ความคิดนักปราชญ์จีนในสมัยโบราณ(2)
ความคิดนักปราชญ์จีนในสมัยโบราณ(2)
รศ.ดร.สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย
สำนักนิตินิยม(法家)
ในบรรดาความคิดของนักปราชญ์จีนสมัยโบราณสำนักต่างๆ ความคิดนิตินิยม มีการนำมาใช้ในการบริหารประเทศโดยกษัตริย์ทั้งในสมัยเลียดก๊กและในสมัยต่อมา เพราะสอดคล้องกับความต้องการของผู้ มีอำนาจรัฐ. ความคิดของสำนักนิตินิยมนี้ ได้มีการนำมาใช้ในช่วงเวลาต่างๆของสมัยเลียดก๊ก และประสบผล สำเร็จมากพอควร แต่นักปราชญ์สำคัญที่จัดอยู่ในสำนักนิตินิยม ส่วนมากเป็นนักปฎิบัติที่ไม่มีการเขียนหนังสือเผยแพร่ความคิดออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร จนถึงตอนปลายของสมัยเลียดก๊ก หานเฟยจื่อ(韩 非子) จึงได้รวบรวมความคิดของสำนักนิตินิยมเขียนเป็นตำราออกมา เขาจึงเป็นที่กล่าวขวัญกันมากในหมู่นักปราชญ์ของสำนักนี้ แต่เขาเองไม่มีโอกาสที่จะใช้ความคิดนี้มาบริหารประเทศ เพราะเสียชีวิตไปก่อน
หานเฟยจื่อได้นำความคิดและแนวทางปฎิบัติของนักปราชญ์สำนักนิตินิยมที่มีชีวิตก่อนหน้าเขามาสรุปออกมาเป็นแนวคิดหลัก 3 ประการคือ กฎหมายและกฎระเบียบ (法)วิธีการหรือศิลปะการปกครอง และการใช้คน (术)และการใช้ประโยชน์ในอำนาจ บารมีของผู้ปกครองประเทศ (势)
“ฝ่า (法)” คือกฎหมายและกฎระเบียบ การมีกฎหมายและระเบียบที่ชัดเจน และนำมาใช้ในการ ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเป็นสิ่งสำคัญ หานเฟยจื่อเห็นว่า ประชาชนมีความประพฤติที่ดี ไม่ทำความชั่ว ไม่ใช่เป็นเพราะถูกสั่งสอนให้เป็นคนดีมีคุณธรรมแต่เพราะเกรงกลัวการทำผิดกฏหมายที่มีการลงโทษ รุนแรง หากมีบทลงโทษต่อผู้ฝ่าฝืนกฎหมายและมีการเลื่อนตำแหน่งหรือให้รางวัลแก่ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามความต้องการของผู้ปกครองประเทศ คนในสังคมจะทำความดี และทำในสิ่งที่ผู้ปกครองรัฐอยากให้เขาทำ เช่น เป็นทหารที่สามารถสู้รบชนะศัตรูได้ ทหารก็จะมีความกล้าหาญ เพราะเมื่อรบชนะและสังหารข้าศึกได้แล้วก็จะได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง ส่วนคนทำผิดกฏหมายก็ต้องถูกลงโทษโดยไม่มีข้อยกเว้น หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ประชาชนก็จะไม่กล้าทำผิดกฏหมาย
การมีกฎหมายและกฎระเบียบ และมีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัด อาจทำให้ประชาชนบางส่วนไม่ ชอบหรือไม่พอใจ แต่ถ้านำมาปฏิบัติแล้ว ทำให้ประเทศชาติมีความเจริญ และเมื่อเห็นผลเป็นที่ประจักษ์ แล้ว ความไม่พอใจของประชาชนกลุ่มต่างๆที่ไม่เห็นชอบกับกฏหมายและกฎระเบียบนี้ก็จะลดน้อยลง และหันมาเป็นผู้สนับสนุนการกระทำของรัฐ
