายไปแล้ว จีนก็ต้องขึ้นมาเป็นประเทศผู้นำของค่ายสังคมนิยม แต่การจะทำเช่นนั้นได้นั้น จีนต้องกลับมายึดถือแนวทางระบบสังคมนิยมอย่างเคร่งครัดเหมือนเดิม
ในตอนต้นของศตวรรษที่ 20 ความขัดแย้งทางความคิดในจีนได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น จนผู้บริหารประเทศระดับสูงบางคนเกิดความลังเลใจว่า ควรจะดำเนินนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจต่อไปอีกหรือไม่ เรื่องที่มีการถูกเถียงกันมากเรื่องหนึ่งก็คือ ประเทศจีนจะมีการใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมหรือแบบทุนนิยมกันแน่(แซ่”ทุน”หรือแซ่”สัง”? 姓“资“还是姓“社“?)ท่ามกลางการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนนี้ เติ้งเสี่ยวผิง(邓小平)ผู้นำที่ริเริ่มการใช้นโยบายระบบตลาดซึ่งได้ลาออกจากตำแหน่งทางราชการแล้ว ได้เดินทางไปที่มหานครเซี่ยงไฮ้(上海) ในต้นปีค.ศ.1991 และเยี่ยมชมเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น(深圳)ในต้นปีค.ศ.1992 ตลอดระยะเวลาของการเดินทาง เติ้งได้เข้าเยี่ยมเยียนหน่วยงานและสถานประกอบการต่างๆ และได้กล่าวคำปราศรัยเ พูดถึงความจำเป็นและผลสำเร็จในการปฏิรูปแบบระบบตลาด และความเสียหายที่มีต่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน หากกลับไปดำเนินโยบายเศรษฐกิจแบบเดิม
คำปราศรัยของเติ้งได้รับการเผยแพร่ในสื่อมวลชน และทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ผลการถกเถียงนี้ดำเนินกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาแรมปี ในที่สุด ความคิดการปฏิรูปและการเปิดประเทศทางเศรษฐกิจก็ได้รับการยอมรับกันมากขึ้นในหมู่ผู้บริหารประเทศ นักวิชาการและประชาชน คำพูดของเติ้งที่กล่าวว่าเศรษฐกิจระบบสังคมนิยมกับกลไกตลาดไม่มีความขัดแย้งกัน ระบบทุนนิยมก็มีการวางแผน และประเทศสังคมนิยมก็มีตลาด (资本主义国家也有计划 社会主义国家也有市场)การวางแผนและการอาศัยกลไกตลาดเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการบริหารที่นำมาใช้ได้ทั้งในประเทศทุนนิยมและประเทศสังคมนิยม ดังนั้น การถกเถียงกันได้เรื่องแซ่ทุนหรือแซ่สังจึงไม่มีความสำคัญใดๆ หากประเทศจีนต้องการให้มีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ การปฏิรูปและการเปิดประเทศควรมีการดำเนินต่อไป
แนวคิดการปฏิรูปนี้มีการประกาศอย่างเป็นทางการในการประชุมครั้งที่ 14 ของพรรคคอมมิวนิสต์ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1992 หลังจากนั้น แม้มีเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยกับนโยบายการปฏิรูปและการเปิดประเทศทางเศรษฐกิจอยู่บ้าง เช่น ในตอนที่จีนสมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์กรการค้าโลก (世界贸易组织 WTO) แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายมากนัก เศรษฐกิจจีนก็สามารถพัฒนาและขยายตัวในระดับสูง และมีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
การเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจในภาคการเกษตร อุตสาหกรรม บริการ จะมีการกล่าวถึงต่อไป ในที่นี้ จะสรุปเพียงขอบเขตของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในภาคเศรษฐกิจเหล่านี้โดยสังเขป
ก่อนการปฏิรูป ภาคการเกษตรเป็นภาคเศรษฐกิจใหญ่ มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์ประชาชาติ แต่กว่าร้อยละ 80 ของแรงงานในประเทศอยู่ในภาคการเกษตร หลังการปฏิรูป แม้การเกษตรมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมและบริการมีอัตราาการเจริญเติบโตที่สูงกว่าภาคการเกษตรมาก จึงมีสัดส่วนที่สูงขึ้นในผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ ในปัจจุบัน การเกษตรมีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมตำ่กว่าร้อยละ 10 ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนร้อยละ 40 และภาคบริการมีกว่าร้อยละ 50 ในผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ แรงงานในภาคอุตสาหกรรมมีประมาณร้อยละ 30 และภาคบริการมีสัดส่วนร้อยละ 45 ในขณะที่แรงงานในการเกษตรมีสัดส่วนลดลงเหลือเพียงประมาณหนึ่งในสี่ของการจ้างงานทั้งหมด และในเขตชนบทก็มีกิจกรรมอุตสาหกรรมและบริการอยู่เป็นจำนวนมาก จากการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีผลทำให้ภาคอุตสาหกรรมของจีนมีมูลค่าที่สูงที่สุดในโลก
นอกจากการเปลี่ยนแปลงในความสำคัญระหว่างภาคเศรษฐกิจในผลิตภัณฑ์มวลรวมแล้ว ภายในแต่ละภาคเศรษฐกิจ ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของผลิตภัณฑ์ รูปแบบการค้าและการลงทุนในลักษณะที่มีความหลากหลายมากขึ้น มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเพิ่มขึ้น สินค้าบริการที่มีอยู่เดิมก็มีรูปแบบและคุณภาพที่ดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นเนื่องจากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการผลิตและบริโภคโภค เมื่อเศรษฐกิจขยายตัว ประชาชนมีรายได้ระดับสูงขึ้น ความต้องการในสินค้าและบริการก็เปลี่ยนแปลงไปนอกจากนั้น การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในภาคเศรษฐกิจต่างๆ ก็มีส่วนเสริมสร้างความหลากหลายของสินค้าและบริการด้วย

Facebook Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *