อุซามะฮ์ บินลาดิน : จากวีรบุรุษสู่ผู้ก่อการร้าย ตอนที่1
อุซามะฮ์ บินลาดิน : จากวีรบุรุษสู่ผู้ก่อการร้าย ตอนที่1
จรัญ มะลูลีม
Binladin Group กลายเป็นชื่อที่รู้จักกันทั่วไปในโลกอาหรับและโลกมุสลิมในฐานะบริษัทธุรกิจยักษ์ใหญ่ซึ่งมีตลาดสำคัญอยู่ในประเทศอาหรับ และเป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วไปว่าบริษัทดังกล่าวยังรับผิดชอบการดูแลสาธารณูปโภคในมหามัสญิดสองแห่งในประเทศซาอุดีอาระเบียที่มีความสำคัญของศาสนาอิสลามอย่างยิ่ง นั่นคือมัสญิดหะรอมและมัสญิดมะฮ์ดีนะฮ์
พรมที่ปูในมัสญิด ถังบรรจุน้ำซัมซัมซึ่งเป็นบ่อน้ำสำคัญในประวัติศาสตร์อิสลาม ล้วนเป็นการบริการที่มาจากบริษัทของบิน ลาดินหรือ Binladin Group ทั้งสิ้น บริษัทนี้มีคนงานถึงหมื่นคน มีสาขาทั่วทั้งคาบสมุทรอาหรับและทั่วทุกภูมิภาคในโลกนี้ ที่นับเป็นเกียรติประวัติของบริษัทก็คือ การรับเหมาก่อสร้างพระราชวังของกษัตริย์ซาอุดีอาระเบียในเมืองญิดดะฮ์ (เจดดา)
ผลงานของบริษัทอันประณีตบรรจง สร้างความพอพระทัยให้กษัตริย์ฟัยซ็อล (Fayzal) อย่างยิ่งพระองค์ถึงกับแต่งตั้งมุฮัมมัด บินลาดิน ซึ่งเป็นบิดาของอุสามะฮ์ บินลาดิน และเป็นเจ้าของบริษัทบินลาดิน เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพระมหากษัตริย์
ด้วยเหตุนี้กิจการของบริษัทจึงส่งผลให้แก่ความร่ำรวยของวงศ์ตระกูลอย่างมากมาย ตัวบินลาดินเองเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากบิดาให้ดูแลกิจการของบริษัทด้วยวงเงินถึง 3 ล้านปอนด์สเตอลิงบิน ลาดินเป็นบุตรคนที่ 17 ของวงศ์ตระกูล เขาเกิดในปี 1957 ที่นครริยาฏ (ริยาด) ซาอุดีอาระเบีย โดย
พฤกษาแห่งวงศ์ตระกูลของเขาสืบเชื้อสายมาจากเยเมนใต้ เป็นบุตรของภรรยาคนที่ 11 ที่เป็นชาวปาเลสไตน์ (บางรายงานบอกว่าเป็นชาวซีเรีย) อาจจะเนื่องจากการมีมารดาเป็นชาวปาเลสไตน์นี่เองที่ทำให้บินลาดินมีความผูกพันกับชาวปาเลสไตน์ในเขตยึดครองอย่างมาก
เขาจบการศึกษาด้านการบริหารจากมหาวิทยาลัยคิงอับดุลอาซิส ณ เมืองญิดดะฮ์ ในขณะที่บางรายงานกล่าวว่าเขาจบที่มหาวิทยาลัยริยาฏ ความร่ำรวยของครอบครัวและของตนเองไม่ได้ทำให้บิน ลาดินตกอยู่ภายใต้อบายมุข และลุ่มหลงกับสตรีเพศหรือแหล่งบันเทิงแต่อย่างใด
ในขณะที่แหล่งข่าวจากตะวันตกมักจะบอกว่าเขามีชีวิตในวัยหนุ่มอย่างเสเพลในกรุงเบรุตเมืองหลวงของเลบานอน แต่สำหรับชาวอาหรับแล้ว บินลาดินเป็นบุคคลที่มีจิตใจสาธารณะอย่างยิ่ง เป็นผู้ที่มีใจกุศล แต่งกายแบบอาหรับและเดินตามรอยเท้าของท่านศาสดามุฮัมมัดแห่งอิสลามอย่างเคร่งครัด
เขาได้นำกองทุนที่บิดาสะสมเอาไว้มาสนับสนุนการปกป้องประเทศมุสลิมถึง 12 ล้านดอลลาร์ริยัล (1 ริยัลในเวลานั้นมีค่าราว 7-8 บาท) โดยครอบครัวของเขาเองให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
ท่ามกลางความร่ำรวยและชีวิตที่สุขสบาย บิน ลาดินกลับมีลักษณะแตกต่างไปจากเด็กหนุ่มในครอบครัวของชาวอาหรับร่ำรวยที่ชอบการใช้ชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อในดินแดนต่างๆ ทั้งในโลกอาหรับ ยุโรปและสหรัฐ แต่บิน ลาดินกลับมีชีวิตแตกต่างไปจากคนหนุ่มเหล่านั้นอย่างสิ้นเชิง
เขากระโจนเข้าสู่การเคลื่อนไหวเพื่ออิสลามมาตั้งแต่ปี 1974 โดยเข้าร่วมสงครามปกป้องผืนแผ่นดิน (ญิฮาด) ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเยเมนใต้เป็นเบื้องต้น และเมื่อคุ้นชินกับสงครามดังกล่าว เขาก็ได้เข้าร่วมทำญิฮาดกับนักรบศาสนา (มุญาฮิดีน) ในอัฟกานิสถานเพื่อร่วมขับไล่โซเวียต โดยเริ่มต้นทำสงครามจรยุทธ์ในปี 1979แรงบันดาลใจที่มีส่วนผลักดันชีวิตของบินลาดินนั้นมาจากครูผู้ล่วงลับไปแล้วชาวปาเลสไตน์ของเขาคืออับดุลลอฮ์ อัซซัม ผู้ฝึกปรือและสร้างจิตสำนึกในการต่อสู้ให้แก่เขาด้วยการจัดตั้งสำนักงานมุญาฮิดีนขึ้นในเมืองเปชาวาร์ของปากีสถาน และสร้างค่ายฝึกคนหนุ่มขึ้นที่เมืองชิดดา โดยมีจุดมุ่งหมายในการฝึกการยุทธ์ให้แก่ชาวอาหรับ ตัวเขาเองได้ทำการสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับเหล่านักรบทั้งหลาย และให้การสนับสนุนเงินทุนในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ในการทำสงคราม
กล่าวกันว่าเขาได้ใช้จ่ายเงินให้กับมุญาฮิดีนถึงเดือนละไม่น้อยกว่า 1 ล้านรูปีปากีสถาน รวมทั้งมอบเงินให้กับผู้คนของอัฟกานิสถานและโลกอาหรับจำนวนมาก โดยคนเหล่านี้รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณและเรียกเขาว่าอะตออุลลอฮ์ หรือของขวัญจากอัลลอฮ์ คนในอัฟกานิสถานเองจำนวนไม่น้อย รวมทั้งชาวมุสลิมในประเทศไทยทั้งภาคกลางและภาคใต้ของไทยที่ตั้งชื่อบุตรหลานของตนเองว่าอุสามะฮ์ สำหรับชาวมุสลิมในประเทศไทย นอกจากชื่ออุสามะฮ์แล้ว พวกเขายังนิยมตั้งชื่อบุตรหลานว่าก็อซซาฟีย์ (กัดดาฟี) และซัดดัมอีกด้วย
ที่น่าสนใจก็คือตัวของเขาเองได้เรียนรู้การต่อสู้แบบจรยทุธ์และการหลบหลีกศัตรูมาจากหน่วยข่าวกรองกลาง (CIA) ของสหรัฐ ช่วงต่อมาหน่วยสืบราชการลับของสหรัฐได้จัดตั้งหน่วยฝึกฝนทางภาคพื้นดินขึ้นเพื่อติดอาวุธคนหนุ่มให้ต่อสู้ในสงครามจรยุทธ์กับโซเวียต
บินลาดินซึ่งมาจากครอบครัวแห่งราชอาณาจักรสะอูด กลายเป็นนักเรียนระดับ VIP ของ CIA เขาทำสงครามต่อต้านโซเวียตจากจุดยืนทางศาสนา ต่อต้านฝ่ายซ้ายอย่างต่อเนื่อง เมื่อฝ่ายโซเวียตตัดสินใจส่งทหาร“นอกศาสนา” เข้าสู่อัฟกานิสถาน บินลาดินก็รู้ทันทีว่าเสียงเรียกให้เข้ามาในมาตภูมินี้มาถึงเขาแล้ว
เขาได้ย้ายเครือข่ายธุรกิจจากประเทศซาอุดีอาระเบียเข้าสู่อัฟกานิสถานพร้อมกับคนงานที่จงรักภักดีต่อเขา พร้อมกับเรียนรู้ศิลปะของการสร้างรัฐ เขาเริ่มต้นซ่อมแซมเส้นทางทหารและตั้งฐานทัพเพื่อต่อต้านโซเวียต
ขึ้นมา โดยร่วมทีมกับอับดุลลอฮ์ อัซซัม (Abdullah Azam) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลองค์การของชาวปาเลสไตน์ที่เรียกว่าขบวนการภราดรภาพสุมลิม (Muslim Brotherhood) ด้วยการเกณฑ์คนหนุ่มมาจากทั่วโลกมุสลิมนักหนังสือพิมพ์จากรัสเซีย Yerlan Dzhu Rabuyev ได้รำลึกถึงเหตุการณ์ตอนนั้นว่า “อาสาสมัครนับพันคน ส่วนใหญ่จากซาอุดีอาระเบีย แอลจีเรีย ปากีสถาน และอียิปต์ ต่างมารวมกันที่ค่ายฝึกใหม่” แห่งนี้ เมื่อโซเวียตถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานในปี 1989 ทำให้บินลาดินมีกองกำลังอยู่ในขณะนั้นถึง 10,000 คน โดยไม่มีงานเร่งรีบใดๆ ให้กระทำ ด้วยเหตุนี้ ส่วนหนึ่งของคนเหล่านี้จึงกลับไปบ้านของตน บินลาดินรู้ว่าหากเขาไม่จัดตั้งกองกำลังใดๆ ขึ้นมาการทำงานก็จะหมดความต่อเนื่องลงไป ด้วยเหตุนี้ เขาจึงทุ่มความสนใจไปที่การจัดตั้งองค์การอัลกออิดะฮ์ (Al-Qaida) อันหมายถึงฐานหรือBase ในภาษาอังกฤษ ในปี 1988 หนึ่งปีก่อนการถอนทหารออกไปของโซเวียต โดยองค์การดังกล่าวได้เจริญเติบโตขึ้นไปตามวันเวลา จนถึงเวลานี้อัล-กออิดะฮ์มีเครือข่ายอยู่ใน 50 ประเทศ
อาจกล่าวได้ว่าบินลาดิน ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นนักรบชั้นเยี่ยมที่ได้รับการสนับสนุนจาก CIA ในเวลาต่อมา กลับกลายเป็นศัตรูหมายเลข 1 ที่ทุกหน่วยงานด้านความมั่นคงของสหรัฐต้องการตัวอันเนื่องมาจากถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีตึกเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ และตึกเพนตากอน แม้ว่าหลักฐานต่างๆ ที่มีอยู่จะยังไม่มีน้ำหนักพอเพียงที่จะกล่าวหาเขาได้ก็ตาม แต่เขาก็ได้ถูกพิพากษาให้เป็นผู้มีความผิดไปเรียบร้อยแล้ว
ในทางกลับกันคนที่ถูกไล่ล่าและต้องจบชีวิตลงจากปฏิบัติการณ์ของหน่วยซีลของสหรัฐอย่างบิน ลาดิน ได้แบ่งอันดับศัตรูของเขาไปตามลำดับ ดังนี้ 1. สหรัฐ 2. อิสราเอล และ 3. อินเดีย
จากงานของเขาที่ขยายไปในรอบ 2 ทศวรรษ บินลาดินได้ขยายเครือข่ายเข้าไปในภูมิภาคต่างๆ ของโลกหลายแห่ง แรงบันดาลใจที่ทำให้เขาหันกลับมาต่อต้านสหรัฐซึ่งเป็นผู้ฝึกฝนการรบให้เขานั้นอยู่ที่การเป็นพันธมิตรอย่างแนบแน่นของซาอุดีอาระเบียกับสหรัฐและยอมให้ฐานทัพของสหรัฐเข้าประเทศซาอุดีอาระเบียในระหว่างสงครามอ่าวเปอร์เซีย รวมทั้งไม่ยอมรับจุดยืนของสหรัฐที่อยู่เคียงข้างอิสราเอลอย่างไม่ตั้งคำถามใดๆสำหรับบิน ลาดิน อิสราเอลก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการตอบโต้อันเนื่องมาจากปฏิบัติการของขบวนการไซออนิสต์ (Zionism) ของชาวอิสราเอลที่มีต่อชาวปาเลสไตน์ และอินเดียอันเนื่องมาจากปัญหาแคชมีร หรือแคชเมียร์ (Kashmir) กล่าวกันว่าจนถึงเวลานี้ยังไม่มีกลุ่มจรยุทธ์ใดในปัจจุบันที่ขอบข่ายกว้างขวางเช่นนี้ในชีวิตของเขาพบว่านอกจากเขาจะสนใจอุตสาหกรรมการก่อสร้างแล้ว บินลาดินยังให้ความสนใจการเมืองอิสลาม (Political Islam) ซึ่งความสนใจนี้ได้ก่อตัวขึ้นก่อนที่เขาจะเปลี่ยนแปลงจากการเป็นนักอุตสาหกรรมการก่อสร้างไปสู่การปกป้องแนวทางอิสลามไปในที่สุด
ในปีหลังจากสงครามอ่าวเปอร์เซียสิ้นสุดลง บินลาดินเป็นคนที่เปลี่ยนไป เดือนมิถุนายน 1998 ตัวแทนจำนวน 100 คนจากประเทศอาหรับต่างๆ รวมทั้งที่มาจากโซมาเลีย อัฟกานิสถานและเคนยา ได้มารวมตัวกันในการประชุมสันนิบาตอาหรับทั่วโลกที่เมืองกอนดาฮาร์ ในประเทศอัฟกานิสถานโดยบินลาดินเป็นประธานในที่ประชุม
ต่อมาบินลาดินได้ตัดตัวเองออกจากราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย หลังจากซาอุดีอาระเบียตัดสินใจยอมให้ฐานทัพสหรัฐมาอยู่ในเขตแดนของตนอันเป็นเรื่องที่เขาลืมไม่ลง สำหรับเขาซาอุดีอาระเบียปัจจุบันนี้คือประเทศที่ยืนอยู่ข้างเดียวกับชาวคริสต์และชาวยิว และสถานที่อันประเสริฐของอิสลามก็ถูกย่ำยีเขาได้บอกกับนิตยสาร Time ว่า “หากว่าการแสดงถึงการญิฮาดต่อต้านชาวยิวและสหรัฐเป็นไปเพื่อจะปลดปล่อยมัสญิดอัลอักซอ (Al-Aqsa)และวิหารกะอ์บะฮ์ถูกพิจารณาว่าเป็นอาชญากรรมก็ขอให้ประวัติศาสตร์เป็นพยานว่าข้าเป็นอาชญากร งานของเราก็คือการชี้นำและด้วยความกรุณาของพระผู้เป็นเจ้าเราได้ทำเช่นนั้นแล้ว”ในเวลานั้นบินลาดินมีชื่อเสียงอยู่ในประเทศซูดาน อันเป็นสถานที่ที่เขาได้ฝึกฝนชาวมุสลิมผู้เคร่งครัดให้มีอำนาจเพิ่มขึ้น ตัวเขาเองได้ลงทุนจากส่วนหนึ่งของทรัพย์สินในบริษัทก่อสร้างของเขาในซูดาน นอกจากนี้เขายังมีโรงงานหนังสัตว์และไร่ของตนเอง โดยส่งผลิตภัณฑ์ของเขาไปยังประเทศอิตาลี ใช้รายได้จากวิสาหกิจเหล่านี้ไปกับการก่อสร้างศูนย์กลางการปฏิวัติตามแนวทางศาสนาให้กับทหารชาวอัฟกันที่ทำสงครามอยู่ในอัฟกานิสถานในปี 1994 ซาอุดีอาระเบียได้ถอนสัญชาติของบินลาดินในขณะที่รัฐบาลซูดานขอให้เขาออกจากประเทศนี้ไปเสียในอีก 2 ปีต่อมา การที่เขาถูกเรียกร้องให้ออกจากประเทศซูดานนั้นอาจอธิบายจากความจริงได้ว่ารัฐบาลซูดานเกรงการปฏิบัติการที่เป็นการลงโทษจากซาอุดีอาระเบียหรืออียิปต์ ด้วยเหตุนี้ในเวลาต่อมาบินลาดินจึงมาตั้งรกรากในอัฟกานิสถานอันเป็นสถานที่ซึ่งเขาใช้เวลาในวัยหนุ่มทำสงครามกับโซเวียต