“ซู่ (术)” หมายถึงศิลปะหรือวิธีการ กษัตริย์หรือผู้ปกครองรัฐ ต้องมีวิธีการที่จะปกครองผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา นอกจากการลงโทษและการให้รางวัลแล้ว กษัตริย์ต้องมีศิลปะและวิธีในการใช้คน ต้องป้องกันไม่ให้ขุนนางและข้าราชการอ้างกฎหมายและกฎระเบียบ เพื่อแสวงอำนาจและผลประโยชน์แก่ตนเอง นอกจากนั้น ต้องไม่แสดงความรู้สึกแท้จริงของตนเอง เช่น รักอะไรและเกลียดอะไรให้ผู้อยู่ใต้บังคับ บัญชาได้เห็น เพื่อป้องกันการประจบสอพลอหรือการเอาใจกษัตริย์ และต้องมีศิลปะในการใช้คน ทำให้ผู้ อยู่ใต้บังคับบัญชาทำงานตามความต้องการ โดยไม่สู้ศึกเหนื่อยยาก
ส่วน”ซื่อ (势)”นั้น หมายถึงอำนาจ อานุภาพ อิทธิพล และบารมี ที่จะทำให้คนเคารพนับถือและเกรง ขาม เพื่อสามารถใช้อำนาจปฏิบัติ ตรวจสอบ หรือลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย และปูนบำเหน็จความดีความ ชอบให้แก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาและประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความคิดทั้งสาม คือ กฎหมายและกฎระเบียบ วิธีการปกครองและการใช้คน และการมีอำนาจบารมี มีความเชื่อมโยงกัน และต้องใช้ร่วมกัน ถ้าทำเฉพาะหรือเน้นเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว อาจทำให้เกิดผลเสียได้ หานเฟยจื่อได้ยกตัวอย่างจากผลการปฎิบัติของนักปราชญ์ในสำนักนิตินิยม ที่ อยู่ก่อนหน้าสมัยของเขาว่า แม้เกิดผลดี แต่ก็มีผลเสีย หรือแม้ทำให้ประเทศชาติมีความเจริญ แต่นัก ปราชญ์ผู้เสนอความคิดนิตินิยมนี้ ก็มีจุดจบที่ทำให้ตนเองต้องรับความเสียหาย
สำนักยุทธการ(兵家)
ในสมัยต่างๆของประเทศจีน มีผู้เขียนตำราพิชัยสงครามอยู่หลายคน แต่ตำราพิชัยสงครามของซุนอู่(孙武) หรือตำราของซุนจื่อ(孙子兵法) ซึ่งปรากฏเมื่อประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาลดูเหมือนว่าได้รับ การกล่าวขวัญกันมากที่สุด ตำราเล่มนี้มีการแปลออกเป็นหลายภาษา ใช้เป็นตำราของโรงเรียนนาย ทหารในบางประเทศ และมีการศึกษากันในวงการต่างๆ เช่น ทางการเมืองการปกครอง การต่างประเทศ และการทำธุรกิจ ตลอดจนการดำเนินชีวิต คำพูดบางคำในตำราของซุนจื่อ เช่น “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ไม่มีความผิดพลาด(知彼知已,百战不殆)” “สยบข้าศึกได้โดยไม่ต้องรบ(不战而屈人之兵)”ก็มี การกล่าวถึงกันมาก
ตำราพิชัยสงครามซุนจื่อครอบคลุมยุทธศาสตร์หลายด้าน ทั้งการเตรียมความพร้อมในการทำ สงคราม การเปรียบเทียบจุดแข็งจุดอ่อนของฝ่ายเรากับฝ่ายตรงข้ามทางด้านต่างๆ การศึกษา วิเคราะห์ สถานการณ์ภูมิประเทศแต่สภาพแวดล้อมธรรมชาติด้านอื่นๆ การใช้อาวุธและอุปกรณ์อื่นๆ การบุก โจมตีจุดที่ข้าศึกไม่คาดคิด การจารกรรมสอดแนม การปล่อยข่าวลวง การแกล้งจำนน ข้อควรระวังของ ผู้คุมกำลัง และการปรับกลยุทธ์เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง ตลอดจนการตรวจสอบ ประเมินผล แล้ว แก้ไขปรับปรุงในส่วนที่มีความบกพร่องหรือมีหละหลวม กล่าวได้ว่า ตำราพิชัยสงครามของซุนจื่อ มี เนื้อหาที่นำมาปรับใช้ได้กับสถานการณ์ต่างๆ และมีประโยชน์ต่อคนในวงการต่างๆ ตำราพิชัยสงครามนี้ จึงได้มีการศึกษากันมากในหมู่คนทุกสาขาอาชีพ
จากความคิดของนักปราชญ์จีนแต่สำนักต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น เราจะเห็นว่า แม้แต่ละสำนักมีจุดเน้นที่ แตกต่างกัน และในบางเรื่อง อาจมีความขัดแย้งกัน แต่ก็เป็นความคิดที่มีประโยชน์ที่จะนำมาใช้ ปกครองประเทศ และการดำเนินชีวิตของบุคคลทั่วไป นอกจากนั้น ความคิดในสิทธิเสรีภาพ ความเสมอ ภาค ประชาธิปไตย และการปกครองประเทศโดยใช้หลักกฏหมาย แท้ที่จริงมีอยู่แล้วในความคิดและคำสอนของนักปราชญ์จีนโบราณ แต่ราชวงศ์ต่างๆในเวลาต่อมา ทั้งผู้นำประเทศ นักวิชาการ และประชาชน ทั่วไป มักไม่ทำตามความคิดและคำสอนเหล่านี้ จนประเทศจีนถูกกล่าวหาว่า เป็นประเทศที่ไม่มีความคิด และวัฒนธรรมในเรื่องสิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตย และปกครองประเทศโดยไม่ยึดหลักกฏหมายเมื่อ เทียบกับประเทศในโลกตะวันตก
ในสมัยหลังเลียดก๊ก ประเทศจีนใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในการปกครองประเทศ ความคิด ของนักปราชญ์จีนที่ผู้นำประเทศนำมาใช้ก็คือความคิดของสำนักนิตินิยม ผสมผสานกับความคิดสำนัก ขงจื๊อบางส่วน ที่ผู้นำประเทศเห็นว่าเป็นประโยชน์ ยุทธศาสตร์การทำสงคราม ก็มีการศึกษากันมาก แต่ก็ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากนักเมื่อถูกชนต่างเผ่าและต่างชาติรุกราน ในช่วงเวลาที่ประเทศมีการปกครองที่ไม่ดี มีการทุจริตคอร์รัปชั่นแพร่หลาย เศรษฐกิจล้มเหลว กำลังทหารอ่อนแอ และผู้นำและ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจส่วนใหญ่มีการใช้ชีวิตที่ฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย โดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนที่มีความยากจนและอดอยากข้าศึกย่อมเข้ามาโจมตีได้โดยง่าย นอกจากนั้นในบางยุคบางสมัยยังมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน ไม่ให้มีการแสดงความคิด หรือปิดประเทศ ไม่ติดต่อค้าขาย กับประเทศอื่น ในยามที่บ้านเมืองมีความอ่อนแอและผู้นำประเทศมีคุณภาพไม่ดี ประชาชนมีความเดือดร้อน ความคิดของนักปราชญ์โบราณ รวมทั้งกลยุทธ์ในการทำสงครามก็ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
แม้ความคิดและคำสอนของนักปราชญ์สำนักต่างๆในสมัยเลียดก๊ก ส่วนใหญ่มีการสืบทอดกันจนถึงทุกวันนี้ แต่บางส่วนก็สูญหายหรือถูกทำลายไป ในช่วงการครองราชย์ของฉินซีฮ่องเต้(秦始皇) เขาได้สั่งเผาตำราจำนวนมากที่มีอยู่ในเวลานั้น และจับนักวิชาการหลายร้อยคนไปฝัง ในเหตุการณ์ที่นัก ประวัติศาสตร์จีนเรียกกันว่า”เผาหนังสือฝังนักวิชาการ(焚书坑儒)” เหตุการณ์นี้ก่อให้เกิดความสูญเสีย หนังสือและตำราไปส่วนหนึ่ง เดชะบุญ คัมภีร์และตำราของนักปราชญ์จีนจำนวนมากถูกซ่อนไว้โดยไม่ได้ ถูกเผาทิ้ง จึงได้ตกทอดมาถึงทุกวันนี้
ในราชวงศ์ฮั่น ในรัชสมัยฮั่นอู่ตี้(汉武帝)ใช้บัณฑิตสำนักขงจื๊อเป็นขุนนาง และยกความคิดสำนักขงจื๊อเป็นหลักในการปกครอง โดยห้ามเผยแพร่วิชาและความคิดของนักปราชญ์อื่นๆ(罢黜百家 独尊 儒术)ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ความคิดของสำนักขงจื๊อ จึงมีการเผยแพร่ต่อไปอย่างกว้างขวางในขณะที่ ความคิดของนักปราชญ์โบราณคนอื่น กลับไม่ได้ศึกษากันมากนัก
หลังจากที่มีระบบการคัดเลือกเข้ารับราชการ ราชวงศ์ต่างๆ ก็เน้นเนื้อหาสาระในคัมภีร์ของสำนัก ขงจื๊อเป็นหลักในการสอบ ผู้จะสอบเข้ารับราชการจะต้องเรียนหรือท่องจำเนื้อหาและคำพูดในคัมภีร์ของ สำนักขงจื๊อทั้งที่เรียบเรียงโดยขงจื๊อ และที่มีการเรียบเรียงและตีความโดยนักวิชาการสำนักขงจื๊อในเวลา ต่อมา
สิ่งน่าคิดอย่างหนึ่งก็คือ ในเมื่อนักวิชาการจีนที่จะสอบเข้าเพื่อได้รับราชการทุกคน ผู้ที่สอบได้ ก็น่าจะ ได้ ทำการศึกษาปรัชญาสำนักขงจื๊อ ซึ่งพร่ำสอนให้คนมีคุณธรรม เมตตา ซื่อสัตย์สุจริต และมุ่งทำงาน เพื่อประเทศชาติ มาแล้วเป็นอย่างดี แต่เหตุไฉนข้าราชการที่ได้รับการคัดเลือก จึงมีจำนวนมากที่เป็นคน ไร้คุณธรรม และทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ผู้ที่มีตำแหน่งสูงในรัฐบาล ก็มีความชั่วร้าย และมีความ ประพฤติที่ขัดแย้งกับคำสอนของสำนักขงจื๊อโดยสิ้นเชิง
ปรากฏการณ์เช่นนี้ ไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจน คำอธิบายหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ ก็คือ แม้ผู้ที่สอบ เข้ารับราชการ ได้อ่านคัมภีร์ของสำนักขงจื๊อถึงกับท่องจำข้อความบางตอนได้ แต่การศึกษาตำราสำนัก ขงจื๊อของคนเหล่านี้ ทำไปเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะสอบเข้ารับราชการ แต่ผู้ศึกษาไม่มีความเชื่อหรือความ ซาบซึ้งในคำสอนเหล่านี้เท่าใดนัก การจำและท่องได้ ไม่ได้หมายความว่ามีการเรียนรู้ และมีความ ตระหนักถึงประโยชน์ของสิ่งที่ได้เรียนมาและตั้งใจว่าจะนำความคิดนี้มาใช้ในทางปฏิบัติ เมื่อบุคคล เหล่านี้สอบได้แล้ว สิ่งที่เขาพยายามท่องจำมาก็อาจไม่มีประโยชน์หรือไม่มีความจำเป็นต่อการเลื่อน ตำแหน่งแล้วและเขาก็ไม่จำเป็นต้องนำสิ่งที่เขาท่องจำมาใช้ในการปฏิบัติและในชีวิตประจำวัน ในอีก ด้านหนึ่ง อุปนิสัยหรือสันดานดิบของเขาที่มีมาแต่กำเนิด ซึ่งมีความโลภ โกรธ หลง เกลียด อิจฉา ซ่อน เร้นอยู่ ก็ปรากฏออกมา และนำมาใช้ในวงราชการที่และมีต่อสู้ชิงดีชิงเด่นกัน สำหรับคนที่เรียนเพื่อมุ่งหวังลาภยศเงินทอง การสอบเข้ารับราชการได้ และได้รับความดีความชอบ ได้รับการเลื่อนยศเลื่อน ตำแหน่ง สามารถกอบโกยทรัพย์สินเงินทองได้ ก็ถือว่าได้ประสบความสำเร็จได้สมความปรารถนาแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์จีน ก็มีขุนนางหรือข้าราชการที่ดี มีจริยธรรม และหมั่นทำงานเพื่อ เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติอยู่ไม่น้อย คนเหล่านี้สามารถนำความคิดของสำนักขงจื๊อมาใช้ ในการงานและในชีวิตประจำวันได้อย่างจริงจัง แต่หลายคนก็ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตการรับ ราชการ หากวัด”ความสำเร็จ”จากการมีลาภยศเงินทองหรือการมีตำแหน่งใหญ่โต
ความคิดและคำสอนของนักปราชญ์จีนโบราณเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและมีส่วนในการหล่อหลอม วัฒนธรรมจีนโดยคนจีนส่วนใหญ่อาจรับรู้ แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งรวมทั้งนักวิชาการที่มีชื่อเสียงบางคน ทีไม่เห็นคุณค่าของความคิดเหล่านี้มากนัก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สภาพบ้านเมืองมีความระส่ำระสาย เช่น ในเวลาหลังจากการโค่นล้มราชวงศ์ชิง(清) และในเหตุการณ์หรือขบวนการสี่พฤษภา(五四运动)ใน ปีค.ศ. 1919 และในช่วงที่เรียกกันว่า”การปฏิวัติวัฒนธรรม”(文化大革命)ในช่วงปีค.ศ. 1966 ถึง 1976
ในช่วงทศวรรษ 1920 นักวิชาการและนักเรียนนักศึกษาส่วนหนึ่ง ชื่นชมในความก้าวหน้าและความมี อารยธรรมของประเทศตะวันตก เห็นว่า การที่ประเทศจีนมีการพัฒนาที่ล้าหลังกว่าประเทศอื่น เป็นเพราะ ไม่มีความคิดที่ก้าวหน้า และทันสมัย อย่างเช่น สิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตย ในช่วงเวลานั้น ความ คิดของสำนักขงจื๊อถูกโจมตีอย่างรุนแรง โดยนักศึกษาที่คิดว่าตัวเองมีความคิดก้าวหน้า ถึงกับมีการ เรียกร้องใหัเลิกล้มการศึกษาความคิดของนักปราชญ์โบราณ โดยมีคำขวัญ”โค่นล้มร้านขงจื๊อ(打倒孔 家店)” และต่อจากนั้นไม่นาน ก็มีการเผยแพร่ลัทธิมาร์คในประเทศจีน จนมีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ ขึ้นในปีค.ศ.1921
ในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรม ภาพลักษณ์ขงจื๊อกลายเป็น”นักวิชาการผู้รับใช้ระบบศักดินา” และผู้มีความ คิดความเชื่อและคำสอนของสำนักขงจื๊อ ถูกเรียกว่าพวก”ซากเดนของระบบศักดินา(封建余孽)” ที่ควร แก่การได้รับการวิจารณ์และลงโทษอย่างรุนแรง และหลังจากที่หลินเปียว(林彪)วางแผนทำรัฐประหารโค่นล้มเหมาเจ๋อตง(毛泽东) แต่ไม่สำเร็จและตอบหลบหนีออกนอกประเทศ จนต้องตกเครื่องบินตาย หลินเปียวได้กลายสภาพจาก”สหายผู้สนิท (亲密战友)”ของเหมาเป็นผู้ทรยศ ต่อประเทศ ในประเทศจีน มีการรณรงค์โจมตีหลินเปียวอย่างเผ็ดร้อน แต่ก็เป็นขบวนการที่พ่วงชื่อของ ขงจื๊อเข้าไปด้วย เป็นความเคลื่อนไหวที่เรียกกันว่า”วิจารณ์หลินเปียวและขงจื๊อ(批林批孔)” ที่ดุเดือด รุนแรง นักวิชาการที่ศึกษาความคิดและปรัชญาสำนักขงจื๊อก็ต้องถูกวิจารณ์ไปด้วย นักวิชาการบางคน ถึงกับหันมาวิจารณ์และโจมตีความคิดของขงจือย่างรุนแรงเพื่อเอาใจผู้นำรัฐบาลเพื่อความอยู่รอด
มาถึงสมัยนี้ สถานภาพของขงจื๊อ จึงได้กลับคืนมาเป็น”ปรมาจารย์ตัวอย่างตลอดกาล(万世師表)” อีกครั้งหนึ่ง และมีการจัดตั้งสถาบันขงจื๊อ(孔子学院)ในหลายประเทศทั่วโลกเพื่อสอนภาษาจีนและเผย แพร่วัฒนธรรมจีน
ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ปรัชญาความคิดเรื่องเสรีภาพ เสมอภาค และประชาธิปไตย แท้ที่จริง มีอยู่ใน ประเทศจีนเป็นเวลานานแล้ว เพียงแต่ผู้ปกครองประเทศในสมัยต่างๆ ไม่ได้นำความคิดเหล่านี้มาใช้ และ นักวิชาการจำนวนมากก็มองข้ามคุณค่าของความคิดและของนักปราชญ์โบราณจีนสำนักต่างๆ แต่ ท่องจำคัมภีร์เพียงเพื่อตนได้มีโอกาสสอบเข้ารับราชการได้เท่านั้น