jos55 instaslot88 Pusat Togel Online วิกฤตการณ์ยูเครนจะนำไปสู่สงครามโลกได้หรือไม่ - INEWHORIZON

INEWHORIZON

ขอบฟ้าใหม่

วิกฤตการณ์ยูเครนจะนำไปสู่สงครามโลกได้หรือไม่

คอลัมน์ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ

ทหารประชาธิปไตย

วิกฤตการณ์ยูเครนจะนำไปสู่สงครามโลกได้หรือไม่

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อทั้งหลายต่างให้ความสนใจและลงข่าวเกี่ยวกับการเผชิญหน้ากันระหว่างกองกำลังของนาโต้-สหรัฐฯ และกองทหารรัสเซียนับแสนคน ที่บริเวณชายแดนระหว่างยูเครน รัสเซีย และสหภาพยุโรป และสื่อตะวันตกยังเสนอข่าวว่าท่าทรัสเซียอาจนำทหารบุกยูเครน ซึ่งก็มีเหตุผลรองรับ โดยประการแรก ยูเครนเคยเป็นกลุ่มประเทศในเครือของสหภาพโซเวียต ประการต่อมาที่ตั้งของยูเครนนับเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการโจมตีรัสเซีย หากฝ่ายตะวันตกจะดำเนินการทางทหาร โดยเฉพาะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในทะเลดำ อันมีอาณาเขตติดต่อกับรัสเซียและอีกบางประเทศ

อนึ่งยูเครนเคยเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือใหญ่ของสหภาพโซเวียตในทะเลดำ และยังเป็นฐานที่ตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียตอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่าฝ่ายตะวันตกกำลังพยายามที่จะดึงเอายูเครนเข้ามาเป็นสมาชิกนาโต้ เหมือนกับประเทศยุโรปตะวันออกหลายประเทศที่เคยเป็นสมาชิกสนธิสัญญาวอร์ซอ ภายใต้การนำของโซเวียตในการตั้งป้อมทางทหารคุมเชิงกับนาโต้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็เท่ากับว่าตะวันตกโดยนาโต้-สหรัฐฯ ก็จะขนอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าไปจ่อคอหอยรัสเซีย โดยตรงแทนการมีรัฐกันชนอย่างยูเครน

แม้จะมีการเจรจากันในระดับสูง มีการต่อรองกันระหว่างสหรัฐฯ รัสเซีย และรวมทั้งนาโต้ แต่ก็ยังไม่อาจหาข้อยุติได้

            สหรัฐฯนั้นสนับสนุนยูเครนเต็มที่ และปฏิเสธความเกี่ยวพัน ทั้งทางภูมิศาสตร์ และเชื้อชาติ โดยเฉพาะในเขตไครเมีย และดอนบาส ที่มีชาวรัสเซีย หรือเชื้อสายรัสเซียอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และพูดภาษารัสเซียเป็นส่วนใหญ่ รัฐบาลยูเครนที่โปรรัสเซียจะไม่เป็นที่ยอมรับของสหรัฐฯ โดยเด็ดขาด

และการเสียดินแดนยูเครนที่ไครเมียก็ไม่เป็นที่ยอมรับของสหรัฐฯ รวมทั้งความขัดแย้งที่ยังไม่มีข้อยุติที่เขตดอนบาสของยูเครน ก็เป็นสิ่งที่สหรัฐฯวิตกกังวล

            สหรัฐฯ และนาโต้ จึงเข้ามามีบทบาทสนับสนุนยูเครนอย่างเต็มกำลัง ทั้งๆที่ยูเครน ยังมิได้เป็นสมาชิกของนาโต้ แต่ยูเครนเป็นจุดยุทธศาสตร์และเป็นความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐฯ ในการรุกประชิดรัสเซีย

สำหรับยุโรปนั้นมีข้อควรพิจารณาที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของตนอย่างเป็นนัยสำคัญ ประการแรกยุโรปขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ ที่ราคาไม่แพง ซึ่งตอนนี้ กำลังรอให้โครงการท่อส่งก๊าซจากรัสเซีย ดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง จากโครงการ NORD STREAM-2 ซึ่งต่อท่อมายังเยอรมัน เพราะท่อส่งสายแรกต้องผ่านยูเครนและคาบสมุทรไครเมียที่กำลังมีปัญหา

ยุโรปต้องการพลังงานราคาถูก และต้องการก๊าซธรรมชาติในฤดูหนาวเพื่อปกป้องประชาชน การเกิดสงครามย่อมสร้างความเสียหายให้กับยุโรป และแม้จะยังไม่เกิดสงครามแต่ความขัดแย้งกับรัสเซียย่อมทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจกับยุโรป ซึ่งกำลังต้องการ การฟื้นฟูจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19

            ดังนั้นแม้ว่ายุโรปจะสนับสนุนอธิปไตยของยูเครน แต่ก็ต้องระมัดระวังความเสี่ยงที่จะเกิดกับการขัดแย้งต่อรัสเซียด้วย

ด้านรัสเซียนั้นต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ตนเองมองว่าเป็นภัยคุกคามจากตะวันตก เช่น การขยายสมาชิกนาโต้เข้าไปในยุโรปตะวันออก

ดังนั้นรัสเซีย จึงได้ยื่นข้อเสนอในการแก้ปัญหาวิกฤติในการเผชิญหน้าระหว่างตะวันตกกับรัสเซียเมื่อปลายปี 2021 โดยสรุปดังนี้ ห้ามไม่ให้สหรัฐฯ-นาโต้ รุกทางการทหารเข้ามาในทิศตะวันออกเพื่อประชิดพรมแดนรัสเซีย ที่เป็นรูปธรรม คือ ไม่ให้นาโต้รับยูเครนเป็นสมาชิก

นอกจากนี้ยังยื่นคำขาดให้ สหรัฐฯ-นาโต้ ถอนอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่ประจำการในประเทศโรมาเนีย และบัลกาเรียออกไป และยังรวมไปถึงการถอนอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ประจำการในยุโรปตะวันออก และยุโรปกลางที่เข้าร่วมกันกับนาโต้ หลังปี ค.ศ.1997 และ ถอดถอนสมาชิกภาพของประเทศเหล่านั้น ซึ่งประกอบไปด้วย เอสโตเนีย แลตเวีย ลิธัวเนีย โปแลนด์ สาธารณรัฐเชค สโลกาเกีย ฮังการี โรมาเนีย สโลวาเนีย โครเอเชีย มองเตเนโกร อัลบาเนีย และบุลกาเรีย รวม 14 ประเทศ

ทั้งนี้ทางรัสเซียอ้างว่าเพื่อลดการเผชิญหน้า และอาจนำไปสู่สงครามใหญ่ได้ ทั้งนี้ประเทศดังกล่าวกลายเป็นหอกข้างแคร่ที่คอยจ่อคอยหอยรัสเซียอยู่ในปัจจุบัน

ขอเรียกร้องหรือคำขาดของรัสเซียคงจะไม่ได้รับการตอบสนองจากทั้งสหรัฐฯและนาโต้ แต่ได้มีการเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ 2-3 ปี แล้วที่ยุโรป เริ่มขยับที่จะให้มีการจัดตั้งกองกำลังของยุโรปเพื่อจะได้หลุดพ้นจากการครอบงำของสหรัฐฯ และเพื่อลดความเสี่ยงในการเผชิญหน้ากับรัสเซีย โดยมียุโรปเป็นหนังหน้าไฟ ยุโรปไม่ต้องการเสี่ยงทั้งภัย สงครามและภัยเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่าเยอรมันมีท่าทีที่ค่อนข้าง ชัดเจนในเรื่องนี้ ขนาดผู้บัญชาการทหารเรือเยอรมัน ยังออกมาสนับสนุน ท่าที่ของปูติน จนถูกสื่อวิจารณ์ว่าฝักใฝ่ เลยแสดงสปิริตด้วยการลาออก แต่มันก็สะท้อนว่ากลไกขับเคลื่อนทั้งการเมืองและการทหารของเยอรมัน ไม่ต้องการเสี่ยงเผชิญหน้ากับรัสเซีย

            ด้านสหรัฐฯแม้จะมีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อรัสเซีย แต่วัตถุประสงค์ภายในคงไม่ต้องการก่อสงครามใหญ่ เพราะต้นทุนมันสูงมาก และมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ ซึ่งก็หมายถึงหายนะทั้ง 2 ข้าง และทั่วโลก

ถ้าอย่างนั้นสหรัฐฯ ต้องการอะไรจากการเข้ามามีส่วนในวิกฤตการณ์ยูเครน แน่นอนยูเครนมีที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่ดีมากในการโจมตีรัสเซีย แต่สหรัฐฯ คงไม่ต้องการเสี่ยงเกิดสงครามใหญ่ เพราะมันไม่คุ้ม

อนึ่งยูเครนก็มิได้มีทรัพยากรแร่ธาตุที่มีมูลค่ามหาศาลอย่างหลายประเทศ ในอเมริกาใต้ และอาฟริกา หรือแม้แต่อาฟกานิสถาน

นักวิเคราะห์หลายคนจึงมองว่าสหรัฐฯต้องการที่จะเบี่ยงเบนประเด็นความล้มเหลวทางเศรษฐกิจในประเทศ ภายใต้การนำของนายไบเดน ตลอดจนความขัดแย้งทางเชื้อชาติ และผิวพันธุ์ที่กำลังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น การสร้างศัตรูภายนอกอาจไปกระตุ้นให้เกิดเอกภาพภายในได้มากขึ้น เหมือนสมัยที่จอห์น เอฟ เคเนดี้ทำมาแล้ว ด้วยการก่อสงครามเวียดนาม

ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดสงครามใหญ่คงเป็นไปได้ยาก แต่จะเกิดสงครามภายในยูเครน โดยสหรัฐฯกำลังลำเลียงอาวุธจากที่ต่างๆรวมทั้งจากพันธมิตร อย่างอังกฤษไปให้รัฐบาลและประชาชน ยูเครนไว้ใช้ต่อต้านรัสเซีย หากรัสเซียจะบุกยูเครน โดยมีอดีตนายทหารผู้ใหญ่ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อว่าจะทำรูปแบบเดียวกันกับที่สหรัฐฯ ใช้ในการสนับสนุนอัลกออิดะฮ์ และมุจาฮีดีน ให้ต่อต้านสหภาพโซเวียต แต่สหรัฐฯก็ลืมไปว่าตนเองก็พ่ายแพ้ จนต้องรีบถอนทหารจากอาฟกานิสถานมาหมาดๆ

ด้านรัสเซียก็คงไม่อยากเกิดสงครามใหญ่เช่นกัน เพราะมันไม่คุ้ม จึงคงจะสนับสนุนคนเชื้อสายรัสเซียในเขตดอนบาสให้ลุกฮือประกาศอิสรภาพเช่นเดียวกับในไครเมีย โดยจัดส่งอาวุธและกำลังทหารอาสาไปช่วยแบบไม่เป็นทางการ

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าสงครามใหญ่จากวิกฤตยูเครนคงไม่เกิดขึ้น แต่จะเป็นรูปแบบสงครามตัวแทน และสงครามภายในประเทศ ซึ่งแน่นอนความพินาศย่อมเกิดกับยูเครนเป็นแน่แท้ ขอไทยอย่าเป็นอย่างนั้นเลย หากมีการใช้ความรุนแรงจากอำนาจเผด็จการ มันก็คงเป็นไฟลามทุ่ง ถ้าต้องการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต้องสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง

 

Facebook Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *